การประเมินผลการฝึกอบรม (Training Evaluation)

เมื่อมีการจัดฝึกอบรมซึ่งองค์การต้องลงทุนลงแรงและงบประมาณไปมาก ก็ย่อมต้องมีการประเมินผลการฝึกอบรม ซึ่งมักเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการฝึกอบรม เพื่อให้ทราบถึงผลของการดำเนินการว่าการฝึกอบรมได้ประโยชน์หรือมีประสิทธิภาพมากเพียงใด

 

Grove and Ostroff (1991) ได้กล่าวถึงกระบวนการประเมินผลการฝึกอบรมไว้ ดังนี้

          1. วิเคราะห์หาความจำเป็นในการฝึกอบรม

          2. พัฒนาเครื่องมือประเมินวัตถุประสงค์การเรียนรู้และวิเคราะห์วิธีการถ่ายโอนการฝึกอบรม

          3. พัฒนาเครื่องมือประเมินผลลัพธ์ของการฝึกอบรม

          4. เลือกกลยุทธ์การประเมินผลการฝึกอบรม

          5. วางแผนและดำเนินการประเมินผลการฝึกอบรม

 

เทคนิคการประเมินผลการฝึกอบรมของ Donald Kirkpatrick (1996) ที่เรียกว่า “Kirkpatrick’s Evaluation Model” มี 4 รูปแบบด้วยกัน คือ

1. การประเมินปฏิกิริยา (Reaction Evaluation)

          หมายถึง การประเมินการรับรู้ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมว่ามีความพึงพอใจมากน้อยแค่ไหน ชอบหรือไม่ชอบสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรม การประเมินรูปแบบนี้เป็นการประเมินขั้นต้นว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความคิดเห็นอย่างไรต่อการฝึกอบรม ทั้งในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ อุปกรณ์ เนื้อหา วิทยากร ฯลฯ

2. การประเมินการเรียนรู้ (Learning Evaluation)

          การประเมินการเรียนรู้ หมายถึง การประเมินว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจหลักสูตรการฝึกอบรมมากน้อยเพียงใด เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินการเรียนรู้ “ด้านความรู้” (Knowledge Testing) มักกระทำโดยการใช้แบบทดสอบความรู้ 4 แบบ

1) แบบทดสอบปลายเปิด (Open-ended Tests)

2) แบบทดสอบเติมคำหรือคำตอบสั้น ๆ (Write-in or Short-answer Tests)

3) แบบทดสอบแบบถูก/ผิด (True/False Tests)

4) แบบทดสอบแบบหลายตัวเลือก (Multiple-choice Tests)

3. การประเมินพฤติกรรมและทักษะ (Behavior and Skill-based Evaluation)

การประเมินพฤติกรรมและทักษะ หมายถึง การประเมินการถ่ายโอนหรือประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้จากการฝึกอบรมหรือพัฒนามาสู่การทำงานจริงของพนักงาน ว่าทำให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทักษะในการทำงานหรือไม่อย่างไร

การประเมินพฤติกรรมและทักษะ สามารถกระทำได้ ดังนี้

1) การสังเกต (Observation) การทำงานของพนักงานโดยหัวหน้างาน 

2) การสัมภาษณ์ (Interview) หัวหน้างาน

3) การประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance Tests) ของพนักงาน

4. การประเมินผลลัพธ์ (Results Evaluation)

การประเมินผลลัพธ์ หมายถึง การวัดผลหลังจากสิ้นสุดการฝึกอบรมหรือพัฒนาแล้วระยะหนึ่ง โดยจะพิจารณาผลลัพธ์ในภาพรวมขององค์กรที่เกิดจากผลของการฝึกอบรมหรือพัฒนาพนักงาน

การประเมินผลลัพธ์ วัดได้จากตัวชี้วัดหลายประการ

1) ยอดขายขององค์กรเพิ่มขึ้น

2) กำไรขององค์กรเพิ่มขึ้น

3) ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายขององค์กรลดลง

4) ข้อร้องเรียนของลูกค้าลดลง

บทสรุป

การประเมินผลการฝึกอบรมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็น ซึ่งจะทำให้ทราบถึงผลของการฝึกอบรมว่าการออกแบบการฝึกอบรม การวางแผนการฝึกอบรม การลงมือปฏิบัติการฝึกอบรมมีความถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากเพียงใด รวมทั้งทำให้ทราบว่ามีสิ่งใดที่ควรต้องปรับปรุงในโอกาสต่อไป

 

อ้างอิง

Kirkpatrick, Donald L. (1996). Evaluating Training Programs: The Four Levels. Berrett-Koehler Publishers: San Francisco. CA, 1996, 229 pp.

Grove D. A. and Ostroff C. (1991). Program Evaluation. Developing Human

Resources. Ed K. N. (Washington, D. C.: Bureau of National Affairs, 1991):

5-185 – 5-220.

 

อาจารย์ประจำสาวิชาการจัดการธุรกิจและทรัพยากรมนุษย์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

Bansomdejchaopraya Rajabhat University