การเป็นนักจัดการฝึกอบรม

“นักจัดการฝึกอบรม” งานที่หลายคนอาจมองว่าเป็นงานง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วอาจมีหลายสิ่งที่คนที่จะเข้ามาทำงานนี้ไม่ทราบ หน้าที่ความรับผิดชอบของนักจัดการฝึกอบรมมีหลายประการ ทั้งเชิงวิชาการ ทักษะ และคุณลักษณะส่วนตัวที่จำเป็น

 

ในองค์การ เรื่องการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรนั้น เป็นความรับผิดชอบของบุคคลหลายฝ่าย (กุลชลี พวงเพ็ชร์, 2560) เช่น

1) ผู้บริหารระดับสูง ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายด้านการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร

2) ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ทำหน้าที่โดยตรงในการรับนโยบายจากผู้บริหารระดับสูงมาดำเนินการ

3) หัวหน้างาน มีหน้าที่นำโปรแกรมการฝึกอบรมไปปฏิบัติและสนับสนุนให้ลูกน้องเข้ารับการฝึกอบรม

4) พนักงาน มีหน้าที่ให้ความร่วมมือในการเรียนรู้ตามโปรแกรมหรือหลักสูตรที่หน่วยงานจัดขึ้น

 

ภาระหน้าที่ของนักจัดการฝึกอบรม

ในส่วนของภาระหน้าที่ของนักจัดการฝึกอบรม ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องดูแลรับผิดชอบการจัดการฝึกอบรมขององค์การโดยตรง มีภาระหน้าที่หลายประการด้วยกัน (Pinto and Walker, 1978) คือ

 

1. ทำการวิเคราะห์ความต้องการในการฝึกอบรม โดยอาจใช้แบบสำรวจ หรือ การสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ความต้องการในการฝึกอบรมของพนักงาน

2. กำหนดแนวทางการฝึกอบรมคนในองค์การที่เหมาะสม โดยการประเมินประสิทธิภาพของวิธีการฝึกอบรมแบบต่าง ๆ เช่น การใช้โปรแกรมการเรียนด้วยตนเอง วีดิทัศน์ การฝึกอบรมที่เน้นกระบวนการกลุ่ม ฯลฯ

3. การออกแบบและพัฒนาโครงการฝึกอบรม ได้แก่ การออกแบบโครงสร้างและเนื้อหาของหลักสูตรการฝึกอบรม การกำหนดวัตถุประสงค์การฝึกอบรม การประเมินผล การเลือกเทคนิคการฝึกอบรมที่เหมาะสม

4. การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรม ได้แก่ การจัดทำคู่มือ เอกสารประกอบการฝึกอบรม วัสดุประกอบการฝึกอบรม หรือการหาอุปกรณ์สำหรับการทำกิจกรรมกลุ่มย่อย

5. การจัดหาและประเมินคุณภาพของวิทยากรภายในองค์กร รวมทั้งฝึกอบรมผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นวิทยากรในอนาคตขององค์กร

6. การจัดหาและประเมินคุณภาพของวิทยากรภายนอกองค์กร ซึ่งเป็นผู้ที่องค์กรว่าจ้างหรือเชิญมาเป็นวิทยากร หรือที่ปรึกษาของการฝึกอบรม

7. การบริหารจัดการงานด้านธุรการของหน่วยงาน เช่น การจัดทำงบประมาณ การจัดระบบการทำงาน การจัดเจ้าหน้าที่ประจำโครงการฝึกอบรม การเสนอแผนการฝึกอบรม ฯลฯ

8. การวางแผนและให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาบุคลากร เช่น การให้คำปรึกษาแก่พนักงานเป็นรายบุคคลเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาอาชีพ การทำบันทึกการเข้าร่วมฝึกอบรมของพนักงาน

9. การช่วยเหลือการฝึกอบรมในงาน ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือผู้จัดการ หรือหัวหน้างาน ที่ทำการฝึกอบรมลูกน้องในการปฏิบัติงานจริง การพิจารณาปัญหาของการปฏิบัติงานของพนักงาน การวิเคราะห์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน

10. การช่วยเหลือการฝึกอบรมในห้องสัมมนา/อบรม เช่น การควบคุมโสตทัศนูปกรณ์ การนำอภิปราย การช่วยเหลือการดำเนินการกิจกรรมกลุ่ม ฯลฯ

11. การวิจัยค้นคว้าสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรม เช่น การออกแบบวิธีการวิจัยและวิธีรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการฝึกอบรม การประมวลผลข้อมูลการประเมินผลการฝึกอบรม การแปลผล การนำเสนอข้อมูลทางสถิติ การจัดทำรายงานผลการฝึกอบรม

12. การเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาตนเอง โดยการเข้าร่วมอบรม สัมมนา หรือประชุมทางวิชาการด้านทรัพยากรมนุษย์ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการฝึกอบรม

13. การรักษาสัมพันธภาพในการทำงานกับบุคคลฝ่ายต่าง ๆ เช่น ผู้จัดการฝ่ายต่าง ๆ ในองค์กร หัวหน้างานแผนกต่าง ๆ โดยร่วมให้ความคิดเห็น ให้คำปรึกษาหารือเกี่ยวกับการพัฒนาและฝึกอบรมพนักงานแต่ละแผนก/ฝ่าย

14. มีส่วนร่วมในการพัฒนากลุ่มและองค์กร เช่น การประยุกต์เทคนิคการพัฒนาทีมงาน การประชุมกลุ่ม การแสดงบทบาทสมมติ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของกลุ่มและองค์กร

บทสรุป

งานที่ดูเหมือนง่ายอย่างนักจัดการฝึกอบรม หากพิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่าต้องอาศัยความรู้ทั้งในเชิงวิชาการ ทักษะหลายๆ ด้าน และยังควรต้องเป็นคนที่มีคุณลักษณะส่วนตัวที่จำเป็นต่อการทำงานนี้อีกด้วย ผู้ที่สนใจทำงานเป็นนักจัดการฝึกอบรม จึงควรพิจารณาคุณสมบัติของตนเอง และเตรียมความพร้อมเพื่อการประกอบอาชีพนี้ในอนาคต

 

อ้างอิง

กุลชลี พวงเพ็ชร์. (2560). การบริหารทรัพยากรมนุษย์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). สิงห์บุรี: โรงพิมพ์บุญยไพศาล

เจริญ.

Pinto, Patrick R. and Walker, James W. (1978). What Do Training and Development Professionals Really Do?. Training and Development Journal. 32, 7, 58-64, Jul 78.

 

อาจารย์ประจำสาวิชาการจัดการธุรกิจและทรัพยากรมนุษย์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

Bansomdejchaopraya Rajabhat University