สูตรขนมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไหม ?

[สูตรขนมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไหม ?]เนื่องจากได้มีโอกาสอ่านดราม่าเกี่ยวกับเรื่อง #บลูเบอร์รี่ชีสเยิ้ม และมีการถกเถียงกันว่าการทำขนมด้วยสูตรที่เหมือนหรือใกล้เคียงกันกันเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือเป็นการละเมิดสิทธิใด ๆ กันหรือไม่ เลยคิดว่าเรื่องนี้ก็น่าสนใจเหมือนกัน เพราะในช่วงโควิดที่เราต้อง WFH กัน ก็คงเห็นว่าเพื่อนหลาย ๆ คนได้ผันตัวไปเป็นเชฟขายบราวนี ชีสเค้กหน้าไหม้ หรือบลูเบอร์รี่ชีสพายไปแล้ว
.
ก่อนอื่นคงจะต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าขนมหรืออาหารทุกชนิดย่อมมีวิธีการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในด้านวัตถุดิบ กรรมวิธีในการทำ ตลอดจนอัตราส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้ ก็ไม่ใช่ว่าใคร ๆ จะสามารถทำขนมให้อร่อยได้จากการทำตามสูตรอาหารที่เผยแพร่ไว้ในที่ต่าง ๆ แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่า การทำขนมตามสูตรเหล่านี้จะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นไหม ?
โดยการกระทำอันจะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นได้นั้น อย่างแรกเลยก็ต้องปรากฎว่า “มีสิทธิของผู้อื่นอยู่ก่อน” ดังนั้น วันนี้เราจะมาพูดคุยกันว่าสูตรในการทำขนมหรืออาหารเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอันจะทำให้ผู้สร้างสรรค์ได้ไปซึ่งสิทธิดังกล่าวหรือไม่ ?
.[กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการทำขนม]ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สินที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายหลายฉบับของประเทศไทย แต่ในส่วนนี้จะขอกล่าวเฉพาะความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา 3 ประเภทที่เกี่ยวกับสูตรและวิธีการทำขนม ได้แก่ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ความลับทางการค้า
.[การทำขนมกับลิขสิทธิ์]พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์มุ่งให้ความคุ้มครองแก่งานสร้างสรรค์ 9 ประเภท ได้แก่ วรรณกรรม นาฎกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ งานแพร่เสียงแพร่ภาพ และงานอื่นฯ โดยการให้ความคุ้มครองแก่ลิขสิทธิ์เป็นการให้ความคุ้มครองทันทีโดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน (Automatic Protection) อย่างที่มักเข้าใจผิดกัน (แต่ก็จะต้องเป็นไปตามองค์ประกอบที่กฎหมายกำหนดด้วย)
.
เมื่อสูตรหรือวิธีการทำขนมไม่ได้เป็นงานสร้างสรรค์ 9 ประเภทตามที่กฎหมายคุ้มครอง ดังนั้น สูตรการทำขนมจึงไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์อันจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ (แต่หากเป็นกรณีรูปร่าง หน้าตา สีสัน หรือรูปทรงของขนมก็อาจได้รับความคุ้มครองได้ในฐานะที่เป็นงานศิลปกรรม หรือหากเป็นการเรียบเรียงภาษาออกมาก็อาจได้รับความคุ้มครองในฐานะที่เป็นงานวรรณกรรม)
.[สูตรและวิธีการทำขนมกับสิทธิบัตร]สิทธิบัตร เป็นกฎหมายที่คุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) ซึ่งหมายถึงการคิดค้น หรือคิดทำขึ้นให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใดขึ้น โดยเมื่อนำความหมายดังกล่าวมาพิจารณาประกอบกับวิธีการทำขนมก็จะเห็นได้ว่า การทำขนมนั้นย่อมเป็นการคิดค้นสูตร ขั้นตอน วิธีการอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งขนม(ผลิตภัณฑ์) หรือวิธีการทำขนม (กรรมวิธี) ดังนั้น การทำขนมจึงเป็นการประดิษฐ์ตามนัยยะมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตร
.
อย่างไรก็ตาม การประดิษฐ์ที่จะได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมาย จะต้องเป็นการประดิษฐ์ที่ #ได้รับจดทะเบียน เท่านั้น ซึ่งการประดิษฐ์ที่จะสามารถขอรับสิทธิบัตรได้จะต้องมีเงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่
1) การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ หมายถึง การคิดค้นที่ไม่เคยมีการเปิดเผยรายละเอียดมาก่อน ทั้งในและนอกประเทศ (world-wide novelty)
2) ขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ว่ากันง่าย ๆ ก็คือเป็นการประดิษฐ์ที่ “ยาก” อันไม่ใช่เรื่องซึ่งคนที่มีความรู้ทั่วๆไปจะสามารถทำได้โดยง่ายนั่นเอง
3) สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทางอุตสาหกรรม หรือก็คือการประดิษฐ์ดังกล่าวจะต้องก่อให้เกิดผลได้จริงในทางปฏิบัติ
.
ดังนั้น หากสูตรหรือวิธีการขนมเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีปรากฏ ณ ที่ใดมาก่อน และเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะสามารถทำได้โดยง่าย และสามารถนำสูตรนั้นมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติแล้ว เช่นนี้ ย่อมสามารถยื่นคำขอรับสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ ด้วยเหตุนี้ ความเข้าใจที่ว่าสูตรอาหารไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้นั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว
.
อย่างไรก็ตาม การขอรับสิทธิบัตรจะต้องแลกมาด้วยการเปิดเผยรายละเอียดและขั้นตอนการทำขนมต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่จะทำให้สาธารณะชนสามารถเข้าถึงสูตรดังกล่าวได้ อีกทั้งการยื่นคำขอยังมีต้นทุนในด้านเวลาและค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ผู้คิดค้นสูตรหรือขั้นตอนการทำอาหารไม่นำการคิดค้นดังกล่าวไปขอรับสิทธิบัตร แต่เลือกที่จะเก็บรักษาไว้เป็นความลับทางการค้าแทน

[ความลับทางการค้า กับ สูตรและวิธีการทำขนม]ถ้าว่ากันง่าย ๆ ความลับทางการค้า ก็คือ “ความลับ” ที่เจ้าของไม่ต้องการเปิดเผยนั่นเอง แต่สิ่งที่จะได้รับความคุ้มครองในฐานะที่เป็นความลับทางการค้าจะต้องมีลักษณะที่เป็นข้อมูลซึ่งไม่ใช่เรื่องทั่ว ๆ ไปและมีมูลค่า เช่น สูตรน้ำจิ้มสุกี้ สูตรเครื่องดื่ม Pepsi หรือ Coca-Cola เป็นต้น
.
วิธีการทำขนมที่ใครคนใดคนหนึ่งได้คิดค้นขึ้นเป็นสูตรเฉพาะตัวก็อาจได้รับความคุ้มครองในฐานะที่เป็นความลับทางการค้าได้ และกฎหมายก็จะคุ้มครองมิให้มีการนำความลับดังกล่าวมาเปิดเผยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของ

อย่างไรก็ตาม หากมีผู้อื่นมาแกะสูตรดังกล่าวได้เองโดยสุจริตจนรู้ถึงวิธีการทำ การค้นพบโดยอิสระ หรือการทำวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineering) เช่นนี้ ก็ต้องถือว่าความลับดังกล่าวได้ถูกเปิดเผยและไม่ถือเป็นการละเมิดความลับทางการค้าแต่อย่างใด
.
จากที่ได้พูดมายืดยาวข้างต้น ก็จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วสูตรและวิธีการทำอาหารก็ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศไทยได้ ส่วนจะได้รับความคุ้มครองแบบไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกคุ้มครองในลักษณะใด
.
ต้นเรื่องอ่านได้ตามลิ้งจ้า https://web.facebook.com/100044236518907/posts/391930098958204/?_rdc=1&_rdr

สูตรขนมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไหม ?