ของสินค้ามือสอง ละเมิดลิขสิทธิ์ไหม ?

.
จากกรณีข่าวที่มีผู้ถูกจับว่าละเมิดลิขสิทธิ์หลังจากได้โพสต์ขายโมเดลมือสอง ก็มีประเด็นที่น่าสนใจว่า การขายสินค้ามือสองเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ ?
.
แม้จะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Rights) ในงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าว โดยการกระทำต่องานดังกล่าวของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม การกำหนดคุ้มครองสิทธิเด็ดขาดมากจนเกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและสังคมได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการผ่อนปรนความเข้มข้นของหลักการดังกล่าวและได้ปรากฎเป็นข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้น
.
หลักสำคัญตามกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้ามือสอง ได้แก่ หลักที่ชื่อว่า “หลักความระงับไปซึ่งสิทธิ (Exhaustion of Rights)” โดยหลักการดังกล่าวได้ถูกบัญญัติไว้เป็นข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามความในมาตรา 32/1 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์อีกด้วย (เพิ่มโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558)
.
มาตรา 32/1 ได้บัญญัติว่า
“การจำหน่ายต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์โดยผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์”
.
จากบทบัญญัติมาตราข้างต้น จะเห็นได้ว่า หากบุคคลใดได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ด้วยวิธีกันอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว บุคคลดังกล่าวย่อมมีสามารถจำหน่ายสินค้าดังกล่าวต่อไปได้โดยไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น นาย A ได้ซื้อตำราเรียนมาหนึ่งเล่มเพื่อใช้ในการอ่านเตรียมสอบ เช่นนี้ เมื่อสอบเสร็จแล้ว นาย A ย่อมสามารถขายตำราเล่มนั้นต่อให้บุคคลอื่นได้โดยไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
.
ทั้งนี้ หลักการดังกล่าวเป็นหลักที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ผู้ซื้อสินค้าสามารถแสวงหาประโยชน์จากสินค้าดังกล่าวได้อย่างเต็มที่เนื่องจากบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของ “กรรมสิทธิ์” ในสินค้าชิ้นดังกล่าวแล้ว
เหตุผลที่กฎหมายกำหนดให้สิทธิของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาระงับลง ก็เนื่องจากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการสร้างสรรค์ดังกล่าวแล้วนั่นเอง (ได้เงินจากการขายแล้ว) โดยหากปราศจากหลักการข้างต้นย่อมทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์แสวงหาประโยชน์ได้มากเกินสมควรและส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคที่ได้สินค้าดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมาย
.
โดยสรุป เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ “จำหน่าย” สินค้าอันมีลิขสิทธิ์ของตนแล้ว ย่อมมีผลให้สิทธิในการจำหน่ายสินค้าชิ้นดังกล่าวระงับสิ้นไป โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมไม่อาจหวงกัน หรือ ห้ามมิให้ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวนำออกจำหน่ายต่อไปได้
.
หากไม่มีการกำหนดข้อยกเว้นดังกล่าวเอาไว้ เราคงได้เห็นการฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์จากการขายสินค้ามือสองกันเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการขายหนังสือ เกม หรือสินค้าอื่น ๆ ที่มีความต้องการสูง เช่น ของสะสม หรือสินค้าจำพวก Limited Edition เป็นแน่ เนื่องจากสินค้าดังกล่าวมีจำนวนจำกัด แต่ในทางตรงกันข้ามกับมีความต้องการ (Demand) ในจำนวนที่สูง เป็นต้น
.
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดทั้งมวลข้างต้น ก็จะสามารถสรุปได้ว่าการขายสินค้ามือสองจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วนจะผิดตามกฎหมายอื่นหรือไม่ก็คงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายนั้น ๆ กันต่อไป
.
ข่าวต้นทาง: https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6592859

ของสินค้ามือสอง ละเมิดลิขสิทธิ์ไหม ?