กระบวนการสื่อความหมายในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมร่วมสมัย

กระบวนการสื่อความหมายในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมร่วมสมัย

ทฤษฎี “สัญวิทยา” (Semiology) ถูกคิดค้นโดยแฟร์ดิน็อง เดอ โซซูร์ (Ferdinnand de Saussure, 1857-1913) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิส เป็นทฤษฎีในการศึกษาหาความหมายจากการจำแนกหน่วยต่าง ๆ ที่สื่อความหมายอย่างเป็นระบบ เช่น ระหว่างรูป (Form) หรือแก่น (Essence) เนื้อหาสาระ (Substance) หรือสิ่งที่ปรากฏ (Appearance) วิธีการศึกษาดังกล่าวนี้เรียกว่า วิธีการหาความรู้แบบโครงสร้างนิยม (The Structuralist Method) (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2545 : 43)  ซึ่งเป็นการศึกษาแบบวิเคราะห์ลึกลงไปในรูปสัญญะต่าง ๆ แล้วชี้ความมุ่งหมายของรูปสัญญะนั้น ๆ ว่าทำงานอย่างไร สะท้อนนัยความหมายอะไร สามารถนำมาเชื่อมโยงสู่การวิเคราะห์ด้านเนื้อหา  เพื่อสร้าง “นัยวัตถุ” โดยการจัดวาง “รูปสัญญะ”จากหลักและวิธีคิดทางการจัดวางองค์ประกอบศิลป์ (Composition)

สัญญะ (Sign) คือ “อะไรก็ได้ที่ก่อให้เกิดความหมายโดยการเทียบเคียงให้เห็นความแตกต่างไปจากสิ่งอื่นและคนในสังคมยอมรับหรือเข้าใจ” (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2545 : 17)  ซึ่งการวิเคราะห์สัญญะในแบบวิธีการของ แฟร์ดิน็อง เดอ โซซูร์ นั้น ใช้วิธีการแบ่งระบบการสื่อสารของสัญญะตัวหนึ่ง ๆ ออกเป็น  2 ส่วนประกอบ คือ

1. รูปสัญญะ (Signifier)

2. ความหมายสัญญะ (Signified)

การแบ่งสัญญะออกเป็น 2 ส่วนนี้ เป็นวิธีการวิเคราะห์สัญวิทยาแบบพื้นฐานที่ง่ายที่สุด ถึงจะแยกออกเป็น 2 ส่วนประกอบ แต่การทำงานต้องใช้ความสัมพันธ์ร่วมกัน โดยต้องเป็นที่ยอมรับและเข้าใจร่วมกันในสังคม สัญญะนั้นถึงจะสื่อความหมายได้ (Signification) (ธีรยุทธ บุญมี, 2551 : 269)  ทั้งนี้ ผู้เขียนของหยิบยกของความส่วนหนึ่งจากหนังสือ สัญวิทยา โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์ เขียนโดย ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร มาแสดงประกอบความเข้าใจถึงระบบความสัมพันธ์ (Relations) ระหว่างรูปสัญญะกับความหมายสัญญะ ตามวิธีการแบ่งเป็นหน้าที่ (Mode) ของชาร์ล แซนเดอร์ เพอร์ช (Charles Sanders Peirce, 1839-1914) (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2545 : 8)  นักปรัชญาชาวอเมริกันผู้สานต่อแนวคิดสัญวิทยาจาก แฟร์ดิน็อง เดอ โซซูร์ ดังนี้

“ความสัมพันธ์ระหว่างรูปสัญญะกับความหมายสัญญะมีมากกกว่าเรื่องของการถูกกำหนดให้เป็น (Arbitrary) เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างรูปสัญญะกับความหมายสัญญะที่มีความคล้ายคลึงกัน (Resemblance) จะเรียกว่า “ภาพเหมือน” (Icon) เช่น ภาพถ่าย ภาพวาดหรือรูปปั้นที่คล้ายคลึงกับคนจริง ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างรูปสัญญะกับความหมายสัญญะเป็นแบบสาเหตุ-ผลลัพธ์ (Causal Relation) ที่บ่งชี้ เรียกว่า “ดรรชนี” (Index) เช่น ควันเป็นดรรชนีของไฟ เมฆเป็นดรรชนีของฝน  ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างรูปสัญญะกับความหมายสัญญะ เป็นเรื่องของการเป็นตัวแทน (Representation) และสังคมในวงกว้างยอมรับ ก็เรียกว่า “สัญลักษณ์” (Symbol) เช่น รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดส-เบ็นซ์ ในสังคมไทยถือเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย ในนัยนี้สัญลักษณ์จึงเป็นสัญญะ (Sign) ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นตัวแทน ถูกสังคมเรียกให้เป็นตัวแทนของสิ่งนั้น ๆ เช่น ตราชั่งเป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรม เป็นต้น”

การแบ่งสัญญะตามหน้าที่ (Mode) ดังที่กล่าวมานี้ เป็นการทำงานแบบ “ภาพเหมือน (Icon)” แบบ “ดรรชนี (Index)” และแบบ “สัญลักษณ์ หรือสัญญะ” (Symbol-Sign) และยังมีเพิ่มเติมอีก 2 หน้าที่คือแบบ “เครื่องหมายหรือป้าย (Signic)” เช่น ป้ายหรือโลโก้สินค้า เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายยศ และแบบ “สัญญาณหรือรหัส (Signal-Code) เช่น สัญญาณไฟจราจร รหัสมอร์ส” (ธีรยุทธ บุญมี, 2551 : 58-59)  ซึ่งในรูปแบบการนำเสนอผลงานศิลปะก็มีการใช้หน้าที่ของสัญญะ (Sign) เหล่านี้ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ที่พบได้บ่อยคือ แบบภาพเหมือน (Icon) กับแบบสัญลักษณ์ หรือสัญญะ (Symbol-Sign)

วิธีคิดแบบวิเคราะห์ และจำแนกรูปสัญญะกับความหมายสัญญะของ แฟร์ดิน็อง เดอ โซซูร์ แม้จะใช้ได้ดีในการคิดวิเคราะห์เรื่องราว เนื้อหาต่าง ๆ แต่ในทางกายภาพที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมต้องมีการปรับประยุกต์เพื่อให้สอดคล้องกับภาษาและธรรมชาติของงานศิลปะ กล่าวคือ ตามทฤษฎี “รูปสัญญะ” ในความหมายของแฟร์ดิน็อง เดอ โซซูร์ “ไม่ใช่เสียงและไม่ใช่ภาพ แต่เป็นรอยประทับ (Imprint) ของเสียงและภาพในสมองหรือจิตใจ เป็นสิ่งหรือตัวตนทางจิตวิทยา (Psychological Entity) ไม่ใช่สิ่งทางกายภาพ (ธีรยุทธ บุญมี, 2551 : 58-59)  จากทัศนะข้างต้นจะเห็นได้ว่า “รูปสัญญะ” ตามทฤษฎีนี้เป็นภาวะนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็น “อัตวิสัย” ที่รับรู้กันภายใน แต่งานศิลปะโดยเฉพาะจิตรกรรมนั้นสื่อสารด้วยภาษาภาพที่ต้องมีรูปปรากฏทางกายภาพในการสื่อสารถึงจะสื่อความคิด ความหมาย อารมณ์ ความรู้สึกได้ อักขระภาษาของงานศิลปะคือ   “ทัศนธาตุ” ที่ประกอบด้วย จุด เส้น สี น้ำหนักแสงเงา พื้นผิว และที่ว่าง หรือเรียกว่า “ภาษาทัศนศิลป์” (อิทธิพล ตั้งโฉลก, 2550 : 43) รวมไปถึงการจัดองค์ประกอบศิลป์ ทั้งหมดนี้ เป็นการประยุกต์เอาวิธีคิดและวิธีการมาสร้างกระบวนการจัดเรียงรูปสัญญะในจิตรกรรมเพื่อ สื่อความหมาย เนื้อหา เรื่องราวต่าง ๆ

“มายาคติ” (Mythologies) เป็นทฤษฎีที่ถูกคิดค้นโดย โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes, 1915-1980) นักสัญวิทยาชาวฝรั่งเศส เป็นแนวคิดที่มีรากฐาน ความเชื่อมโยงกับวิธีการทางสัญวิทยา เป็นอย่างมาก กล่าวคือ “มายาคติเป็นกระบวนการสื่อความหมายที่อาศัย “การเข้าไปยึดครอง” (Appropriation) และครอบงา “ความหมายเบื้องต้น” ของสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นความหมายเชิงผัสสะหรือประโยชน์ใช้สอย แล้วทำให้มันสื่อความหมายในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายเชิงค่านิยมอุดมการณ์” (นพพร ประชากุล, 2547 : 10) หรือเรียกว่าเป็นสิ่งหรือตัวแทนของสิ่งหนึ่ง (Representation) การทำงานลักษณะดังกล่าวตรงกับการทำงานแบบ “สัญลักษณ์หรือสัญญะ” (Symbol-Sign) ในวิถีการทำงานของสัญวิทยา ซึ่งเงื่อนไขที่จะทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดกลายสถานะเป็น “มายาคติ” ก็คือ “การที่สังคม-วัฒนธรรมเข้าไปยุ่งเกี่ยวแทรกแซง โดยหยิบยื่นความหมาย คุณค่า   ต่าง ๆ นานา (ทั้งในด้านดีและด้านร้าย) ให้แก่สิ่งนั้น ๆ” (นพพร ประชากุล, 2547 : 7)

การวิเคราะห์ระบบการสื่อสาร ด้วยแนวคิดและวิธีการตามทฤษฎี “มายาคติ” จะสามารถจำแนกหน่วยของการสื่อสารนั้น ๆ ออกได้ 2 ส่วน คือ

          1. ความหมายตรง (Denotation) คือ ความหมายเชิงประจักษ์จากประโยชน์ใช้สอย

          2. ความหมายแฝง (Connotation) คือ ที่เป็นความหมายจากคติ ค่านิยม หรืออุดมการณ์ที่สังคมให้นิยามความหมายร่วมกัน “เป็นความหมายในเชิงภาพ หรืออุปมาอุปมัย เป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ หรือความคิดเห็นที่ยึดถือมานาน และความสัมพันธ์ตามขนบธรรมเนียมที่เพิ่มพูนขึ้นของคำและภาพตรงข้ามกับความหมายตามตัวอักษร หรือการบ่งชี้ตรง ๆ” (สมเกียรติ ตั้งนโม, 2549 : 48)

“ความหมายแฝงอาจเป็นสากลหรือจำกัดเฉพาะกลุ่ม” ยกตัวอย่างเช่น จำกัดเฉพาะชนชาติ หรือจำกัดเฉพาะชนชั้นหนึ่งของสังคม หรือเป็นส่วนตัว ความเป็นประโยชน์เกี่ยวกับหมวดหมู่ในแบบหลังนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ เนื่องจากมันเป็นไปได้สำหรับผู้ดูปัจเจกในการอ่านผลงานชิ้นหนึ่งด้วยความหมายแฝงส่วนตัว ซึ่งอันนี้ไม่ได้ถูกแบ่งปันกับผู้ดูคนอื่น ๆ ทั่วไป “หากเราสามารถที่จะคลี่คลายรหัสภาพเหล่านี้ได้ คุณจะได้พบเนื้อหาต่าง ๆ ของภาพที่มีลับลมคมใน จากนั้นลำดับของวิธีการเข้าถึงทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ จะพรั่งพรูความหมายของมันออกมา” (สมเกียรติ ตั้งนโม, 2549 : 48)

วิธีการวิเคราะห์กระบวนการสื่อความหมายของมายาคตินี้ นอกจากจะมีความเชื่อมโยงกับวิธีการทางสัญวิทยาในการศึกษาหาความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ในสิ่งต่าง ๆ แล้ว แนวคิดทั้งสองยังสามารถนำมาใช้ศึกษา วิเคราะห์เรื่องราว วิกฤตการณ์ สถาณการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ซึ่ง “ความจริงกับสิ่งลวง” มีการซ้อนทับกันอย่างแนบเนียน และด้วยหลักคิดและทฤษฎีดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้เราสามารถจำแนกและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ที่มี  “นัยความหมาย” ที่แตกต่างออกไปจากเดิมได้อย่างเป็นระบบและง่ายขึ้น

 

เอกสารอ้างอิง

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2545). สัญวิทยา โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์.        พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิภาษา.

ธีรยุทธ บุญมี. (2551). การปฏิวัติสัญศาสตร์ของโซซูร์ เส้นทางสู่โพสโมเดอร์นิสม์. พิมพ์ครั้งที่ 1  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิภาษา.

นพพร ประชากุล. (2547). มายาคติ. แปลจาก Mythologies, Roland Barthes, แปลโดย วรรณพิมล อังคศิริสรรพ. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

สมเกียรติ ตั้งนโม. (2549). มองหาเรื่อง:วัฒนธรรมทางสายตา. มหาสารคาม : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย   มหาสารคาม.

อิทธิพล ตั้งโฉลก. (2550). แนวทางการสอนและสร้างสรรค์จิตรกรรมขั้นสูง. กรุงเทพฯ. อัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง.