พื้นฐานความคิดและอิทธิพลในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม ชุด ‘นัยวัตถุ’

พื้นฐานความคิดและอิทธิพลในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม ชุด ‘นัยวัตถุ’

ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพื้นฐานทางความคิด แรงบันดาลใจและอิทธิพลจากสิ่งต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูล ชุดความรู้ที่หลากหลายและมีความเป็นปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนกระบวนการคิด วิธีการประกอบสร้างผลงานและการนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้คือแนวทางนำไปสู่การสร้างสรรค์ที่ดี ที่มีผลผลักดันและกระตุ้นให้ศิลปินมีความพยายามในการคิดสร้างสรรค์ผลงานซึ่งในตัวศิลปินแต่ละคนนั้นย่อมมีชุดข้อมูล ความรู้ ทัศนคติ ความเชื่อหรือความศรัทธาที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลรอบตัวแตกต่างกันออกไป จึงนำมาซึ่งความต่างในทางพื้นฐานความคิดและการแสดงออก

การสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมชุด “นัยวัตถุ” เป็นผลงานสร้างสรรค์จิตรกรรมรูปแบบเหมือนจริง (Realistic) ซึ่งเป็นการใช้ภาพถ่ายเป็นข้อมูลต้นแบบให้กับงานจิตรกรรมหรือการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมให้เหมือนจริงดั่งภาพถ่าย แต่ในกายภาพของผลงานที่มีความ “เหมือนจริง” ไม่ได้เป็นหมุดหมายปลายทางสูงสุดของการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ หากแต่แฝงเจตนาที่มีความพยายามชี้ชวนให้เกิดการค้นหาความหมาย การตีความ “สาร” ซึ่งเป็นสาระหรือแก่นแกนของผลงานที่ซุกซ่อนอยู่โดยใช้วิธีการตั้งคำถามจากวัตถุสิ่งของรอบตัวมาเป็นสัญลักษณ์ (Symbol-Sign) เพื่อเป็นภาพตัวแทน (Representation) ของบางสิ่งบางอย่าง โดยมีพื้นฐานทางความคิดมาจาก “ทฤษฎีสัญวิทยา (Semiology)” ที่ช่วยอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ระบบของภาพ (image) และกระบวนการสื่อความหมาย (Relations) และการทำงานของสัญญะต่าง ๆ  กับ “ทฤษฎีมายาคติ (Mythologies)” ที่ให้แนวคิดในการวิเคราะห์และจำแนกเรื่องราวทางคติ ความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์ และวัฒนธรรมจากการสื่อสารแบบความหมายตรงและการสื่อสารแบบความหมายแฝงอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เราได้รู้ ได้เข้าใจ และได้เห็น “มายาภาพ” ของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่ฉาบเคลือบอยู่ในเรื่องราวและสถานการณ์ทางสังคม

จากพื้นฐานความคิดอันมีที่มาจากอิทธิพลทางด้านต่าง ๆ รวมไปถึงทฤษฎี ชุดความรู้ที่มีผลต่อการสร้างสรรค์ที่ผู้เขียนได้กล่าวนำไปในภาพรวม สามารถแยกเป็นประเด็นย่อยซึ่งจะช่วยอธิบายถึงความเชื่อมโยงที่นำมาสู่การสร้างสรรค์ โดยมีเนื้อหาและรายละเอียดดังต่อไปนี้

พื้นฐานความคิดและอิทธิพลจากสถานการณ์ทางสังคม

ในการสร้างสรรค์ผลงานชุด “นัยวัตถุ” ผู้เขียนต้องการนำเสนอความเป็น “ภาพ” และสื่อสารด้วย “ภาษา” ในบริบทของศิลปะ เพื่อเล่าเรื่องราวและนัยความหมายบางอย่างที่เกี่ยวกับ สถานการณ์ต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นในสังคมภายใต้บริบททางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่แทรกอยู่ในแทบทุกมิติในสังคมปัจจุบัน ซึ่งหลาย ๆ เรื่องได้แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างแยบคาย โดยที่หลายครั้งเราเองก็ไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะในวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งศาสนา ทุกสิ่งอย่างที่มีมนุษย์ไปเกี่ยวข้อง ในหลากหลายประเด็นเหล่านี้เป็นที่มาของคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องราวที่ได้ประสบในชีวิตประจำวันของตัวผู้เขียนเอง

ในสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมในปัจจุบัน มีความพยายามในการประดิษฐ์ประดอยภาษาที่เกิดจากสร้าง “ความคิดเชิงอุปลักษณ์” (Conceptual Metaphor) อันหลายหลาก ซึ่งเป็นมโนภาพในการทำความเข้าใจของสิ่งหนึ่ง ด้วยอีกสิ่งหนึ่ง เป็นการวาดภาพทางภาษาซึ่งเปรียบเทียบของสองสิ่งหรือแนวคิดสองอย่าง (อุปลักษณ์, ม.ป.ป.) ภายใต้วิธีคิด วิธีการ กระบวนการและการปฏิบัติการทางการเมืองที่ลึกซึ้งและแยบยล กลายเป็น “คําอุปลักษณ์” ที่ดํารง-ผลึกแน่นในการรับรู้และสามัญวิถีของผู้คนในสังคมนั้นโดยกลไกรัฐ  เชิงสถาบันและโครงสร้างอํานาจ ที่ทําให้ปราศจากการตั้งคําถาม การปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก การรับรู้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง   

บ่อยครั้งที่เราหลายคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการมีชีวิตภายใต้ยุคของสื่อใหม่ อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีใหม่ที่ทรงอิทธิพล เราคงจะต้องทําความเข้าใจและหาจุดลงตัวของเรื่องหลายเรื่อง ตั้งแต่เสรีภาพในการแสดงความเห็น การเคารพความเห็นของคนอื่นซึ่งหมายถึงการอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และการค้นหาความจริงภายใต้เสรีภาพ และการไร้ซึ่งเสรีภาพโดยเฉพาะในกรณีที่รัฐเป็นส่วนสําคัญที่ทําให้การค้นหาความจริงที่พ้นไปจากการควบคุมของรัฐนั้นเป็นไปได้ยากลําบาก ด้วยเหตุนี้การพึ่งพากรอบกฎหมายของรัฐอย่างเดียวจึงเป็นไปได้ยากในกรณีที่รัฐเป็นที่มาของการทําให้เสรีภาพ ความเป็นส่วนตัว และการเข้าถึงความจริงเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก เรื่องที่เรามักจะเชื่อกันว่าการสื่อสารและการมีชีวิตทางการเมืองนั้นจะต้องผูกโยงกับ “ความจริง” ขณะที่โลกในวันนี้ถูกนิยามว่าเป็นโลกหลังความจริง (post- truth) และการเมืองกับการสื่อสารทางการเมืองก็เข้าสู่ยุคแห่งโลกหลังความจริง แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่า โลกหลังความจริงนั้นไม่ได้หมายถึงว่ามันไม่จริง แต่มันหมายถึงผลสะเทือนทางอารมณ์และการรับรู้ของเรานั้นเป็นเรื่องสําคัญในการรับสาร คือมันจริงในแง่ของสิ่งที่มันกระทําต่อเรา ไม่ใช่มันไม่จริงคือไม่มีผลต่อเรา หรือมันหมายถึงกระบวนการที่สะสมและท่วมทะลักไหลบ่าเข้ามาของสื่อและสารต่าง ๆ ที่มุ่งไปที่ผลทางอารมณ์และความเชื่อส่วนตัวของเรา (พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, 2561)

“ความจริง” ภายใต้การนิยามโลกในยุคปัจจุบันนี้ เป็นความจริงในแง่ของอารมณ์ความรู้สึกที่เราถูกดึงเข้าไปมีส่วนร่วมกับความจริงนั้น สำหรับผู้เขียน กระบวนการแบบนี้มันเป็นกระบวนการรูปแบบเดียวกันกับการสื่อสารด้วยศิลปะ จาก “สื่อ” ที่มีความเรียบแบนแบบงานจิตรกรรมที่มีเพียง “ภาพ” มันคือ “สาร” ที่ไม่มีเสียง มันดูไร้ศักยภาพในการตอบโต้ในโลกจริง แต่สารจากงานจิตรกรรมนี้มันสามารถส่งข้อความที่เป็นเนื้อหาสาระบางอย่างที่ทรงอิทธิพลออกมาอย่างเงียบ ๆ ได้  ในงานจิตรกรรมชุดนี้เป็นผลงานในรูปแบบ “เหมือนจริง” ซึ่งผู้เขียนเจตนานำเสนอมันจากกรอบคิดที่ว่า จิตรกรรมแบบเหมือนจริงมันไม่ใช่การคัดลอกความจริง แต่มันเป็นการ “ลวง” ด้วยวิธีการต่าง ๆเพื่อให้ดูสมจริง ประเด็นนี้จึงถูกนำไปเชื่อมโยงกับ “ความจริง” ของบางสิ่งบางอย่างในสังคมยุคปัจจุบันนี้

พื้นฐานความคิดจากการตั้งคำถามเรื่องความจริงในงานจิตรกรรม

จากความคิดแรกเริ่มที่ผู้เขียนได้พยายามตั้งคำถามถึงความหมายของจิตรกรรมในระดับการนิยามเพื่อหาคำตอบที่กระจ่างชัด โดยมุ่งหวังว่าตำตอบนี้จะเป็นการสอบทวนทัศนคติที่มีต่อจิตรกรรมของตนเองที่นำไปสู่ “แนวความคิด (Concept)” ที่สามารถสื่อสาร “เนื้อหา (Content)” ในงานจิตรกรรม โดยการย้อนกลับไปศึกษาทำความเข้าใจจิตรกรรมในอดีต ระหว่างจิตรกรรมของซีกโลกตะวันตกและจิตรกรรมของซีกโลกตะวันออกนั้นมีความแตกต่างกันอย่างตรงกันข้าม จิตรกรรมตะวันตกตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษ   ที่ 19 มีรูปแบบที่เป็นการจําลองธรรมชาติให้ “เหมือนจริง” อย่างที่สุดตามความเชื่อแบบ “ภาวะวิสัย” ส่วนจิตรกรรมตะวันออกรวมทั้งจิตรกรรมไทยประเพณีนั้นมีรูปแบบที่คิดขึ้นเองตาม “อุดมคติ” ตามความเชื่อแบบ “อัตวิสัย” หรืออาจจะกล่าวได้ว่าจิตรกรรมตะวันตกเพียรพยายามถ่ายทอดความเป็นจริง “ภายนอก” ตามที่ตาเห็น แต่ในทางตรงกันข้ามจิตรกรรมตะวันออก แสดงออกถึงความเป็นจริง “ภายใน” ตามที่ศิลปินรับรู้และเข้าถึง และเมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็เกิดการแลกเปลี่ยนและผสมผสานกันจนกลายเป็นจิตรกรรม “สากล” (อิทธิพล ตั้งโฉลก, 2550 : 63-64)

จิตรกรรมตั้งแต่ดั้งเดิมมาเป็นศิลปะ 2 มิติ และมีมิติที่ 3 คือความลึกเป็น “มายา” ลวงตาผู้ดูด้วย เส้น สี น้ำหนัก และพื้นผิวให้ดูลึกทะลุเข้าไปในผิวระนาบของผืนผ้าใบ ต่อเมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 จิตรกรรมได้ขยายตัวแปรเปลี่ยนทั้งนูนหนายื่นออกมา และหลีกหนีหลุดออกจาก กรอบสี่เหลี่ยมจนกลายเป็น “วัตถุ” ซึ่งมีความเป็นจริงในตัวเอง มิใช่ภาพ “มายา” ที่จําลอง หรือเลียนแบบชีวิตและโลกอีกต่อไป หรืออาจจะกล่าว   ในอีกนัยหนึ่งก็คือจิตรกรรมมิได้ถูก “จํากัด” อยู่ในความหมายแบบดั้งเดิมที่ถือปฏิบัติกันมาจนเป็นประเพณี แต่จิตรกรรมเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่ความเชื่อ ทัศนะ ความคิดของศิลปินแต่ละคนแบบ “ปัจเจกนิยาม” (อิทธิพล ตั้งโฉลก, 2550 : 66)

การแยกประเภทของจิตรกรรมก็อาจจะแยกได้เพียง 2 ประเภท กว้าง ๆ คือ 1. จิตรกรรมลวงตาในแบบดั้งเดิม ที่ยังมีศิลปินนิยมทํากันอยู่อย่างแพร่หลายไม่ขาดตอนอยู่ทั่วโลก ประเภทที่ 2 คือจิตรกรรมที่เป็น “วัตถุ” ไม่ลวงตา ไม่เลียนแบบสิ่งใด ๆ จิตรกรรมประเภทนี้ใช้ทัศนธาตุ เช่นเดียวกับประเภทแรก แต่ใช้ทัศนธาตุสื่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ความงาม และความหมายโดยตรง และรูปแบบก็อาจจะเป็นทั้งแบบรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ (อิทธิพล ตั้งโฉลก, 2550 : 66) ซึ่งหากใช้การจำแนกประเภทของจิตรกรรมในลักษณะนี้ ผลงานสร้างสรรค์ชุด “นัยวัตถุ” นี้ จะอยูในประเภทของ “จิตรกรรมลวงตา” ที่สื่อสารภาษาด้วย “ความเหมือนจริง” แต่ผู้เขียนยังมีความคิดและทัศนคติที่เชื่อว่า จิตรกรรมเหมือนจริงนั้น จะเกิดความรู้สึก “ลวงตา” ก็ต่อเมื่อมันปรากฏอยู่บนระนาบแบน ๆ ของวัตถุเช่นเดียวกัน

จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นนิยามความหมายของจิตรกรรมภายใต้บริบทของ “รูปแบบ” ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่อธิบายว่าจิตรกรรมคืออะไร ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมที่แสดงความเป็น “วัตถุ” ที่แสดงให้เห็นถึง “สารัตถะ” อันเป็นความจริงในตัวเอง หรือจิตรกรรมที่ลวงตาในแบบดั้งเดิมที่เป็นการจําลองธรรมชาติให้ “เหมือนจริง” ตามความเชื่อแบบ “ภาวะวิสัย” ที่พยายามถ่ายทอดความเป็นจริง “ภายนอก” ตามที่ตาเห็น และจิตรกรรมที่มีรูปแบบ “อุดมคติ” ตามความเชื่อแบบ “อัตวิสัย” ที่แสดงออกถึงความเป็นจริง “ภายใน” รูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ผู้เขียนได้เห็นถึง “ความจริง”ที่เป็นเสมือนจุดร่วมเชิงความหมายและการรับรู้  กับ “ความจริง” จาก “วัตถุ (จิตรกรรม)” หากแต่ความจริงเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไขของ “ภาพ (image)” ที่ปรากฏบน “ความแบน” ของวัตถุ (จิตรกรรม) ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพที่เป็นจริง จิตรกรรมในความหมายของผู้เขียนจึงเป็นเรื่องของภาพ เป็นเรื่องของภาษาภาพ และเป็น “ภาพตัวแทน (representation)” ของนัยความหมายบางอย่างในเรื่องวัตถุ

ผลงานจิตรกรรมชุด “นัยวัตถุ” จึงเป็นผลงานที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้กรอบคิดของทัศนคติที่ว่า จิตรกรรมคือ “วัตถุ” และจิตรกรรมคือความเป็น “ภาพ” ที่ปรากฏอยู่บนระนาบที่มี “ความแบน” ซึ่งความเรียบแบนนี้เองที่ไม่อาจสามารถแทนความ “เหมือนจริง” ของโลกสามมิติได้ “นัย” ของ “วัตถุ (จิตรกรรม)” นี้ จึงเป็นวิธีคิดในการสร้าง “นัยวัตถุ (ภาพตัวแทน)” ซึ่งเป็นความหมายแฝงของบางสิ่งบางอย่าง และด้วยบริบทของงานจิตรกรรมแบบเหมือนจริงที่มีเป้าหมายในการลวงตา (illusion) ให้รู้สึกมีความสมจริง แต่มันไม่ใช่ความ “เหมือนจริง” ที่เทียบแทน “ความจริง” ได้ และด้วยความซับซ้อนเชิงภาพนี้ งานจิตรกรรมจึงมีนัยของความจริงกับสิ่งสมมติทับซ้อนกันอยู่

 

เอกสารอ้างอิง

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. การเมืองใหม่กับพื้นที่สื่อในโลกหลังความจริง. เข้าถึงเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561,  เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_1072773

อิทธิพล ตั้งโฉลก. (2550). แนวทางการสอนและสร้างสรรค์จิตรกรรมขั้นสูง. กรุงเทพฯ. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์ พับลิชชิ่ง.