แนวปฏิบัติในการดำเนินงานสู่ความเป็นเลิศในระบบการศึกษา

บทคัดย่อ

          การที่องค์กรหนึ่งองค์กรจะได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย  นอกจากนั้นยังมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ของรางวัลคุณภาพแห่งชาติไปตามสภาพการณ์ของโลก โดยอ้างอิงจากรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา และเมื่อเราพูดถึงรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ข้อดีคือจะมีกรอบให้เราทำตาม แต่เราก็สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับบริบทของเราได้ เพราะเราเชื่อว่ากระบวนการต่าง ๆ หมุนอยู่ตลอดเวลาซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงของโลกที่หมุนอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเรานำเกณฑ์ของรางวัลมาปรับใช้ จึงเป็นเกณฑ์ที่ทำให้เราคิดเลยไปข้างหน้าได้ดีขึ้น จนกลายเป็นว่าผู้บริหารและพนักงานทุกคนสนุกกับการทำงานครั้งนี้หลังจากนั้นจึงนำมาพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อให้เกิดการพัฒนาขององค์กรของตน ถ้าคนในองค์กรมีความเชื่อ     ในการบริหาร ทุกคนจะร่วมดำเนินการไปด้วยกันอย่างเต็มใจและเต็มกำลัง และพร้อมมุ่งสู่ความสำเร็จ การตั้งเป้าหมายไว้ภายใน 2-3 ปี จะทำให้เราทราบจุดอ่อนจุดแข็งที่จะนำมาปรับปรุงองค์กร และนำไปเป็นแผนในการบริหารจัดการ     จนทำให้องค์กรของเราก้าวกระโดดในการดำเนินงานทำงานเป็นระบบตามเกณฑ์จนสามารถไปถึงความเป็นเลิศได้

คำสำคัญ : แนวทางสู่ความเป็นเลิศ,  การดำเนินงานสู่ความเป็นเลิศ , ความเป็นเลิศในระบบการศึกษา

 

บทนำ

          เพื่อให้การดำเนินงานสู่ความเป็นเลิศตามแผนกลยุทธ์ที่โดดเด่นขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล อาศัยอำนาจตามความในข้อ 32(1)ของกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2553 คณะกรรมการประกันคุณภาพภายในระดับอุดมศึกษาในการประชุมครั้งที่ 5/2557 เมื่อวันที่ 9 เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2557 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอุดมศึกษาในการประชุมครั้งที่ 9/2557 เมื่อวันที่ 4 เดือนกันยายน 2557 เห็นสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกันคุณภาพภายใน ระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2557 ซึ่งประกาศนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับอุดมศึกษาโดยยึดหลักเสรีภาพทางวิชาการ ความมีอิสระในการดำเนินงานของสถานศึกษา (คณะกรรมการประกันคุณภาพภายในระดับอุดมศึกษา, 2558, หน้า1) ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเตรียมพร้อมของสถานศึกษารองรับการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับอุดมศึกษาจึงต้องจัดให้มีระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับหลักสูตร  คณะ  และสถาบัน ให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ  หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันซึ่งสถานศึกษาระดับอุดมศึกษามีอิสระในการเลือกระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในโดยยึดหลักเสรีภาพทางวิชาการและความมีอิสระในการดำเนินการของสถานศึกษา  ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง  สอดคล้องกับบริบทและเจตนารมณ์ของสถานศึกษาแห่งนั้น และเป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษา  เพื่อพร้อมจะรับการประกันคุณภาพในทุกด้าน

 

แนวคิดสู่ความเป็นเลิศ

          การเป็นผู้นำนอกจากจะเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จแล้วยังเป็นการสร้างแบบอย่างที่ดีให้กับทีมตลอดจนองค์กรเพื่อนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพที่แท้จริง ความเชื่อมั่นในความสามารถของผู้นำเป็นสิ่งสำคัญต่อการก้าวตามของผู้ร่วมงานที่มีต่อผู้นำองค์กร  ดังนั้นผู้นำองค์กรคือคนที่สามารถปกครองดูแล มอบหมาย สอนงาน ติดตาม สร้างแรงจูงใจและคิดในเชิงกลยุทธ์เพื่อนำทีมไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ถือเป็นบทบาทสำคัญมากที่ผู้นำต้องตระหนักและเรียนรู้ในการเป็นผู้นำที่ดี ดังที่ (Deporter,2000 อ้างถึงใน สมาน อัศวภูมิ ,2557,หน้า2) ที่นิยามความเป็นเลิศไว้ว่าความเป็นเลิศหมายถึงการทำทุกอย่างที่มุ่งคุณภาพสูงสุดยอดเยี่ยม มีคุณค่า และคุ้มค่า เมื่อเราทำสิ่งใดด้วยความเป็นเลิศ เราจะทำได้อย่างยอดเยี่ยม (Extremely Well) โชติช่วง (Shine) และโดดเด่น (Stand Out) DePorter โดยอ้างคำกล่าวของ Alistotle ว่า ความเป็นเลิศเป็นศิลปะซึ่งได้มาด้วยการฝึกฝนและฝึกนิสัย เราทำสิ่งที่ถูกต้องไม่ใช่เพราะเรารู้ความถูกต้องหรือความเป็นเลิศ แต่เพราะเราทำความถูกต้องหรือความเป็นเลิศ และความเป็นเลิศไม่ใช่การกระทำประเดี๋ยวประด๋าว แต่ทำสิ่งนั้น ๆ จนเป็นกิจนิสัย

            พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน (2554,หน้า,1082) ให้ความหมายของคำว่า “เลิศ” ไว้ว่า ยอดดีหรือยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ

            David Klamen and others (2014 อ้างถึงใน สมาน  อัศวภูมิ ,2557,หน้า2) ที่ได้เสนอไว้ว่าความเป็นเลิศทางวิชาการดูได้จาก (1) ผลผลิตโดยรวมที่จะเกิดขึ้น (2) ความรู้ในความคิด ซึ่งอธิบายว่าเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต              คงหมายความว่าถ้าเรารักในความคิดแล้วชีวิตก็ต้องเรียนรู้ไม่สิ้นสุด (3) หลักสูตรที่เป็นเลิศ (4) การประกันการเรียนรู้และคุณภาพ (5)การพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง (6) การได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการ (7) ระบบงานที่เอื้อ และ (8) เป็นปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ เช่น ทุนการศึกษา รางวัล เป็นต้น

            บทความเรื่อง การจัดการความเป็นเลิศ (Management Excellence) เสนอไว้ใน www.oracle.com 2014 อ้างถึงใน สมาน  อัศวภูมิ ,2557,หน้า 4) จากบทความนี้ได้เสนอหลักการในการจัดการความเป็นเลิศไว้ 3 หลัก คือ

            1. SMART (รู้ก่อนใคร) องค์การที่จะเป็นเลิศมักจะมองเห็นอะไรก่อนใครอื่น ทั้งสภาพปัญหาและโอกาส

เพราะจริงๆ ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในโลก ทุกคนเห็น รับรู้ และมีข้อมูล แต่ใครจะเข้าใจ ตระหนักรู้และเห็นโอกาส

ก่อนกัน นั่นคือความแตกต่างระหว่างองค์การทั่วไป กับองค์การเป็นเลิศ

            2. AGILE (ฉับไว) ความฉับไว้ในการตระหนักรู้ และการเห็นโอกาสจะเพิ่มอัตราของโอกาสให้แก่องค์การ

และยิ่งปรับตัวได้เร็ว และลงมือทำได้ไวเท่าใด โอกาสที่จะชนะและเหนือคู่แข่งย่อมมีมากขึ้น

            3. ALIGNED (เป็นหนึ่งเดียว) นวัตกรรมและการทำสิ่งที่เหนือความคาดหมายของคนอื่นองค์การจำเป็นต้องเข้าใจในค่านิยมใหม่และการร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกันของบุคลากรในองค์การทุกคนจึงจะเกิดพลังการขับเคลื่อนองค์การไปสู่เป้าหมาย

            การเทียบเคียงผลการดำเนินงาน (Benchmarking) หมายถึง วิธีการในการวัดและเปรียบเทียบผลผลิต บริการ และวิธีการปฏิบัติกับองค์กรที่สามารถทำได้ดีกว่า เพื่อนำผลการเปรียบเทียบมาใช้ในการปรับปรุงองค์กรของตนเพื่อมุ่งความเป็นเลิศทางธุรกิจ (คณะกรรมการประกันคุณภาพภายในระดับอุดมศึกษา,2558, หน้า 30)

            แนวปฏิบัติที่ดี หมายถึง วิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการปฏิบัติที่ทาให้สถาบันประสบความสำเร็จหรือสู่ความเป็นเลิศตามเป้าหมายเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการหรือวิชาชีพนั้น ๆ มีหลักฐานของความสำเร็จปรากฏชัดเจนโดยมีการสรุปวิธีปฏิบัติหรือขั้นตอนการปฏิบัติ ตลอดจนความรู้และประสบการณ์บันทึกเป็นเอกสารเผยแพร่ให้หน่วยงานภายในหรือภายนอกสามารถนาไปใช้ประโยชน์ได้ (คณะกรรมการประกันคุณภาพภายในระดับอุดมศึกษา,2558, หน้า 31)

            สรุปได้ว่าการจะมุ่งสู่ความเป็นเลิศได้นั้นต้องดำเนินการองค์กรให้มีความต่าง และยอดเยี่ยมมาก มีความเป็นเลิศมากเพราะความเป็นเลิศได้นั้นต้องเกิดจากความพากเพียรและการใช้เวลาสะสมผลงานในการปฏิบัติงานของบุคคลทั้งหลายในหน่วยงานซึ่งไม่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการกระทำเพียงชั่วครั้งชั่วคราวแต่ต้องทำให้เป็นปกติวิสัยและทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอโดยมีการปรับปรุงองค์กรของตนอยู่ตลอดเวลา

 

บทบาทผู้นำที่จะนำองค์การไปสู่ความเป็นเลิศ   

            วิธีคิดย่อมนำมาซึ่งวิธีการหากผู้นำเป็นคนที่มองเชิงบวก กล้าคิด ไม่ยึดติดกรอบมองปัญหาให้มีทางออกเสมอและนำมาพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสผู้นำที่กล่าวมานี้ย่อมได้ใจจากทั้งหัวหน้าตนเองและลูกน้องตนเองอีกทั้งยังเป็นแบบอย่างในการสร้างความคิดที่ดี ถ่ายทอดสู่ลูกน้องให้เกิดการทำงานในเชิงพฤติกรรมเดียวกัน  ปลูกฝังจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ดี  ทำงานด้วยระบบแต่แฝงความเป็นพี่น้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน อีกทั้งยอมรับในการเปลี่ยนแปลงหากองค์กรมีการปรับเปลี่ยนพร้อมในการแข่งขันภายนอก  สิ่งเหล่านี้ผู้นำจะต้องถ่ายทอดวิธีคิดออกมาให้ลูกน้องรับทราบเพื่อนำไปปฏิบัติในเชิงรูปธรรมสอดคล้องกับ (นนทกร อาจวิชัย,2554, หนา 28) ที่กล่าวถึงการบริหารงานให้มีมาตรฐานนั้นจำเป็นต้องใช้ภาวะผู้นำในการกำหนดกลยุทธ์ทิศทางและกระตุ้นสร้างแรงบันดาลใจให้องค์การในการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆเพื่อให้องค์การอยู่รอดมีความก้าวหน้าและได้มาตรฐาน  โดยผู้บริหารกระตุ้นให้บุคลากรทุกระดับสามารถนำมาตรฐานการบริหารไปประยุกต์ใช้ในการจัดโครงสร้างองค์การสู่ความเป็นเลิศ และการบริหารจัดการให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดตามความคาดหวังและตามบริบทของแต่ละองค์การ

            จะเห็นได้ว่าภาวะผู้นำเป็นภาวะที่ผู้นำแสดงออกในลักษณะสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ร่วมงานให้ใช้ความสามารถที่มีอยู่มาทำงานเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จของทีมและองค์การ โดยผู้นำจะมีเทคนิคการจูงใจอย่างเหมาะสมโดยเลือกใช้วิธีจูงใจอย่างหลากหลายและมีประสิทธิผลเพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จ  อีกทั้งแสดงออกถึงการตัดสินใจและการควบคุมการปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุถึงวิสัยทัศน์  พันธกิจ  และวัตถุประสงค์ขององค์การ  กำหนดบทบาทและทิศทางขององค์การ     ได้อย่างชัดเจน  อิทธิพลที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพองค์การนั้นผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์มีการกำหนดทิศทางขององค์การวางแผนกลยุทธ์ และมีการใช้หลักคิดเชิงกลยุทธ์ตลอดจนมีการควบคุมอย่างมีกลยุทธ์ ซึ่งจะนำพาเป้าหมายองค์การไปสู่ความสำเร็จและความเป็นเลิศได้

การบริหารที่ท้าทายผู้นำไปสู่ความสำเร็จ

            ความท้าทายผู้นำที่จะบริหารไปสู่ความสำเร็จนั้นอาจต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงซึ่งรูปแบบการเปลี่ยนแปลงสามารถจำแนกออกเป็น 3 ลักษณะ คือการเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่าง จากล่างขึ้นสู่เบื้องบน และแบบบูรณาการ (Schermerhorn, 2002,หน้า,480 อ้างถึงใน ธวัช บุณยมณี, 2550) ดังนี้คือ

         1. การเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่าง (top-down change) เป็นการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงที่มาจากผู้บริหารระดับสูง ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับ ความสมัครใจหรือความเต็มใจของพนักงานระดับกลางและระดับล่าง ทางธุรกิจเรียกว่า ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงแบบอี (Theory E Change)

          2. การเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน (bottom-up change) เป็นการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงที่มาจากทุกระดับ     ในองค์การและได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับต้นและระดับกลางในฐานะที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทางธุรกิจเรียกว่า ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงแบบโอ (Theory O Change)

          3. การบูรณาการภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (integrated change leadership) เป็นการนำประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่างและจากล่างขึ้นบนมาใช้ การริเริ่มจากระดับบนมีความจำเป็นในการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแบบแผนดั้งเดิม การริเริ่มจากระดับล่างเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความสามารถของสถาบันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง   ที่ยั้งยืน

  ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการจัดการทรัพยากรมนุษย์ทำให้องค์การต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันระดับโลก ไม่เว้นแม้แต่องค์การภาครัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการภาครัฐ ไปตามแนวทางการจัดการภาครัฐใหม่ทำให้ปัจจุบัน คำว่า “การบริหารกลยุทธ์ (strategy management) การวางแผนกลยุทธ์ (strategic planning) และกลยุทธ์ (strategy)” ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั้งองค์การภาคธุรกิจเอกชนและองค์การภาครัฐเพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมโดยอาศัยการวางแผนกลยุทธ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารกลยุทธ์ ดังที่ (ทศพร ศิริสัมพันธ์, 2539, หน้า 11, สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์, 2542, หน้า 20) ผ่านการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมเพื่อคาดการณ์อนาคตวางแผนลดความเสี่ยง เตรียมพร้อมและปรับปรุงตนเองให้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและความอยู่รอดขององค์การต่อสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ตลอดเวลา  จึงเป็นความท้าทายของการบริหารที่ต้องคำนึงถึงความสามารถขององค์การและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยการวางแผนกลยุทธ์    การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ การประเมินและควบคุมกลยุทธ์ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นทั้งศิลป์และศาสตร์ ที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนผ่านกระบวนการวิเคราะห์ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบโดยแต่ละส่วนจะมีความสัมพันธ์ระหว่างกันเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

            ลักษณะสำคัญของการบริหารกลยุทธ์ จึงมีลักษณะสำคัญๆ ที่นำมาสรุปได้ ดังที่ (ธงชัย สันติวงษ์, 2537,หน้า,9 พักตร์ผจง วัฒนสินธุ์ และพสุ เดชะรินทร์, 2542, หน้า 4) ได้สรุปลักษณะสำคัญของการบริหารกลยุทธ์ไว้เช่นเดียวกันดังนี้

            1). มุ่งที่เป้าหมายและวัตถุประสงค์ในภาพรวมขององค์การว่าอะไร คือ สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับองค์การ เป็นการดำเนินการบริหารทั่วทั้งองค์การโดยการตัดสินใจทางกลยุทธ์จะมีความเกี่ยวข้องหรือมีผลต่อทิศทางการดำเนินงานเพื่อสร้างความได้เปรียบระยะยาวขององค์การในอนาคต

            2). การตัดสินใจในการดำเนินการที่ให้ความสำคัญต่อการคาดการณ์แนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตและการเปลี่ยนแปลงขององค์การทั้งระบบ พิจารณาถึงสภาวะแวดล้อมภายนอกและปัจจัยภายในขององค์การรวมถึงค่านิยม ทัศนคติ ความคาดหวังของบุคคลฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์การ เช่น ลูกค้า ผู้ถือหุ้น ผู้บริหารระดับสูง พนักงานสังคมและรัฐบาล เป็นต้น

            3). มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์โดยการกำกับองค์การให้บรรลุผลสำเร็จตามภารกิจเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ที่ตั้งไว้        ในทุกสถานการณ์ตามตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

            กล่าวโดยสรุป การจัดการเชิงกลยุทธ์ ถือได้ว่าเป็นการบริหารที่ท้าทายผู้นำไปสู่ความสำเร็จที่เป็นกระบวนการของการจัดการองค์การโดยรวม การจัดการที่เน้นการสร้างอนาคตในระยะยาว คำนึงถึงการจัดการที่เน้นวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในองค์การโดยเฉพาะสภาพแวดล้อมภายนอกจะเป็นตัวผลักดันที่สำคัญตลอดจน  เป็นการจัดการที่เน้นสร้างกลยุทธ์ขององค์การ และกลยุทธ์เพื่อการแข่งขันให้องค์การประสบความสำเร็จในระยะยาว

 

ความเป็นผู้นำเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์การก้าวไปสู่ความเป็นเลิศได้ คือ การมีระบบบริหารงานที่ดีมีประสิทธิภาพ            มีศักยภาพและความสามารถสูง ผู้บริหารเปรียบเสมือนเสาหลักที่สำคัญยิ่งต่อหน่วยงาน ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และต่อผลงานอันเป็นส่วนรวม คุณภาพและบทบาทของผู้บริหารมีความสัมพันธ์อย่างยิ่ง รวมทั้งมีผลสะท้อนต่อผลงานและวิธีปฏิบัติงานขององค์การอย่างมากสมรรถภาพของผู้บริหารจึงเป็นดัชนีบ่งความสำเร็จของการบริหาร ผู้นำต้องหาแนวทางเทคนิคหรือวิธีการในการปฏิบัติภารกิจให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายขององค์กรที่วางไว้ภาวะผู้นำเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้การบริหารจัดการต่างๆในองค์การสำเร็จลุล่วงไปได้ ดังนั้น ประสิทธิผลของกระบวนการบริหารที่ดีย่อมมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับภาวะผู้นำเป็นอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องอาศัยแนวคิดเชิงทฤษฎีดังที่ ( สุภา ทองเจริญ, 2559) ได้รวบรวมจากแนวคิดทฤษฎีของผู้นำแล้วนำมาเสนอไว้คือ

            1. แนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำของผู้บริหาร ภาวะผู้นำ เป็นกิจกรรมที่มีอิทธิพลของบุคคลต่อผู้อื่นในการได้รับความร่วมมือให้ทำงานหรือกิจกรรมต่างๆด้วยความเต็มใจเพื่อบรรลุเป้าหมายซึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะความเป็นผู้นำ ที่มีประสิทธิภาพนั้น (Gardner 1990 อ้างถึงใน สุภา ทองเจริญ 2559) ได้เสนอว่าคุณลักษณะของผู้นำควรประกอบไปด้วยการมีสุขภาพทางร่างกายที่สมบูรณ์ มีความเฉลียวฉลาด มีความสามารถในการตัดสินใจในบทบาทของตนมีความเชื่อมั่นในตนเอง ปรับตัวได้ มีความยืดหยุ่นตามสมควร มีความพร้อมที่จะรับผิดชอบงานมีสมรรถภาพในการทำงาน เข้าใจผู้ร่วมงาน และความต้องการของผู้ร่วมงาน มีทักษะในการสื่อสาร มนุษย์สัมพันธ์ การจูงใจ และมีความต้องการความสำเร็จในงานในการประเมินประสิทธิผลของผู้นำมีองค์ประกอบภายใต้แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องหลายแนวคิดด้วยกัน

2. แนวคิดทฤษฎีเชิงพฤติกรรม (Behavior Theory) ได้มีผู้ทำการศึกษาและเน้นเกี่ยวกับแบบของความเป็นผู้นำไว้ โดยการศึกษาของมหาวิทยาลัยไอโอวา พบว่า แบบของความเป็นผู้นำที่ผู้นำใช้ในการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆมี 3 แบบด้วยกันคือ แบบอัตตาธิปไตย แบบประชาธิปไตย และแบบเสรีนิยม ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะชอบผู้นำแบบประชาธิปไตยมากที่สุด

 

 

สรุป

การที่องค์กรจะเป็นเลิศได้นั้นประสิทธิผลในกระบวนการบริหารมีความสัมพันธ์กับคุณลักษณะทางกายและทางสังคม ทางบุคลิกภาพ คุณลักษณะทางทักษะ และพฤติกรรมความเป็นผู้นำจะได้รับการยอมรับและความร่วมมือจากผู้อื่นด้วยความเต็มใจก็ต่อเมื่อมีความสามารถในการตัดสินใจเข้าใจผู้ร่วมงาน และเข้าใจความต้องการของผู้ร่วมงานซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องยึดหลักแบบอัตตาธิปไตยเพื่อสั่งการเสมอไปเพราะคนในองค์กรหรือผู้ใต้บังคับบัญชาส่วนใหญ่แม้จะชอบผู้นำแบบประชาธิปไตยมากที่สุดแต่ในฐานะผู้นำย่อมอยู่บนหลักเหตุและผลให้มียืดหยุ่นตามสมควร จึงจะเรียกว่าเสาหลักที่สำคัญยิ่งต่อหน่วยงานและจะทำให้องค์การก้าวไปสู่ความเป็นเลิศได้

 

เอกสารอ้างอิง

ทศพร  ศิริสัมพันธ์. (2539). การวางแผนเชิงกลยุทธ์. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

ธงชัย  สันติวงศ์. (2537). การวางแผนเชิงกลยุทธ์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.

ธวัช  บุณยมณี. (2550). ภาวะผู้นำและการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

พร  พิเศก. (2543). การประกันคุณภาพทางการศึกษากองทัพบกต้องพิจารณา, วารสารเสาธิปัตย์, ปีที่4 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม –  สิงหาคม 2543.

พักตร์ผจง  วัฒนสินธุ์. และพสุ เดชะรินทร์. (2542). การจัดการเชิงกลยุทธ์และนโยบายธุรกิจ (พิมพ์ครั้งที่ 5).

            กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2554). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 พิมพ์ครั้งที่ 2 2556. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊ค

วิโรจน์  สารรัตนะ.(2557). ภาวะผู้นำ:ทฤษฎีและนานาทัศนะร่วมสมัยปัจจุบัน. กรุงเทพฯ ทิพย์วิสุทธ์.

สมชาย  ภคภาสน์วิวัติ. (2542). การบริหารเชิงกลยุทธ์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.

สมาน   อัศวภูมิ.(2557). เอกสารประกอบกาอบรมผู้บริหารเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งเชี่ยวชาญ. วารสารบริหารการศึกษา

            บัวบัณฑิต,16 (1) ,1-7.

สำนักคณะกรรมการการอุดมศึกษา. (2557). คู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับอุดมศึกษา.

            นนทบุรี : สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา.

สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา. (ม.ป.ป). เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ

            ฉบับปี 2558-2561. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา.

ข้อมูลออนไลน์

จรัส  สุวรรณเวลา. (2560). องค์กรที่ได้รับรางวัล TQA/TQC ปี 2559. สืบค้นจาก http://www.tpa.on.th/tag-award

ชนากานต์  สมาแฮ. (2555). ภาวะผู้นำการบริหารจัดการองค์การไปสู่ความสำเร็จ. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม

            2560” สืบค้นจาก http:www. Gotonow.org

มงคล  กรัตะนุตถะ. (2559). วิธีคิดในเชิงบวก. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560. สืบค้นจากhttp:lineme/ti/40. Dr.fish.

สุภา  ทองเจริญ. (2559). ภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหาร. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560. สืบค้นจากhttp:www. Gotonow.org.