แนวทางการวิจัยด้านนิเทศศาสตร์

             การทำงานวิจัยด้านสื่อสารมวลชน เริ่มกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1920 เป็นต้นมา  ซึ่งในอดีตมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่   ตลอดจนอิทธิพลของสื่อในมิติต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลขนมาอย่างต่อเนื่อง  ทำให้เห็นพัฒนาการของสื่อตลอดจนอิทธิพลของสื่อที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย 

               ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ส่งผลให้สภาพการแข่งขันของสื่อมวลชนในปัจจุบันมีสูง  กลุ่มผู้รับสารมีขนาดใหญ่มากขึ้น  ระบบการผลิตสื่อมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลต่อการผลิตเนื้อหา การสร้างสรรค์สื่อ  และการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน   ดังนั้นผู้บริหารระดับสูงหรือกลุ่มผู้ผลิตสื่อจึงจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่แม่นยำในการลดความเสี่ยง  ในการที่จะตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงเรื่องใด ๆ ในองค์กร การวิจัยทางด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จึงมีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อองค์กรและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการวิจัยที่เกิดขึ้นย่อมสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์  โดยสรุปได้  ดังนี้

1.    เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ในการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเนื่องจาก

ผลการวิจัยทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จะนำมาใช้ระกอบการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2.    เพื่อการวิเคราะห์กลุ่มผู้รับสาร  ข้อมูลที่ค้นพบจากการวิจัยเกี่ยวกับผู้รับสารจะทำให้ผู้ผลิตและ

สร้างสรรค์รายการนำมาพิจารณา   เพื่อนำมากำหนดรูปแบบมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับความสนใจและความต้อง

การของผู้รับสารได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

3.    เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน           การศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของสื่อ

วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จะถูกนำมาใช้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพัฒนากระบวนการทำงาน    การพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.    เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบอันเนื่องมาจากสื่อ      ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ

ผลกระทบของสื่อจะนำมาใช้เพื่อพิจารณาการทำตามบทบาทหน้าที่ของสื่อ    ซึ่งจะช่วยให้การทำหน้าที่ของสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ได้ดียิ่งขึ้น

5.    เพื่อวิเคราะห์สภาพการแข่งขันด้านสื่อ      ข้อค้นพบจากการวิจัยทางด้านสภาพการการแข่งขัน

ของสื่อจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการนำมาพัฒนาศักยภาพบุคลากร      เทคโนโลยีและการวิเคราะห์แนวโน้มการตลาดของสื่อได้

6.    เพื่อพัฒนารูปแบบและเนื้อหาให้ตอบสนองความต้องการแก่กลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ     ข้อค้นพบ

เกี่ยวกับรูปแบบและเนื้อหารายการจะนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการพัฒนารูปแบบ และเนื้อหารายการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มที่มีความเฉพาะเจาะจงได้มากขึ้น และลดช่องว่างในการผลิตรายกาสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางสังคมได้เป็นอย่างดี

            นอกจากนี้ อาจมองประโยชน์ของการวิจัยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในภาพกว้างคือผลการวิจัยในทางนิเทศศาสตร์ในมุมมองอื่น ๆ  (จินตนา  ตันสุวรรณนนท์, 2551 หน้า 26) ดังนี้

1.       ในทางทฤษฎี         ผลที่ได้จากการวิจัยทางด้านนิเทศศาสตร์ในทางทฤษฎีจะช่วยให้บุคคลมี

ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการสื่อสารอย่างถูกต้องมากขึ้น  รวมทั้งนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้อธิบาย ตีความ ทำความเข้าใจ และทำนาย หรือพยากรณ์ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องการสื่อสารที่มีอยู่ว่าสามารถนำไปใช้อธิบายเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ในสังคมได้อยู่หรือไม่ ผลของการตรวจสอบจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เพื่อนำไปใช้ในการอธิบายและปรากฏการณ์ทางการสื่อสารต่อไป 

2.       ในทางปฏิบัติผลที่ได้จากการวิจัยนิเทศศาสตร์จะนำไปสู่การวางแผนการสื่อสาร  การกำหนด

นโยบายยุทธวิธีการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น     รวมถึงช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น  นอกจากนี้ผลที่ได้จากการวิจัยจะสามารถระบุถึงปัจจัยที่จะก่อให้เกิดคมสำเร็จ หรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในกระบวนการสื่อสาร อันจะเป็นแนวทางในการหาแนวทางส่งเสริม และป้องกันการเกิดปัญหาในการสื่อสารต่อไป

 

คุณลักษณะของสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ 

 

                   วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นสื่อมวลชนที่มีคุณลักษณะต่างจากสื่อมวลชนประเภทอื่น ๆ มีอิทธิพลต่อผู้รับสาร  เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากเนื่องจากสามารถตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นและความบันเทิงแก่คนจำนวนมาก ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสื่อประเภทนี้ จึงจำเป็นต้องเข้าใจคุณลักษณะของสื่อประเภทนี้ (อนัญญา  ศรีสำอางค์, 2551 หน้า 8 -10) ดังนี้

1.       วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นสื่อที่การใช้เทคโนโลยีที่มีลักษณะเฉพาะ

2.       วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีขอบเขตการกระจายการสื่อสารได้

กว้างขวาง

3.       วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีกระบวนการผลิตสารที่รูปแบบเนื้อหาที่

หลากหลาย

4.       วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีความสามารถในการโน้มน้าวชักจูงใจ

5.       วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นสื่อที่ทันสมัย ได้รับความเชื่อถือสูง

 

              การเลือกประเด็นหรือขอบเขตการวิจัยสามารถเชื่อมโยงในบริบทของการทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนของสื่อทั้งสองประเภทนี้  ซึ่งขอบเขตการศึกษาขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น ๆ หรืออีกนัยหนึ่งอาจเป็นการศึกษาผลกระทบเชิงบวกหรือเชิงลบของสื่อทั้งสองประเภท   อย่างไรก็ตาม  โดยทั่วไปแล้วการวิจัยด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์หรือสื่ออื่น ๆ   มักไม่ค่อยนิยมศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เป็นอดีต  แต่นิยมศึกษาสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ในห้วงเวลา ณ ปัจจุบันมากกว่า

1.       ประเด็นด้านอิทธิพลของสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์          เป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษาใน

ประเด็นที่เกี่ยวกับผลกระทบของสื่อที่มีต่อผู้รับสารหรือต่อสังคมในภาพรวม  ซึ่งอิทธิพลของสื่อมีทั้งในแง่ที่เป็นผลทางบวกและลบซึ่งการวิจัยสื่อวิทยุโทรทัศน์ มักจะเน้นไปที่อิทธิพลของสื่อที่มีต่อเด็กมากที่สุด ซึ่งตัวอย่างของงานวิจัยที่เคยมีผู้ศึกษาได้แก่  อิทธิพลของสื่อที่มีผลต่อการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กและเยาวชน โดยอาจแยกเป็นประเด็นที่น่าสนใจได้ดังต่อไปนี้

1.1   อิทธิพลต่อเด็กและเยาวชน  วิทยุและโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีการทำวิจัยและมีผู้ศึกษาอิทธิพลของ

สื่อนี้ที่ส่งผลต่อเด็กและเยาวชนมากที่สุด    ซึ่งหัวข้อที่ทำการศึกษามักจะเน้นประเด็นของผลของสื่อที่มีต่อการสร้างนิสัยรุนแรงและก้าวร้าว  หรือการใช้สื่อมากเกินไปจนเกิดการผลกระทบในสังคมทำให้เกิดปัญหาในแง่ของพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ตามมา

1.2   อิทธิพลต่อการเมือง     โดยมักจะศึกษาในแง่ของการใช้ช่องทางสื่อประเภทนี้เพื่อการรณรงค์

ทางสังคม  เช่น  การรณรงค์ให้ประชาชนใช้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง การวิเคราะห์เนื้อหาการนำเสนอข่าวสารด้านการเมือง เป็นต้น

1.3   อิทธิพลต่อการศึกษา    เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่นำมาเสนอผ่านรายการทางวิทยุ

หรือโทรทัศน์ที่สามารถสร้างความคิดหรือเปลี่ยนแปลงความรู้ในด้านใดด้านหนึ่งแก่ผู้ชมหรือผู้ฟัง เช่น ผลต่อรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาสาระส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม  เป็นต้น

2.       การศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของการสื่อสารผ่านสื่อ   เช่น   คุณลักษณะของเนื้อหาสาระการผลิต

รายการกระบวนการคัดเลือกข่าวสาร เป็นต้น

3.       การวิจัยเพื่อวัดความนิยมของสื่อ (rating)      เป็นการวิจัยเพื่อสำรวจความนิยมของผู้ฟังรายการ

วิทยุกระจายเสียงหรือผู้ชมรายการโทรทัศน์     โดยทั่วไปมักจะมีวัตถุประสงค์ในการสำรวจความนิยม     ดังนี้ (หลักสูตรนิเทศศาสตร์, 2551 หน้า 154)

3.1.1         เพื่อตรวจสอบความนิยมของผู้รับที่มีต่อสื่อ     ซึ่งจะนำผลการวิจัยไปจัดลำดับความ

นิยมที่มีต่อสื่อต่าง ๆ

3.1.2         เพื่อตรวจสอบสภาพการแข่งขันในสื่อกลุ่มเดียวกัน   และระหว่างสื่อต่างประเภทกัน

3.1.3         เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการขยายการตลาด      และการหารายได้จากการโฆษณา

การวัดความนิยมทางสื่อโทรทัศน์นั้น    มีวิธีการที่ซับซ้อนมากกว่าสื่อประเภทอื่น  ๆ     เนื่องจากต้องมีการสุ่มตัวอย่างออกไปให้ครอบคลุมถึงครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ต่างกัน   ตามสัดส่วนของประชากรที่เป็นผู้ชมทั้งหมด  วิธีการสำรวจความนิยมในอดีต  มีการใช้การสอบถามโดยการสุ่มตัวอย่างทางโทรศัพท์  หรือการเคาะประตูบ้านในวันถัดไปหลังจากที่รายการนั้นออกอากาศไปแล้ว  แต่ก็พบว่ามีความแม่นยำน้อย 

               มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการสำรวจความนิยมคนดูด้วยวิธีตรวจสอบความนิยมหรือการวัดเรทติ้ง (rating) ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้ในการวางแผนสำหรับการประกอบธุรกิจของสื่อมวลชน  โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ซึ่งต้องอาศัยรายได้จากการโฆษณาเป็นหลัก  ตัวเลขเชิงปริมาณอาจเป็นดัชนีสำหรับวัดความนิยมจากจำนวนคนดู  แต่ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องวัดในด้านคุณภาพของรายการได้มากนัก  ข้อด้อยของการวัดเรทติ้ง คือ  เป็นการมุ่งสร้างระบบที่จะตอบสนองต่อการตลาดและการโฆษณาเป็นสำคัญ  โดยละเลยคำถามในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานทางด้านเทคนิค  เนื้อหา ความหลากหลาย  และคุณภาพรายการ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำหน้าที่ของสื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้รับสารมากกว่า

 

การวิจัยผู้รับสาร

 

                   การวิจัยผู้รับสารเป็นแนวทางการวิจัยอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ การวิจัยผู้รับสาร หรือการวิจัย กลุ่มผู้ฟังและกลุ่มผู้ชม (audience)  การศึกษาเกี่ยวกับผู้รับสารในงานด้านการสื่อสารมวลชนนั้น  ได้รับความสนใจจากนักสื่อสารมวลชนมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกที่มีการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์เกิดขึ้น  เมื่อนักสื่อสารมวลชนให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของการสื่อสารและเนื่องจากผู้รับสารนั้นเป็นตัวแปรที่จะให้ข้อมูลแก่นักสื่อสารมวลชนได้มากที่สุด   นักสื่อสารมวลชนจึงให้ความสนใจว่าการสื่อสารครั้งนั้น ๆ ว่ามีสัมฤทธิ์ผล และมีประสิทธิภาพตามที่ผู้ส่งสารต้องการหรือไม่  ดังนั้นงานวิจัยในยุคเริ่มแรก จึงเป็นความพยายามที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับผู้รับสาร และพฤติกรรมเกี่ยวกับการเปิดรับสื่อต่าง ๆ (media exposure)  ของผู้รับสาร  เพื่อสำรวจเกี่ยวกับความนิยมของผู้รับสารในการเปิดรับสื่อว่ามีมากน้อยเพียงไร  เช่น ผู้รับสารนิยมอ่านหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร เป็นสัดส่วนอย่างไร  พฤติกรรมการดูโทรทัศน์   การฟังวิทยุ   การฟังวิทยุออนไลน์  หรือการไปชมภาพยนตร์นอกบ้าน เป็นสัดส่วนอย่างไร  ทั้งนี้วัตถุประสงค์การวิจัยผู้รับสารนั้น  เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความนิยมของผู้รับสารต่อสื่อประเภทต่าง ๆ มาใช้ในสำหรับการคาดคะเน  และวางแผนที่จะเข้าถึงการเปิดรับสื่อของกลุ่มผู้รับสาร มาใช้ในการวางแผนที่จะเข้าถึงการเปิดรับสื่อของกลุ่มผู้รับสารที่ตนต้องการ 

                  นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ผู้รับสารในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มทางประชากรศาสตร์ อันได้แก่ เพศ อายุ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม หรือระดับการศึกษา โดยจะศึกษาหาข้อมูลว่า  แต่ละกลุ่มประชากรมีการเปิดรับสื่อในลักษณะเดียวกันหรือไม่ และแต่ละกลุ่มประชากรเปิดรับสื่อประเภทใดมากกว่าสื่ออื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับไปวางแผนการเพื่อสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายได้            

                  นอกจากประเภทของสื่อที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการแล้ว การศึกษาวิจัยผู้รับสาร ยังเน้นที่ประเภทของรายการหรือเนื้อหาที่นำเสนอทางสื่อ  มวลชนด้วย นั่นคือ สนใจศึกษาเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับความนิยม ชมรายการและเปิดรับเนื้อหาประเภทต่าง ๆ จากผู้รับสาร เนื่องจากปัจจุบันมีรายการวิทยุและโทรทัศน์เกิดขึ้นใหม่ๆ มากมายหลายประเภท  นักสื่อสารมวลชน  จึงมักให้ความสนใจว่ารายการที่ผลิตขึ้นมาใหม่หรือเนื้อหาในการนำเสนอนั้น เป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้รับสารหรือไม่    การทำวิจัยในลักษณะการสำรวจความนิยมเป็นงานที่ทำวิจัยกันมาก  เช่น  การวิจัยเชิงสำรวจเพื่อแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับความนิยมดูรายการโทรทัศน์ (ratings) ซึ่งจะช่วยให้นักจัดรายการและผู้อุปถัมภ์รายการทราบถึงความนิยมและปริมาณการชมรายการโทรทัศน์แต่ละรายการ เพื่อจะสามารถจัดได้ว่าสารที่ส่งไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาของรายการหรือโฆษณาว่าเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้มากน้อยเพียงไร  

                  แม้ว่าปัจจุบันการแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับสารเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการสื่อสารมวลชน  ยังคงอาศัยการเก็บข้อมูลด้วยการสำรวจเป็นส่วนใหญ่  แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ เทคโนโลยีใหม่ ๆ  จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบในการเก็บข้อมูลลักษณะต่าง ๆ จากผู้รับสาร ทำได้โดยวิธีการมีปฏิสัมพันธ์ทางอิเล็กทรอนิกส์  คือการใช้ระบบสื่อสารป้อนกลับ ที่ติดตั้งมากับเครื่องรับโทรทัศน์  โดยอุปกรณ์ที่ติดตั้งมากับเครื่องรับโทรทัศน์จะเป็นเครื่องมือช่วยป้อนข้อมูลกลับไปยังสถานีโทรทัศน์ว่าเครื่องรับต่าง ๆ มีการเปิดชมมากน้อยเพียงไร  และเปิดชมที่ช่องใดบ้าง ในเวลาใด  เป็นต้น 

                  นอกจากนี้พีระ  จิระโสภณ (2549: 334)  กล่าวว่า การวิจัยการสื่อสารมวลชนในระยะเริ่มแรก ผู้วิจัยมุ่งศึกษาผู้รับสารในฐานะที่เป็นฝ่ายถูกป้อนข่าวสารฝ่ายเดียว  แต่ในระยะหลังมีการศึกษาพบว่าผู้รับสาร  มิใช่ผู้ถูกกระทำ (passive) หรือถูกป้อนฝ่ายเดียว  แต่มีการกระทำ (active) หรือมีบทบาทในลักษณะการเลือกสรรแสวงหาและโต้ตอบข่าวสารหรือสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบ ๆ ตัวในชีวิตประจำวัน  

                  ในขณะที่ กาญจนา  แก้วเทพ (2545: 193-194) ตั้งข้อสังเกตว่า  แนวคิดเกี่ยวกับอิทธิพลของผู้รับสารที่มีต่อการผลิตเนื้อหาสารนั้น  ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป  ในยุคแรกที่การวิจัย  มีการวิจัยเกี่ยวกับ ผลกระทบของสื่อ (effect study)  แต่ในปัจจุบันนี้   สถานีวิทยุกระจายเสียง มีจำนวนกว่า 7,000 สถานี    โทรทัศน์มีทั้งแบบดูฟรี และต้องจ่ายค่าสมาชิก และการพัฒนาสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัล    ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้เป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิตสื่อ และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน  หันมาสนใจการมีส่วนร่วมของผู้ชม โดยอาจจะมีเป้าหมายเพื่อการแย่งชิงพื้นที่ และช่องทางการกระจาย  ต้องหาและรักษาไว้ซึ่งกลุ่มผู้ฟังเป้าหมาย เพื่อรักษาความนิยมของสถานีและเพื่อประโยชน์ในเชิงธุรกิจ

 

แนวทางการวิจัยเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน

 

1.       การศึกษาเกี่ยวกับประเด็นความมีเสรีภาพและการกำกับดูแลสื่อวิทยุกระจายเสียง        และ

วิทยุโทรทัศน์   เนื่องจากสื่อมีความหลากหลายมากขึ้น การสร้างระบบและกลไกในการกำกับดูแลจึงต้องมีการดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อให้สื่อแต่ละประเภทสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ถูกลิดรอนสิทธิหรือมีอิสระเสรีมากเกินขอบเขต  การสร้างกระบวนการกำกับดูแลที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็น  และแนวทางการได้มาซึ่งระบบกลไกดังกล่าวจึงควรมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดในทุกมิติ เพื่อให้ระบบและกลไกการทำงานดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน

2.       การแข่งขันภายในองค์กรสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์    เนื่องจากจำนวนของสื่อมี

เพิ่มมากขึ้น  จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีส่วนผลักดันให้วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา  ซึ่งการปรับตัวมีวัตถุประสงค์เพื่อสามารถรักษาความนิยมจากผู้รับชมและรับฟัง  โดยที่ลักษณะการปรับตัวของสื่อสามารถทำได้โดยวิธีการดังนี้

 

2.1    การปรับปรุงการผลิตรายการ     โดยอาจจะมีการเปลี่ยนจากการที่มีผู้ผลิตเพียงรายเดียว

มาเป็นการร่วมมือกันผลิตเป็นทีมงาน  เพื่อให้เกิดความหลากหลาย  ความแปลกใหม่  เช่น รายการละครหลังข่าวในปัจจุบันที่มีการรวมตัวของผู้จัดละครเพื่อสร้างเป็นละครที่มีความต่อเนื่องกัน  โดยใช้นักแสดงบางส่วนร่วมกัน เป็นต้น

2.2    การปรับปรุงรูปแบบผังการออกอากาศของรายการ  (lay out /schedule)    เช่น   การ

พยายามจัดให้รายการประเภทเดียวกันมาจัดไว้ในช่วงเวลาเดียวกันกับช่องอื่น ๆ หรือสถานีอื่น ๆ  โดยเฉพาะรายการเล่าข่าวในช่วงเช้า  รายการบันเทิงในช่วงเย็นหลังข่าว เป็นต้น  และมักจะมีการปรับปรุงผังรายการออกออกอากาศอยู่เสมอเพื่อเอาชนะคู่แข่งขัน

                    2.3  การปรับปรุงส่วนผสมของรายการให้มีความหลากหลาย ยืดหยุ่นมากขึ้น  เช่น  การปรับปรุงรายการข่าวที่เดิมผู้ประกาศข่าวจะอ่านข่าวแบบเป็นทางการซึ่งทำให้รายการข่าวเป็นรายการที่น่าเบื่อโดยการปรับปรุงการนำเสนอรายการข่าวให้น่าสนใจยิ่งขึ้น  การสร้างส่วนผสมระหว่างรายการสาระและบันเทิงให้ลงตัว เช่น  การเพิ่มสาระความรู้ลงไปในรายการประเภทเกมโชว์  และเพิ่มความบันเทิงในรายการประเภทสารคดี เป็นต้น

               3. การปรับตัวของสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือพัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์  เนื่องจากในปัจจุบันนี้มีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อการเพิ่มศักยภาพในกระบวนการผลิตสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์  และการพัฒนาช่องทางในการเข้าถึงสื่อให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาสื่อวิทยุออนไลน์   โทรทัศน์ระบบดิจิทัล  ซึ่งแนวทางการศึกษาวิจัยอาจเป็นลักษณะของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับชมหรือการรับฟัง   การพัฒนาศักยภาพในกระบวนการผลิตและสร้างสรรค์รายการให้มีความหลากหลาย ทันสมัยมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

              นอกจากนี้กระแสของการพัฒนาช่องทางสื่อภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ในปัจจุบัน ยังมีการปรับตัวของสื่อในด้านเนื้อหารายการที่จำเป็นต้องเปิดโอกาสการเข้าถึงสื่อของผู้รับสารได้หลากหลายกลุ่มยิ่งขึ้น  จงเริ่มมีการปรับเพิ่มภาษาให้มีความเป็นสากล เช่น ภาษามือสำหรับคนหูหนวกได้ มีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศลักษณะข้อความแปลเป็นภาษาต่างประเทศ

                จะเห็นว่าประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาวิจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้พอจะเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัย เพราะสามารถมองสื่อในหลากหลายมิติมากขึ้นและยิ่งเห็นประเด็นที่เกี่ยวข้องมากเท่าใดก็จะพบว่าการวิจัยในสาขานี้ยังมีประเด็นอีกมากมาย  ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้วิจัยว่าสนใจหรือถนัดในการศึกษาเรื่องใดเป็นสำคัญ

 

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

 

กาญจนา  แก้วเทพ. (2552). การวิเคราะห์สื่อ : แนวทางและเทคนิค. โครงการเมธีวิจัยอาวุโส  สำนักงาน

สนับสนุนการวิจัย (สกว.) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จินตนา  ตันสุวรรณนนท์. (2551). การวิจัยนิเทศศาสตร์. คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.

จิตราภา  กุณฑลบุตร. (2550). การวิจัยสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่. กรุงเทพมหานคร. สหธรรมิก จำกัด.

บุญธรรม  จิตต์อนันต์. (2546). การวิจัยทางสังคมศาสตร์. กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

บุญเลิศ  ตั้งจิตวัฒนา. (2555). ระเบียบวิธีวิจัยทางการท่องเที่ยว. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร. ธรรมสาร

จำกัด.

ลดาวัลย์  แก้วสีนวล. (2558). การวิจัยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์. โครงการปลูกปัญญา   คณะวิทยา

การจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช.

วิไลลักษณ์   สุวจิตตานนท์. (2557). ระเบียบวิธีวิจัยสื่อสารมวลชน. คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัย

รามคำแหง.

อนัญญา  ศรีสำอางค์. (2551). การวิจัยวิทยุโทรทัศน์. คณะนิเทศศาสตร์. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.