วรรณกรรมหนังตะลุงเมืองเพชร: ประเภทของวรรณกรรมในบริบทการบันเทิงเฉพาะถิ่น Phetchaburi Shadow Puppetry Literature: Literary Genre in Context of Local Entertainment

     วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวรรณกรรมหนังตะลุงเมืองเพชรในฐานะวรรณกรรมประกอบพิธีกรรมและวรรณกรรม        การแสดง ตลอดจนศึกษาบทตลกในวรรณกรรมการแสดง และการดำรงอยู่หนังตะลุงเมืองเพชร โดยศึกษาจากตัวบทวรรณกรรมหนังตะลุงเมืองเพชร รวมทั้งบริบทในพิธีกรรมและการแสดงหนังตะลุง จำนวน 20 เรื่อง ผลการศึกษาวรรณกรรมหนังตะลุงเมืองเพชรประกอบด้วยวรรณกรรม 2 ประเภท ได้แก่ วรรณกรรมพิธีกรรมและวรรณกรรมการแสดง วรรณกรรมพิธีกรรมมีบทบาทหน้าที่ในการแก้บน มีตัวบทการเบิกหน้าพระ บทไหว้ครูและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บทเชิญเจ้า และบทตัดสินบน ประกอบพิธีกรรมสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลังจากสิ้นสุดวรรณกรรมพิธีกรรมจะเป็นช่วงการผสานตัวบทวรรณกรรมพิธีกรรมกับตัวบทวรรณกรรมการแสดง ด้วยการรำถวายมือ การเบิกโรง และการบอกเรื่อง เป็นการเชื่อมต่อเพื่อเปลี่ยนอารมณ์และเรียกผู้ชมไปสู่ตัวบทวรรณกรรมการแสดง     ส่วนวรรณกรรมการแสดงมีบทบาทหน้าที่สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน เนื้อหามี 3 ชุด ได้แก่ ชุดรามเกียรติ์  ชุดนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ และชุดนารีศรีใส  ซึ่งนำโครงเรื่อง เหตุการณ์ และตัวละคร มาจากเรื่องรามเกียรติ์ และวรรณกรรมนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ แต่มีลักษณะเป็นโครงเรื่องที่ตั้งไว้เป็นเพียงแนวเรื่องเท่านั้น และไม่ได้นำถ้อยคำร้อยกรองจากวรรณกรรมต้นฉบับมาใช้ แต่เป็นการสร้างสรรค์ถ้อยคำขึ้นใหม่ให้มีลักษณะเฉพาะในบริบทท้องถิ่น อีกทั้งการแสดงมักจะแสดงไม่จบตามโครงเรื่อง เนื่องจากวรรณกรรมการแสดงเป็นวาระของการเฉลิมฉลองจะเน้นอารมณ์ขันสร้างความสนุกสนานจึงต้องสอดแทรกบทตลกไว้ตลอดการดำเนินเรื่อง โดยมีตัวตลกที่มีรูปลักษณ์ผิดปกติ พฤติกรรมซุ่มซ่าม ผิดกาลเทศะ พูดสำเนียงท้องถิ่น เป็นตัวเดินเรื่อง บทตลกมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยใช้กลวิธีด้านเนื้อหาและภาษาในการสร้างสรรค์บทตลก ด้านบทบาทหน้าที่ประกอบด้วยบทบาทหน้าที่ในพิธีการแก้บน สร้างความบันเทิง สร้างความปรองดอง และเชื่อมโยงโลกศักดิ์สิทธิ์และโลกสามัญของผู้คนให้มารวมกัน ส่วนการดำรงอยู่มีวัฏจักรความสัมพันธ์เชิงอำนาจโยงใยเป็นเครือข่ายสลับกันมีอำนาจระหว่างโลกศักดิ์สิทธิ์ โลกการแสดง โลกเศรษฐกิจ และโลกแห่งรัฐ นอกจากนั้น บริบทการมีอยู่ของหนังตะลุงเมืองเพชรในปัจจุบันยังสัมพันธ์กับบริบทสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปของคนเพชรบุรี ได้แก่ บริบทการแก้บนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตชีวิต บริบทการสืบทอดและอนุรักษ์ บริบทการอุปถัมภ์ของคนมีฐานะ และบริบททางความเชื่อที่หลากหลายปราศจากความขัดแย้ง