รายงานการวิจัยเพื่อรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม: เพลงพื้นบ้านภาคกลาง The Resesch Project Report of Collect and Storage of Intangible Cultural Heritage: Folk Song in Central Thailand

     โครงการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม: เพลงพื้นบ้านภาคกลาง นี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อรวบรวมและจัดเก็บองค์ความรู้เกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านภาคกลางโดยชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในการสร้างสรรค์ การสืบทอดและการพิทักษ์รักษาเพลงพื้นบ้านภาคกลาง และเพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาด้านเพลงพื้นบ้านภาคกลาง อันจะนำไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนของเพลงพื้นบ้านภาคกลางทั้งในการการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ และนำเสนอยูเนสโกให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ โดยมีขอบเขตการดำเนินการโครงการทั้งสิ้น ๓๕ จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี กำแพงเพชร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด ตาก นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานีประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี

     จากผลการดำเนินโครงการผู้วิจัยพบว่าปัจจุบันมีเพลงพื้นบ้านภาคกลางในพื้นที่ ๒๐ จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กำแพงเพชร จันทบุรี ชลบุรี ชัยนาท ตราด ตาก นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ระยอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และมีคณะเพลงพื้นบ้านทั้งสิ้น ๓๗ คณะ ซึ่งบางคณะสามารถแสดงเพลงพื้นบ้านได้มากกว่า ๑ ประเภท หากจำแนกตามประเภทของเพลงพื้นบ้าน คณะที่สามารถแสดงเพลงฉ่อยได้มีทั้งสิ้น ๑๔ คณะ เพลงทรงเครื่อง ๗ คณะ เพลงเรือ ๙ คณะ ลำตัด ๑๙ คณะ และเพลงอีแซว ๙ คณะ

     ผู้วิจัยพบว่าปัจจุบันมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านเพลงพื้นบ้านภาคกลางกำลังถูกคุกคามโดยปัจจัยคุกคาม ๔ ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิกฤตค่านิยมไทย นโยบายและการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐและเอกชนไม่ทั่วถึงและต่อเนื่อง วิกฤตการณ์ทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงภัยธรรมชาติ ผู้วิจัยจึงดำเนินการกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ๓ ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นวางแผนแบบมีส่วนร่วม ขั้นดำเนินการ และขั้นตอนการตรวจสอบ จนถึงการยืนยันและให้ฉันทามติ นำมาซึ่งแนวทางและยุทธศาสตร์ ในการสงวนรักษาเพลงพื้นบ้านภาคกลางผ่านโครงการการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เพลงพื้นบ้านดำรงอยู่ในสังคมไทยและมีการสืบทอดอย่างยั่งยืนต่อไป