ลักษณะพระโพธิสัตว์จากคัมภีร์พุทธประวัติ ตอน “ผจญมาร” ตามแนวคิดแบบเถรวาทและมหายาน The Characteristics of Bodhisattva from the Scriptures of Buddha’s Story of “Subduing Mara”: A Comparative Study between Theravada and Mahayana Beliefs

     บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะพระโพธิสัตว์จากคัมภีร์พุทธประวัติตอนผจญมาร ตามแนวคิดแบบเถรวาทและมหายาน จากคัมภีร์ชินมหานิทานฝ่ายเถรวาทและคัมภีร์ลลิตวิสตระฝ่ายมหายานตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า ลักษณะ              พระโพธิสัตว์สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้ 1) ลักษณะพระโพธิสัตว์ที่ตรงกัน ของคัมภีร์ชินมหานิทานกับคัมภีร์ลลิตวิสตระ ได้แก่ คุณสมบัติพระโพธิสัตว์ แนวคิดเรื่องโพธิสัตว์ และบทบาทพระโพธิสัตว์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 บทบาท ได้แก่ บทบาทบำเพ็ญบารมี
และบทบาทผจญมาร อย่างไรก็ตาม ลักษณะพระโพธิสัตว์ของทั้งสองฝ่ายนั้น ฝ่ายเถรวาทสร้างลักษณะพระโพธิสัตว์ให้มีความเป็นมนุษย์ที่ต้องใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหา ส่วนฝ่ายมหายานจะมีรายละเอียดและกลวิธีในการสร้างลักษณะพระโพธิสัตว์ที่มี
ความเลิศเหนือมนุษย์มากกว่า และ 2) ลักษณะพระโพธิสัตว์ ที่พบเฉพาะในคัมภีร์ลลิตวิสตระ ได้แก่ โพธิสัตวานุภาพ โพธิสัตว์วรกายและโพธิสัตว์กิริยา นับเป็นการเน้นย้ำ ลักษณะความเป็นเลิศเพื่อสร้างความศรัทธาในหมู่พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายาน     การสร้างลักษณะเช่นนี้สอดคล้องกับแนวคิดฝ่ายมหายานที่พระโพธิสัตว์มีฐานะสูงส่งมีฤทธานุภาพ และมีความกรุณาที่จะช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์