ผีน้อย : แรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ (ตอน 2)

ผีน้อย : แรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ (ตอน 2)

เผด็จ ก๋าคำ*

บทนำ

ข้อมูลจากสถานทูตไทยในเกาหลีใต้ พบว่าตั้งแต่ปี 2559 แรงงานลักลอบเข้าผิดกฎหมายชาวไทยในเกาหลีใต้ หรือที่เรียกกันว่า “ผีน้อย” เสียชีวิตหลายร้อยรายในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ส่วนมากเป็นแรงงานที่ไม่มีวีซ่าหรืออยู่อย่างผิดกฎหมาย สาเหตุเสียชีวิตไม่ชัดเจนมากเท่ากับการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงต้นปี 2566 ปรากฏข่าวการเสียชีวิตของนายบุญชู ประวะเสนัง แรงงานไทยอายุ 67 ปี ที่ลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้มาเป็นเวลากว่าสิบปี โดยพบร่างบนเนินเขาหลังฟาร์มหมูซึ่งเป็นสถานที่ที่นายบุญชูทำงานอยู่ กลายเป็นคดีที่สะเทือนขวัญคนไทยที่อยู่ในเกาหลีใต้และฉายให้เห็นถึงสภาพการใช้ชีวิตที่ยากลำบากของ “ผีน้อย” ที่ต้องทำงานและอาศัยในห้องพักสกปรกเพื่อหาเงินส่งเสียครอบครัวในไทย (https://www.bbc.com/thai/articles/ckklk4w9w3po)

อย่างไรก็ตาม  ช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 พบว่ามีจำนวนคนไทยเดินทางไปยังประเทศเกาหลีใต้ประมาณ 10,000 คน แต่มีผู้ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเมืองอย่างน้อย 5,000 คน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของผู้เดินทาง และยังพบว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายอย่างน้อย 147,000 คน ขณะที่จำนวนคนไทยที่ไปทำงานอย่างถูกกฎหมายอยู่ที่ 40,000 คน (https://www.thaipbs.or.th/news/content/318139)

สิ่งจูงใจในการไปทำงานในเกาหลีใต้

          ในบทความตอนที่ 1 ผู้เขียนได้เล่าถึงสาเหตุที่แรงงานไทยหลั่งไหลไปทำงานที่เกาหลีใต้แล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งจูงใจหลัก ๆ ก็คือ การได้รับเงินค่าจ้างสูง มากกว่าการทำงานในประเทศไทยหลายเท่าตัวนั่นเอง ยิ่งมีกระแสข่าวในหัวข้อ “เมื่อค่าแรงขั้นต่ำเกาหลีใต้กำลังจะแซงญี่ปุ่น” ตามสื่อมวลชนต่าง ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งระบุว่า เกาหลีใต้ประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศสำหรับปี พ.ศ. 2557 อีก 2.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 9,850 วอน หรือชั่วโมงละ 265 บาท จากเดิมชั่วโมงละ 229 บาท ดังนั้นถ้าทำงานตามปกติวันละ 8 ชั่วโมง จะได้ค่าจ้างถึงวันละ 2,120 บาท นอกจากนั้นจะมีค่าล่วงเวลาหรือได้ทำงานเพิ่มในวันหยุดอีก รวมถึงเงินรางวัลอื่น ๆ ที่นายจ้างให้ ก็อาจมีรายได้ถึง 5-6 หมื่นบาทต่อเดือนเลยทีเดียว

……………………..……………………………………………………………………………………………………………………………………………

*ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ผู้เขียนได้ติดตามข้อมูลการบอกเล่าของแรงงานไทยในเกาหลีใต้รายหนึ่งภูมิลำเนาเป็นคนจังหวัดเชียงราย ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ TikTok  เขาระบุว่าส่วนตัวเขาทำงานแทบทุกวันในแต่ละเดือน เพราะโชคดีที่มีนายจ้างใจดี มีงานให้ทำตลอดแม้ในวันหยุด รวมมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 7-9 หมื่น ซึ่งบางเดือนได้ถึงหลักแสนบาทก็มี

นอกจากนี้ วัฒนธรรมของชาวเกาหลีใต้ที่ยึดถือสถานะทางสังคมเป็นอย่างมาก คนวัยหนุ่มสาวส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือบริษัทขนาดใหญ่ มีชื่อเสียงและให้เงินเดือนสูง จึงเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม ประมง สิ่งก่อสร้าง บริการและอุตสาหกรรมขนาดเล็ก

สถานะแรงงานไทยในเกาหลีใต้และปัญหาในการทำงา

          แรงงานไทยในเกาหลีใต้ แบ่งออกตามสถานะทางกฎหมายได้ 2 ประเภท (รีนา ต๊ะดี,2559) กล่าวคือ

แรงงานที่ถูกกฎหมายที่รู้จักกันในกลุ่มแรงงานไทยว่า “คนวี” ซึ่งหมายถึงคนที่มีวีซ่า และแรงงานที่ผิดกฎหมาย ที่คนไทยในเกาหลีเรียกกันว่า “คนผี” หรือ “ผีน้อย” ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายและมีค่าใช้จ่ายสูงที่ต้องจ่ายให้กับนายหน้า

การเข้าสู่แรงงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายมี 5 ช่องทาง (กิริยา กุลกลการ,2562) ได้แก่ เดินทางไปกับบริษัทท่องเที่ยว บริษัทจัดหาคู่ โรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนฝึกอาชีพ และผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งวิธีผ่านสื่อออนไลน์เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

          จากงานวิจัยของรานี ต๊ะดี (2559) พบว่าปัญหาในการทำงานของแรงงานไทยในเกาหลีใต้มีหลายประเด็น ดังนี้

1)   การถูกเอารัดเอาเปรียบค่าแรง โดยนายจ้างอาจจะจ่ายค่าแรงช้าหรือไม่เต็มจำนวน ด้วยเหตุผลที่ต้องการดึงแรงงานไว้ ไม่ให้ลาออก นายจ้างบางรายหักเงินค่าเช่าที่พัก รวมถึงไม่จ่ายเงินชดเชยเมื่อออกจากงานเมื่อถึงกำหนดตามสัญญาคือ 1 ปี

2)   แรงงานที่มาทำงานผ่านระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ หรือระบบ EPS ต้องเผชิญกับปัญหาในการเปลี่ยนงานและการหางานใหม่ หากแรงงานจะเปลี่ยนงานใหม่จะต้องให้นายจ้างลงนามอนุญาตจึงจะเปลี่ยนงานได้ หลายครั้งที่แรงงานไม่พอใจในงานที่ทำอยู่แต่นายจ้างไม่ลงนามอนุญาต แรงงานจึงต้องทนทำงานอยู่ที่เดิม หรือหากทนไม่ไหวก็จะหลบหนีออกมาจากสถานประกอบการ หรือที่เรียกว่า “โดดแทรค” และสถานภาพแรงงานก็จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย หรือ “ผีน้อย” ทันที

3)   แรงงานเพศหญิงมีความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าด้วยการกระทำหรือด้วยคำพูดก็ตาม นอกจากนี้ยังพบว่านายจ้างบางรายมีลักษณะนิสัยก้าวร้าว รุนแรง ทั้งทางร่างกายและวาจ พูดเสียงดัง ดุด่าว่ากล่าวแรงงาน ส่งผลกระทบทางจิตใจในการทำงาน

เหตุใดสถานภาพการเป็น “ผีน้อย” ในเกาหลีใต้มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น

          ข้อมูลทั้งในส่วนที่มาจากการค้นคว้าเอกสาร งานวิจัย และจากการได้รับจากการบอกเล่าผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ พอสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้ (รีนา ต๊ะดี, 2559)

ประเด็นแรก ผู้ที่สมัครไปทำงานที่เกาหลีใต้ผ่านระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าระบบ EPS มีขั้นตอนและระยะเวลาที่ต้องรอ แม้จะสอบผ่านก็ไม่ได้รับรองว่าจะถูกเลือกไปทำงาน ด้วยเงื่อนไขการสุ่มรายชื่อแรงงานในอัตรา 1 ต่อ 5 หมายความว่า เมื่อนายจ้างแจ้งความต้องการแรงงาน 1 คน กรมการจัดหางานเกาหลีจะสุ่มรายชื่อแรงงานส่งให้นายจ้างเลือก 5 คน แปลว่าอีก 4 คนที่ไม่ถูกเลือกจะต้องรอต่อไป บางรายรอจนคะแนนหมดอายุ 2 ปีก็ต้องไปสอบใหม่ และรออีกจนกว่านายจ้างจะเลือก จะเห็นได้ว่าการสุ่มรายชื่อแรงงานไม่มีระบบที่ชัดเจนและให้อำนาจนายจ้างในการเลือกแรงงาน แรงงานที่สอบผ่านทำได้เพียงแค่รอเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้มีแรงงานไทยลักลอบไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย

ประเด็นที่สอง ข้อจำกัดด้านอายุ รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดเกี่ยวกับเพดานอายุของแรงงานถูกกฎหมาย ที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 39 ปี สร้างข้อจำกัดให้แรงงานจำนวนมากไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ แรงงานหลายคนเคยไปทำงานประเทศอื่นมาก่อน เป็นแรงงานมีทักษะอยู่แล้ว และอยากไปทำงานที่เกาหลีต่อ แต่มีอายุเกินเกณฑ์จึงสมัครไม่ได้ ทั้งที่ภาคเกษตรของเกาหลี โดยเฉพาะการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ต้องการแรงงานจำนวนมาก และแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุทั้งชาวต่างชาติและชาวเกาหลี แต่แรงงานไทยที่อายุเกิน 39 ปี กลับไม่มีโอกาสได้เข้าไป โดยทั่วไปแล้ว แรงงานไทยที่เคยไปทำงานต่างประเทศมาก่อนไม่ต้องการกลับไปทำงานที่ประเทศไทยเนื่องจากเคยรับค่าแรงที่สูงกว่าในต่างประเทศ การรับค่าแรงที่ต่ำกว่าทำให้รู้สึกไม่คุ้มค่าแรง

ประเด็นที่สาม แรงงานผู้หญิงมีโอกาสถูกเรียกตัวน้อยกว่าแรงงานผู้ชาย เพราะลักษณะงานส่วนใหญ่เป็นงานโรงงาน และเกาหลีให้สิทธิเถ้าแก่เป็นคนเลือกแรงงาน งานโรงงานบางประเภท เช่น โรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์ โรงกลึง โรงปั๊ม จำเป็นต้องยกของหนัก นายจ้างมักจะเลือกแรงงานผู้ชายมากกว่า แม้ว่าโควตาทางที่เกาหลีกำหนดมาจะระบุจำนวนแรงงานชายครึ่งหนึ่ง หญิงครึ่งหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติจริง แรงงานชายมีโอกาสได้รับเลือกมากกว่าแรงงานหญิง

นอกจากข้อจำกัดในขั้นตอนการสมัครและการจ้างงานแล้ว ระบบ EPS ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับเงื่อนไขในการเปลี่ยนงานและการช่วยเหลือแรงงานเมื่อแรงงานไทยไปอยู่ที่เกาหลีใต้แล้วอีกด้วย คือ 1) มีการจำกัดว่าแรงงานสามารถเปลี่ยนงานได้ 3 ครั้งในช่วงเวลาสัญญา EPS ที่มีระยะ 3 ปี และในการเปลี่ยนงานแต่ละครั้งจะต้องให้นายจ้างเซ็นยินยอม ซึ่งบางครั้งนายจ้างไม่ยอมเซ็น นอกจากนี้แรงงานจะต้องไปเดินเรื่องเอง และต้องหางานใหม่ให้ได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างที่ว่างงาน แรงงานจะไม่มีที่พักเนื่องจากที่พักของแรงงานผูกติดอยู่กับการจ้างงาน และระบบ EPS ไม่มีหน่วยงานที่จัดหาที่พักให้แรงงานในช่วงที่ว่างงาน มีเพียงโบสถ์คริสต์หรือวัดไทยที่เป็นที่พึ่งพิงของแรงงานในช่วงว่างงาน รองานใหม่ ขาดรายได้ และไร้บ้าน 2) แรงงานไม่สามารถเปลี่ยนงานข้ามสายงานได้ เช่น แรงงานที่มาทำงานในสัญญางานเกษตรจะไม่สามารถเปลี่ยนไปทำงานอุตสาหกรรมได้ ซึ่งงานอุตสาหกรรมจะมีความเป็นอยู่และสภาพการทำงานที่ดีกว่างานเกษตร มีค่าล่วงเวลามากกว่า มีงานเยอะกว่า ทำให้มีรายได้มากกว่า แรงงานไทยที่มาเกาหลีส่วนใหญ่มีฝีมือสามารถทำงานภาคอุตสาหกรรมได้สบาย แต่คนที่มาในสัญญางานเกษตรก็จะถูกจำกัดให้อยู่ในงานเกษตรเท่านั้น แรงงานบางคนมีคนรู้จักเยอะ เถ้าแก่ในโรงงานก็ต้องการคนงานด้วย บางคนมีช่องทางก็ตัดสินใจฉีกสัญญาไปเป็นผีน้อยเพื่อรายได้และสภาพเป็นอยู่ที่ดีกว่า

ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้แรงงานในระบบ EPS ที่ทำงานครบ 1 สัญญาหรือ 2 สัญญาแล้วบางส่วนตัดสินใจฉีกสัญญา และทำงานในเกาหลีต่อไปในฐานะแรงงานผิดกฎหมายซึ่งจะส่งผลให้จำนวนผีน้อยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บทสรุป

จำนวนคนไทยที่ไปทำงานแบบผิดกฎหมายในในเกาหลีใต้ยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีข่าวสาร เรื่องราวที่ไม่ดีเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ ก็ตาม อาทิ เจ้าหน้าที่วิ่งไล่จับกุมแรงงานผิดกฎหมายถี่ขึ้น คนไทยจำนวนหนึ่งถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ ข่าวเกี่ยวกับแรงงานไทยเสียชีวิตถูกนำไปทิ้งบนเขา เป็นต้น แต่ด้วยเงื่อนไขการได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว ไม่อาจสกัดหรือยับยั้งการเข้าไปเสียงโชคของคนไทยได้ ข่าวแรงงานไทยหลั่งไหลไปทำงาน ณ ประเทศเกาหลีใต้ จึงมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งฤดูกาลท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนเป็นฤดูที่น่าเที่ยวที่สุดในเกาหลี อาจเป็นช่วงที่แรงงานไทยจำนวนหนึ่งถือโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวและปรับเปลี่ยนสถานะตนเองเป็น “ผีน้อย” ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

กิริยา กุลกลการ. “แรงงานไทยผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี: สาเหตุและแนวทางแก้ไข”. Jounal f HRintelligence. 14 (1). (มกราคม-มิถุนายน 2562).

ดนย์ ทาเจริญศักดิ์. (2561). A study of Thai Illegal Workers in South Korea. แรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี. โซล. มหาวิทยาลัยชอนนัม.

นิมนตรา ศรีเสน. (2562). การเคลื่อนย่ายของแรงงานไทยกับสภาวะผิดกฎหมายในเกาหลีใต้. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.

ภาวนา เพ็ชรพราย. การศึกษาเปรียบเทียบสิทธิเสรีภาพของแรงงานถูกกฎหมายและผีน้อยในสาธารณรัฐเกาหลี. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. 2 (2).(2563).

รีนา ต๊ะดี. 2559. แรงงานไทยในเกาหลีใต้: ปัญหาและอุปสรรคของการเข้าถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยและเกาหลีใต้. ประเทศไทยกับศตวรรษแห่งการย้ายถิ่นข้ามชาติ. 109-122.