จับใจความหัวใจสำคัญของการอ่าน

บทคัดย่อ

          การวิเคราะห์สารหรือการจับใจความ เป็นกระบวนการอ่านที่ต่อเนื่องจากการวิเคราะห์สาร ผู้อ่านต้องตีความว่าผู้เขียนมีเจตนาอย่างไรในการเสนอเรื่องราว ผู้เขียนมีความคิดเห็นอย่างไร หรือความรู้สึกอย่างไร ตลอดจนผู้เขียนต้องการสื่อสารอะไรกับผู้อ่านซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏอย่างชัดเจนในเนื้อหา การอ่านจับใจความจึงเป็นการทำความเข้าใจ หรือหาความหมายที่แท้จริงของข้อความเพื่อค้นหาจุดประสงค์หรือสาระสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อถึงผู้อ่าน

 

คำสำคัญ  การอ่าน, ใจความสำคัญ

 

บทนำ

           การอ่านจับใจความสำคัญ คือ การอ่านโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเก็บสาระสำคัญ ความรู้ข้อมูล   ที่น่าสนใจ และแนวความคิดหรือทัศนะของผู้เขียนของเรื่องที่อ่าน  อีกทั้งยังเป็นการอ่านที่ต้องการแยกแยะเรื่องที่อ่านให้ได้ว่าส่วนใดเป็นใจความหรือข้อความที่สำคัญที่สุด และส่วนใด เป็นข้อความประกอบ การจับใจความจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจว่าผู้เขียนต้องการสื่ออะไรอย่าง โดยผู้อ่านต้องใช้ความสามารถทางภาษา ประสบการณ์หรือภูมิหลังในด้านการแปล ความหมายของคำข้อความ เพื่อจับใจความได้รวดเร็วขึ้น ใจความสำคัญจึงหมายถึงหมายถึงใจความที่เป็นแก่นของย่อหน้าที่สามารถครอบคลุมเนื้อความในย่อหน้านั้น จะเป็นใจความหรือประโยคเดี่ยว ๆ ได้โดยไม่ต้องมีประโยคอื่นประกอบ ในแต่ละย่อหน้าจะมีประโยคใจความ สำคัญเพียงประโยคเดียว อย่างมากไม่เกิน 2 ประโยคเป็นใจความสำคัญและเด่นที่สุดในย่อหน้า      

 

ความสำคัญของการอ่าน

                 ฉวีลักษ์    บุญยะกาญจน (2524 : 16) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการอ่านไว้ว่าการอ่านเป็นสิ่งจำเป็นและให้ประโยชน์แก่มนุษย์ทุกด้านทุกโอกาส  ทั้งในด้านการศึกษาหาความรู้การประกอบอาชีพ และการพักผ่อนหย่อนใจ  การอ่านช่วยส่งเสริมความรู้ความคิดของคนเราให้เพิ่มพูนขึ้น   นอกจากนั้น

               ณรงค์   ทองปาน (2526 : 5)  ได้กล่าวว่าการอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้อ่าน ซึ่งสอดคล้องกันกับสุนันทา  มั่นเศรษฐวิทย์ (2539 : 1) ที่กล่าวไว้ว่าการอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการเสาะแสวงหาความรู้และใช้วิธีอ่านที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้อ่านทุกคนและการอ่านยังมีความสำคัญในด้านอื่นๆ อีกดังนี้

                     1. การอ่านเป็นพื้นฐานของการเรียนวิชาอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะต้องการหาความรู้ ในสาขาวิชาการต่างๆจำเป็นต้องอาศัยทักษะการอ่านเป็นเครื่องมือ          

                     2. การอ่านเป็นกระบวนการถ่ายทอดความรู้สึก และความต้องการระหว่างบุคคลกับบุคคล

                     3. การอ่านเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เป็นผู้ที่สำเร็จในการประกอบอาชีพ  เพราะได้อ่านเอกสารความรู้ในการปรับปรุงงานของตนเองอยู่เสมอ                

                     4. การอ่านเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเพราะถ้าเราอ่านได้ก็สามารถทำความเข้าใจร่วมกับคนอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดีตลอดจนสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผ่านไปได้อย่างราบรื่น

                     5. การอ่านเป็นเครื่องมือในการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยสู่รุ่นหลังๆต่อไป     

                     6. การอ่านเป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินความรู้ และมีประสบการณ์กว้างขวาง

                 วรรณี   โสมประยูร (2537 :121-122) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการอ่านไว้โดยสรุป ดังนี้

                      1. การอ่านเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการศึกษาเล่าเรียนทุกระดับผู้เรียนจำเป็นต้องอาศัยทักษะการอ่านทำความเข้าใจเนื้อหาสาระของวิชาการต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองได้รับความรู้และประสบการณ์ตามที่ต้องการ

                      2. ในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปคนเราต้องอาศัยการอ่านติดต่อสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับบุคคลอื่นร่วมไปกับ ทักษะการฟัง  การพูด และการเขียนทั้งในด้านภารกิจส่วนตัวและการประกอบอาชีพการงานต่างๆในสังคม

                      3. การอ่านช่วยให้บุคคลนำความรู้และประสบการณ์จากสิ่งที่อ่านไปปรับปรุงและพัฒนาอาชีพหรือธุรกิจการงานที่ตัวเองกระทำอยู่ให้เจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

                      4. การอ่านสามารถสนองความต้องการพื้นฐานของบุคคลในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น ช่วยให้มั่นคงปลอดภัย  ช่วยให้เป็นที่ยอมรับของสังคม  ช่วยให้มีเกียรติยศและชื่อเสียง ฯลฯ

                      5. การอ่านทั้งหลายจะส่งเสริมให้บุคคลได้ใช้ความรู้และประสบการณ์เพิ่มขึ้นอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ทำให้เป็นผู้รอบรู้เกิดความมั่นใจในการพูดปราศรัย  การบรรยายหรืออภิปรายต่าง ๆ  นับว่าเป็นการเพิ่มบุคลิกภาพ  และความน่าเชื่อถือให้แก่ตนเอง

                      6. การอ่านหนังสือหรือสิ่งพิมพ์หลายชนิดนับว่าเป็นกิจกรรมนันทนาการที่น่าสนใจมาก  เช่น  อ่านหนังสือพิมพ์  นิตยสาร  วารสาร  นวนิยาย  การ์ตูน ฯลฯ  เป็นการช่วยให้บุคคลรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  และเกิดความเพลิดเพลินสนุกสนานได้เป็นอย่างดี

                      7. การอ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีต เช่น ศิลาจารึก ประวัติศาสตร์ เอกสารสำคัญ   วรรณคดี ฯลฯ  จะช่วยให้อนุชนรู้จักอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยเอาไว้และสามารถพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป   

                 นับว่าการอ่านมีความสำคัญยิ่งในชีวิตประจำวันของคนเรา เนื่องจากเราใช้การอ่านเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ข้อมูลข่าวสารเพิ่มพูนประสบการณ์ของตนเอง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆได้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะนักเรียนเนื่องจากการอ่านเป็นความสามารถขั้นพื้นฐานที่สำคัญนักเรียนจะประสบความสำเร็จในการเรียนมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับทักษะการอ่าน

ความหมายของใจความสำคัญ

              ใจความสำคัญ คือ ความคิดสำคัญอันเป็นแก่น หรือหัวใจของเรื่องที่ผู้เขียนมุ่งสื่อมาให้ผู้อ่านได้รับรู้รับทราบ  ซึ่งอาจเป็นข้อเท็จจริงและเป็นการความคิดเห็น หรืออย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ซึ่งสนิท  ตั้งทวี (2528 : 27) ได้กล่าวถึงลักษณะของใจความสำคัญไว้ดังนี้

ลักษณะของใจความสำคัญ

1.   ใจความสำคัญ เป็นข้อความที่ทำหน้าที่คลุมใจความของข้อความอื่นๆ ในตอนนั้น ๆ ไว้หมดข้อความนอกนั้นเป็นเพียงรายละเอียด หรือขยายใจความสำคัญเท่านั้น

2.       ใจความสำคัญของข้อความหนึ่ง ๆ หรือย่อหน้าหนึ่ง ๆ ส่วนมากมีเพียงประการเดียว

3.       ใจความสำคัญส่วนมากมีลักษณะเป็นประโยค อาจเป็นประโยคเดี่ยวหรือประโยคซับซ้อน

ก็ได้ แต่ในบางกรณีใจความสำคัญไม่ปรากฏเป็นประโยค เป็นเพียงใจความที่แฝงอยู่ในข้อความตอนนั้น ๆ

4.       ใจความสำคัญที่มีลักษณะเป็นประโยค ส่วนมากจะปรากฏอยู่ต้นข้อความ

นอกจากนี้ สุปราณี  พัดทอง ยังให้หลักสังเกตลักษณะของใจความสำคัญ ไว้ดังนี้

1.       ใจความสำคัญเป็นส่วนสำคัญที่ผู้เขียนมุ่งเน้นมากที่สุด เพราะถือเป็นแก่นของข้อความ

ส่วนอื่นๆ ถือว่าเป็นส่วนขยาย เช่น คำอธิบาย คำถาม และเหตุผล เป็นต้น

2.       ใจความสำคัญอาจปรากฏให้เห็นเป็นประโยคชัดเจน

3.       ใจความสำคัญอาจไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจน แต่แฝงอยู่ในเนื้อความ

ตัวอย่างข้อความที่มีใจความสำคัญปรากฏเป็นประโยคชัดเจน

           ความมหัศจรรย์ของธรรมชาตินั้นยังมีอยู่มากที่เรายังค้นหาไม่พบ พืชแปลกๆที่มีรูปทรงแตกต่างไปจากพืชที่เราพบเห็นกันทั่วไปเป็นจำนวนมาก สัตว์อีกหลายชนิดที่ยังซุกซ่อนตัวอยู่ในซอกหลืบที่มนุษย์ยังเข้าไปไม่ถึง ยังมีสิ่งมีชีวิตอีกนานาชนิดที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้จำแนกหรือตั้งชื่อในทางวิทยาศาสตร์ และมีจำนวนไม่น้อยที่สูญพันธุ์ไปก่อนการค้นพบ

    (คัดจาก “แมงมุมเขาควาย” ของ เกรียงไกร  สุวรรณภักดิ์  สยามอารยะ. ตุลาคม 2539)

 

    ประโยคใจความสำคัญ ได้แก่ ความมหัศจรรย์ของธรรมชาตินั้นยังมีอยู่อีกมากที่เรายังค้นหาไม่พบ

 

ตัวอย่างข้อความที่ผู้อ่านต้องประมวลความคิด

 

           ขณะนี้โลกกำลังประสบความตึงเครียดและความแตกสลาย เพราะการพัฒนาทางวัตถุที่ทอดทิ้งการพัฒนาทางจิตวิญญาณ สังคมไทยมีจุดแข็งที่ซ่อนเร้นอยู่ คือ จุดแข็งทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ จริงอยู่ประเทศไทยต้องสร้างความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เป็นการสร้างความเข้มแข็งที่ตามเขา ความเข้มแข็งที่เราอาจจะนำเขาได้ คือ ความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ

                                         (คัดจาก “สมเด็จย่ากับการยกระดับจิตวิญญาณของชาติ” ของ ประเวศ  วะสี วารสารมูลนิธิโรคไต มกราคม 2539)

 

                        ใจความสำคัญของย่อหน้านี้กระจายอยู่ทั่วไป สรุปได้ว่าใจความสำคัญที่ผู้เขียนต้องการบอกคือ สังคมไทยมีจุดแข็งทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณที่อาจนำสังคมอื่นได้

                     ข้อความที่ไม่ปรากฏประโยคใจความสำคัญ ผู้เขียนจะแฝงความคิดสำคัญไว้ในเนื้อความ ดังนั้นจึงไม่ปรากฏประโยคใจความสำคัญอย่างชัดเจน ผู้อ่านต้องอ่านอย่างตั้งใจและทำความเข้าใจว่าเนื้อความนั้นผู้เขียนต้องการเสนอความคิดเรื่องใดเป็นสำคัญ

 

ตัวอย่างคำประพันธ์ที่ปรากฏใจความสำคัญ

 

                                           งูเขียวเที่ยวเลื้อยแล          พบตุ๊กแกย่อมสู้กัน

                             ตุ๊กแกกัดงูพัน                       แรงงูมากปากคลาคลาย

                                (หนังสือเรียนวรรณคดีวิจักษ์ : นิราศธารทองแดง)

 

                     จากคำประพันธ์ ใจความสำคัญอยู่ที่ตุ๊กแกเสียเปรียบงูเขียว

 

           อย่างไรก็ดี ใจความสำคัญที่แฝงไว้ในแต่ละย่อหน้าของงานเขียน มิได้หมายความว่าในทุก ๆย่อหน้าจะมีความสำคัญของเรื่องเสมอไป หากย่อหน้านั้นเป็นเพียงการยกตัวอย่าง เป็นรายละเอียดขยายใจความสำคัญใน ย่อหน้าก่อน ตลอดจนอาจเป็นย่อหน้าเชื่อมซึ่งใช้เชื่อมโยงให้เกิดความต่อเนื่องระหว่างย่อหน้า หรือใช้นำเข้าสู่ใจความสำคัญในย่อหน้าต่อไป ย่อหน้าที่มีลักษณะดังกล่าวมานี้จะไม่มีใจความสำคัญของเรื่อง

 

ตัวอย่างการวิเคราะห์สารและจับสาระสำคัญของสารจากคำประพันธ์

 

                             ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง          มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา

                   โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา             ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย

                   ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ              พระสรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย

                   ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย                    ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป

                                                                                                             (สุนทรภู่ : นิราศภูเขาทอง)

          หากเราจะวิเคราะห์สารจากเนื้อความ สองวรรคแรกไม่มีปัญหา เป็นคำอธิษฐานหรือ เจตนารมณ์ของผู้บวชที่ประสงค์จะบรรลุพระโพธิญาณซึ่งเป็นที่หมายอันสูงสุดในทางพุทธศาสนา แต่สองวรรคหลังจะตีความอย่างไรจึงจะน่าคิดและน่าฟัง

ถ้าจะตีความว่า “ถ้าดื่มสุราแล้วเกิดประโยชน์แก่ผู้ดื่มก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรหลีกเลี่ยง ไม่สนใจเพราะถ้าสุรามีคุณแล้วกลับไม่สนใจก็จะดูเกินเหตุไป” หรืออาจจะมีผู้ตีความหมายเป็นทำนองว่าตัวกวีเองเคยติดสุราและเคยได้รับประโยชน์จากการดื่มสุรา ดังนั้นการเดินทางผ่านโรงเหล้าครั้งนี้ จึงอดไม่ได้ที่จะคิดถึงอดีตของตน

กวีมีทัศนะดังที่เราวิเคราะห์สารและจับใจความเพื่อนำมาตีความออกมาแบบนี้หรือไม่เป็นสิ่งที่น่าคิด เพราะหากเราถอดความหมายคำศัพท์เสียใหม่ “แกล้ง” แปลว่า “ตั้งใจ” (ตามความหมายที่ใช้กันในวรรณคดีรุ่นเก่า) “เกิน”  แปลว่า  “เลยไป  ผ่านไป  พ้นไป” เนื้อความทั้งหมดก็กลายเป็น  “ถึงแม้ดื่มสุราแล้วเกิดคุณประโยชน์ก็จะไม่ขอข้องแวะจะตั้งใจหลีกหนีให้ผ่านพ้นไปเสีย”  สรุปได้ว่า “ไม่สนใจสุราอีกแล้ว”

 

สรุป

          ความสามารถในการอ่านจับใจความ การวิเคราะห์สาระสำคัญและใจความสำคัญดังที่ได้อธิบายมานี้ จะเห็นว่าเราต้องใช้เหตุผลหลายอย่างประกอบในการพิจารณาและแม้จะมั่นใจว่ารอบคอบที่สุดแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะถ้อยคำที่เราสื่อความหมายกันอยู่ทุกวันล้วนแต่มีหลายนัย ทำให้แปลความหมายกันไปได้ต่าง ๆ นานา ในขณะเดียวกันการจับใจความสำคัญหรือ หาสาระสำคัญให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ของการอ่านก็จำเป็นต้องมีขั้นตอนเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง จึงจะได้ผลตรงตามจุดประสงค์ ในด้านของการวิเคราะห์การใช้ภาษาซึ่งถือว่าการใช้ภาษาของผู้เขียนเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะถ่ายทอดความคิดไปยังผู้อ่าน การพิจารณางานเขียนนั้นผู้อ่านต้องพิจารณาทั้งความหมายที่ปรากฏตามตัวอักษรและความหมายที่แฝงอยู่เพื่อสามารถแปลความ ตลอดจนตีความเรื่องราวที่ผู้เขียนส่งมาได้

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

ฉวีลักษณ์  บุณยะกาญจน. (2524). การจัดการส่งเสริมการอ่าน. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพาณิช.

ณรงค์  ทองปาน. (2526). การสร้างหนังสือสำหรับเด็ก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์.

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2547). เอกสารประกอบการสอนชุดวิชา การอ่านภาษาไทย

            หน่วยที่ 9-15. นนทบุรี : สำนักวิชาการมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

วรรณี  โสมประยูร. (2537). การสอนภาษาไทยระดับประถมศึกษา. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.

วิชาการ, กรม. (2546). การจัดสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

             พุทธศักราช 2544. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

แววมยุรา  เหมือนนิล. (2538). การอ่านจับใจความ. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาสน์.

สมพร  มันตะสูตร (แพ่งพิพัฒน์). (2540). การอ่านทั่วไป. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

สนิท  ตั้งทวี. (2528). ความรู้และทักษะทางภาษา. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

สุปราณี  พัดทอง. (2543). การอ่านเพื่อจับใจความสำคัญและแสดงความคิดเห็น, การใช้

ภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4. คณาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์

            มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เอกรินทร์   สี่มหาศาล. (2533). การอ่านเชิงสร้างสรรค์. เอกสารประกอบการอบรมทางวิชาการ

           เรื่อง การอ่านวรรณกรรมปัจจุบัน สมาคมนักอ่านแห่งประเทศไทย.