หลักสูตรกับภารกิจการสอนของครูภาษาไทย

บทคัดย่อ

           หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีเป้าหมายของหลักสูตรในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และกระบวนการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาโดยได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ จุดหมาย สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อใช้เป็นทิศทางในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในแต่ละระดับ นอกจากนั้นได้กำหนดโครงสร้างเวลาเรียนขั้นต่ำของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ในแต่ละชั้นปีไว้ในหลักสูตรแกนกลาง และเปิดโอกาสให้สถานศึกษาเพิ่มเติมเวลาเรียนได้ตามความพร้อมและจุดเน้น อีกทั้งได้ปรับกระบวนการวัดและประเมินผลผู้เรียน เกณฑ์การจบการศึกษาแต่ละระดับ และเอกสารแสดงหลักฐานทางการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ และมีความชัดเจนต่อการนำไปปฏิบัติ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551 : คำนำ) 

 

คำสำคัญ การสอน, การสอนของครูภาษาไทย

 

บทนำ

          หลักสูตรมีความสำคัญต่อการจัดการศึกษาทุกระบบ เนื่องจากข้อกำหนดต่าง ๆ ของ หลักสูตรจะเป็นมาตรฐานในการจัดการศึกษาของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทำให้เป็นแนวทางนำไปสู่ การกำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย อีกทั้งยังเป็นแนวทางสำหรับผู้สอน ในการดำเนินการจัดการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายทั้งในด้านความรู้ ในเนื้อหาสาระ ทักษะ กระบวนการเรียนรู้และการคิด ทักษะทางสังคมและที่สำคัญคือคุณภาพทางด้านคุณธรรมจริยธรรม และค่านิยมอันพึงประสงค์ นอกจากนี้ความสำคัญของหลักสูตรยังมีต่อการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ด้วยที่จะต้องตอบคำถามได้ว่าการจัดการศึกษานั้นบรรลุความคาดหวังของหลักสูตรหรือไม่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสารสนเทศสำหรับการปรับปรุงหลักสูตรต่อไป

 

ภารกิจสำคัญของผู้สอน

           การจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพและคุณลักษณะตามเป้าหมายของหลักสูตร ผู้สอนต้องปฏิบัติภารกิจที่สำคัญต่อไปนี้

                     1. ศึกษาวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนการจัดการเรียนรู้ที่ท้าทายความสามารถของผู้เรียน

                     2. กำหนดเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน ด้านความรู้และทักษะกระบวนการที่เป็นความคิดรวบยอด หลักการ และความสัมพันธ์ รวมทั้งคุณลักษณะอันพึงประสงค์

                     3. ออกแบบการเรียนรู้และจัดการเรียนรู้ที่นำผู้เรียนไปสู่เป้าหมาย

                     4. จัดเตรียมและเลือกใช้สื่อให้เหมาะสมกับกิจกรรม นำภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน

                     5. ประเมินผลด้วยวิธีการที่หลากหลาย เหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการวัด ธรรมชาติของวิชา และระดับพัฒนาการของผู้เรียน

                     6. วิเคราะห์ผลการประเมินเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการซ่อมเสริมและพัฒนาผู้เรียน รวมทั้งปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนของตนเอง

           การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child-centered) เป็นการจัดการเรียนการสอนที่มีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ บทบาทของครูจะเปลี่ยนแปลงจากผู้ชี้นำหรือ    ผู้ถ่ายทอดความรู้ไปเป็นผู้ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก ส่งเสริมสนับสนุนผู้เรียนในการแสวงหาความรู้และลงมือปฏิบัติ และสร้างสรรค์ความรู้โดยใช้วิธีต่างๆ หลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความถนัด ความสนใจ และความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการสร้างสรรค์ความรู้และนำความรู้ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

           เทคนิคการสอนที่มีความเหมาะสม สามารถนำมาจัดกระบวนการเรียนรู้กลุ่มสาระภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาทั้ง ฟัง พูด อ่าน เขียน มีมากมายหลายวิธี แต่ในที่นี้จะยกตัวอย่าง 5 เทคนิคการสอน ได้แก่

           1. การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) เป็นการสอนที่ฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกันในกลุ่มที่สมาชิกมีความสามารถแตกต่างกัน โดยจะต้องร่วมมือ ช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมีความรับผิดชอบร่วมกัน

           2. วิธีสอนแบบสตอรีไลน์ (Storyline) กำหนดเส้นทางเดินเรื่องโดยใช้วิธีการผูกเรื่องในแต่ละตอนให้เชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องตามลำดับเหตุการณ์และมีการใช้คำถามเป็นตัวนำเข้าสู่การทำกิจกรรม

           3. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิด มีวิธีการหลากหลาย เช่น การตั้งคำถามโดยใช้เทคนิคหมวก 6 ใบ การใช้คำถามอย่างสร้างสรรค์

           4. การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร โดย ครู ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ชุมชน จัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถภาพในการใช้ภาษาทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน เช่น การจัดโต้วาที การคัดลายมือ เขียนเรียงความ ทำโครงงาน ประกวดการอ่าน เป็นต้น

           5. วิธีสอนแบบบูรณาการ (Integration Instruction) เป็นการจัดการเรียนรู้โดยใช้ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในกลุ่มสาระหรือข้ามกลุ่มสาระเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการแสวงหาความรู้ ทำให้ได้ใช้ความคิด ประสบการณ์ และทักษะต่างๆ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น

           ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างวิธีการสอน ครูผู้สอนอาจใช้วิธีการสอนอื่นๆ นอกเหนือจากที่ยกตัวอย่าง แต่ทั้งนี้สิ่งสำคัญครูผู้สอนจะต้องทำความเข้าใจในกระบวนการจัดการเรียนรู้ของแต่ละวิธีสอนให้ลึกซึ้ง ก็สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้อย่างสมบูรณ์

 

การใช้สื่อการเรียนรู้

          สื่อการเรียนรู้เป็นเครื่องมือส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง  สามารถเข้าถึงความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกใช้สื่อ ควรเลือกให้มีความเหมาะสมกับระดับพัฒนาการและรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายของผู้เรียน ผู้สอนสามารถจัดทำหรือเลือกใช้สื่อประกอบการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

           การจัดทำ การเลือกใช้ และการประเมินคุณภาพสื่อการเรียนรู้ ผู้สอนต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักสูตร วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ เป้าหมายการจัดการเรียนรู้ การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และการจัดประสบการณ์ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตร  สอดคล้องกับตัวชี้วัดและความถูกต้องของเนื้อหาสาระการเรียนรู้ การใช้ภาษาที่ถูกต้อง รูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่าย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน และไม่ขัดต่อศีลธรรมความมั่นคงของชาติ

           สื่อเป็นตัวช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีและเร็วขึ้น สื่อจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของแผนการจัดการเรียนรู้ ผู้สอนจะต้องวางแผนว่าจะใช้สื่อใดประกอบการจัดกิจกรรมเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอน     สื่อบางประเภทผู้สอนสามารถผลิตเองได้ แต่สื่อบางประเภทต้องไปจัดซื้อจัดหามาใช้ประกอบการสอน สื่อการเรียนรู้จึงอาจจะมีทั้งสื่อวัสดุ สื่อเอกสาร และสื่อบุคคล สื่อการเรียนรู้ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป  เช่น    

วีดิทัศน์ CAI  หุ่นจำลอง  รูปภาพ  เอกสารประกอบการสอน  เอกสารประกอบการเรียน  บทเรียนสำเร็จรูป  ชุดการสอน  ใบความรู้  ใบงาน  ข่าว  หนังสือสำหรับค้นคว้าฯลฯ  ถ้าเป็นสื่อบุคคลก็มักจะเป็นผู้ที่เชิญมาเป็นวิทยากรให้ความรู้เฉพาะเรื่อง บุคคลที่ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนไปสัมภาษณ์เพื่อเพิ่มความรู้และประสบการณ์  เป็นต้น

           สำหรับแหล่งการเรียนรู้นั้นมีความสำคัญต่อผู้เรียนมาก ซึ่งผู้สอนควรจัดแหล่งการเรียนรู้ให้มากพอและนำผู้เรียนไปเรียนรู้และหาประสบการณ์ตรงในปัจจุบันแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญนอกเหนือจากห้องสมุดท้องถิ่นหรือชุมชน ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ แล้ว ยังมีแหล่งข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดคือการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต  ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทั่วโลกแต่ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมีทั้งเชื่อถือได้และข้อมูลที่ต้องนำมาตรวจสอบความถูกต้อง  ดังนั้นครูผู้สอนจึงต้องเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำกับผู้เรียน และแนะนำเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือได้ให้กับนักเรียน

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้

           การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ต้องยึดหลักการสำคัญคือ การประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และเพื่อการประเมินเพื่อตัดสินระดับผลการเรียนที่เกิดขึ้นจริงของผู้เรียน  การพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ประสบผลสำเร็จนั้น ผู้สอนจำเป็นต้องพัฒนาและวัดประเมินผลผู้เรียนตามตัวชี้วัดเพื่อให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ สะท้อนสมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ซึ่งเป็นเป้าหมายของหลักสูตร และเป็นเป้าหมายหลักของการวัดประเมินผลการเรียนรู้ทุกระดับชั้นเรียน  จึงต้องดำเนินการวัดและประเมินผลทั้งก่อนพัฒนา  ระหว่างการพัฒนา  และภายหลังการพัฒนา  เพื่อความมั่นใจในระดับคุณภาพที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนแต่ละคน  หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงได้กำหนดเกณฑ์แกนกลางเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำของการจบหลักสูตร

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ดำเนินการ ดังนี้

          1) การประเมินผลก่อนเรียน

           การประเมินผลก่อนเรียนเป็นการประเมินความพร้อม ความรู้พื้นฐาน และความรอบรู้ของนักเรียน  เพื่อตรวจสอบพื้นฐานความรู้  ทักษะ  และความพร้อมด้านต่างๆ ของผู้เรียน  เพื่อนำผลการประเมินมาปรับปรุง ซ่อมเสริม เตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนทุกคน  ผู้สอนจะได้พิจารณาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับพื้นฐานของผู้เรียนตามแนวทางที่หลักสูตรกำหนด  โดยไม่นำผลการประเมินก่อนเรียนไปใช้พิจารณาตัดสินผลการเรียน

           2) การประเมินผลระหว่างเรียน

           การประเมินผลระหว่างเรียนเป็นการประเมินเพื่อมุ่งตรวจสอบพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนในการบรรลุถึงตัวชี้วัดตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้สอนวางแผนไว้   เพื่อนำข้อมูลจากการประเมินไปพัฒนาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของผู้เรียน  หรือส่งเสริมให้ผู้เรียนปฏิบัติกระบวนการเรียนรู้ จนเต็มศักยภาพ   นอกจากนี้ยังนำมาใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้ของผู้สอน   การประเมินผลระหว่างเรียนจึงต้องกระทำอย่างรอบคอบ รัดกุม ตามแนวปฏิบัติต่อไปนี้

                (1)  กำหนดหน่วยการเรียนรู้ในรายวิชาที่จะสอน นำแต่ละหน่วยมาจัดทำแผนการเรียนรู้ โดยกำหนดตัวชี้วัดและแนวทางการประเมินผลให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดนั้นๆ พร้อมทั้งระบุภาระงานที่จะมอบหมายให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติให้บรรลุตามตัวชี้วัดอย่างมีประสิทธิภาพ

                (2)  เลือกวิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับภาระงาน หรือกิจกรรมที่กำหนดให้ผู้เรียนปฏิบัติ ควรเป็นวิธีการประเมินที่สะท้อนให้เห็นระดับความรู้ ความสามารถ ทักษะ ตลอดจนคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนที่เป็นผลจากการจัดการเรียนรู้ของผู้สอนอย่างแท้จริง

           3) การประเมินผลหลังเรียน

           การประเมินผลหลังเรียนเป็นการประเมินเพื่อสรุปผลการเรียน มุ่งตรวจสอบความสำเร็จของผู้เรียน เมื่อจบการเรียนรู้ในแต่ละหน่วยการเรียน หรือเมื่อสิ้นสุดการเรียนรายวิชาปลายปี ปลายภาค การประเมินหลังการเรียนจะประเมินผู้เรียนในเรื่องที่ได้เรียนจบแล้ว เพื่อตรวจสอบผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตามตัวชี้วัดของผู้เรียน และนำผลการประเมินไปเปรียบเทียบกับผลการประเมินก่อนเรียน ช่วยให้ผู้สอนสามารถประเมินศักยภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนได้อย่างมั่นใจ และยังสะท้อนประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้ของผู้สอนได้อย่างชัดเจน

           ข้อมูลจากผลการประเมินหลังเรียน ผู้สอนควรนำไปศึกษาวิเคราะห์เพื่อใช้ในการปรับปรุง แก้ไข ซ่อมเสริมผู้เรียนให้บรรลุตัวชี้วัดชั้นปีตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือใช้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการเรียนของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังใช้ประกอบการปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ การสร้างนวัตกรรม และการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom Action Research) เพื่อพัฒนาผู้เรียนต่อไป

 

การประเมินผลการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ

         หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งให้ผู้เรียนมีสมรรถนะสำคัญ ได้แก่ ความสามารถ  ในการสื่อสาร ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และความสามารถในการแก้ปัญหา จึงกำหนดให้มีการประเมินผลความสามารถด้านการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนของผู้เรียนทุกคน โดยผู้สอน      ต้องฝึกฝนและมอบหมายให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติควบคู่ไปกับการจัดการเรียนรู้ในแต่ละวิชาทั้ง 8 สาระ และต้องทำการประเมินผลทุกชั้นปีโดยใช้เกณฑ์ตัดสินผลให้ระดับคุณภาพตามภาระงานที่ผู้เรียนปฏิบัติจริง

การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์

           คุณลักษณะอันพึงประสงค์ หมายถึง คุณลักษณะด้านคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม จิตสำนึก สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ตามที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดไว้ 8 ประการ คือ  1. รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์  2. ซื่อสัตย์สุจริต  3. มีวินัย  4. ใฝ่เรียนรู้        5. อยู่อย่างพอเพียง   6. มุ่งมั่นในการทำงาน   7. รักความเป็นไทย       8. มีจิตสาธารณะ

           ผู้สอนสามารถจัดทำเป็นพฤติกรรมบ่งชี้ หรือพฤติกรรมที่ต้องการให้ผู้เรียนแสดงออกแล้วบูรณาการคุณลักษณะเหล่านี้ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของกลุ่มสาระต่างๆ ทั้งกิจกรรมในชั้นและนอกชั้นเรียน และต้องดำเนินการประเมินผลรายภาค รายปี ของแต่ละวิชาเพื่อให้มีการสั่งสมและพัฒนาพฤติกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และนำผลมาประเมิน มาสรุปผลอีกครั้งหนึ่งเมื่อจบปีสุดท้ายของแต่ละระดับการศึกษา เพื่ออนุมัติจบหลักสูตร

การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

           กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  เป็นกิจกรรมที่สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนเข้าร่วมปฏิบัติทุกระดับชั้น  เพื่อพัฒนาความสามารถของตนเอง ตามความถนัด  ความสนใจ ให้เต็มศักยภาพ โดยมุ่งพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม เสริมสร้างผู้เรียนให้มีศีลธรรม จริยธรรม  มีระเบียบวินัย  ปลูกฝังจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม  สามารถบริหารจัดการตนเอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนประกอบด้วย  กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน  (กิจกรรมชุมนุม ชมรม กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์  และรักษาดินแดน)  กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์

           สถานศึกษา และผู้สอนต้องดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอย่างมีเป้าหมายมีรูปแบบและลักษณะที่เหมาะสม สนองตอบความสนใจ ความถนัด และความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน และต้องทำการประเมินผลการปฏิบัติกิจกรรมเหล่านั้นด้วยวิธีการที่หลากหลายตามสภาพจริง       โดยบูรณาการร่วมกับการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระต่างๆ อย่างเหมาะสมและจัดให้มีการประเมินทุกระดับชั้นปี ผู้เรียนต้องผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่สถานศึกษากำหนดจึงจะผ่านเกณฑ์การจบหลักสูตรแต่ละระดับการศึกษา

 

การออกแบบหลักสูตร และการเรียนการสอนอิงมาตรฐานการเรียนรู้

           การออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียนนั้น ผู้สอนต้องศึกษาวัตถุประสงค์ของท้องถิ่นชุมชน วิเคราะห์ความต้องการและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่น สถานศึกษา รวมถึงวิธีการพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานตัวชี้วัดที่กำหนดไว้  ในหลักสูตรแกนกลางฯ ผู้สอนอาจเริ่มต้นจากการวิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่กำหนด หรือโดยการกำหนดหัวข้อที่เป็นประเด็นปัญหาที่น่าสนใจ และมีคุณค่าแก่การเรียนรู้ของผู้เรียน หรือเริ่มจากเนื้อหาในบทเรียนที่มีอยู่เดิม แล้วเชื่อมโยงหัวข้อความรู้จากบทเรียนนั้นๆ ว่าสอดคล้องกับมาตรฐานตัวชี้วัดข้อใดบ้าง

           ปัจจุบันนิยมออกแบบการเรียนการสอนในรูปแบบ Backward Design ซึ่งเป็นการออกแบบหลักสูตรที่มีกระบวนการพัฒนาผู้เรียนไปสู่มาตรฐานตัวชี้วัดค่อนข้างชัดเจน โดยยึดเอาผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนตามมาตรฐานตัวชี้วัดเป็นตัวตั้ง จึงต้องเริ่มจากการวิเคราะห์มาตรฐานตัวชี้วัด เพื่อกำหนดเป็นเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ก่อน แล้วจึงกำหนดชิ้นงานที่ต้องการให้ผู้เรียนปฏิบัติ พร้อมทั้งกำหนดเกณฑ์ในการประเมินผลงาน แล้วจึงกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกันตามลำดับ การออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design จึงเป็นการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีเป้าหมายชัดเจน และผู้สอนต้องสามารถวางแผนดำเนินการพัฒนาผู้เรียนไปสู่เป้าหมายด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง

            การออกแบบการเรียนรู้เป็นหลักฐานร่องรอยในการประเมินความสามารถของครูผู้สอนว่า ครูได้จัดการเรียนรู้ตรงกับเจตจำนงที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2545) และสอดคล้องกับหลักการของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 หรือไม่  การออกแบบการเรียนรู้ จึงเป็นภาระงานที่ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาระบบการเรียนการสอนโดยเลือกใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ (Learning theory) และทฤษฎี     การสอน (Instructional theory) เป็นแนวทางจัดการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้และความต้องการของผู้เรียน รวมทั้งการพัฒนาสื่อประกอบการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การทดลองใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ และการวัดประเมินผลกิจกรรมการเรียนการสอนที่จัดขึ้นทั้งหมด โดยใช้วิธีการวิจัยเป็นเครื่องมือพัฒนาเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้แบบต่างๆ ให้มีคุณภาพตามเจตจำนงของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 ครูผู้สอนจึงต้องพัฒนาระบบการเรียนการสอนและการออกแบบการจัดการเรียนรู้ตามหลักการสำคัญต่อไปนี้

 

แนวการจัดการเรียนการสอน

           1. ต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตามมาตรา 22

           2. ต้องยึดถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด

           3. ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนแต่ละคนสามารถพัฒนาตนเองตามธรรมชาติ  และเต็มตามศักยภาพ

           4. ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้ บูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงวัยการศึกษา

แนวการจัดกระบวนการเรียนรู้

           1.จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล

           2. ฝึกฝนทักษะการคิด กระบวนการคิด การจัดการเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ ใช้ความรู้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาของตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้

           3. จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เกิดนิสัยรักการอ่าน และการใฝ่รู้ใฝ่เรียนอย่างต่อเนื่อง

           4. จัดการเรียนการสอน โดยผสมผสานสาระการเรียนรู้ด้านต่างๆ ให้สมดุลกัน และมุ่งปลูกฝังคุณธรรม และค่านิยมอันพึงประสงค์ไว้ทุกรายวิชา

           หลังจากที่ครูผู้สอนได้จัดกระบวนการเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้แล้ว  ครูผู้สอนจะต้องมีการบันทึกหลังจากการใช้แผนการจัดการเรียนรู้นั้น  เพื่อมาสรุปผลจากการใช้แผน  โดยการบันทึกผลจากการใช้  ปัญหา  อุปสรรค  แนวทางการแก้ไข  เพื่อประเมินการใช้แผนว่าแผนที่ใช้ประสบผลสำเร็จ  ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์  หรือแผนที่ใช้ยังมีปัญหาอุปสรรคที่ควรปรับปรุงแก้ไข  จะได้หาแนวทางการปรับปรุงและนำไปสู่การวิจัยในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนต่อไป

 

สรุป

           หลักสูตรมีกรอบและทิศทางที่ชัดเจน มีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้โดยให้ผู้สอนได้ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียนได้โดยตรง ผู้สอนต้องศึกษาวัตถุประสงค์ วิเคราะห์ความต้องการและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่น สถานศึกษา รวมถึงวิธีการพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญของการจัดทำหลักสูตรอิงมาตรฐาน เพราะหน่วยการเรียนรู้จะแสดงรายละเอียดของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนการใช้สื่อการเรียนรู้ และแหล่งการเรียนรู้ การประเมินผลที่จะนำมาตรฐานตัวชี้วัดไปสู่การปฏิบัติในชั้นเรียนอย่างแท้จริง

 

เอกสารอ้างอิง

 

บุญเลิศ  วิวรรณ์ และ คณะ. (2544). แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนว Blackword Desing.

          ชั้นมัธยมศึกษาปืที่2 ช่วงชั้นที่3. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

วิชัย วงษ์ใหญ่. (2533). การพัฒนาหลักสูตรแบบครบวงจร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์

           มหาวิทยาลัย.

ศึกษาธิการ, กระทรวง. (2551). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.

           กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.