การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ร่วมสมัยชุด “รู้แจ้ง” The Creation of Contemporary Dance “Enlightenment”

บทคัดย่อ

ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยชุดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความหมาย ความสำคัญของอาชีพครูจากอดีตสู่ปัจจุบัน และหาแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยชุด “รู้แจ้ง” โดยมีวิธีการสร้างสรรค์ผลงานตาม 8 องค์ประกอบทางด้านนาฏยศิลป์ ดังนี้ 1.) การออกแบบบทการแสดง 2.) การคัดเลือกนักแสดง 3.) การออกแบบลีลานาฏยศิลป์ 4.) การออกแบบเสียงดนตรีประกอบการแสดง 5.) การออกแบบเครื่องแต่งกาย 6.) การออกแบบสถานที่ 7.) การออกแบบแสง และ 8.) การออกแบบอุปกรณ์การแสดง ผลการศึกษางานครั้งนี้ส่งผลให้สามารถสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยชุด “รู้แจ้ง” ได้สำเร็จ การชมการแสดงก่อให้เกิดความตระหนักต่อการปรับตัวให้ทันเพื่อสอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ในยุคสมัยใหม่ของผู้ประกอบอาชีพครู นักศึกษาครู และนักเรียน ทั้งยังส่งเสริมให้สังคมเล็งเห็นแก่การให้ความสำคัญกับผู้ประกอบอาชีพครู ซึ่งเป็นการส่งเสริมที่สำคัญมากในการพัฒนาระบบการศึกษา และความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติอย่างแท้จริง

คำสำคัญ: นาฏศิลป์ร่วมสมัย, สัญญะวิทยา, ศิลปะเฉพาะที่, รู้แจ้ง

 

Abstract

This contemporary dance aim to Study the theoretical concepts related to meaning the importance of a teacher’s career from past to present, and find a way to create works of contemporary dance “Enlightenment”, with methods for creating works according to the 8 elements of the dramatic arts as follows: 1.) Creation of dance script, 2.) Casting, 3.) Dance style design, 4.) Music sound design, 5.) Costume design, 6.) Venue design, 7.) Lighting design, and 8.) Performance equipment design. The result of this performance has resulted in awareness of adapting to the modern learning style. of professional teachers, education students, and other students. This performance also encourages society to realize the importance of teachers as highly important promotion in the development of the education system and bring real progress to the nation.

Keyword: Contemporary Dance, Semiology, Site-specific Art, Enlightenment

 

1.  บทนำ

            อาชีพครู เป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ เพราะมนุษย์ทุกคนที่มีโอกาสทางการศึกษานั้น ย่อมต้องการเข้ารับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาแบบใดก็ตาม เพื่อพัฒนาตนเองสู่การประกอบสัมมาอาชีพ หายรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวในอนาคต ซึ่งในการศึกษาเรียนรู้นั้น ย่อมต้องมีครูเป็นผู้ให้คำแนะนำ สั่งสอน ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ครูจึงเป็นอาชีพที่สังคมให้ความสนใจสูง และมักถูกเปรียบเปรยไปต่างๆนานา  เช่น เรือจ้าง แม่พิมพ์ พู่กัน ไฟนำทาง ปากกา และยางลบ เป็นต้น คำเปรียบเปรยเหล่านี้ สะท้อนความหมายไปหลายมุมมอง ทั้งแง่บวก และแง่ลบ ซึ่งส่งผลกระทบในมุมมองความคิดของสังคมที่มีต่อผู้เป็นครูเสมอมา

            ประภาศ ปานเจี้ยง อดีตข้าราชการครู ได้เขียนอ้างอิงถึงการใช้คำว่า “ครูคือเรือจ้าง” เป็นคำที่สังคมไทยใช้กันอย่างหนาหู แต่ตนเองรู้สึกไม่เห็นด้วยในการใช้คำนี้มาเปรียบเปรยอาชีพครู หากเพียงแต่คำว่าเรือนั้น สามารถเข้าใจและยอมรับได้ เนื่องด้วยอดีตกาลเมืองไทยเราเคยใช้เรือเป็นพาหนะหลักมาก่อน แต่เมื่อเป็นเรือจ้าง ฟังดูจะเห็นแก่ค่าตอบแทนเป็นสำคัญ (ประภาศ ปานเจี้ยง, 2563)

            ชาติชาย คเชนชล ได้เขียนอ้างอิงถึงครูไว้ว่า ครูเป็นเหมือนปากกาเพราะ เด็กที่เกิดมานั้นเสมือนผ้าขาว หากเราใช้ปากกาขีดเขียนลงไปอย่างไร เด็กก็จะเติบโตมาเป็นเช่นนั้น และในอีกฝั่งหนึ่งคือ ครูเป็นเหมือนยางลบ เพราะเด็กที่เกิดมานั้นเสมือนผ้าดำ เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา ครูจึงต้องเป็นยางลบ ลบความดำ ทำความสะอาดให้เด็กเป็นคนดี (ชาติชาย คเชนชล, 2558)

            อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ได้ให้ความเห็นว่าครูนั้น เป็นบุคคลที่สำคัญยิ่ง เพราะเด็กต้องใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนอยู่กับครูถึง 20 ปี ครูจึงเป็นผู้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและทัศนคติของเด็กมาก (ชาติชาย คเชนชล, 2558)

            จากความเห็นในแง่มุมต่างๆ ที่ผู้สร้างสรรค์ได้อ้างอิงมาเป็นตัวอย่างนี้ ผู้สร้างสรรค์เล็งเห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งของอาชีพครู ผู้สร้างสรรค์เห็นว่าไม่มีคำเปรียบเปรยได้ที่สามารถมาทดแทนคำว่าครูได้อย่างเต็มความหมาย เนื่องจากสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา วิธีการดูแลสั่งสอนนักเรียนของครูจึงต้องประยุกต์ ปรับปรน และสร้างสรรค์ให้เข้ากับความต้องการเรียนรู้ของเด็กในช่วงเวลานั้นๆ เสมอ ยิ่งในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล มีช่องทางการเรียนรู้มากมายให้กับเด็กๆ ครูจึงต้องพัฒนาตนเองให้ทันยุคทันสมัย เมื่อการอบรมสั่งสอนด้วยวิธีการใช้ไม้เรียวตีเด็กนั้นไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป การพูดจาดูถูกกดขี่มิใช่แนวทางกระตุ้นความคิดของเด็กในปัจจุบัน ครูจึงมิใช่แค่เรือจ้าง ปากกา หรือยางลบอีกต่อไป แต่ต้องเป็นดั่งแสงไฟที่คอยนำทางเด็กๆ เปล่งประกายแสงให้นักเรียนเห็นแบบอย่างที่งดงาม สามารถปลูกฝังให้เด็กรักการเรียนรู้อย่างไม่มีวันจบสิ้น (Lifelong learning) เป็นแสงที่จุดประกายความคิดของเด็กๆ จนเกิดเป็นความรู้แจ้งในที่สุด (Enlightenment) แม้ว่าสังคมจะจับตามองและให้ความสนใจกับอาชีพครูเป็นอย่างมาก แต่กลับให้ความสำคัญน้อย ผู้สร้างสรรค์จึงต้องการถ่ายทอดประเด็นความสำคัญของอาชีพครูในอดีตถึงปัจจุบัน ผ่านรูปแบบการแสดงนาฏยศิลป์ร่วมสมัย

 

2.  วัตถุประสงค์ของการวิจัย

2.1 เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความหมายและความสำคัญของอาชีพครู

2.2 เพื่อหาแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยชุด “รู้แจ้ง”

 

3.  แนวคิด ทฤษฎี กรอบแนวคิด

ผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้ ผู้สร้างสรรค์ได้ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีที่มีความสอดคล้องกับหัวข้อผลงาน โดยแบ่งออกเป็น 2 แนวคิด ดังนี้

3.1   ทฤษฎีสัญญะวิทยา

จากคำกล่าวเปรียบเปรยที่ว่า “ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก” เป็นหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ให้แนวคิดการดำเนินชีวิตว่า หากเราจะปฏิบัติการใด ที่ประกอบไปด้วยปัญญา ก็จะสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี ทั้งนี้มิใช่เพียงปัญญาทางโลก (ความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ) แต่รวมเข้าด้วยปัญญาทางธรรม (ความเข้าใจชีวิตและทำให้เกิดการดับทุกข์) (ลม เปลี่ยนทิศ, 2560) แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับทฤษฎีสัญญะวิทยาและการสร้างความหมาย ซึ่งอยู่ในขั้นของความหมายโดยนัย (Connotative Meaning) คือ การสื่อโดยอ้อมหรือต้องการตีความหมายอีกชั้นหนึ่ง นั่นหมายถึง เปรียบแสงสว่างเป็นดั่งปัญญา ผู้ใดมีปัญญา ก็เหมือนมีแสงสว่างนำทางอยู่เสมอ (กาญจนา แก้วเทพ, 2542)

3.2   ความเป็นครูตามแนวพุทธ

ในยุคสังคมดิจิตอล ความเจริญทางเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากในการเรียนการสอน มีคุณประโยชน์ต่อผู้เรียนหลายประการ แต่ก็มีโทษที่ตามมาด้วยเช่นกัน เช่น การใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมในอินเทอร์เน็ต การให้ข้อมูลเท็จ การบิดเบือนข้อมูล หรือการคัดลอกผลงาน เป็นต้น ครูจึงต้องเป็นครูที่มีปัญญาตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนา การเรียนรู้ในพุทธศาสนา เป็นการเรียนรู้ได้จากการมองทุกสิ่งทุกอย่างตามสภาวะที่เป็นจริง เป็นการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดปัญญา หรือการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริง และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีเหตุผล (จักรแก้ว นามเมือง, 2011) ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของครูในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสว่าครูเป็น “กัลยาณมิตร” ของศิษย์ ซึ่งมีคุณสมบัติ 7 ประการคือ (ประภาศ ปานเจี้ยง, 2563)

1. เป็นที่รักของศิษย์ ทำตนให้ศิษย์รัก อยากเข้าใกล้ เข้าไปปรึกษาไต่ถาม
2. เป็นที่เคารพ มีความประพฤติดี เป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย

3. เป็นที่น่าเจริญใจ คือเป็นที่ภาคภูมิใจของศิษย์ว่าตนเป็นศิษย์มีครู และมีครูดี

4. รู้จักพูดให้ได้ผล สอนวิชาการแจ่มแจ้ง และพร่ำสอนให้ศิษย์เป็นคนดี
5. ทนต่อถ้อยคำ คืออดทนในการพร่ำสอนศิษย์ อดทนที่จะคอยรับฟังปัญหาของศิษย์

6. ทำเรื่องยากให้ง่าย วิชาการยากๆ มีวิธีสอนให้เข้าใจง่าย รวมถึงเรื่องง่ายๆ ที่คนมองข้ามก็ชี้ให้เห็นความสำคัญและคุณค่าได้

7. ไม่ชักจูงศิษย์ไปในทางต่ำ คือไม่ชักนำศิษย์ทำในสิ่งที่ไม่ดี หรือเรื่องเหลวไหล

จากแนวคิดข้างต้น ผู้สร้างสรรค์เห็นว่าครูในปัจจุบัน จึงยังคงต้องรับบทบาทที่มากกว่าหน้าที่การสอน ประยุกต์ประสบการณ์ของตนเองรวมเข้ากับปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ดูแลเด็กนักเรียน ทั้งยังต้องมีอีก 2 สิ่งสำคัญ ได้แก่

1.      ความเป็นโค้ช (Coach) คือเครื่องมือสำคัญของผู้นำ ที่จะช่วยดึงศักยภาพและประสิทธิภาพของนักเรียนออกมา ให้นักเรียนได้เห็นความสามารถที่มีอยู่ในตนเองและพัฒนาได้

2.      นักกระบวนกร (Facilitator) คือผู้ที่สามารถอยู่เคียงข้างนักเรียนเพื่อจัดสรรวิธีการและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการ หรือการเรียนรู้ของนักเรียน

 

4. วิธีดำเนินการวิจัย

ผู้สร้างสรรค์ใช้วิธีการดำเนินการวิจัยตามแนวคิดองค์ประกอบทางนาฏศิลป์ 8 องค์ประกอบ ดังนี้

4.1 การออกแบบบทการแสดง

ผลงานสร้างสรรค์ชุดนี้ ใช้จัดแสดงในพิธีเปิดโครงการ ปัจฉิมนิเทศนักศึกษา วันอำลาลูกเสมาสุริยะ ประจำปีการศึกษา 2564 ณ ห้องประชุมพระอาทิตย์ชิงดวง คณะครุศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อสะท้อนให้เห็นบทบาทหน้าที่ความเป็นครู ที่ต้องปรับประยุกต์ให้เข้ากับสังคมอย่างร่วมสมัย ผู้สร้างสรรค์จึงแบ่งช่วงบทการแสดงออกเป็น 3 องก์ ดังต่อไปนี้

องก์ที่ 1 สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นครูในอดีต ซึ่งอาจมีความเหลื่อมล้ำ การกดขี่ การอบรมนักเรียน รวมไปถึงสังคมเพื่อนนักเรียนในอดีตที่ยังคงมีช่องว่างในความเท่าเทียมกันของบุคคลมาก รวมไปถึงการที่สังคมยังเห็นคุณค่าของการศึกษาน้อยกว่าในปัจจุบัน

องก์ที่ 2 เมื่อสังคมมีความเจริญทางเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น การค้นคว้าหาความรู้สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ความเจริญทางการศึกษาก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตามมา จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นยุคเทคโนโลยีดิจิตอล ทั้งครู นักเรียน และนักวิชาการ ทุกคนต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี ปรับทัศนคติความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา การดำเนินชีวิต ช่องว่างของความเลื่อมล้ำถูกลดน้อยลง ทุกคนมีความเชื่อมั่นใสนตนเอง และความเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้น ครูจึงต้องเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก

องก์ที่ 3 ทุกคนพยายามปรับตัวให้เข้ากับสังคม และร่วมกันพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ เอาเปรียบ ปรับเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ครูสมัยใหม่ปรับวิธีการสอน ลดความกดดันนักเรียนด้วยวิธีแบบในอดีต เปลี่ยนเป็นผู้อำนวยความสะดวกนักเรียนและเป็นแสงนำทางที่ส่องสว่างแก่นักเรียน

4.2 การคัดเลือกนักแสดง

ผู้สร้างสรรค์คัดเลือกนักแสดงจากสาขานาฏยศิลป์ศึกษา ผู้ที่ศึกษาในหลักสูตรครูนาฏศิลป์ เพื่อให้นักแสดงก็สามารถได้เรียนรู้บทบาทความเป็นครูที่ทันสมัย ในการคัดเลือกนี้ เป็นการคัดเลือกนักแสดงที่เคยมีประสบการณ์ทางนาฏศิลป์อื่นๆที่นอกเหนือจากนาฏศิลป์ไทยมาบ้าง เนื่องจากต้องการผู้ที่มีความเคลื่อนไหวรวดเร็ว คล่องตัว สามารถฝึกฝนนาฏศิลป์ร่วมสมัยได้

โดยมีการแบ่งการฝึกซ้อมออกเป็น 2 ช่วง คือ

ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียมร่างกายและเรียนรู้บทการแสดงที่ผู้สร้างสรรค์ออกแบบไว้ ผ่านการเคลื่อนไหวในศาสตร์นาฏยศิลป์ตะวันตก

ขั้นที่ 2 ฝึกซ้อมการแสดงตามแบบแผนที่วางไว้ และปรับปรุงผลงาน

 

4.3 การออกแบบพื้นที่การแสดง

เนื่องจากเป็นการแสดงในพิธีเปิดโครงการ ปัจฉิมนิเทศนักศึกษา วันอำลาลูกเสมาสุริยะ ประจำปีการศึกษา 2564 ณ ห้องประชุมพระอาทิตย์ชิงดวง คณะครุศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ผู้สร้างสรรค์จึงออกแบบพื้นที่การแสดงก่อนการออกแบบลีลา ให้เป็นการใช้พื้นที่ที่ต่างไปจากเดิมที่แสดงเฉพาะบนเวทีของหอประชุม แต่ปรับมาเริ่มการแสดงตั้งแต่ด้านหลังหอประชุม ผ่านช่องทางส่วนกลางไปจนถึงด้านหน้า และจบการแสดงช่วยท้ายบนเวทีในลักษะรูปแบบอักษรตัวที ในภาษาอังกฤษ (T) หรือสามารถเรียกการออกแบบพื้นที่การแสดงแบบนี้ว่า ศิลปะเฉพาะที่ (Site-specific Art) คือเป็นการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานขึ้นเพื่อทำงานกับพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะ ทั้งนี้เพื่อสะท้อนให้สอดคล้องกับบทการแสดงที่ต้องการสื่อสารว่าครูในปัจจุบันต้องปรับตัว ปรับวิธีการสอน การดูแลนักเรียนที่ต่างไปจากอดีต

 

4.4 การออกแบบลีลานาฏยศิลป์

เมื่อผู้สร้างสรรค์ได้ออกแบบพื้นที่การแสดงและประสานงานกับคณะจัดงานแล้ว จึงดำเนินการออกแบบลีลาให้สอดคล้องกับการใช้พื้นที่ และบทการแสดง โดยใช้เทคนิคการเคลื่อนไหวของนาฏศิลป์ตะวันตกมาออกแบบการแสดง เพื่อให้นักแสดงสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว แข็งแรง โดยมีรายละเอียดแบ่งตามองก์การแสดงดังนี้

องก์ที่ 1 ใช้พื้นที่จากด้านหลังหอประชุม เดินทางผ่านส่วนกลางของหอประชุม ผ่านที่นั่งของกลุ่มผู้ชม ซึ่งนั่งอยู่ 2 ฝั่งด้านข้าง การออกแบบลีลาจึงต้องเป็นท่าทางที่สามารถเคลื่อนไหวไปสู่ด้านหน้าหอประชุมตลอด และคำนึงถึงพื้นที่ในทางแคบ และยาว การออกแบบลีลาสะท้อนถึงการกดขี่กันและกัน การเพิกเฉยต่อความเดือนร้อนของผู้อื่น และสภาวะความเหลื่อมล้ำสูงในอดีต มีการใช้ลีลาการกดศีรษะของผู้อื่น การมองไม่เห็นความเดือดร้อนของผู้อื่นผ่านลีลาการเดินตามนักแสดงผู้ที่กลิ้งอยู่บนพื้น และความแล้งน้ำใจ ปล่อยให้ผู้ที่มาขอความช่วยเหลือ ผ่านนักแสดงที่วิ่งมากระโดดกอด ล้มลงสู่พื้น

องก์ที่ 2 ออกแบบลีลาการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับบทการแสดง จากพื้นที่แคบส่วนกลาง เปลี่ยนผ่านไปสู่ด้านหน้าหอประชุมที่กว้างมากขึ้น นักแสดงสามารถแปรรูปแบบแถวได้อย่างหลากหลายมากขึ้น มีการใช้การออกแบบลีลาที่นักแสดงประกอบกันเป็นช่องแคบเพื่อให้ นักแสดงคนอื่นๆ สามารถลอดทะลุไปได้ เป็นสัญญะที่สื่อถึงการข้ามผ่านอุปสรรคที่เข้ามาในการดำเนินชีวิต การประคองชายผ้าซี่งกันและกัน เพื่อแสดงถึงน้ำใจแห่งการช่วยเหลือกันอย่างทั่วถึง มีช่วงเวลาที่นักแสดงก้มอยู่ใต้ชายผ้าของนักแสดงอีกคน ผู้วิจัยต้องการสะท้อนถึงการให้ความช่วยเหลือ เป็นที่พักใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นคุณสมบัติที่ครูพึงมีต่อทุกคนในสังคม โดยเฉพาะผู้เป็นศิษย์

องก์ที่ 3 เมื่อความเจริญทางการศึกษามีมากขึ้น ผู้คนเข้าใจวิธีการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และปรับตัวร่วมกันพัฒนาสังคม ลดการกดขี่ข่มเหงกัน เพิ่มลีลาของการช่วยเหลือกัน ช่วยดึงผู้ที่ล้มลงสู่พื้นขึ้นกลับมายืนได้ และช่วยกันผลักดันให้สูงขึ้นไปในอากาศ สะท้อนถึงการช่วยเหลือของครูอย่างไม่สิ้นสุด การแปรแถวการแสดงเปลี่ยนผ่านไปสิ้นสุดบนเวที ทุกคนช่วยเหลือกันและกันเพื่อให้ถึงฝั่ง ตอนสุดท้ายนักแสดงทุกคนจบการแสดงบนเวทีได้ทันเพลงจบ และจบด้วยท่าถือหนังสือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสัญญะแห่งการเรียนรู้ในโลกดิจิตอล สะท้อนให้เห็นว่าความรู้คือสิ่งที่มีค่า เป็นแสง เป็นปัญญาที่ทุกคนพึงมี

 

รูปที่ 1 การออกแบบลีลานาฏยศิลป์องค์ที่ 3 นักแสดงช่วยเหลือกันขึ้นสู่บนเวที

ที่มา : ผู้วิจัย

 

รูปที่ 2 การออกแบบลีลานาฏยศิลป์ช่วงสุดท้าย ท่าถือหนังสือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : ผู้วิจัย

4.5 การออกแบบเสียง

ผู้สร้างสรรค์ออกแบบเสียงดนตรีประกอบการแสดงที่สะท้อนถึงความแปลกใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับบทของการแสดง จึงเลือกใช้ดนตรีแบบ อิเล็กโทรอะคูสติก (Electroacoustic) ซึ่งเป็นดนตรีจากแนวคิดสมัยใหม่ที่เกิดจากการทดลองค้นหาสุนทรียศาสตร์ทางดนตรีที่แตกต่างไปจากกฎเกณฑ์ในอดีต อิเล็กโทรอะคูสติก เป็นคำที่ใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงสัญญาณจากเสียงไปเป็นไฟฟ้า วิธีการเปลี่ยนเสียงทั่วไปเป็นสัญญาณไฟฟ้า โดยการบันทึกเสียงผ่านไมโครโฟนและแปลงสัญญาณจากไฟฟ้าผ่านลำโพงกลับกลายเป็นเสียงอีกครั้ง หรือเรียกอย่างเข้าใจง่ายได้อีกชื่อหนึ่งว่า “ดนตรีที่มีส่วนผสมของไฟฟ้า” (Lab 5 Soundworks, 2015) ประพันธ์ดนตรีโดย ประทีป เจตนากูล

 

4.6 การออกแบบแสง

ผู้สร้างสรรค์ออกแบบแสดงตามบทการแสดงเป็นหลัก ในช่วงแรกที่แสดงถึงอดีตกาล จะใช้แสงไฟขาวทั่วไปในหอประชุม เพื่อลดสีสัน สู่ความเรียบง่ายแบบ มินิมอลริซึ่ม (Minimalism) (วิบูลย์ ตระกูลหุ้น, 2549) เมื่อการแสดงเปลี่ยนผ่านสู่องก์ที่ 2 และนักแสดงเคลื่อนไหวสู่หน้าเวที เริ่มใช้ไฟหน้าเวทีและบนเวทีที่เป็นสีม่วง สะท้อนถึงบรรยากาศความสับสน ในช่วงเวลาที่ทุกคนกังวล กลัวความเปลี่ยนแปลง และเพิ่มความสว่างขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนช่วงสุดท้ายจะสว่างที่สุดเมื่อนักแสดงจบการแสดงบนพื้นที่เวที

 

รูปที่ 3 การออกแบบแสง

ที่มา : ผู้วิจัย

4.7 การออกแบบเครื่องแต่งกาย

ผู้สร้างสรรค์เลือกใช้สีชุดการแสดงเป็นสีขาวล้วน ลดทอนรายละเอียดและสีในแบบของมินิมอลริซึ่ม (Minimalism) (วิบูลย์ ตระกูลหุ้น, 2549) แต่ยังคงไว้ซึ่งรายละเอียดที่ผสมผสานความเป็นไทยร่วมสมัยอยู่ 2 ส่วนดังนี้

ส่วนที่ 1 ใช้แรงบันดาลใจจากผ้าสไบของเครื่องแต่งกายไทย มาประยุกต์เป็นชายผ้า 4 แฉก รัดเอวและเก็บชายผ้าด้านซ้ายหน้ากับขวาหลังไว้ในผ้ารัดเอว อีก 2 ส่วนปล่อยอิสระ

ส่วนที่ 2 มีแรงบันดาลมาจากอินธนูชุดข้าราชการที่ใช้ติดบนไหล่ แต่ลดทอนให้เหลือเพียงด้านไหล่ซ้ายด้านเดียว เพื่อยังคงสื่อสารถึงความเป็นข้าราชการครูผ่านนักแสดง

 

รูปที่ 4 การออกแบบเครื่องแต่งกาย

ที่มา : ผู้วิจัย

 

4.8 การออกแบบอุปกรณ์การแสดง

ผู้สร้างสรรค์ใช้วิธีการออกแบบอุปกรณ์การแสดงผ่านฉากการแสดงแบบจอแสดงภาพ ซึ่งเปลี่ยนไปตามบทการแสดงทั้ง 3 องก์ ดังนี้

องก์ที่ 1 ใช้ภาพควัน ที่แสดงถึงอดีต ช่วงที่การศึกษายังพัฒนาล่าช้า สังคมขุ่นมัวไปด้วยความเหลื่อมล้ำ การกดขี่กัน

 

รูปที่ 5 การออกแบบพื้นที่การแสดง

ที่มา : ผู้วิจัย

องก์ที่ 2 การเดินทางสู่ยุคดิจิตอล การปรับตัวสู่โลกใหม่ เป็นภาพช่องทางที่เดินทางเคลื่อนไหวไปด้านหน้าอย่างต่อเนื่อง

 

รูปที่ 6 การออกแบบพื้นที่การแสดง

ที่มา : ผู้วิจัย

องก์ที่ 3 เมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีเข้ามาให้เกิดความเจริญทางการศึกษา ทุกคนเกิดปัญญา จึงใช้ภาพแสง เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความรู้แจ้ง

 

รูปที่ 7 ภาพจอประกอบการแสดงที่ 3

ที่มา : ผู้วิจัย

 

5. สรุปผลการวิจัย

ผลงานสร้างสรรค์ชุดนี้ ผู้สร้างสรรค์เน้นการสะท้อนผลงานให้สอดคล้องกันกับบทการแสดง มีแนวความคิดหลักเพื่อสะท้อนให้ผู้ชมตระหนักถึงการปรับตัวจากครูในอดีตสู่ครูในปัจจุบัน ความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงซึ่งหลายคนต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจเป็นอย่างมาก ครูที่มีวัยวุฒิสูง ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนและการดูแลนักเรียนให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ จนบางครั้งทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน มีอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต ผู้สร้างสรรค์จึงเลือกใช้การออกแบบตามองค์ประกอบนาฏศิลป์ทั้ง 8 ที่เป็นการออกแบบที่สร้างความแปลกตาแก่ผู้ชม การใช้พื้นที่ที่ผิดคาดจากเดิมที่แสดงแต่เพียงบนเวที การใช้ดนตรีที่แปลกใหม่ รวมไปถึงชุดและลีลาการแสดงที่แตกต่างออกไป ซึ่งเป็นการทดลองและหาแนวทางการสร้างสรรค์งานนาฏศิลป์ร่วมสมัยชุด “รู้แจ้ง”

เมื่อผู้ชมการแสดงเกิดความประหลาดใจและต้องปรับตัวแม้กระทั่งเพียงการนั่งชมการแสดง ก็ทำให้ต้องกลับหลังหันไปชมการแสดงที่เริ่มต้นจากด้านหลัง และใช้พื้นที่บนเวทีเพียงช่วงสุดท้ายของการแสดง ซึ่งผู้วิจัยต้องการสร้างสรรค์ผลงานให้สอดคล้องกับ “การรู้แจ้ง” เมื่อผู้ชมเกิดความสงสัย ก็จะใช้สมาธิและการสังเกตมากขึ้น ปรับตัวจากการนั่งเฉยเพื่อดูการแสดงเฉพาะบนเวที ให้สังเกตบริเวณโดยรอบเพื่อติดตามการแสดง นี่คือที่มาของปัญญาและการฝึกฝนให้เกิดการตื่นรู้ เพื่อพัฒนาตนสู่การเป็นครู จากการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ ผู้สร้างสรรค์เห็นว่า สามารถสะท้อนให้ผู้ชมการแสดงเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงและตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในสังคม ซึ่งมีประโยชน์แก่ผู้ร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ร่วมงานนี้ประกอบไปด้วย คณาจารย์ และนักศึกษาที่จบการศึกษาในปีการศึกษา 2564 ที่กำลังออกไปประกอบอาชีพหรือสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู

6. อภิปรายผลการวิจัย

ผลงานสร้างสรรค์ชุด “รู้แจ้ง” ผู้วิจัยสามารถดำเนินการสร้างสรรค์ผลงาน โดยนำแนวคิดและทฤษฎีที่ได้ศึกษาค้นคว้ามาสร้างสรรค์ผลงานดังต่อไปนี้

ความเป็นครูตามแนวพุทธ อันมีความหมายถึง คุณสมบัติ 7 ประการ ที่ผู้ประกอบอาชีพครูพึงมีไว้ เพื่อปฏิบัติตนเป็นกัลายณมิตรที่ดีของศิษย์ สิ่งเป็นหลักคำสอนที่ร่วมสมัย ยังสามารถใช้ได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งในปัจจุบันโลกมีความเจริญทางเทคโนโลยีสูง นักเรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้ ตำรา ได้ง่าย และตลอดเวลาที่ต้องการ ครูจึงต้องพัฒนาตนเองสู้ความเป็นโค้ช (Coach) และนักกระบวนกร (Facilitator) คือผู้ที่นอกจากจะมีความรู้ดีแล้วยังมีประสบการณ์และไหวพริบในการนำทางศิษย์ ช่วยวางแผนการเรียนรู้สู่การเป็นบัณฑิต โดยใช้การตีความผ่านสัญญะลีลานาฏศิลป์ การเปลี่ยนแปลงจากการใช้ลีลา กดขี่ เพิกเฉย หรือเป็นเพียงการสั่งสอนอบรมในอดีต ปรับเปลี่ยนเป็นการอุ้ม กอด ดึงกันและกันจากพื้นสู่จุดสูงสุดโดยการช่วยเหลือกันของนักแสดง เพื่อดันนักแสดงผู้ที่เป็นสัญลักษณ์แทนลูกศิษย์ขึ้นสุดมือในอากาศ รวมไปถึงสัญญะลีลาการอ่านหนังสือ หรือการศึกษาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในท่าทางการถือที่คล้ายหนังสือ เช่น โทรศัพท์ แท็บเล็ต เป็นต้น ซึ่งผู้วิจัยใช้การตีความสัญญะเหล่านี้ในขั้นของความหมายโดยนัย (Connotative Meaning) คือการสื่อที่ต้องตีความเพื่อเข้าใจความหมาย ท่าทางการอ่านหนังสือ หรือ การศึกษาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นี้ ผู้วิจัยออกแบบเพื่อสื่อสารให้ผู้ชมเห็นว่า แสงที่สว่างที่สุดนั้นคือ ปัญญา

 

7. ข้อเสนอแนะ

ผลงานสร้างสรรค์ชุดนี้นอกจากจะสร้างความตระหนักให้เกิดการปรับตัวแก่ผู้ประกอบอาชีพครู นักเรียนที่กำลังศึกษาทั้งในสายครู และสายอื่นๆ แล้ว ผู้สร้างสรรค์เห็นว่า ผลงานชิ้นนี้ยังสามารถสร้างความตระหนักแก่สังคมให้เห็นความสำคัญของผู้เป็นครูได้มากกว่าในอดีตและปัจจุบัน เนื่องจากครูเป็นผู้ที่ดูแลนักเรียนตลอดระยะเวลา 20 ปี จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อไปประกอบอาชีพ ครูจึงมีบทบาทสำคัญต่อทัศนคติของนักเรียนนักศึกษามาก แม้ว่าสังคมจะให้ความสนใจแก่ผู้ประกอบอาชีพครูเป็นอย่างมาก แต่ผู้สร้างสรรค์เห็นว่าสังคมยังไม่ได้ให้ความสำคัญพอ ผลงานชิ้นอาจสามารถสร้างความตระหนักต่อการให้ความสำคัญของสังคมหรือรัฐบาล ได้ช่วยสนับสนุนระบบการศึกษาให้พัฒนาได้ดียิ่งขึ้นไปผ่านผู้ดูแลระบบอย่างครู และหากผู้สนใจสร้างสรรค์ผลงานเพื่อผลักดันการสร้างความตระหนักเดียวกันนี้สามารถนำแนวความคิดไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานในสาขาอื่นๆ ได้

 

8. เอกสารอ้างอิง

กาญจนา แก้วเทพ.  (2542).  การวิเคราะห์สื่อแก่นความคิดและเทคนิค. พิมพ์ครั้ง 2. กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรส โพรดักส์.

จักรแก้ว นามเมือง.  (2011).  ความเป็นครูตามแนวพุทธ. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565, จาก https://www.gotoknow.org/posts/436750

ชาติชาย คเชนชล.  (2558).  ครูเปรียบเสมือนปากกาและยางลบ. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565, จาก http://chantrawong.blogspot.com/2015/01/blog-post.html

ประภาศ ปานเจี้ยง.  (2563).  เลิกเปรียบครูว่าเรือจ้างเสียทีเถอะ. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565, จาก https://www.matichon.co.th/article/news_2335241

ลม เปลี่ยนทิศ.  (2560).  ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565, จาก https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/935777

วิบูลย์ ตระกูลฮุน.  (2549). “มินิมอลริซึ่ม (Minimailism)”, วารสารดนตรีรังสิต. ปีที่ 1 (ฉบับที่ 1). หน้า 47-55.

Lab 5 Soundworks.  (2015).  ดนตรีอิเล็กโทรอะคูสติก มิติใหม่ของดนตรีในศตวรรษที่ 20. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565, จาก https://link.bsru.ac.th/ef

 

1 อาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏยศิลป์ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

* Corresponding author, E-mail: [email protected]