การอบรมเลี้ยงดูที่สร้างภูมิคุ้มกันเด็กปฐมวัยสู่โลกอนาคต

ช่วงปฐมวัยถือได้ว่าเป็นช่วงวัยทองของชีวิตในการพัฒนาบุคลิกภาพและคุณลักษณะต่างๆ          สร้างอัตลักษณ์แสดงความเป็นตัวตนของแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาเด็กในช่วงอายุ 0-6 ปี เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีผ่านรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยที่เหมาะสม เพราะวิธีการการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันจะส่งผลลัพธ์ที่แตกต่างกับตัวของเด็กปฐมวัยสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในอนาคต

4 รูปแบบวิธีการเลี้ยงดูที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย

          Diana Baumrind (1971) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ในมลรัฐโอไฮโอ  ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพและพฤติกรรมของเด็กปฐมวัย  จากการศึกษาจึงได้แบ่งรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กออกเป็น 4 แบบดังนี้

       1.  การอบรมเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ (Authoritative Parenting Style) คือการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กมีพัฒนาการตามวุฒิภาวะของเด็กโดยการให้เด็กได้มีอิสระตามช่วงวัย แต่ในขณะเดียวกันการวางกรอบหรือกฎกติกากว้างๆ ให้เด็กทำตาม ดังนั้นรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูนี้ มักจะมีความคาดหวังในตัวของเด็กๆ สูง แต่จะไม่เคร่งครัดกับเด็กจนมากเกินไป และจะมีการมอบความรัก ความห่วงใย รวมถึงให้การดูแลเอาใจใส่ต่อเด็กๆ ได้อย่างเหมาะสม ให้อิสระทางความคิด การแสดงความคิดเห็น เปิดโอกาสให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง รับฟังเหตุผลจากเด็ก และสนับสนุนให้เด็กมีส่วนร่วมในการคิดตัดสินใจ เรื่องต่างๆ ของครอบครัว จนนำไปสู่การเป็นที่ยอมรับของสังคม 

            หากเด็กเติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้ จะส่งผลให้พวกเขากลายเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง มองโลกในแง่ดี  มีความสุข และสามารถควบคุมจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ เมื่อเจอปัญหา และอุปสรรคพวกเขาจะสามารถก้าวข้ามผ่านสิ่งเหล่านั้นได้ในท้ายที่สุด

       2.   การอบรมเลี้ยงดูแบบควบคุม (Authoritarian Parenting Style) คือการอบรมเลี้ยงดูที่มีความเข้มงวดสูง มีการวางกฎเกณฑ์ให้เด็กปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด เด็กต้องยอมรับในคำพูดเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมเสมอ โดยแทบจะไม่มีการอธิบายถึงเหตุผลให้เด็กๆ ฟังเลยว่าเพราะอะไรพวกเขาถึงต้องทำตามกฎเกณฑ์เหล่านี้  ทำไปแล้วจะเกิดผลดีอะไรกับพวกเขาบ้าง หรือหากไม่ทำตามจะส่งผลเสียอะไรต่อตัวเด็ก แต่จะเลือกใช้วิธีดุ และว่ากล่าวเด็กๆ แทน หากเด็กไม่ยอมทำตามสิ่งที่ตัวเองวางกฏ กติกาเอาไว้ การเลี้ยงดูแบบนี้เป็นการเลี้ยงดูที่มีข้อเรียกร้องต่อตัวเด็กๆ มากมาย โดยไม่ได้มีการถามไถ่ หรือให้ความสนใจต่อความรู้สึกนึกคิดของเด็ก ๆ สักเท่าไหร่ แต่เน้นการใช้อำนาจควบคุมโดยวิธีบังคับและลงโทษเมื่อเด็กไม่ทำตาม

           หากเด็กเติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้ จะส่งผลให้พวกเขากลายเป็นคนที่ว่านอนสอนง่าย แต่มีความก้าวร้าวซ้อนลึกอยู่ภายใน เป็นเด็กขี้อาย ขี้กลัว รวมถึงเป็นเด็กที่ปรับตัวได้ยากเมื่อต้องพบเจอสภาพแวดล้อม หรือสภาพสังคมใหม่ ๆ แถมเด็ก ๆ เหล่านี้จะมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ค่อนข้างสูง
       3.  การอบรมเลี้ยงดูแบบตามใจ (Permissive Parenting Style) คือการอบรมเลี้ยงดูที่ปล่อยให้เด็กทำสิ่งต่างๆ ตามการตัดสินใจของเด็กโดยไม่มีการกำหนดขอบเขต ไม่เน้นการลงโทษ ไม่เรียกร้องหรือควบคุมพฤติกรรมเด็ก เด็กสามารถแสดงออกซึ่งความรู้สึกและอารมณ์ ได้อย่างเปิดเผย ผู้ใหญ่อาจให้คำปรึกษาหรือพยายามใช้เหตุผลกับเด็ก แต่ไม่มีอำนาจในการควบคุมพฤติกรรมของเด็ก เน้นการให้ความรัก ความอบอุ่นและตอบสนองความต้องการของเด็กเสมอ

            หากเด็กเติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้ จะส่งผลให้ไม่มีระเบียบวินัยในตัวเอง ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่รู้จักการเสียสละ เพราะเคยเป็นแต่ผู้รับเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถอดทนรอคอยอะไรนานๆ ได้ มีการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ยาก

        4.  รูปแบบการอบรมเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย (Uninvolved Parenting Style) คือการอบรมเลี้ยงดูที่ปล่อยไม่ให้ความสนใจหรือตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก ให้การดูแลเอาใจใส่ต่อเด็กน้อยมาก เพิกเฉยต่อเด็ก ไม่เรียกร้องหรือวางมาตรฐานพฤติกรรมใดๆ ให้เด็กปฏิบัติ อาจเป็นเพราะผู้ใหญ่ปฏิเสธเด็ก    แต่แรก หรือค่อนข้างให้ความสนใจกับเรื่องของตัวเอง หรือให้ความสนใจกับการทำงานเป็นอย่างมาก และมักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังละเลยเด็ก ๆ อยู่จนไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่เด็ก ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้อาจมีพัฒนาการที่ยังไม่เหมาะสมกับช่วงวัย หรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่ควรได้รับการแก้ไข ก็ไม่มีความสนใจที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขพฤติกรรมเหล่านั้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และเสียเวลา

            หากเด็กเติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้จะกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เป็นคนเก็บกด อาจมีปัญหาด้านพัฒนาการ มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่ไว้วางใจผู้อื่น และอาจเสี่ยงมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะในอนาคตได้

การเลี้ยงดูที่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กปฐมวัยสู่โลกอนาคต

         วิธีการเลี้ยงดูที่เหมาะสมกับช่วงวัยและพัฒนาการจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเด็กปฐมวัย ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายและจิตใจของเด็กปฐมวัย ช่วยให้เด็กมีสุขภาพดีและพัฒนาการได้อย่างเต็มตามศักยภาพ สามารถปฏิบัติได้ดังนี้

1.       การเลี้ยงดูที่สร้างภูมิคุ้มกันด้านอาหาร

               การเลี้ยงดูที่สร้างภูมิคุ้มกันเด็กปฐมวัยด้านอาหาร เน้นการให้โภชนาการเพียงพอและสมดุลตามหลักโภชนาการ ได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ โดยให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่มีคุณค่า        ทางโภชนาการสูง เช่น ผัก ผลไม้ และอาหารที่มีไขมันไม่เกิน 30% ของพลังงานทั้งหมด

2.       การเลี้ยงดูที่สร้างภูมิคุ้มกันด้านกิจกรรม
               การเลี้ยงดูที่สร้างภูมิคุ้มกันเด็กปฐมวัยด้านกิจกรรม เน้นการให้เด็กมีกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ  ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสม และปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้เพื่อให้เด็กๆ มีความสุขและมีความสนุกสนานกับการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เช่น  การเล่นและการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างร่างกายและสมองของเด็กให้แข็งแกร่ง และช่วยให้เด็กมีสุขภาพดีและพัฒนาการอย่างเต็มตามศักยภาพ อีกทั้งเด็กๆยังมีโอกาสได้พัฒนาทักษะทางสังคมกับเพื่อนร่วมวัยและต่างวัยอีกด้วย

3.       การเลี้ยงดูที่สร้างภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพจิต
               การเลี้ยงดูที่สร้างภูมิคุ้มกันเด็กปฐมวัยด้านสุขภาพจิต เน้นการให้เด็กมีความมั่นคงและมั่นใจในตนเอง โดยการเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้เหตุผลในการคิดวิเคราะห์ รวมถึงการแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง (Self Esteem) รวมถึงการสร้างความเข้าใจในอารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้เด็กควรได้รับความรัก ความอบอุ่น และการดูแลเอาใจใส่จากบุคคลที่ใกล้ชิดเด็ก

การอ้างอิง

          Baumrind, D. 1971. Current Patterns of Parental Authority. Developmental Psychology Monongraphs. 4: 1-103.

          ___. 1980. New Directions in Socialization Research. American Psychologist. 35: 639-652.