การละเลยคุณธรรมกับการรังแกบนพื้นที่ไซเบอร์ (Moral Disengagement and Cyberbullying)

แนวคิดเกี่ยวกับการละเลยคุณธรรม  (Moral Disengagement)

การการละเลยคุณธรรม เป็นแนวคิดมาจากทฤษฎีการรับรู้ทางสังคมของแบนดูรา (Bandura, 2002) (Robson & Witenberg, 2013) ซึ่งอธิบายถึงการที่บุคคลตัดสินหรือให้เหตุผลในการทำร้ายคนอื่น หรือทำพฤติกรรมที่ก้าวร้าวโดยปราศจากกลไกในการตระหนักรู้ของตนเอง ซึ่งยึดถือปฏิบัติแบบเป็นมาตรฐานของตนเอง (Pornari & Wood, 2010) โดยเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางการรู้คิด (Cognitive restructuring) เป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดที่มีต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีให้อยู่ในมุมมองที่ดีขึ้น ถือเป็นกลไกที่ทำให้ตนเองสามารถทำพฤติกรรมที่ไม่ดีได้โดยไม่รู้สึกผิด และนำมาสู่การทำพฤติกรรมที่ไม่ดีได้อยู่ซ้ำๆ (อภิญญา หิรัญญะเวช, 2561)

 

 

โดยการละเลยคุณธรรม (Moral Disengagement) มีองค์ประกอบทั้งหมด 8 ด้าน (Bandura et al., 1986 ; อภิญญา หิรัญญะเวช, 2561) ได้แก่

 

1) การหาเหตุผลข้ออ้างโดยชอบธรรม ในการทำสิ่งผิดศีลธรรมในใจ (Moral justification) หมายถึง การที่บุคคลให้เหตุผลทางศีลธรรมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นอันตรายให้เป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้จากสังคม โดยอ้างว่านำไปสู่คุณค่าของสังคมหรือเพื่อวัตถุประสงค์ทางศีลธรรมอื่นๆ

2) การใช้ข้อความที่สวยงามซึ่งดูเหมือนมีคุณธรรม (Euphemistic labeling) หมายถึง การใช้ภาษาที่มีความสละสลวย เพื่อปรุงแต่งเพื่อให้พฤติกรรมที่เป็นอันตรายนั้นดูอ่อนโยน ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงคำเพื่อลดความรุนแรงของพฤติกรรมโดยการใช้คำใหม่ให้บรรเทาความรุนแรงของพฤติกรรมนั้น

 

3) การเปรียบเทียบของตนเองที่ได้เปรียบต่อการประพฤติมิชอบอื่นๆ (Advantageous comparison) หมายถึง การที่บุคคลเปรียบเทียบการกระทำที่เป็นอันตรายกับกิพฤติกรรมที่แย่มากกว่า ทำให้บุคคลนั้นมองว่าสิ่งที่เขาทำนั้นแย่หรือมีความเลวร้ายน้อยลง

4) การกำจัดความรับผิดชอบ (Displacement of responsibility) หมายถึง การที่บุคคลอ้างว่ากระทำพฤติกรรมที่ไม่ดีเพราะผลที่มาจากแรงกดดันทางสังคมหรืออำนาจ ซึ่งเป็นการปัดความรับผิดชอบของตนว่ามาจากคำสั่งของผู้อื่น

 

5) การกระจายความรับผิดชอบ (Diffusion of responsibility) หมายถึง การปัดความรับผิดชอบ โดยถือเป็นความรับผิดชอบของทั้งกลุ่ม หรือเป็นการกระจายความรับผิดชอบให้กับผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่บทบาทของบุคคลที่มองว่าเป็นเรื่องเป็นอันตรายร้ายแรง

 

6) การบิดเบือนผลของการกระทำ (Distorting the consequences) หมายถึง การลดความร้ายแรงของผลที่ตามมาของพฤติกรรมเพื่อลดความรู้สึกผิดที่จะเกิดขึ้น โดยบุคคลจะเพิกเฉยผลจากกระทำนั้น ซึ่งจะถูกบิดเบือนเพื่อบรรเทาความรู้สึกของผู้กระทำผิดของในการลงโทษตัวเอง

 

7) การตำหนิหรือกล่าวโทษ (Attribution of blame) หมายถึง การที่บุคคลตำหนิสถานการณ์ของตนหรือตำหนิผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของเขาที่ทำให้ตนเองเกิดความทุกข์ทรมาน โดยการโทษผู้อื่น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนการรับรู้ใหม่ว่าผลของการกระทำที่ไม่ดีเป็นความรับผิดชอบของเหยื่อที่สมควรได้รับอยู่แล้ว รวมถึงการมองว่าตนเองว่าดี ไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ

 

 

8) การลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ลง (Dehumanization) หมายถึง บุคคลี่กระทำผิดจะลดคุณค่าของผู้ตกเป็นเหยื่อลง เพื่อให้ตนเองรู้สึกผิดต่อการรกระทำนั้นน้อยลง

 

          จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า เมื่อบุคคลมีการกระทำพฤติกรรมที่ไม่ดี มักจะใช้กลไกในการโน้มน้าวตนเองในการละเลยคุณธรรมเพื่อให้ตนเองรู้สึกผิดน้อยลง โดยอาจบิดเบือนข้อเท็จจริงจากสิ่งที่ไม่ดีให้มองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสมควรกระทำ นอกจากนี้ยังมีการปิดบังความรับผิดชอบของตนเอง โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของผู้อื่น เพื่อให้ตนเองสบายใจว่าตนนั้นไม่ได้เป็นผู้ที่ต้องการกระทำในสิ่งที่ไม่ดี รวมทั้งยังการลดความรู้สึกต่อผลที่เกิดขึ้นของพฤติกรรมหลังจากที่บุคคลได้ลงมือทำพฤติกรรมที่ไม่ดีแล้วโดยการเปลี่ยนมุมมองต่อผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อเพื่อเป็นข้องอ้างให้ตนเองรู้สึกสบายใจมากขึ้นอีกด้วย

โดยในสังคมออนไลน์ยุคปัจจุบันนั้น ยิ่งเปิดโอกาสให้บุคคลมีการกระทำผิดกันมากขึ้น เพราะการใช้สื่อออนไลน์นั้น ไม่มีความจำเป็นต้องเห็นหน้าตาหรือปฏิสัมพันธ์กันโดยตรง ยิ่งหากบุคคลมีการละเลยคุณธรรมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดการรังแกบนโลกไซเบอร์มากยิ่งขึ้น ซึ่งการรังแกบนโลกไซเบอร์นั้น ถือเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว (Aggressive behavior) ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ (Holladay, 2011) ซึ่งถือเป็นการก้าวร้าวทางอ้อม (Indirect Aggressive) ซึ่งไม่ได้กระต่อผู้อื่นโดยใช้วาจา หรือทางร่างกายโดยตรง แต่เป็นการกระทำที่ตั้งใจก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่น เช่น การนินทา ข่าวลือ เป็นต้น (Archer & Coyne, 2005)  โดยมักจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงกับเหยื่อ (Olweus, 2013) ซึ่งการรังแกบนโลกไซเบอร์จะเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ที่โดนข่มขู่ คุกคาม หรือทำให้รู้สึกอับอายขายหน้าเกิดขึ้น และยังสามารถแบ่งเป็นการรังแกบนโลกไซเบอร์ทางตรง (Direct Cyberbullying) เช่น การจงใจส่งไฟล์ติดไวรัส หรือส่งรูปภาพ ข้อความ คำหยาบคาย เพื่อข่มขู่เหยื่อโดยตรง ส่วนรังแกบนโลกไซเบอร์ทางอ้อมนั้น (Indirect Cyberbullying) อาจเป็นสิ่งที่อยู่เหนือขอบเขตที่เหยื่อสามารถเข้ารับรู้ได้ เช่น แกล้งทำเป็นคนอื่น กระจายข่าวสาร หรือแชทซุบซิบนินทา โดยที่เหยื่อไม่รู้ตัว (Mason, 2008) อีกด้วย

จากผลการศึกษาหลายงานที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการละเลยคุณธรรม (Moral disengagement) การรังแกบนโลกไซเบอร์ (Cyberbullying) และพฤติกรรมความก้าวร้าว (Agresssive Behavior) แสดงให้เห็นว่า การละเลยคุณธรรมมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องในทางบวกกับการรังแกบนโลกไซเบอร์ (Pornari & Wood (2010) นอกจากนี้ยังพบว่าการละเลยคุณธรรมนั้นมีความเกี่ยวข้องกันกับการอันธพาลแบบดั้งเดิม (Bullying) อีกด้วย โดยเด็กนักเรียนที่มีความก้าวร้าว มักมีแนวโน้มในการการละเลยคุณธรรมมากกว่าเด็กนักเรียนที่ไม่ก้าวร้าว (Gini, 2006) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ Hyde, Shaw & Moilanen (2010) ที่พบว่าการละเลยคุณธรรมนั้นมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการต่อต้านสังคม รวมไปถึงพฤติกรรมอันธพาล (Hymel et al., 2005) ซึ่งการรังแกบนโลกไซเบอร์ และการกลั่นแกล้งแบบดั้งเดิมนั้น มีแนวโน้มทำให้บุคคลมีพฤติกรรมที่ละเลยคุณธรรมมากขึ้นอีกด้วย (Arsenio & Lemerise, 2004 ; Gini, 2006 ; Hymel, et al., 2010 ; Robson & Witenberg, 2013)

นอกจากนี้ยังพบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการละเลยคุณธรรมกับตัวแปรอื่นที่ส่งผลต่อสาเหตุในการเกิดการรังแกบนโลกไซเบอร์ เช่น งานวิจัยของ Gabbiadini et al., (2014) ที่พบความสัมพันธ์ระหว่าง การละเลยคุณธรรม การควบคุมตนเอง และพฤติกรรมความก้าวร้าว โดยทำการทดลองให้เยาวชนมาเล่นเกมที่มีความรุนแรงที่มีรูปแบบที่สะท้อนถึงการละเลยคุณธรรม เช่น การฆ่า การปล้น ขโมย เป็นต้น โดยผลการทดลองพบว่าวีดีโอเกมที่มีความรุนแรงนั้น สามารถเพิ่มพฤติกรรมที่ละเว้นทางศีลธรรมได้ เช่น ขาดการควบคุมตนเอง การโกง และความก้าวร้าว เป็นต้น โดยพบว่าบุคคลมีความก้าวร้าวสูง ก็มีแนวโน้มที่จะมีการละเลยคุณธรรมสูงไปด้วย ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างการละเลยคุณธรรมกับการควบคุมตนเอง ถ้าบุคคลมีการควบคุมตนเองสูง ก็มีแนวโน้มที่จะมีการละเลยคุณธรรมสูงไปด้วย (Denson & DeWall & Finkel, 2012)

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

Archer, J., & Coyne, S. (2005). An Integrated Review of Indirect, Relational, and Social Aggression. Personality and Social Psychology Review, 9(3), 212-242.

Arsenio, W. F., & Lemerise, E. A. (2004). Aggression and Moral Development: Integrating Social Information Processing and Moral Domain Models. Child Development, 75(4), 987–1002.

Bandura, A. (1986). Social foundations of thought and action: A social cognitive theory. Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall.

Bandura, A. (2002). Selective moral disengagement in the exercise of moral agency. Journal of Moral Education, 31,101-119.

Gabbiadini, A., Riva, P., Andrighetto, L., Volpato, C., and Bushman, B. J. (2013). Interactive effect of moral disengagement and violent video games on self-control, cheating, and aggression. Social Psychology and Personality Scence, 4, 451–458.

Gini, G. (2006). Social cognition and moral cognition in bullying: What’s wrong?. Aggressive Behavior, 32(6), 528 – 539.

Holladay, J. (2011). Cyberbullying. Education Digest. the MasterFILE Premier database, 76, 4-9. Retrieved from https://eric.ed.gov/?id=EJ913293.

Hymel, S., Rocke-Henderson, N. & Bonanno, R.  A. (2005). Moral Disengagement: A Framework for Understanding Bullying Among Adolescents. Journal of the Social Sciences, 8(1), 1–11.

Hyde, L. W., Shaw, D. S., & Moilanen, K. L. (2010). Developmental precursors of moral disengagement and the role of moral disengagement in the development of antisocial behavior. Journal of Abnormal Child Psychology, 38(2), 197–209.

Hymel, S., Schonert-Reichl, K., Bonanno, R. A., Vaillancourt, T., & Rocke Henderson, N. (2010). Bullying and Morality: Understanding How Good Kids Can Behave Badly. In Jimerson, S., Swearer, S. & Espelage, D. (Eds). The Handbook of Bullying in Schools: An International Perspective (101-118). NY: Routledge.

Mason, K. L. (2008). Cyberbullying: A Preliminary Assessment for School Personnel. Psychology in the Schools, 45(4), 323-348.

Pornari, C. & Wood, J. L. (2010). Peer and cyber aggression in secondary school students: the role of moral disengagement, hostile attribution bias, and outcome expectancies. Aggressive Behavior, 36 (2), 81-94.

Robson, C. & Witenberg R. T., (2013) The Influence of Moral Disengagement, Morally Based Self-Esteem, Age, and Gender on Traditional Bullying and Cyberbullying. Journal of School Violence, 12(2), 211-231.

อภิญญา หิรัญญะเวช. (2561). อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนาม ต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก” สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2566, จาก  http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63018