การบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีแบบการศึกษานอกระบบ ตามมาตรา 15(2) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542: กรณีศึกษาการบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง The Administration and Management of Non-Formal Education Music Schools According to Section 15(2), National Education Act B.E.2542 (1999): A Case Study of Rayong Music School, Rayong Province.

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง และ 2) ศึกษาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง                 โดยประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง และนักเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 2 คน ครูผู้สอน จำนวน 4 คน เจ้าหน้าที่จำนวน 1 คน ผู้ปกครอง จำนวน 4 คน และนักเรียน จำนวน 4 คน โดยคัดเลือกแต่ละกลุ่มแบบเจาะจงเพื่อทำการสัมภาษณ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์มีโครงสร้าง แนวคำถามสำหรับการสัมภาษณ์มีลักษณะแบบปลายเปิด และมีลักษณะตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย

             ผลการวิจัยพบว่า

             1. การบริหารงานจัดการของโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง เป็นการบริหารในรูปแบบการศึกษาตามอัธยาศัยในลักษณะระบบครอบครัว โดยแบ่งหน้าที่การบริหารจัดการดังนี้ 1) ด้านผู้บริหาร 2) งานด้านวิชาการ 3) งานด้านธุรการ 4) งานด้านการเงิน 5) งานด้านกิจกรรม 6) งานบริการชุมชน 7) อาคารสถานที่ และ 8) วัสดุอุปกรณ์

             2. หลักสูตรการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง มีหลักสูตรที่เปิดสอน 8 หลักสูตร คือ 1) หลักสูตรดนตรีขั้นพื้นฐานสำหรับเด็ก ใช้หลักสูตร Music for Little Mozart หรือที่เรียกว่า “MLM” 2) หลักสูตรเปียโน 3) หลักสูตรอิเลคโทน 4) หลักสูตรกีตาร์ 5) หลักสูตรกีตาร์เบส 6) หลักสูตรกลองชุด 7) หลักสูตรไวโอลีน และ 8) หลักสูตรขับร้อง โดยทุกหลักสูตรที่โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง เปิดสอนจะจัดการเรียนการสอนสัปดาห์ละ 1 วัน วันละ 1 ชั่วโมง

 

คำสำคัญ:   การบริหารจัดการ  โรงเรียนดนตรี  การศึกษานอกระบบ

Abstract

             The purposes of this research were to 1) study the management of Rayong Music School in Rayong province, and 2) study the curriculum for learning and teaching at Rayong Music School in Rayong province. The population of the research was the administrators, instructors, staff, parents and students. The samples of this research were selected with purposive sampling for interviewing consisting of two administrators, four instructors, one staff, four parents, and four students. The research instrument was a structured interview. The interview items were opened-ended questions which were created correlatively with the research objectives.

             The results of the research reveal that

             1. The management of Rayong Music School, Rayong, is run with the family system by forming its administration and responsibility as follows: 1) The board of administrator, 2) academic affairs, 3) general administration department, 4) financial sector, 5) activity work, 6) social service, 7) office building, and 8) materials.

             2) The curriculum of Rayong Music School, Rayong, uses the lesson plan consisting of 8 courses: 1) Fundamental Music for Children using the curriculum of ‘Music for Little Mozart’, 2) Piano, 3) Electone, 4) Guitar, 5) Guitar Bass, 6) Drum, 7) Violin, and 8) Singing. Every course at Rayong Music School, Rayong, will be scheduled 1 day a week and 1 hour a day.

 

Keywords: Management, Music Schools, Non-formal Education.

 

บทนำ

             พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 109 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 กำหนดลักษณะโรงเรียนเอกชนไว้ 3 ลักษณะ ได้แก่ 1.             โรงเรียนที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ หลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากระทรวงศึกษาธิการ และจัดรูปแบบการศึกษาในระบบโรงเรียนมี 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทสามัญศึกษา (ก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา) และประเภทอาชีวศึกษา (ปวช. ปวท. และปวส.) 2. โรงเรียนที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ หลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ และจัดรูปแบบการศึกษานอกโรงเรียน มี 7 ประเภท ได้แก่ การศึกษานอกโรงเรียน เฉพาะกาล สอนศาสนา กวดวิชา ศิลปศึกษา และโรงเรียนสอนดนตรีเอกชน และ
3. โรงเรียนที่จัดให้การศึกษาแก่บุคคลที่มีลักษณะพิเศษ หรือ ผิดปกติทางร่างกาย สติปัญญา หรือจิตใจที่จัดเป็นรูปแบบการศึกษาพิเศษ หรือโรงเรียนที่จัดให้การศึกษาแก่บุคคลผู้ยากไร้ หรือผู้ที่เสียเปรียบทางการศึกษา ในลักษณะต่าง ๆ ที่จัดเป็นรูปแบบการศึกษาสงเคราะห์ (ศรายุธ จันทรางกูร, 2548) ซึ่งในข้อที่ 2 ของพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 109 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ที่กล่าวถึง โรงเรียนที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ หลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ และจัดรูปแบบการศึกษานอกโรงเรียน มี 7 ประเภท ได้แก่ การศึกษานอกโรงเรียน เฉพาะกาล สอนศาสนา กวดวิชา ศิลปศึกษา และโรงเรียนสอนดนตรีเอกชนนั้นสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 3 ระบบการศึกษา มาตรา 15 ว่าด้วย การจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือทั้งสามรูปแบบก็ได้ ให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งการเรียนรู้นอกระบบ ตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์ทำงาน (ฝ่ายวิชาการ สำนักพิมพ์เดอะบุคส์, 2556) โดยเฉพาะการศึกษานอกระบบโรงเรียน ซึ่งหมายถึง การศึกษาที่จัดขึ้นนอกเหนือไปจากการศึกษาในระบบโรงเรียน กิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นกิจกรรมทางการศึกษาหรือกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ทักษะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และเพื่อการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขตามความเหมาะสม (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน, 2543)

             ปัจจุบันโรงเรียนการศึกษานอกระบบในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างมากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนกวดวิชาต่าง ๆ โรงเรียนฝึกอาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงเรียนดนตรีนอกระบบ                มีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น โรงเรียนดนตรีนอกระบบแต่ละโรงเรียนจึงต้องมีการบริหารจัดการเป็นอย่างดีถึงจะสามารถดำรงอยู่ได้ในยุคปัจจุบัน จากการสำรวจความพึงพอใจในการบริการของผู้ใช้บริการโครงการการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป วิทยาลัยภูมิพลสังคีต มหาวิทยาลัยมหิดล และปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้อง โดยการใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 260 คนพบว่า ผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจในบริการสูงทุกด้าน โดยเรียงลำดับดังนี้ ความพึงพอใจในบริการด้านสถานที่ ธุรการ วิชาการ บุคลากร และด้านข้อมูลที่ได้รับจากบริการ งานค้นคว้าได้เสนอแนะต่อการดำเนินงานว่าควรให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิชาการอย่างต่อเนื่อง ควรพัฒนาให้บุคลากรมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น และควรจัดการบริหารงานให้เป็นระบบมากขึ้น (บุญพิศ นัยน์พานิช, 2543) โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง เป็นโรงเรียนดนตรีนอกระบบโรงเรียนหนึ่งที่มีการบริหารจัดการโรงเรียนอย่างเป็นระบบ มีประสบการณ์การในการบริหารโรงเรียนมากว่า 25 ปี เปิดทำการ  มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 มีลูกศิษย์ที่จบการศึกษาดนตรีจากโรงเรียนมากกว่า 1000 คน มีหลักสูตรการเรียนการสอนหลากหลายวิชา และยังได้เป็นตัวแทนของสถาบันสอบของ ABRSM หรือ The Associated Board of the Royal Schools of Music ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากความร่วมมือของสถาบันดนตรีชั้นนำระดับโลก 4 แห่ง รวมตัวกันเพื่อวางแนวทางการสอบด้านดนตรีให้เป็นมาตรฐานสากล และเป็นที่น่าเชื่อถือ ในระดับโลก (World Class) ผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง คือ นักเรียนที่เรียนจากโรงเรียนสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และได้รับรางวัลอย่างมากมาย อีกทั้งโรงเรียนดนตรีระยอง ยังได้รับการประกันคุณภาพการศึกษาในระดับดีมาก ทำให้ผู้ปกครองในจังหวัดระยองยอมรับและส่งบุตรหลานมาเรียนโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง มากมาย

             จากการที่ผู้วิจัยเป็นครูผู้สอนวิชาดนตรีในมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยามาเป็นเวลา 7 ปี ซึ่งนิสิตส่วนใหญ่ที่เรียนดนตรีที่มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายในการประกอบวิชาชีพครูดนตรีเป็นหลัก แต่ก็มีนิสิตจำนวนไม่น้อยที่ผู้วิจัยได้รับการสอบถามและขอคำแนะนำมาโดยตลอดเกี่ยวกับการบริหารจัดการและการเรียนการสอนดนตรีในโรงเรียนดนตรีนอกระบบ เนื่องจากนิสิตกลุ่มนี้               มีทางเลือกอีกแนวทางหนึ่ง นอกจากจะประกอบอาชีพครูดนตรีแล้ว ยังมีแนวคิดที่จะประกอบอาชีพเป็นเจ้าของกิจการโรงเรียนดนตรีนอกระบบอีกด้วย

             ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้วิจัย จึงมีความสนใจที่จะศึกษาข้อมูลและรวบรวมข้อมูล                 ต่าง ๆ ที่ได้จากงานวิจัยการบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีแบบการศึกษานอกระบบ ตามมาตรา 15(2) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 : กรณีศึกษาการบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง เพื่อนำมาวิเคราะห์และประมวลเป็นองค์ความรู้ให้กับนิสิตของสาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา หรือผู้ที่มีความสนใจที่จะประกอบกิจการโรงเรียนดนตรีนอกระบบ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการบริหารโรงเรียนดนตรีนอกระบบให้เหมาะสมกับตนเอง และสามารถบริหารจัดการได้ดีอย่างเป็นระบบ นำไปสู่ความสำเร็จและมีมาตรฐานสากล

 

วัตถุประสงค์การวิจัย

             1. เพื่อศึกษาการบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง

             2. เพื่อศึกษาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง

 

 

 

วิธีดำเนินการวิจัย

            เครื่องมือและอุปกรณ์

             เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้ออกแบบและสร้างเครื่องมือที่ใช้สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์มีโครงสร้าง แนวคำถามสำหรับการสัมภาษณ์มีลักษณะแบบปลายเปิด และมีลักษณะตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย

            วิธีดำเนินการวิจัย

             ผู้วิจัยได้ออกแบบวิธีดำเนินการวิจัย เรื่อง การบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีแบบการศึกษานอกระบบ ตามมาตรา 15(2) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 : กรณีศึกษาการบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง โดยมีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้

            ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

             ประชากร

             ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้บริหารโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง ครูผู้สอน เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง และนักเรียน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้บริหารโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง จำนวน 5 คน 2) ครูผู้สอน จำนวน 8 คน 3) เจ้าหน้าที่ จำนวน 1 คน 4) ผู้ปกครอง จำนวน                 4  คน และ 5) นักเรียน จำนวน 200 คน

             กลุ่มตัวอย่าง

             กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้บริหารโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง ครูผู้สอน เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง และนักเรียน โดยใช้วิธีสุ่มตามขั้นตอนต่อไปนี้

             1. สำรวจจำนวนผู้บริหารโรงเรียนดนตรีระยอง ครูผู้สอน เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง และนักเรียน

             2. ทำการแบ่งกลุ่มย่อยตามลักษณะของการทำงานเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้บริหารโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง จำนวน 2 คน กลุ่มที่ 2 ครูผู้สอน จำนวน 4 คน กลุ่มที่ 3 เจ้าหน้าที่ จำนวน 1 คน กลุ่มที่ 4 ผู้ปกครอง จำนวน 4 คน และกลุ่มที่ 5 นักเรียน จำนวน 4 คน

             3. คัดเลือกแต่ละกลุ่มแบบเจาะจงจากกลุ่มตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์

             สถานที่ทำการวิจัย โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง

             วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ (Interview) จาก

ผู้บริหารโรงเรียนดนตรีระยอง ครูผู้สอน เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง และนักเรียน ที่โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง

            การวิเคราะห์ข้อมูล นำข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลโดย การสัมภาษณ์จากผู้บริหาร ครูผู้สอน เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง และนักเรียน ที่โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง มาวิเคราะห์ข้อมูลเป็นองค์ความรู้ โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านการบริหารจัดโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง 2) ด้านหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง    

             ขั้นสรุป การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลผู้วิจัยได้ใช้วิธีการพรรณนาวิเคราะห์ ประกอบรูปภาพ และจัดทำเป็นรูปเล่มวิจัย

 

ผลการวิจัย

             ผลการวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีแบบการศึกษานอกระบบ ตามมาตรา 15(2) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 : กรณีศึกษาการบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง ผู้วิจัยได้สรุปผลการวิจัย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตามวัตถุประสงค์ ดังนี้

             1. การบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีแบบการศึกษานอกระบบ ตามมาตรา 15(2)

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 : กรณีศึกษาการบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง

          การบริหารงานจัดการของโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง เป็นการบริหารในรูปแบบการศึกษาตามอัธยาศัยในลักษณะระบบครอบครัว โดยแบ่งหน้าที่กันดูแลในส่วนต่าง ๆ ของการบริหารให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นระบบ ซึ่งมีการแบ่งโครงสร้างของการบริหารอย่างชัดเจนเพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ โดยโครงสร้างการบริหารจัดการของโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง แบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

                 1.1 ผู้บริหาร ในส่วนของผู้บริหารโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง ได้แบ่งโครงสร้างผู้บริหารออกเป็น 6 ส่วน คือ 1) ผู้รับใบอนุญาต 2) ครูใหญ่ 3) ฝ่ายวิชาการ 4) ฝ่ายธุรการ 5) ฝ่ายการเงิน และ 6) ฝ่ายกิจกรรมและบริการชุมชน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โครงสร้างผู้บริหารโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง

                                                        ผู้รับใบอนุญาต

                                                            ครูใหญ่

 

 

          ฝ่ายวิชาการ               ฝ่ายธุรการ             ฝ่ายการเงิน         ฝ่ายกิจกรรมและบริการชุมชน

ภาพที่ 1 โครงสร้างผู้บริหารโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง

(ถาวร วัฒนบุญญา, 2560)

 

                 1.2 งานด้านวิชาการ ผู้ดูแลงานด้านวิชาการ ดูแลหลักสูตรที่เปิดสอน ให้เป็นไปตามระบบระเบียบ และตามความต้องการของผู้เรียน ซึ่งจะมีการวิเคราะห์หลักสูตรที่ใช้สอนว่ามีความต้องการมากน้อยเพียงใด หลักสูตรใดควรเปิด หรือหลักสูตรใดที่นักเรียนให้ความสนใจเป็นพิเศษ ปัจจุบันโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง มีหลักสูตรที่ทำการเปิดสอนทั้งสิ้น 8 หลักสูตร ดังนี้
1. หลักสูตรดนตรีขั้นพื้นฐานสำหรับเด็ก 2. หลักสูตรเปียโน 3. หลักสูตรอิเลคโทน 4. หลักสูตรกีตาร์ 5. หลักสูตรกีตาร์เบส 6. หลักสูตรกลองชุด 7. หลักสูตรไวโอลีน และ 8. หลักสูตรขับร้อง นอกจากดูแลงานด้านหลักสูตรแล้ว ยังดูแลการจัดประชุมครูผู้สอน เพื่อพัฒนาด้านการสอนให้กับครูผู้สอน และจัดเตรียมสื่อการสอนให้กับครูผู้สอนสำหรับใช้ในการเรียนการสอน  อีกทั้งเตรียมแผนการสอบของนักเรียน จะจัดให้มีการจัดสอบปีละ 2 ครั้ง (รอบแรก เดือน พ.ค.และมิ.ย. รอบสอง ต.ค. และพ.ย.) ซึ่งนักเรียนจะต้องสอบปีละครั้ง สะดวกสอบรอบไหนก็ได้ที่พร้อม หนึ่งปีสอบหนึ่งครั้ง การสอบของนักเรียนโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง ที่จัดสอบปีละ 2 ครั้งนี้ เป็นการประเมินผลการเรียนการสอน โดยสถาบันสอบของ ABRSM หรือ The Associated Board of the Royal Schools of Music (ABRSM) และสถาบันสอบ Trinity College of Music London ประเทศอังกฤษ

 

 

 

 

ภาพที่ 2 นักเรียนโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง สอบผ่านเกณฑ์ของสถาบันสอบ ABRSM หรือ The Associated Board of the Royal Schools of Music

(ถาวร วัฒนบุญญา, 2560)

 

                 1.3 งานด้านธุรการ ดูแลในเรื่องของ การรับสมัครนักเรียน, อธิบายหลักสูตรการเรียนการสอนให้ผู้ปกครองทราบ รับเรื่องการลาเรียน การขาดเรียน และจัดตารางเรียนชดเชยของผู้เรียนและครูผู้สอน จัดตารางสอน งานสารบรรณ เอกสารต่าง ๆ ของโรงเรียน จัดเตรียมสถานที่และเอกสารการประชุม ในกรณีที่มีการประชุมครูผู้สอน จัดทำและพัฒนาโฮมเพจของโรงเรียน เพื่อประชาสัมพันธ์โรงเรียน ดูแลงานทะเบียนพัสดุ และครุภัณฑ์ของโรงเรียน รายงานผลการดำเนินงานของโรงเรียนประจำปี เตรียมงานประกันคุณภาพของโรงเรียน และดูแลความเรียบร้อยภายในโรงเรียน

                 1.4 งานด้านการเงิน ดูแลในเรื่องการรับชำระค่าเล่าเรียน ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของโรงเรียน จัดเตรียมค่าสอนของครูผู้สอน จัดเตรียมค่าเดินทางของครูผู้สอน จัดเตรียมค่าที่พักของครูผู้สอน จัดทำเงินสมทบประกันสังคมสำหรับครูผู้สอน การเบิกจ่ายค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าตอบแทนกรรมการคุมสอบ และควบคุม ดูแล กำกับการเบิกจ่ายงบประมาณของโรงเรียนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

                 1.5 งานด้านกิจกรรม โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. กิจกรรมภายในโรงเรียนจะมีการจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนเป็นประจำปีๆละ 2 ครั้ง (ครั้งที่ 1 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และครั้งที่ 2 ช่วงเดือนกรกฎาคม) โดยจะจัดกิจกรรมเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ และ
มีการแสดงของนักเรียนทุกรายวิชา มาแสดงสลับกันไปตลอดทั้งเดือน 2. กิจกรรมภายนอกโรงเรียน โดยมีการจัดกิจกรรมขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ในด้านการแสดงดนตรีต่อหน้าสาธารณชน ให้นักเรียนมีความมั่นใจ กล้าแสดงออก มีความเป็นศิลปิน การจัดกิจกรรมภายนอกโรงเรียนจะจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ประมาณเดือนพฤศจิกายน ของทุก ๆ ปี

 

 

ภาพที่ 3 กิจกรรมภายในโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง (การแสดงวงเครื่องสาย)

(ถาวร วัฒนบุญญา, 2560)

 

                 1.6 งานบริการชุมชน โดย โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง ให้ความสำคัญกับการบริการชุมชน และถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่จัดให้กับชุมชนมาโดยตลอด เพราะโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง มีนโยบายที่จะทำให้นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนรู้จักการมีจิตสาธารณะ ไม่ใช่มาเรียนเพื่อเล่นดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักการให้ความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ทำให้นักเรียนมีความอ่อนโยน มีความเป็นคนคุณภาพที่สมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อมีหน่วยงานต่าง ๆ ขอความอนุเคราะห์มาที่โรงเรียนให้ไปแสดงดนตรี ก็ไม่เคยปฏิเสธ และตอบรับมาโดยตลอด

 

 

ภาพที่ 4 กิจกรรมภายนอกโรงเรียน ณ สวนสาธารณะ โรงแรมมาดีน่า จังหวัดระยอง

(ถาวร วัฒนบุญญา, 2560)

 

                 1.7 อาคารสถานที่ โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง ตั้งอยู่เลขที่ 167/5-7 ถนนตากสินมหาราช ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง รหัสไปรษณีย์ 21000 เบอร์โทรศัพท์ 087-744-8076 โทรสาร 038-616-628 ด้านหน้าติด ถนนตากสินมหาราช ด้านซ้ายติด บ้านพักอาศัย ด้านขวาติด อาคารพาณิชย์ และด้านหลังติด อพาร์ทเม้นท์ โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง เป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น 3 คูหา มีห้องเรียน และห้องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ชั้นที่ 1 ประกอบด้วย เคาน์เตอร์ธุรการ, ห้องเรียนหลักสูตรดนตรีขั้นพื้นฐานสำหรับเด็ก, ห้องพักครู, ห้องจำหน่ายเครื่องดื่ม, ห้องเก็บของ, โชว์รูมเครื่องดนตรี, ตู้หนังสือ, ตู้โชว์ผลงานนักเรียน, มุมหนังสือ และ ห้องน้ำชาย-หญิง, ชั้นที่ 2 ประกอบด้วย ห้องครูใหญ่, ห้องรับแขก, ห้องเรียนเปียโนกลุ่ม, ห้องแกรนด์เปียโน, ห้องเรียนร้องเพลง และห้องเก็บของ, ชั้นที่ 3 ประกอบด้วย ห้องเรียนกีตาร์คลาสลิค, ห้องเรียนไวโอลิน 2 ห้อง, ห้องเรียนอิเลคโทน, ห้องเรียนเปียโน 6 ห้อง, ห้องเรียนกีตาร์ไฟฟ้า, ห้องเรียนกีตาร์เบส และห้องเก็บของ, ชั้นที่ 4 ประกอบด้วย ห้องเรียนกลองชุด 2 ห้อง, ห้องเก็บของ และห้องผู้รับใบอนุญาต โดยจะมีการปรับปรุงดูแลทุก 3-5 ปี และบำรุงรักษาอาคารสถานที่ให้คงสภาพเรียบร้อยสมบูรณ์ตลอดเวลา ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้บริหาร คือ ผู้รับใบอนุญาต และครูใหญ่

 

 

ภาพที่ 5 อาคารสถานที่โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง

(ถาวร วัฒนบุญญา, 2560)

 

                 1.8 วัสดุอุปกรณ์ ของโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง มีวัสดุอุปกรณ์จำนวนมาก เพียงพอสำหรับการจัดการเรียนการสอน โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. เครื่องดนตรี โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง มีเครื่องดนตรีมากมายหลากหลายเพียงพอสำหรับการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนที่มาเรียน มีทั้งเครื่องดนตรีที่ให้นักเรียนเรียนวิชาเอกเฉพาะและเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาอื่น ๆ 2. วัสดุอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนการสอน โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนการสอนไว้อย่างเพียงพอสำหรับนักเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนภายในห้องเรียนมีความพร้อมช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนให้มีความสุขและสนุกไปกับการเรียนดนตรี และ 3. สิ่งอำนวยความสะดวก ถือเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญสำหรับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนที่มาเรียนได้รับความสะดวกสบาย ทำให้นักเรียนมีความสุขในการเรียนดนตรี สร้างบรรยากาศให้นักเรียนเกิดความอยากเรียนดนตรี และเกิดความชอบที่จะมาเรียนดนตรีทุกครั้ง

             2. หลักสูตรการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง ได้มีการจัดการเรียนการสอน โดยมีหลักสูตรที่เปิดสอน 8 หลักสูตร ดังนี้

                 2.1  หลักสูตรดนตรีขั้นพื้นฐานสำหรับเด็ก ของโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง ใช้หลักสูตร Music for Little Mozart หรือที่เรียกว่า “MLM” ซึ่งเป็นหลักสูตรวิชาดนตรีพื้นฐานสำหรับใช้สอนเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 3 ปีครึ่ง ถึง 5 ปี โดยเป็นหลักสูตรพิเศษของ Alfred Publishing Inc. USA (Alfred Piantadosi)

 

 

ภาพที่ 6 การจัดการเรียนการสอนหลักสูตร Music for Little Mozart (MLM)

(ถาวร วัฒนบุญญา, 2560)

 

                 2.2  หลักสูตรเปียโน หลักสูตรนี้ใช้ระยะเวลาเรียนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 520 ชั่วโมง และฝึกซ้อมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 3,650 ชั่วโมง ครูผู้สอนจะต้องสอบผ่าน Yamaha Examination Piano Grade 7 เป็นอย่างต่ำ โดยนับจากการสอน 6 เดือน จึงจะสามารถทำการสอนได้ หลักสูตรเปียโน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ เปียโนชั้นต้น ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 104 ชั่วโมง และฝึกซ้อมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 730 ชั่วโมง , เปียโนชั้นกลาง ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 156 ชั่วโมง และฝึกซ้อมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 1,095 ชั่วโมง และเปียโนชั้นสูง ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 260 ชั่วโมง และฝึกซ้อมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 1,725 ชั่วโมง

 

 

ภาพที่ 7 การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรเปียโน

(ถาวร วัฒนบุญญา, 2560)

 

                 2.3  หลักสูตรอิเลคโทน หลักสูตรนี้ใช้ระยะเวลาเรียนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 208 ชั่วโมง และฝึกซ้อมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 1,825 ชั่วโมง ครูผู้สอนจะต้องสอบผ่าน Yamaha Examination Piano Grade 7 เป็นอย่างต่ำ โดยนับจากการสอน 6 เดือน จึงจะสามารถทำการสอนได้ หลักสูตรอิเล็กโทน แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ อิเล็กโทนชั้นต้น ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 52 ชั่วโมง และฝึกซ้อมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 365 ชั่วโมง, อิเล็กโทนชั้นกลางตอนต้น ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 52 ชั่วโมง และฝึกซ้อมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 365 ชั่วโมง, อิเล็กโทนชั้นกลางตอนปลาย ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 52 ชั่วโมง และฝึกซ้อมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 365 ชั่วโมง และอิเล็กโทนชั้นสูง ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 52 ชั่วโมง และฝึกซ้อมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 730 ชั่วโมง

 

 

ภาพที่ 8 การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรอิเลคโทน

(ถาวร วัฒนบุญญา, 2560)

 

                 2.4  หลักสูตรกีตาร์ โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง ได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรกีตาร์ โดยแบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรกีตาร์คลาสสิค และหลักสูตรกีตาร์ไฟฟ้า โดยหลักสูตรกีตาร์คลาสสิค ใช้ระยะเวลาเรียนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 225 ชั่วโมง และฝึกซ้อมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 2,250 ชั่วโมง หลักสูตรกีตาร์คลาสสิค แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ กีตาร์ชั้นต้น ใช้ระยะเวลาเรียนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 25 ชั่วโมง และฝึกซ้อมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 250 ชั่วโมง, กีตาร์ชั้นกลาง ใช้ระยะเวลาเรียนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 75 ชั่วโมง และฝึกซ้อมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 750 ชั่วโมง, กีตาร์ชั้นสูง ใช้ระยะเวลาเรียนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 75 ชั่วโมง และฝึกซ้อมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 750 ชั่วโมง และกีตาร์ชั้นประกอบอาชีพ ใช้ระยะเวลาเรียนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 50 ชั่วโมง และฝึกซ้อมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 500 ชั่วโมง ส่วนหลักสูตรกีตาร์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น ใช้ระยะเวลาตลอดหลักสูตรประมาณ 6 เดือน (ขึ้นอยู่กับความสามารถและการฝึกซ้อมของผู้เรียน) โดยจัดการเรียนการสอนสัปดาห์ละ 1 วัน ๆ ละ 1 ชั่วโมง

 

 

ภาพที่ 9 การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรกีตาร์ (กีตาร์คลาสสิคและกีตาร์ไฟฟ้า)

(ถาวร วัฒนบุญญา, 2560)

 

                 2.5 หลักสูตรกีตาร์เบส เป็นหลักสูตรระยะสั้น เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเล่นเพลงประเภทป๊อปปูล่า (Popular) กับเครื่องดนตรีกีตาร์เบส ไม่จำกัดอายุผู้เรียน สามารถอ่านโน้ตได้เมื่อเรียนจบหลักสูตร ใช้ระยะเวลาตลอดหลักสูตรประมาณ 6 เดือน (ขึ้นอยู่กับความสามารถและ      การฝึกซ้อมของผู้เรียน)

 

 

ภาพที่ 10 การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรกีตาร์เบส

(ถาวร วัฒนบุญญา, 2560)

 

                 2.6 หลักสูตรกลองชุด เป็นหลักสูตรระยะสั้น เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเล่นเพลงประเภทป๊อปปูล่า (Popular) กับเครื่องดนตรีกลองชุด ไม่จำกัดอายุผู้เรียน สามารถอ่านโน้ตได้เมื่อเรียนจบหลักสูตร ใช้ระยะเวลาตลอดหลักสูตรประมาณ 6 เดือน (ขึ้นอยู่กับความสามารถและ      การฝึกซ้อมของผู้เรียน)

 

 

ภาพที่ 4.11 การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรกลองชุด

(ถาวร วัฒนบุญญา, 2560)

                 2.7 หลักสูตรไวโอลีน เป็นหลักสูตรระยะสั้น เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเล่นเพลงประเภทป๊อปปูล่า (Popular) กับเครื่องดนตรีไวโอลีน ไม่จำกัดอายุผู้เรียน สามารถอ่านโน้ตได้เมื่อเรียนจบหลักสูตร ใช้ระยะเวลาตลอดหลักสูตรประมาณ 6 เดือน (ขึ้นอยู่กับความสามารถและการฝึกซ้อมของผู้เรียน)            

 

ภาพที่ 12 การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรไวโอลีน

(ถาวร วัฒนบุญญา, 2560)

 

                 2.8 หลักสูตรขับร้อง เป็นหลักสูตรระยะสั้น เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนร้องเพลงเพื่อความสนุกสนานและถูกต้องตามหลักการร้องเพลงต่าง ๆ ไม่จำกัดอายุผู้เรียน สามารถอ่านโน้ตได้เมื่อเรียนจบหลักสูตร ใช้ระยะเวลาตลอดหลักสูตรประมาณ 6 เดือน (ขึ้นอยู่กับความสามารถและการฝึกซ้อมของผู้เรียน)

 

 

ภาพที่ 13 การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรขับร้อง

(ถาวร วัฒนบุญญา, 2560)

 

             การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง ทุกหลักสูตรที่เปิดสอนจะจัดการเรียนการสอนสัปดาห์ละ 1 วัน ๆ ละ 1 ชั่วโมง

             จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยองนั้น ส่วนใหญ่ชื่นชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง เพราะมีหลักสูตรที่เปิดสอนหลากหลายวิชา รวมถึงมีกิจกรรมการแสดงดนตรีต่าง ๆ มากมายทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ทำให้นักเรียนได้มีเวทีแสดงความสามารถทางด้านดนตรี กล้าแสดงออก และมีวินัย ส่งผลให้ลูกหลานเป็นเด็กที่มีความตั้งใจเรียนในวิชาการด้านอื่น ๆ ด้วย รวมถึงด้านอาคาร สถานที่ อุปกรณ์ บุคลากร และการบริการของโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง ก็มีความพร้อมและดูแลเอาใจใส่นักเรียนเป็นอย่างดี

             ในส่วนของการสัมภาษณ์นักเรียนที่เรียนโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง นักเรียนส่วนใหญ่ชอบการเรียนการสอนของโรงเรียน โดยเฉพาะครูผู้สอนมีความสามารถในการสอน ทำให้นักเรียนมีความสามารถในการเล่นดนตรี และมีความมั่นใจในการสอบการประเมินผลการเรียนจากสถาบันสอบของ ABRSM หรือ The Associated Board of the Royal Schools of Music (ABRSM) และสถาบันสอบ Trinity College of Music London ประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนดนตรี ระยอง จังหวัดระยองเป็นตัวแทนการจัดการสอบ ซึ่งนักเรียนสามารถสอบผ่านการประเมินผลการเรียนได้ทุกคน และโรงเรียนมีอุปกรณ์และเครื่องดนตรีมากมายเพียงพอต่อการเรียนการสอน

 

อภิปรายผลการวิจัย

             ผลจากการวิจัยนี้ ทำให้ทราบถึงการบริหารจัดการและหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนดนตรีแบบการศึกษานอกระบบ ตามมาตรา 15(2) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 : กรณีศึกษาการบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง โดยในส่วนของ
การบริหารงานของโรงเรียน แบ่งออกเป็นด้าน ๆ ดังนี้ คือ ผู้บริหาร, งานด้านวิชาการ, งานด้านธุรการ, งานด้านการเงิน, งานด้านกิจกรรม, งานบริการชุมชน, อาคารสถานที่ และวัสดุอุปกรณ์ และในส่วนของหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน แบ่งออกเป็น 8 หลักสูตร คือ 1) หลักสูตรดนตรีขั้นพื้นฐานสำหรับเด็ก 2) หลักสูตรเปียโน 3) หลักสูตรอิเล็กโทน 4) หลักสูตรกีตาร์ 5) หลักสูตรกีตาร์เบส 6) หลักสูตรกลองชุด 7) หลักสูตรไวโอลีน และ 8) หลักสูตรขับร้อง

             การบริหารงานของโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง มีการบริหารงานอย่างเป็นระบบ
มีการบริหารจัดการที่ดี และใช้หลักสูตรที่มีมาตรฐานจากต่างประเทศในการจัดการเรียนการสอน   จนทำให้โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยองเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจจากผู้ปกครองในจังหวัดระยองและจังหวัดใกล้เคียง ส่งบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง เป็นจำนวนมาก ข้อมูลที่ได้รับจากการสัมภาษณ์ของผู้บริหารโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง  ครูผู้สอน เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง และนักเรียน ถือเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์และเป็นองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ประกอบการศึกษา ค้นคว้า ด้านการการบริหารและการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนดนตรีนอกระบบ ให้กับนักเรียน นิสิตนักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจต่อไป

             จากผลการวิจัยในครั้งนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของ บุญพิศ นัยน์พานิช ซึ่งได้ทำการสำรวจความพึงพอใจในการบริการของผู้ใช้บริการโครงการการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป วิทยาลัย
ภูมิพลสังคีต มหาวิทยาลัยมหิดล และปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้อง โดยการใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 260 คน พบว่า ผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจในการบริการสูงทุกด้าน โดยเรียงลำดับดังนี้ ความพึงพอใจในบริการด้านสถานที่ ธุรการ วิชาการ บุคลากร และด้านข้อมูลที่ได้รับการบริการ

 

ข้อเสนอแนะ

             จากการศึกษาการบริหารจัดการและหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนดนตรีแบบการศึกษานอกระบบ ตามมาตรา 15(2) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 : กรณีศึกษาการบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง ทำให้ได้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงเรียนดนตรีนอกระบบ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการบริหารจัดการการเรียนการสอนดนตรี รวมถึงการจัดการหลักสูตรที่ใช้ในการเรียนการสอนในระบบปกติได้อีกด้วย

             นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการและหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนดนตรีนอกระบบอื่น ๆ อีกมากมาย ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมเช่นเดียวกันกับโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง ซึ่งมีการบริหารจัดการที่ดีและเป็นระบบ เพื่อให้เป็นองค์ความรู้ที่มีหลากหลายรูปแบบ เป็นทางเลือกให้กับผู้ที่สนใจที่จะดำเนินการเปิดโรงเรียนดนตรีนอกระบบได้ตัดสินใจเลือกให้เหมาะสมกับบริบทของตน

เอกสารอ้างอิง

 

ถาวร วัฒนบุญญา. (2560). โครงสร้างผู้บริหารโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง. [ภาพถ่าย].

             กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.

_____________. (2560). นักเรียนโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง สอบผ่านเกณฑ์ของ

            สถาบันสอบ ABRSM หรือ The Associated Board of the Royal Schools of

            Music. [ภาพถ่าย]. กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.

_____________. (2560). กิจกรรมภายในโรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง (การแสดงวง

            เครื่องสาย). [ภาพถ่าย]. กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.

_____________. (2560). กิจกรรมภายนอกโรงเรียน ณ สวนสาธารณะ โรงแรมมาดีน่า จังหวัด

            ระยอง. [ภาพถ่าย]. กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.

_____________. (2560). อาคารสถานที่โรงเรียนดนตรีระยอง จังหวัดระยอง. [ภาพถ่าย].

             กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.

_____________. (2560). การจัดการเรียนการสอนหลักสูตร Music for Little Mozart (MLM).

             [ภาพถ่าย]. กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.

_____________. (2560). การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรเปียโน. [ภาพถ่าย]. กรุงเทพฯ :

             ผู้แต่ง.

_____________. (2560). การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรอิเลคโทน. [ภาพถ่าย]. กรุงเทพฯ :

             ผู้แต่ง.

_____________. (2560). การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรกีตาร์ (กีตาร์คลาสสิคและกีตาร์

            ไฟฟ้า). [ภาพถ่าย]. กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.

_____________. (2560). การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรกีตาร์เบส. [ภาพถ่าย]. กรุงเทพฯ :

             ผู้แต่ง.

_____________. (2560). การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรกลองชุด. [ภาพถ่าย]. กรุงเทพฯ :

             ผู้แต่ง.

_____________. (2560). การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรไวโอลีน. [ภาพถ่าย]. กรุงเทพฯ :

             ผู้แต่ง.

_____________. (2560). การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรขับร้อง. [ภาพถ่าย]. กรุงเทพฯ :

             ผู้แต่ง.

บุญพิศ นัยน์พานิช. (2543).  ความพึงพอใจในการบริการของผู้ใช้บริการ กรณีศึกษา: โครงการการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป วิทยาลัยภูมิพลสังคีต มหาวิทยาลัยมหิดล.  ปริญญานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

ฝ่ายวิชาการ สำนักพิมพ์เดอะบุคส์.  (2556).  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไข          เพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2553.  กรุงเทพฯ :           สำนักพิมพ์เดอะบุคส์.

ศรายุธ จันทรางกูร.  (2548).  โรงเรียนดนตรีเอกชน: สภาพทั่วไป ต้นทุน และความต้องการครู          ดนตรีในเขตกรุงเทพมหานคร.  ปริญญานิพนธ์มหาบัณฑิต สาชาวิชาเศรษฐศาสตร์การศึกษา  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน.  (2543).  เกณฑ์คุณภาพการศึกษา ของโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนตามรูปแบบการศึกษานอกระบบโรงเรียน.  กรุงเทพฯ: กองส่งเสริมการศึกษานอกระบบ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน.