แนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทย สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

แนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทย สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

Approaches to Teaching Thai Music Theories to Lower Secondary Students

 

ชมพูนุช จูฑะเศรษฐ์ และ สุรพงษ์ บ้านไกรทอง

Chompunuch Juthaset and Surapong Bankrithong

 

 
บทคัดย่อ
          การศึกษาวิจัยเรื่อง แนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทย สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทยสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนวิชาดนตรีไทยระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอนทฤษฎีดนตรีไทย

ผลการวิจัยพบว่า แนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทย สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบด้วย 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การกำหนดจุดประสงค์ ควรชัดเจนและมุ่งให้เกิดการพัฒนาทักษะ ความรู้และทัศนคติที่ดีในทางดนตรีไทย 2. การกำหนดเนื้อหาสาระ ควรกำหนดให้เหมาะสมสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ผู้สอนควรให้นักเรียนรู้จักประเภทและหน้าที่ของวงดนตรีไทย ประเภทของเพลงไทยเดิม โดยเน้นการฟังเพลงมากกว่าการสอนบรรยาย มุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องเสียงของเครื่องดนตรีไทย
เน้นการปูพื้นฐานความรู้ด้านดนตรีเบื้องต้นเพื่อสุนทรียภาพ เช่น วิธีการฟังเพลงไทยและการอ่านโน้ต
ดนตรีไทย โดยเริ่มจากเพลงที่ง่ายไปสู่เพลงที่ซับซ้อน 3. การกำหนดรูปแบบวิธีการสอน เน้นการเรียนรู้ทฤษฎีผ่านกิจกรรมการสอนแบบ active learning ที่สนุกสนาน น่าสนใจ เข้ากับชีวิตประจำวันและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มุ่งการสร้างผู้ฟังดนตรีไทยให้มากกว่าการสร้างนักดนตรีไทยมืออาชีพ  4. วิธีการวัดประเมินผล
ควรจะใช้วิธีการที่หลากหลาย ปรับเปลี่ยนได้ เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การอภิปรายในชั้นเรียน
และใช้การประเมินผลตามสภาพจริง (authentic assessment)

 

คำสำคัญ: แนวทางการสอน, ทฤษฎีดนตรีไทย, นักเรียนระดับมัธยมตอนต้น

 

 

Abstract
          The study aims to propose the approaches to teaching Thai music theories to lower secondary students. The study employed a qualitative research method of which data was collected by using different research tools which are 1) An interview for Thai Music teachers of lower secondary schools and 2) An interview with the experts in teaching Thai Music theories

          The findings show that the approaches to teaching Thai music theories to lower secondary students consists of 4 aspects: 1) Objectives should be specified clearly and emphasized on development of skills, knowledge, and positive attitudes towards Thai Music as much as possible; 2) Content should be suitable for lower secondary students. Teachers should instruct students in Thai music ensembles, function of an ensemble, and styles of traditional Thai music, and more Thai music listening practice is preferred to the lecture method. The emphasis should be on introducing students to Thai musical instruments’ sound and on providing the basis of aesthetics of music such as methods of listening to Thai music and reading Thai music notes; 3) Teaching methods should encourage Learning-by-doing and involve quality instructional materials. Thai music theories are incorporated into the instruction with the highlight on Active Learning. Emphasis should be placed more on making students listeners of Thai music than on producing professional Thai musicians; and 4) Assessment and Evaluation should involve behavioral observation, interview, and class discussion. Authentic assessment should be employed to make the evaluation of the outcomes more concrete as it assesses application of lessons learned.

Keywords: approaches to teaching, Thai music theories, lower secondary students

 

บทนำ

          ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งถือเป็นหลักสูตรฉบับล่าสุด ที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ยกร่าง โดยปรับปรุงมาจาก หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 เนื่องจากผลการติดตามการใช้หลักสูตรทําให้ เกิดการพัฒนาหลักสูตร เพื่อการแก้ปัญหาในการใช้หลักสูตร รวมทั้งทําให้หลักสูตรมีความ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ฉบับที่ 10 โดยประกาศให้ โรงเรียนทั่วไปใช้เริ่มใช้หลักสูตรในโรงเรียนต้นแบบ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 และปีการศึกษา 2555 เป็นต้นไป ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ทุกชั้นเรียน (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551)

          วิชาดนตรี จัดอยู่ในสาระที่ 2 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ซึ่งกล่าวถึงทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล และดนตรีพื้นบ้าน ประกอบอยู่ใน 2 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐาน ศ 2.1 เข้าใจและแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์คุณค่าดนตรี ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดต่อดนตรีอย่างอิสระ ชื่นชม
และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวัน และ มาตรฐาน ศ 2.2 เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์
และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของดนตรีที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล
ในแต่ละมาตรฐานประกอบด้วย ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลางมาให้ ซึ่งตัวชี้วัดจะระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และ ปฏิบัติได้ รวมทั้งคุณลักษณะของผู้เรียนในแต่ละระดับชั้นซึ่งสะท้อนถึงมาตรฐานการเรียนรู้ มีความเฉพาะเจาะจงและมีความเป็นรูปธรรม นําไปใช้ในการกําหนดเนื้อหา จัดทําหน่วยการเรียนรู้ จัดการเรียนการสอน และเป็นเกณฑ์สําคัญสําหรับการวัดประเมินผล เพื่อตรวจสอบคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 นี้ ได้ปรับตัวชี้วัดแทนผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (ธำรงศักดิ์ ธํารงเลิศฤทธิ์, 2551 อ้างถึงใน สุภัชชา โพธิ์เงิน, 2554) เป็นผลดีกับโรงเรียนที่มีบุคลากรมีความพร้อมด้านการจัดการเรียนการสอนในทุกสาขาวิชา ซึ่งการกําหนดสาระการเรียนรู้แกนกลางรายปีมาให้ ทําให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนแยกเป็นรายวิชาได้ช่วยให้ มองเห็นทิศทางของการจัดการศึกษา (สังคม ทองมี, 2551 อ้างถึงใน สุภัชชา โพธิ์เงิน, 2554)

          ดนตรีไทยนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่ประกอบด้วยรายละเอียดอันกว้างขวางลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง        โดยกระบวนการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของดนตรีไทย หากพิจารณาการศึกษาวิชาการดนตรีไทยในอดีตจะพบว่ามีลักษณะการถ่ายทอดระบบตัวต่อตัว (ORAL TRADITION) โดยเน้นวิชาการภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีควบคู่กันไปโดยที่ไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้โดยเอกเทศ วิชาการด้านทฤษฎีดุริยางค์ไทยนั้น มีความสำคัญควบคู่กับวิชาการด้านปฏิบัติที่จะนำไปสู่สัมฤทธิผลและเอื้อต่อการก่อวิวัฒนาการเชิงการศึกษาอย่างกว้างขวาง (บุญช่วย โสวัตร, 2539) วิชาทฤษฎีดนตรีไทยนั้นจะช่วยอธิบายถึงหลักการในทางปฏิบัติ ช่วยให้ผู้ปฏิบัติดนตรีไทยสามารถเข้าถึงดนตรีไทยได้อย่างเข้าใจ และสามารถที่จะเป็นพื้นฐานในการสืบทอดดนตรีไทยให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งรองศาสตราจารย์พิชิต ชัยเสรี ได้กล่าวไว้ว่า

             “แม้จะเป็นที่ยอมรับว่าดนตรีนั้นใช้ความงาม ความไพเราะเป็นเกณฑ์ตัดสินที่ทรงอิทธิพลที่สุด แต่ก็ควรตระหนักไว้เสมอเช่นกัน
ว่า ระเบียบกฏเกณฑ์ทางวิชาการซึ่งเป็นขนบมาแต่โบราณนั้น เป็นต้นกำเนิดของความงาม ความไพเราะอันเป็นเอกลักษณ์ดุริยางค์ไทยนั่นเอง จึงจะเพิกเฉยเสียมิได้ การตั้งหน้าแต่จะแหวกลายครามไม่สนใจขนบเสียทีเดียว ย่อมเป็นความตกต่ำของศิลปะขั้นสูงโดยแท้” (พิชิต ชัยเสรี, 2559)

          การเรียนการสอนวิชาทฤษฎีดนตรีไทยนั้น ปัจจุบันมีสถานะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งเริ่มให้มีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ประถมศึกษาตอนปลาย จนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย  

          ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นช่วงวัยที่เริ่มเผชิญกับความซับซ้อนของสังคม ดังนั้น เด็กในช่วงวัยนี้
มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะได้ ซึ่งครูต้องคำนึงถึงหลักพัฒนาการทางสมองและความสามารถในการค้นหาความรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้กำหนดมาตรฐานด้านการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพที่สำคัญของผู้เรียน โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขใน 5 ประการ คือ ความสามารถในการสื่อสารเพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้ง ความสามารถในการคิดอย่างมีระบบ ความสามารถในการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม บนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรม การเข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต รู้จักปรับตัว และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (ดารณี อุทัยรัตนกิจ, 2559 อ้างถึงใน
แพง ชินพงศ์, 2559) 

          ผู้วิจัยได้ทำการสำรวจเบื้องต้นโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร 10 โรงเรียน จำนวน 30 คน พบว่า การจัดการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีดนตรีไทยในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่ได้รับความสนใจจากผู้เรียนมากนัก เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ประการแรกวิชาทฤษฎีดนตรีไทยไม่เป็นวิชาที่น่าสนใจอยู่แล้ว ประการที่สอง วิธีการสอนของผู้สอนจะเน้นการสอนบรรยาย ผู้เรียนต้องจดจำเนื้อหาที่มีเยอะมากแบบวิชาท่องจำ ประการที่สาม การสอนทฤษฎีดนตรีไทยเน้นการสอนภาคปฏิบัติมากกว่าการสอนภาคทฤษฎีดนตรีไทย ทำให้ผู้เรียนไม่ได้เรียนรู้ในส่วนของเนื้อหาทฤษฎีดนตรีมากเท่าที่ควร

          จากข้อมูลข้างต้นผู้วิจัยเล็งเห็นว่าเนื้อหาทฤษฎีดนตรีไทยนั้นเป็นวิชาที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัด
ตามหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งมีความสำคัญในการที่จะทำให้เด็กสามารถเข้าใจและเข้าถึงหลักการของดนตรีไทยที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในการปฏิบัติและสืบทอดดนตรีไทยได้ในอนาคต โดยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นนั้นเป็นวัยที่เริ่มมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ มีพัฒนาการทางสมองที่จะสามารถค้นหาความรู้และเข้าใจทฤษฎีดนตรีได้ในระดับหนึ่ง และจากการสำรวจพบว่าการสอนเนื้อหาทฤษฎีดนตรีไทยยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้เรียนเท่าที่ควรและผู้เรียนไม่ได้รับความรู้จากวิชาทฤษฎีดนตรีไทยมากเท่าที่ควร ผู้วิจัยจึงเห็นว่าควรจัดทำวิจัยเรื่อง แนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทยสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อจัดทำเป็นแนวทางการสอนที่จะทำให้ครูสอนทฤษฎีดนตรีไทยกับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นให้เหมาะสมกับมาตรฐานการเรียนรู้กำหนดไว้และเป็นแนวทางในการสร้างความน่าสนใจให้แก่ผู้เรียนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและพัฒนาดนตรีไทยได้ในอนาคตต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วัตถุประสงค์

                     เพื่อนำเสนอแนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

วิธีการวิจัย

                    การวิจัยครั้งนี้ดำเนินการวิจัยโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research)
ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนการดำเนินงาน 10 ขั้นตอน ดังนี้

1.   ศึกษาวรรณกรรมและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย

2. ร่างแบบสัมภาษณ์เพื่อการเก็บข้อมูลวิจัยตามวรรณกรรมและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

3. นำร่างแบบสัมภาษณ์ให้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจประเมินหาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (Index of Item- Objective Congruence หรือ IOC)

4. แก้ไขแบบสัมภาษณ์ตามที่ผู้ทรงคุณวุฒิแนะนำ

                     5. เก็บข้อมูลจากครูผู้สอนวิชาทฤษฎีดนตรีไทยระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 3 ท่าน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอนทฤษฎีดนตรีไทย จำนวน 3 ท่าน

                    6. นำข้อมูลที่ได้มาตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (Methodological triangulation) ก่อนการวิเคราะห์ข้อมูล

7. รวบรวมข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอนทฤษฎีดนตรีไทยนำมาวิเคราะห์ข้อมูล

                     8. นำข้อมูลที่ได้มาสังเคราะห์เป็นแนวทางการเรียนการสอนทฤษฎีดนตรีไทย
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

                     9. สรุปแนวทางการจัดการเรียนการสอนทฤษฎีดนตรีไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นโดยวิธีการสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (Analytic induction)

                     10. นำเสนอแนวทางการจัดการเรียนการสอนทฤษฎีดนตรีไทย สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

 

 

 

ผลการวิจัย

          ผู้วิจัยนำเสนอผลการวิจัย โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็น ได้แก่ การกำหนดวัตถุประสงค์ การกำหนดเนื้อหาสาระ รูปแบบวิธีการสอน และการวัดประเมินผล

ผลการวิจัยพบว่าประเด็นที่ 1 การกำหนดวัตถุประสงค์ ครูผู้สอนควรจะกำหนดวัตถุประสงค์ให้มีความชัดเจนและเหมาะกับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

“เน้นให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทักษะทางดนตรีไทย ทั้งการฟัง อ่าน เขียน ให้ผู้เรียนมีความรู้ในเรื่องของดนตรีไทย รวมถึงมีทัศนคติที่ดีต่อ
ดนตรีไทย” (กฤษพงษ์ ทัศนบรรจง, การสื่อสารส่วนบุคคล, 28 ตุลาคม 2563)

และนอกจากนี้การกำหนดจุดประสงค์ “ควรยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางว่านักเรียนระดับชั้นม.ต้น
ควรจะให้รู้อะไรแล้วจึงค่อยกำหนดจุดประสงค์ที่จะใช้ในการสอน” (อัศนีย์ เปลี่ยนศรี, การสื่อสารส่วนบุคคล,
4 พฤศจิกายน 2563) ผู้สอนควรกำหนดจุดประสงค์ให้กับผู้เรียนแต่ละห้องแตกต่างกัน “เช่น ห้องนี้ชอบปฏิบัติ ก็สอนปฏิบัติก่อนที่จะสอนทฤษฎี หรือบางห้องไม่ชอบปฏิบัติก็สอนทฤษฎีก่อน” (ฐานิสร์ พรรณรายน์,
การสื่อสารส่วนบุคคล, 12 ตุลาคม 2563)

สรุปได้ว่าในประเด็นที่ 1 การกำหนดวัตถุประสงค์ ผู้สอนควรจะกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน มีความเหมาะสมกับนักเรียนวัยมัธยมศึกษาตอนต้น ควรจะยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สำรวจความต้องการของผู้เรียนว่าผู้เรียนควรจะเรียนรู้เรื่องอะไร แล้วจึงกำหนดวัตถุประสงค์ ซึ่งในแต่ละห้องอาจจะไม่เหมือนกัน

ประเด็นที่ 2 การกำหนดเนื้อหาสาระ ครูผู้สอนควรจะกำหนดเนื้อหาสาระให้ไม่มาก มีความพอดีและเหมาะสมกับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เรื่องที่ครูควรจะสอนมากที่สุดในวิชาดนตรีไทย คือเรื่องของเสียง ดังที่อาจารย์ ดร.กฤษพงษ์ ทัศนบรรจง ได้กล่าวว่า “เด็กควรจะรู้จักเสียงของเครื่องดนตรี เอกลักษณ์ของดนตรีไทย ควรเพิ่มเรื่องของการฟังดนตรีไทยเข้าไปในเนื้อหาด้วย โดยครูผู้สอนจะต้องเป็นคนหาเนื้อหาสาระที่ถูกต้องและดี มาให้นักเรียนได้ฟัง อาจจะเริ่มจากเพลงง่าย ๆ ก่อนแล้วค่อยขยับไปเพลงที่ยากขึ้น” (กฤษณพงษ์ ทัศนบรรจง, การสื่อสารส่วนบุคคล, 28 ตุลาคม 2563) และรองศาสตราจารย์ ดร.อัศนีย์ เปลี่ยนศรี ยังได้กล่าวอีกว่า

“ผู้เรียนควรจะรู้จักเพลงไทยเดิมเบื้องต้น ควรรู้จักประเภทเพลง ประเภทวงดนตรีไทยและหน้าที่ของวงดนตรีไทย เพลงบังคับทาง เพลงไม่บังคับทางและควรจะรู้ว่าตัวนักเรียนชอบเพลงอะไร ชอบวงดนตรีประเภทไหน และชอบเพลงประเภทไหน” (อัศนีย์ เปลี่ยนศรี, การสื่อสารส่วนบุคคล,
4 พฤศจิกายน 2563)

นอกจากนี้นักเรียนควรจะได้เรียนรู้ในเรื่องของการอ่านโน้ตและเขียนโน๊ตเพลงไทยเบื้องต้นด้วยซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิชฏาลัมพก์ เหล่าวานิช ได้กล่าวว่า “เรื่องของการอ่านโน้ตและเขียนโน้ตเพลงไทยควรทำให้เป็นเรื่องมาตรฐานที่เด็กทำได้เหมือนกับการอ่านออกเขียนได้ในภาษาไทย” (วิชฏาลัมพก์ เหล่าวานิช, การสื่อสารส่วนบุคคล, 24 พฤศจิกายน 2563)

สรุปได้ว่าในประเด็นที่ 2 การกำหนดเนื้อหาสาระ ครูผู้สอนควรจะเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในเรื่องของเสียงของดนตรีไทย วิธีการฟังเพลงไทย ลักษณะเสียงของวงดนตรีไทย ประเภทของเพลงไทยเบื้องต้น โดยเริ่มจากเพลงง่าย ๆ  ผู้เรียนควรสามารถบอกได้ว่าชอบหรือไม่ชอบเพลงประเภทไหน และผู้เรียนควรอ่านโน้ตและเขียนโน้ตเพลงไทยเดิมได้ในระดับเบื้องต้น

ประเด็นที่ 3 รูปแบบวิธีการสอน ครูควรจะมีรูปแบบการสอนที่ลดการสอนบรรยายลงควรเพิ่มกิจกรรมที่เกี่ยวกับการฟังดนตรีให้มากขึ้น

“ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบ active learning เน้นกิจกรรมการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้นอกเหนือจากในหนังสือหรือในตำรา เพราะในยุคนี้การเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และเน้นเนื้อหาที่สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้” (กฤษณพงษ์ ทัศนบรรจง, การสื่อสารส่วนบุคคล, 28 ตุลาคม 2563)

การสอนไม่ควรแยกทฤษฎีออกจากการปฏิบัติ เหมือนที่วิชาอื่น ๆ ทำ จะทำให้เกิดความน่าเบื่อความไม่อยากเรียน ควรแทรกเนื้อหาทฤษฎีดนตรีไทยลงไปทั้งในการเรียนรู้แบบกิจกรรมหรือการปฏิบัติ ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิชฏาลัมพก์ เหล่าวานิช ได้กล่าวว่า “ควรจะทำให้ดนตรีเป็นวิชาที่มีความสุข มีกิจกรรมที่สนุกสนาน น่าสนใจ ไม่ใช่วิชาที่ต้องท่องจำ” (วิชฏาลัมพก์ เหล่าวานิช, การสื่อสารส่วนบุคคล, 24 พฤศจิกายน 2563) ควรเน้นที่การสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนดนตรีไทยก่อนเป็นอันดับแรก ครูมีหน้าที่ต้องสร้างผู้ฟังดนตรีไทยให้มากกว่าสร้างนักดนตรีไทยผ่านการสอนแบบเน้นการฟังเพลง หรือฟังเสียงดนตรีไทย ดังที่รองศาสตราจารย์ ดร. อัศนีย์ เปลี่ยนศรี ได้กล่าวว่า

“ครูต้องสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับดนตรีไทยและการฟังเพลงไทยให้กับเด็กก่อนที่จะสอนทฤษฎีดนตรีไทย อาจจะมีการบูรณาการกับวิชาอื่นๆเข้ามา เช่น การอ่านบทกลอนในวิชาภาษาไทย เป็นต้น” (อัศนีย์ เปลี่ยนศรี, การสื่อสารส่วนบุคคล, 4 พฤศจิกายน 2563)

อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องของสื่อการเรียนรู้ อาจารย์จารึก ศุภพงษ์ ได้กล่าวว่า “ครูควรเพิ่มสื่อการเรียนรู้ที่เป็นของจริงให้กับนักเรียนเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่” (จารึก ศุภพงษ์, การสื่อสารส่วนบุคคล, 14 ตุลาคม 2563)

สรุปได้ว่าในประเด็นที่ 3 รูปแบบวิธีการสอน ผู้สอนควรจะมีรูปแบบการสอนที่ลดการสอนบรรยายลงควรเพิ่มกิจกรรมที่เกี่ยวกับการฟังดนตรีให้มากขึ้น ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบ active learning เน้นเนื้อหาที่สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ควรจะทำให้ดนตรีเป็นวิชาที่มีกิจกรรมที่สนุกสนาน น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ไม่ควรทำให้เป็นวิชาที่ต้องท่องจำและครูควรเพิ่มสื่อการเรียนรู้ที่เป็นของจริงให้กับนักเรียนเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

ประเด็นที่ 4 การวัดประเมินผล นอกจากการใช้ข้อสอบ ภาระงาน หรือแบบฝึกหัดที่ใช้วัดผลแล้วนั้น ครูควรจะมีการวัดผลที่ไม่ใช้ข้อสอบ เช่น “ครูอาจจะเพิ่มวิธีการวัดประเมินผลอื่น ๆ เช่น การสังเกตจากพฤติกรรม การอภิปรายแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับดนตรีไทย หรือการหากิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่วัดผลได้ในเชิงรูปธรรม” (กฤษพงษ์ ทัศนบรรจง, การสื่อสารส่วนบุคคล, 24 พฤศจิกายน 2563)
การวัดผลในเชิงรูปธรรม ตัวอย่างเช่น การวัดประเมินแบบการประเมินสภาพจริง (authentic assessment)

“การวัดประเมินผลตามสภาพจริงคือ การที่ผู้สอนให้โจทย์ไปแล้วก็ดูกระบวนการการทำงานของเขาว่าเขาได้สัมผัสกับดนตรีมั้ย ซึ่งเรื่องพวกนี้จะเกี่ยวข้องกับทฤษฎีอยู่แล้ว เขาต้องรู้การบรรจุเนื้อร้องเพลงไทย
รู้ทำนองเพลง ลักษณะเสียง รู้ว่าวงอังกะลุงต้องนั่งแบบไหน มีกลองแขก มีฉิ่ง ตีกี่ชั้น เขาต้องรู้หมด นี่คือการประเมินผลในขั้นที่นำไปใช้ ไม่ใช่แค่ความรู้ความจำ การวัดประเมินผลอาจจะเป็นการจัดการแสดง มีกรรมการตัดสินผลงานก็ได้” (วิชฏาลัมพก์ เหล่าวานิช, การสื่อสารส่วนบุคคล,
24 พฤศจิกายน 2563)

ทั้งนี้รองศาสตราจารย์ ดร.อัศนีย์ เปลี่ยนศรี   ยังมีความคิดเห็นอีกว่า “ผู้สอนต้องรู้จักการเลือกวิธีการที่ครูจะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับเด็ก ต้องหลากหลาย ปรับเปลี่ยนไปตามกิจกรรมและเนื้อหาเรื่องต่างๆ ไม่ยึดวิธีการเดียวกับเด็กทุกห้อง วิธีการวัดผลควรจะต้องปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้” (อัศนีย์ เปลี่ยนศรี, การสื่อสารส่วนบุคคล, 4 พฤศจิกายน 2563)

สรุปได้ว่าในประเด็นที่ 4 การวัดประเมินผล ผู้สอนควรมีวิธีการวัดประเมินผลที่หลากหลาย ปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นไปตามเนื้อหาและกิจกรรม และผู้เรียน ไม่ควรใช้วิธีการเดียวกันกับเด็กในทุกห้อง วิธีการประเมินผลที่ควรใช้ เช่น การสังเกตพฤติกรรม การสัมภาษณ์ เน้นการแสดงความคิดเห็นและการอภิปรายในชั้นเรียน หรือการประเมินผลสภาพจริง (authentic assessment)

 

อภิปรายผล

          การวิจัยเรื่องแนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทย สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทยสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

          ผลการวิจัยพบว่า แนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทย สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบด้วย 4 หัวข้อ คือ การกำหนดจุดประสงค์ การกำหนดเนื้อหาสาระ การกำหนดรูปแบบวิธีการสอน และการวัดประเมินผลการเรียนสอน โดยแต่ละหัวข้อมีข้อมูลดังนี้

การกำหนดจุดประสงค์ ควรกำหนดให้ชัดเจน ควรเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง กำหนดจุดประสงค์
การเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ประโยชน์และมีพัฒนาการทางดนตรีไทยให้ครบทุกด้านทั้งด้านทักษะ ด้านความรู้และด้านทัศนคติ สอดคล้องกับ สิทธิพร สวยกลาง (2553) ได้ทำการวิจัยเรื่องการนำเสนอแนวทางการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตกในหลักสูตรดนตรีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ผลการวิจัยพบว่า
ในด้านการกำหนดวัตถุประสงค์ ควรกำหนดให้ผู้เรียนมีทักษะครบทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านพุทธิพิสัย
ด้านทักษะพิสัย และ ด้านจิตพิสัย ซึ่งผู้วิจัยมีความคิดเห็นว่า การกำหนดจุดประสงค์ควรเป็นไปตามที่ผลการวิจัยที่สรุปได้ คือ ควรกำหนดจุดประสงค์ให้ชัดเจนและเน้นพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน
เช่น กำหนดวัตถุประสงค์ให้ผู้เรียนมีความรู้ในเรื่องของการฟังเพลงไทย สามารถแยกเสียงเครื่องดนตรีไทยจากเพลงที่ได้ยินได้ และมีทัศนคติที่ดีต่อดนตรีไทย

การกำหนดเนื้อหาสาระ ต้องไม่มากและยากเกินไป ควรกำหนดให้เหมาะสมกับวัยมัธยมศึกษาตอนต้น สอดคล้องกับทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบรูนเนอร์ (Bruner, 1956)  ที่กล่าวว่า “ผู้สอนควรจัดโครงสร้างของความรู้ให้มีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับระดับขั้นพัฒนาสติปัญญาของผู้เรียน” ควรจะต้องรู้จักเรื่องของวงดนตรีไทย หน้าที่ของแต่ละวง เพลงไทยเดิมเบื้องต้น และควรมีการฝึกฟังเพลงควรจะต้องรู้เรื่องของเสียง เอกลักษณ์ของดนตรีไทย สอดคล้องกับทฤษฎีการสอนดนตรีของออร์ฟ (Carl Orf ,1982)
ที่กล่าวไว้ว่า “วิธีการพื้นฐานของออร์ฟคือมีการสำรวจเกี่ยวกับเสียง ให้ผู้เรียนเริ่มเรียนรู้เสียงต่าง ๆ รอบตัว รวมถึงเสียงของเครื่องดนตรี คุณลักษณะและคุณสมบัติของเสียงดนตรี” และเน้นการอ่านโน้ต การบันทึกโน้ตทางดนตรี  โดยเริ่มจากเพลงง่าย ๆ ไปจนถึงเพลงที่ซับซ้อน สอดคล้องกับแนวคิดของโคดาย (Zoltan Kodaly , 1967) ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า “วิธีการของโคดายมีลักษณะเป็นระบบระเบียบ เป็นขั้นตอน วิธีการนี้เริ่มด้วยแนวคิดที่ง่ายและไม่ซับซ้อนก่อน กล่าวคือ การใช้หลักการของการเรียนจากส่วนย่อยไปสู่ส่วนใหญ่” ซึ่งผู้วิจัยมีความคิดเห็นเป็นทางเดียวกับผลการวิจัย คือ ควรให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องของเสียงของเครื่องดนตรีไทย และการฟังดนตรีไทย โดยเริ่มจากเพลงง่าย ๆ เช่น เพลงสองชั้นอย่างเพลง สร้อยลำปาง ที่มีวรรคซ้ำ เพลงที่มีสำเนียงภาษาและจังหวะสนุกสนาน กระชับ เช่น กระต่ายเต้น ต้นวรเชษฐ์ สองฝั่งโขง กราวตลุง เป็นต้น ไม่ควรเป็นเพลงเถา เพลงเรื่อง เพลงตับ เช่น เพลงสารถี เพลงเรื่องพระรามเดินดง ที่มีความยาวและมีความซับซ้อน

นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังมีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมีการสอดแทรกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของวัยมัธยมศึกษาตอนต้น ตามทฤษฎีของโรเบิร์ต ฮาวิกเฮิร์ส (Robert havighurst ,1972) ได้กล่าวไว้ว่า
“วัยมัธยมศึกษาตอนต้น มีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์อันดี จะเริ่มมีการสนใจในเพศตรงข้าม
และสนใจในความรัก” ผู้วิจัยจึงเห็นว่า อาจจะเพิ่มการสอนเพลงในดนตรีไทยที่กล่าวถึงความรัก
เช่น เพลงแขกมอญบางช้าง สองชั้น เขมรพวง สองชั้น เป็นต้น

การกำหนดรูปแบบวิธีการสอน ควรสอนแบบสอดแทรกทฤษฎีดนตรีไทยเข้าไปในการฟังดนตรีไทยและการสอนปฏิบัติ ลดการสอนแบบบรรยายและเพิ่มการสอนแบบ active learning ที่เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน สร้างสุนทรียะ และเข้ากับชีวิตประจำวันของผู้เรียน  สอดคล้องกับทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบรูนเนอร์ (Bruner, 1956) ที่กล่าวไว้ว่า

“ผู้สอนควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดการค้นพบความรู้ด้วยตนเองโดยเฉพาะการสร้างความคิดรวบยอดในสิ่งที่เรียนอย่างเหมาะสมตามขั้นของพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีและเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย”  (Bruner, 1956)  

          ซึ่งผู้วิจัยมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกับผลการวิจัย คือ ผู้สอนควรมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมเรื่องของดนตรีไทยและมีความน่าสนใจสนุกสนาน เช่น การร้องเพลง การทำกิจกรรมเข้ากลุ่ม การสร้างกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ทดลองหรือหาคำตอบด้วยตนเอง

วิธีการวัดประเมินผล นอกจากการใช้ข้อสอบ ควรจะมีการเพิ่มวิธีการสัมภาษณ์ การสังเกตจากพฤติกรรม การอภิปรายความคิดเห็นและใช้การประเมินผลตามสภาพจริง (authentic assessment) ซึ่งเป็นการประเมินผลในขั้นนำไปใช้ สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ของเบนจามิน บลูม (Bloom et al, 1956)
ได้กล่าวว่า “ขั้นการนำความรู้ไปใช้ เป็นขั้นที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ประสบการณ์ไปใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ จึงจะสามารถนำไปใช้ได้”

ซึ่งผู้วิจัยมีความคิดเห็นว่า วิธีการวัดประเมินผลในขั้นนำไปใช้ เป็นวิธีที่ควรเกิดขึ้นจริงในชั้นเรียน ผู้สอนควรลดการทำข้อสอบ ซึ่งเป็นการวัดประเมินผลในขั้นความรู้ความจำ แต่ควรเน้นการทำงาน ฝึกกระบวนการคิดวางแผน สร้างระบบในสมองให้เด็กตั้งแต่ช่วงวัยมัธยมศึกษาตอนต้น

 

ข้อเสนอแนะ

          ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า แนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทย สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่ครูผู้สอนและผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น ควรมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพัฒนาแนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทย สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ให้เป็นรูปธรรมและเผยแพร่แนวทางการสอนให้เป็นมาตรฐานการสอนที่มีคุณภาพสำหรับครูผู้สอนวิชาทฤษฎีดนตรีไทยต่อไปในอนาคต

          ในส่วนของการทำวิจัยเพิ่มเติม ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่าควรจัดทำวิจัยเรื่อง แนวทางการสอนวิชาประวัตศาสตร์ดนตรีไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือแนวทางการสอนทฤษฎีดนตรีไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษาตอนปลายในอนาคต

 

รายการอ้างอิง

ภาษาไทย

กระทรวงศึกษาธิการ. (2553). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ:
          โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

บุญช่วย โสวัตร. (2539). ทฤษฎีดุริยางค์ไทย. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์.

พิชิต ชัยเสรี. (2559). สังคีตลักษณ์วิเคราะห์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

แพง ชินพงษ์. (2559, 12 มกราคม). ครูแนะปรับวิธีสอน 3 ช่วงวัย “อนุบาล-ประถม-มัธยม”.สถาบันวิจัยการเรียนรู้ (Learning Research Institute). https://lri.co.th/news_detail.php?news_id=326

มนธวัช จำปานิล. (2555). แนวทางการสอนรายวิชาด้านสุนทรียศาสตร์ในบริบทของทัศนศิลป์และดนตรีสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. Chulalongkorn University Intellectual Repository (CUIR). https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42236

ศราพงศ์ อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา. (2553). การนำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาดนตรีสำหรับเด็ก ปฐมวัยของครูในโรงเรียนเอกชน [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. Chulalongkorn University Intellectual Repository (CUIR). https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/59366

สุภัชชา โพธิ์เงิน. (2554).  การนำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาดนตรีสำหรับนักเรียนระดับชั้น ประถมศึกษา  ปีที่ 4 – 6 [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. Chulalongkorn University Intellectual Repository (CUIR). https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/29586