แนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนของสถาบันอุดมศึกษาผ่านการบริการวิชาการ กรณีศึกษา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปอาหารทะเลบ้านกระช้าขาว

บทคัดย่อ

               การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนผ่านพันธกิจการบริการวิชาการเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินให้สำเร็จได้อย่างยั่งยืน  ผ่านการวิเคราะห์ปัญหาของวิสาหกิจชุมชนนั้นๆ กรณีศึกษา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปอาหารทะเลบ้านกระช้าขาว เป็นวิสาหกิจฯ ที่มีภูมิปัญญาและต้นทุนเดิมของประธานวิสาหกิจฯ และมีศักยภาพสร้างผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้คัดเลือกเป็นสินค้า  OTOP จังหวัดสมุทรสาคร แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของการบริหารจัดการที่ไม่สามารถยกระดับให้วิสาหกิจฯ เมื่อวิเคราะห์ตามปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของธุรกิจชุมชน พบปัญหาด้านการเงิน  การตลาด การผลิต การบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของสมาชิก พบว่าการแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยองค์ความรู้จากหลายศาสตร์ ดังนั้น การบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยจึงควรอาศัยการบูรณาการร่วมหลายศาสตร์ในการพัฒนาวิสาหกิจฯ ให้ยั่งยืนได้ภายใต้การบริหารจัดการภายในของสถาบันอุดมศึกษา

 

คำสำคัญ  :  พัฒนาวิสาหกิจ, การบริการวิชาการ, วิสาหกิจชุมชน

 

บทนำ

               พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548  ให้ความหมายของ วิสาหกิจชุมชน หมายถึง กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการหรือการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปอาหารทะเลบ้านกระช้าขาว ตำบลบางบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ดำเนินธุรกิจจำหน่ายกะปิ  ผลิตภัณฑ์จากกะปิ และผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปทุกชนิด  ซึ่งผลิตภัณฑ์กะปิเคย จากชุมชนนี้ได้รับการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP เด่น จังหวัดสมุทรสาคร (Provincial Star OTOP : PSO) ปี พ.ศ. 2562  และมีผลิตภัณฑ์บางส่วนได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

               นางธัญภัทร โพธิ์ร่มไทร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯบ้านกระช้าขาว  ให้ข้อมูลว่า สินค้าปัจจุบันจะขายที่ตลาดน้ำวัดพันท้าย  และตลาด ณ ที่ว่ากรอำเภอเมืองสมุทรสาคร  บรรจุภัณฑ์ได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนเทคนิคสมุทรสาคร  แต่ในส่วนโลโก้นั้นได้ออกแบบกันเอง 

ปัญหาที่พบในการดำเนินกิจการวิสาหกิจขณะนี้คือ  การเข้าถึงแหล่งทุนที่ต้องดำเนินการในนามวิสาหกิจ  แต่เนื่องจากสมาชิกในวิสาหกิจไม่สะดวกในการดำเนินธุรกรรมกับธนาคาร ทำให้ต้องดำเนินธุรกรรมทางการเงินในนามบุคคล นอกจากนี้ ข้อมูลด้านกระบวนการจัดสร้างหรือปรับปรุงสถานที่การผลิตให้เป็นไปตามเกณฑ์  เช่น  การเขียนแบบแปลนสถานที่ผลิตอาหาร  เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาและจัดทำขึ้นเอง

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ  และการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่  เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนสามารถดูแลตนเองได้  แต่การพัฒนาดังกล่าวจะติดขัดในบางประเด็นปัญหาที่ส่งผลต่อการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในระยะยาว ในการพัฒนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจของมหาวิทยาลัยของรัฐในหลายแห่งผ่านกระบวนการบริการวิชาการ ดังนั้น แนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนโดยมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้อย่างเป็นระบบ จากกรณีศึกษาปัญหาของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปอาหารทะเลบ้านกระช้าขาว นำมาสู่การวิเคราะห์ถึงแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนผ่านการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย

 

แนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนผ่านการบริการวิชาการ

               เมื่อพิจารณาจากประเด็นปัญหาที่พบจากการดำเนินกิจการวิสาหกิจชุมชนฯ ประกอบกับปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของธุรกิจชุมชน ดังนี้ (ณรงค์ เพ็ชรประเสิรฐ อ้างถึงใน จักรพงศ์ นวลชื่น, 2560, หน้า 8)

               1.  ปัจจัยด้านการเงิน  โดยแหล่งที่มาของเงินทุนสำหรับประกอบการธุรกิจชุมชนมี 3 แหล่งได้แก่ เงินทุนของตนเอง  เงินทุนจากแหล่งเงินกู้  และเงินทุนจากการระดมทุน  เป็นแหล่งการเงินที่สร้างโอกาสในการเจริญเติบโตของธุรกิจได้ดีกว่าเงินทุนจากการกู้ยืมเงิน

               ปัญหาที่ทางวิสาหกิจชุมชนฯ นี้พบคือ  การที่สมาชิกไม่มีความพร้อมในการมอบเงินระดมทุน ส่งผลให้การพัฒนาวิสาหกิจฯ ขาดความต่อเนื่อง เนื่องจากต้องอาศัยผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจมาพัฒนา 

               2.  ปัจจัยด้านการตลาด  วิสาหกิจชุมชนต้องมีตลาดรองรับผลผลิตของตนเอง  มีกลุ่มลูกค้าที่พอเพียงและเป็นลูกค้าประจำ โดยต้องรู้จักแหล่งขายและวิธีการขาย  การตลาดถือว่าเป็นตัวนำการผลิต

               ปัจจัยนี้ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์วิสาหกิจฯ ไม่มากเนื่องจากสินค้าได้รับการสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายจากภาครัฐ  และได้มีการเปิดร้านบริเวณตลาดตามแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสมุทรสาคร นอกจากนี้ยังมีการสั่งสินค้าจากลูกค้าเดิมผ่านทางโทรศัพท์หรือช่องทางออนไลน์  ทำให้ความสามารถในการกระจายสินค้ายังคงมีความแข็งแรง  และส่งผลให้กระบวนการผลิตยังดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง

               3.  ปัจจัยด้านการผลิต การผลิตของวิสาหกิจชุมชนที่จะประสบผลสำเร็จต้องสอดคล้องกับโอกาสทางการตลาดและผลผลิตต้องเป็นที่ต้องการของตลาด

               วิสาหกิจฯ บ้านกระช้าขาว มีสถานที่ผลิตสินค้าประเภทกะปิที่ได้รับมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  แต่ผลิตภัณฑ์น้ำกะปิหมักประสบปัญหาเรื่องของวัตถุดิบที่ขาดความแน่นอน และสถานที่ผลิตที่ต้องปรับปรุงให้ได้รับมาตรฐาน ซึ่งต้องอาศัยงบประมาณในการปรับปรุงสถานที่ให้เหมาะสมตามเกณฑ์มาตรฐาน  จึงสอดล้องกับปัญหาปัจจัยด้านการเงิน

               4.  ปัจจัยด้านการบริหารจัดการ การบริหารงานเกี่ยวกับวิสาหกิจชุมชนแบ่งเป็น 3 ด้าน ซึ่งแต่ละด้านมีอิทธิพลต่อความสำเร็จวิสาหกิจ ดังนี้

                              4.1 การจัดการด้านการเงิน วิสาหกิจชุมชนต้องมีความสามารถในการระดมและสะสมทุนที่นำมาใช้ในการดำเนินงาน  วิสาหกิจชุมชนบ้านกระช้าขาว มีจุดอ่อนในด้านของการระดมทุน  แต่มีจุดแข็งที่การจัดการทางด้านบัญชีที่ชัดเจน  และจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้ามีการใช้ระบบสารสนเทศเข้ามาช่วยบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชี

                              4.2 การจัดการด้านระบบงาน วิสาหกิจชุมชนต้องมีโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน มีการแบ่งหน้าที่กันทำ และมีการตรวจสอบควบคุมอย่างเป็นระบบ 

                              4.3 การจัดการด้านระบบบุคลากร ผู้บริหารและสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนต้องใช้ระบบสั่งการ การบังคับบัญชาที่เข้มแข็งจริงจัง ส่วนด้านคุณสมบัติของผู้บริหารและสมาชิกเองนั้นต้องเป็นผู้มีคุณธรรมและความเสียสละด้วย  ซึ่งการบริหารบุคลากรของวิสาหกิจฯ แห่งนี้ ได้มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบตามโครงสร้างของวิสาหกิจ  โดยมีประธานวิสาหกิจเป็นผู้กำกับดูแล

               5.  ปัจจัยด้านผู้นำ  จากการศึกษาพบว่าวิสาหกิจชุมชนที่ก่อตั้งโดยบุคคลที่ประสบผลสำเร็จในอาชีพ หรือโดยคณะบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน การระดมทุนจะทำได้ง่ายกิจการขยายตัวได้รวดเร็ว และมีโอกาสในการประสบความสำเร็จสูง แต่เนื่องจากวิสาหกิจชุมชนบ้านกระช้าขาว ก่อตั้งจากประธานฯ ที่มีความรู้ด้านการทำกะปิ และมีสูตรการทำกะปิอีกทั้งสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าของจังหวัดสมุทรสาครได้ ส่งผลให้ตัวผู้นำได้รับการยอมรับและสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการในลักษณะวิสาหกิจชุมชน

               6.  ปัจจัยด้านการมีส่วนร่วมของสมาชิก การเกิดขึ้นการคงอยู่และการเติบโตที่ยั่งยืนของวิสาหกิจชุมชน ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของชุมชน กล่าวคือ สมาชิกต้องร่วมกันคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมกันทำงานและร่วมรับผิดชอบ ซึ่งวิสาหกิจชุมชนฯ บ้านกระช้าขาวประกอบด้วยคณะกรรมการดำเนินงาน  ซึ่งเริ่มต้นสมาชิกจากคนในครอบครัวและสมาชิกในชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินกิจการ

 

               จากประเด็นปัญหาที่พิจารณาตามกรอบปัจจัยความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชน  ประกอบกับแนวทางการพัฒนาคนของสถาบันอุดมศึกษา ที่เสนอความเห็นไว้ว่า การศึกษา เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ  และประเทศกำลังเข้าสู่สังคมที่ต้องเชื่อมต่อกับภาคเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม รวมทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาศักยภาพคนให้มีความทันสมัยสอดคล้องในการขับเคลื่อนประเทศ  และในพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษาด้านการบริการวิชาการแก่สังคม  ระบุให้มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริการทางวิชาการด้วยมิติต่างๆ มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่ตอบโจทย์การพัฒนาได้ตามความต้องการของสังคม โดยเฉพาะอุตสาหกรรม 4.0 หรือการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ให้ผู้คนในชุมชน ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้จากนักวิชาการและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในการดำเนินการบริการโดยไม่คิดมูลค่าเป็นตัวเงิน การบริการนี้สามารถสร้างคน สร้างงานและสร้างเงินให้ชุมชนได้ โดยเฉพาะการเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาล 9 (พระวิระพันธ์ ติกฺชปญฺโญ, 2562)

               สิ่งที่มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาหรือยกระดับวิสาหกิจชุมชนให้มีความแข็งแรงขึ้นได้ผ่านพันธกิจบริการวิชาการที่ต้องมีการบูรณาการศาสตร์เข้ามาพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบ  ได้แก่

               1.  ปัจจัยทางด้านการเงิน การให้ความรู้ด้านวินัยทางการเงินให้แก่สมาชิกชุมชน เพื่อให้ทุกคนมีศักยภาพทางการเงิน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันทางการเงิน และสามารถสนับสนุนกิจการของวิสาหกิจชุมชนได้ในเวลาเดียวกัน การเพิ่มศักยภาพทางการเงินทำได้โดย

                              1.1 การให้ความรู้เรื่องบัญชีครัวเรือน  จะช่วยให้สมาชิกในชุมชนลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทำให้เกิดการประหยัดและการออม  และในที่สุดจะสามารถแก้ปัญหาหนี้สิน (ภัทรา เรืองสินภิญญา, 2555) เมื่อสมาชิกในชุมชนสามารถบริหารจัดการเงินของตนเองได้และมีเงินเก็บ การจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนก็จะสามารถกระทำได้ ซึ่งจะแลกกับผลตอบแทนที่เหมาะสมอันเป็นลักษณะของการลงทุนร่วมกัน

                              1.2 การให้ความรู้ด้านการเงินและระบบธนาคาร เพื่อให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนและรวมถึงสมาชิกชุมชนทั่วไปสามารถนำความรู้ไปใช้ในการบริหารจัดการตนเองและวิสาหกิจชุมชนที่ตนเองได้เป็นสมาชิก นอกจากนี้ เป็นการลดการก่อหนี้นอกระบบของสมาชิกในชุมชน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของปัญหาหนี้สินที่เป็นภาระต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันจะส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนของตน

               2.  ปัจจัยทางด้านการตลาด การแก้ปัญหาด้านการตลาด มหาวิทยาลัยสามารถบูรณาการศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสามารถดำเนินการได้  อาทิเช่น

                              2.1 หลักสูตรด้านการตลาด  มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดให้มีการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหรือให้คำปรึกษาด้านแผนการตลาด  ผ่านนักวิชาการหรือกิจกรรมของนักศึกษา  ซึ่งจะช่วยให้วิสาหกิจชุมชนมีแผนการตลาดของตนเอง อีกทั้งมีความรู้ถึงแนวทางในการจัดการสินค้าของตนเองไปยังกลุ่มเป้าหมาย

                              2.2 หลักสูตรด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การให้คำปรึกษาในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจฯ   อีกทั้งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวสินค้าและแบรนด์

                              2.3 หลักสูตรด้านการโฆษณาหรือสื่อสารการตลาด เป็นการสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน ช่วยสร้างความต่อเนื่องให้กับการซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ซ้ำๆ เกิดรายได้เข้าวิสาหกิจฯ อย่างต่อเนื่อง การเปิดโอกาสให้นักศึกษาและผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจ จึงเปรียบเสมือนการสร้างสนามงานจริงให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในทางอ้อม

               การให้ความรู้ ความเข้าใจด้านการตลาดให้แก่วิสาหกิจชุมชน จะเป็นการลดภาระของภาครัฐที่ต้องมีการสนับสนุนช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มวิสาหกิจฯ ในพื้นที่อยู่เสมอ  การให้ความรู้จะช่วยให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจมีองค์ความรู้ที่จะพัฒนาให้วิสาหกิจฯ ของตนเองดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพิงช่องทางการตลาดของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้วิสาหกิจฯ นั้นเติบโตเป็นธุรกิจขนาดกลางได้ในระยะต่อไป

               3.  ปัจจัยด้านการผลิต ปัญหาที่พบจากวิสาหกิจฯ บ้านกระช้าขาวคือ การที่จะต้องปรับปรุงสถานที่การผลิตให้มีมาตรฐานรองรับกับผลิตภัณฑ์สินค้าอื่นเพิ่มเติมเพื่อขยายตลาดสินค้าของวิสาหกิจฯ การเข้ามามีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยสามารถให้บริการวิชาการต่อชุมชนและรวมถึงสังคมได้  เช่น

                              3.1 การให้บริการด้านแผนผังการสร้างอาคารหรือสถานที่ผลิตที่ตรงตามมาตรฐาน ในลักษณะข้อมูลเปิด (Open Data) ให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้หรือขอคำปรึกษาไปยังมหาวิทยาลัยกับหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจารย์สามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาของตนเองในการให้คำปรึกษาหรือร่วมพัฒนาแบบแปลนให้เหมาะกับแต่ละวิสาหกิจฯ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับวิสาหกิจฯ และช่วยให้นักศึกษาได้เพิ่มทักษะและมีประสบการณ์จริงในการทำงาน

                              นอกจากนี้ การสร้างฐานข้อมูลเปิดของกลุ่มมหาวิทยาลัยฯ จะช่วยแก้ปัญหาของวิสาหกิจฯ ในภาพรวมที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการสร้างแบบแปลนสถานที่ผลิตสินค้าของตนเอง ทำให้ช่วยแก้ปัญหาการขาดองค์ความรู้ด้านพัฒนาศักยภาพการผลิต ผลที่เกิดขึ้นคือ วิสาหกิจฯ จะขยายตัวเป็นธุรกิจขนาดกลางได้ในระยะต่อไป

                              3.2  การให้บริการด้านคำปรึกษาการพัฒนาอาหาร ในวิสาหกิจฯ ด้านการแปรรูปอาหาร เช่น กลุ่มหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์อาหาร (Food Science) ในการพัฒนาสูตรอาหารให้มีความเหมาะสมและตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของผู้ประกอบการเพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ หรือการกำหนดโจทย์ปัญหาในการสร้างนวัตกรรม  เช่น การพัฒนาสูตรกะปิสำหรับผู้ป่วยโรคไต  หรือการสร้างแปรรูปกะปิสำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น จากตัวอย่างดังกล่าวจะเป็นการสร้างโจทย์ปัญหาของวิสาหกิจฯ ให้ต้องทำงานร่วมกับนักวิชาการ โดยการผลิตนี้จะสัมพันธ์กับการตลาดที่ต้องให้คำปรึกษาด้านการเจาะตลาดเป้าหมายรวมถึงการสื่อสารการตลาดที่จะสร้างการรับรู้ต่อผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น

                              รูปแบบการแก้ปัญหาที่อาศัยการทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมายเดียวกัน (Dependent Collaboration) แต่มีการทำงานจากสถานที่ต่างกัน  สาขาต่างกัน  เวลาต่างกัน  แต่งานของแต่ละส่วนมีผลต่อกันและกัน จึงจำเป็นต้องสื่อสารถึงกันและกัน ทั้งในแผนกเดียวกันหรือต่างแผนกกัน และหมายความรวมถึงองค์กรเดียวกันหรือต่างองค์กรกัน ในแต่ละโครงการ โดยกระจายงานให้แต่ละคนตามที่ถนัด มีหัวหน้าทีม และมีการทำงานเป็นทีม (Teamwork) (รัน ธีรัญญ์, 2561) การทำงานในลักษณะนี้ ต้องอาศัยความเข้าใจในการทำงานร่วมกันอย่างมาก และบางครั้งอาจไม่สอดคล้องกับการบริหารจัดการในระบบมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจต้องมีการกำหนดกติกาการทำงานในแต่ละโครงการเพื่อให้การทำงานสามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น

               จากที่กล่าวมา แนวทางการแก้ปัญหาด้านการผลิตผ่านการให้บริการวิชาการของมหาวิทยาลัยนั้น สามารถทำได้โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของนักวิชาการและผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนโดยมีเป้าหมายการทำงานร่วมกัน มีการทำฐานข้อมูลกลางในลักษณะข้อมูลเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้ได้ในเบื้องต้น  โดยจากแนวทางที่ได้กล่าวมานั้น  บูรณาการเข้ากับกรณีศึกษาวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารฯ สามารถสรุปแนวทางการแก้ปัญหาได้เป็น 3 ระยะ คือ

               ระยะที่หนึ่ง  มหาวิทยาลัยเป็นคนกลางในการสร้างแบบแปลนสถานที่ผลิตอาหารให้แก่วิสาหกิจชุมชนบ้านกระช้าขาว  เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้แบบแปลนนั้นในการประเมินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างปรับปรุง  และยื่นเพื่อขอเกณฑ์มาตรฐานให้แก่ผลิตภัณฑ์น้ำกะปิหมักที่พบปัญหาเรื่องมาตรฐานการผลิตที่ยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของ อย.

               ระยะที่สอง  ด้วยการที่น้ำกะปิหมักเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่อาศัยภูมิปัญญาของสมาชิกในวิสาหกิจฯ คิดและพัฒนา มหาวิทยาลัยสามารถให้นักวิชาการอาหารเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้นหรือมีความคงที่มากขึ้นในกระบวนการผลิตด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามาถให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อสร้างประสบการณ์ได้

               ระยะที่สาม  เมื่อผลิตภัณฑ์สามารถผลิตได้อย่างมีมาตรฐานแล้ว จะเป็นการให้คำปรึกษาและให้ความรู้ด้านการทำการตลาด การวางแผนการตลาด ควบคู่กับการออกแบบบรรจุภัณฑ์และตราสินค้าเพื่อโฆษณาหรือสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ต่อกลุ่มผู้บริโภค

               จากแนวทางการแก้ปัญหาทั้ง 3 ระยะจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยต้องมีการบูรณาการศาสตร์ภายในและการบริหารจัดการที่ต้องทำงานร่วมกับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหาและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มมีมูลค่าเพิ่ม อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจฯ นั้นมีรายได้มากขึ้น สมาชิกในวิสาหกิจก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

               4.  ปัจจัยด้านการบริหารจัดการ  จากประเด็นปัญหาที่ค้นพบเบื้องต้นสามารถวิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหาได้ดังต่อไปนี้

                              4.1  การจัดการด้านการเงิน  ประเด็นนี้เป็นประเด็นต่อเนื่องจากปัจจัยด้านการเงินที่ได้กล่าวไปข้างต้น ที่เป็นผลมาจากสมาชิกของวิสาหกิจขาดศักยภาพทางการเงินที่จะเข้ามาสนับสนุนกิจการของวิสาหกิจฯ แห่งนี้  และในด้านของการทำบัญชีครัวเรือน มหาวิทยาลัยสามารถมอบหมายให้กลุ่มหลักสูตรด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ดำเนินการสร้างโปรแกรม (Software) หรือแอปพลิเคชัน (Application) ที่เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยใช้ในการแนะนำให้คำปรึกษาหรือให้บริการแก่ชุมชนอื่นได้เช่นกัน

                              4.2  การจัดการด้านระบบงาน แม้ว่าจะไม่พบประเด็นปัญหาจากวิสาหกิจฯ บ้านกระช้าขาว แต่มหาวิทยาลัยสามารถจัดอบรมให้ความรู้ถึงวิธีการบริหารจัดการองค์กรหรือวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพให้กับธุรกิจ

                              4.3  การจัดการด้านระบบบุคลากร  ด้วยการที่วิสาหกิจชุมชนฯ แห่งนี้มีประธานวิสาหกิจที่มีความรู้ด้านการแปรรูปอาหารเป็นผู้นำ  และเมื่อพิจารณาจากสมาชิกวิสาสหกิจที่ส่วนมากเป็นสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้การดำเนินกิจการเป็นไปในรูปแบบของธุรกิจครอบครัว การบริหารบุคลากรจึงไม่มีความซับซ้อน แต่ปัจจัยในข้อนี้มหาวิทยาลัยสามารถให้คำปรึกษาด้านแนวทางการพัฒนาบุคลากร เปลี่ยนให้บุคลากรที่มีลักษณะเป็นแรงงานทั่วไป เป็นแรงงานที่มีทักษะความชำนาญเพื่อจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารวิสาหกิจและช่วยพัฒนาวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

               ปัจจัยในด้านการบริหารจัดการนี้ สามารถพัฒนาได้ด้วย 2 สิ่งนั่นคือ การใช้องค์ความรู้เข้าไปพัฒนาบุคลากรในวิสาหกิจ และการใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยกำกับการดำเนินธุรกิจให้มีความราบรื่น และรวมไปถึงช่วยให้ตัวบุคคลในวิสาสหกิจได้มีศักยภาพด้านการเงินสูงขึ้นด้วย

               5.  ปัจจัยด้านผู้นำ วิสาหกิจชุมชนฯ บ้านกระช้าขาวมีประธานวิสาหกิจเป็นผู้เริ่มต้นดำเนินธุรกิจก่อนจะก่อตั้งเป็นวิสาหกิจฯ ที่ประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับในชุมชน มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองเป็นสินค้า OTOP และมีผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน อย. ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความสามารถของผู้นำ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาศักยภาพตัวบุคคลหรือผู้นำได้  ผ่านการจัดอบรมสัมมนาโดยการใช้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญหรือเป็นคนกลางเชิญนักธุรกิจมาถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้หรือมุมมองให้กับประธานวิสาหกิจ

               6.  ปัจจัยด้านการมีส่วนร่วมของสมาชิก  การจะสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกได้  จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพตัวบุคคลอย่างน้อย 2 ด้าน คือ ศักยภาพด้านการเงินหรือวินัยทางการเงินส่วนบุคคล  และศักยภาพการทำงานหรือทักษะวิชาชีพ  เมื่อสมาชิกมีความสามารถทางการเงิน  การสนับสนุนและการมีส่วนร่วมต่อวิสาหกิจฯ ของตนเองจะสามารถกระทำได้  และเมื่อสมาชิกมีทักษะทางวิชาชีพที่สามารถมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาความสามารถทางการผลิต หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้แก่วิสาหกิจฯ ของตน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพของวิสาหกิจชุมชนฯ ได้อย่างยั่งยืน

 

สรุป

               แนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนผ่านการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย ควรเริ่มจากมหาวิทยาลัยมีการบริหารจัดการให้หน่วยงาน และหลักสูตรสามารถทำงานร่วมกันบนเป้าหมายของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ที่ต้องการยกระดับกิจการให้มีมาตรฐานหรือประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการพัฒนาตัวบุคคลหรือสมาชิกของชุมชน เริ่มจากการสร้างวินัยทางการเงินให้กับตัวบุคคล อันจะช่วยให้บุคคลนั้นมีศักยภาพทางการเงินในระดับที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันทางการเงินที่มีกฎระเบียบในการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป และสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมการดำเนินงานขอวิสาหกิจชุมชน ที่ต้องการให้สมาชิกมีส่วนร่วมกับการพัฒนา นอกจากนี้ การพัฒนาทักษะวิชาชีพจะช่วยให้สมาชิกของชุมชนมีศักยภาพในการทำงานและสามารถช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้วิสาหกิจชุมชนที่ตนเองเป็นสมาชิก จึงเปรียบเสมือนการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินกิจการวิสาหกิจชุมชนนั้นเช่นกัน

               นอกจากนี้  การพัฒนาผู้นำให้มีวิธีคิดทางธุรกิจ มีแผนการตลาดและมีแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญต่อการยกระดับวิสาหกิจชุมชนของตนเอง ดังนั้น การสนับสนุนการฝึกอบรมโดยนักวิชาการ และนักธุรกิจจะช่วยเปิดมุมมองให้กับผู้นำวิสาหกิจได้ มหาวิทยาลัยควรทำหน้าที่เป็นสื่อกลางนำนักธุรกิจและผู้ประกอบการวิสาหกิจเข้าแลกเปลีย่นเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน

               กลไกการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนนี้ มหาวิทยาลัยควรมีศูนย์กลางในการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการและประสานงานกับหน่วยงานและนักวิชาการภายในมหาวิทยาลัยเพื่อให้การพัฒนาวิสาหกิจตรงเป้าหมายของผู้ประกอบการมากที่สุด ซึ่งการทำงานนี้ต้องเป็นการบูรณาการศาสตร์ร่วมกันอย่างมีลำดับขั้นตอน มีความเชื่อมโยงการทำงานซึ่งกันและกันในรูปแบบ Team Work การบริหารจัดการด้านนี้จะช่วยยกระดับมหาวิทยาลัยในการบริการวิชาการ และช่วยให้การเข้าไปพัฒนาวิสาหกิจชุมชนตรงเป้าหมายและสอดรับกับความต้องการของผู้ประกอบการมากที่สุด

———-

นำเสนอ.  งานประชุมวิชาการ IMMS 2020  วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม 2563
[Proceeding  IMMS2020]

 

ผู้เขียน

ประภวิษณุ์ พนัสทรัพย์สุข[1], พัชนี แสนไชย[2], ผศ.อารยา วาตะ[3]

ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์[4], รศ.ดร.สุปราณี ศิริสวัสดิ์ชัย[5] [1] ประภวิษณุ์ พนัสทรัพย์สุข  สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การ  คณะวิทยากรจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  

[2] พัชนี แสนไชย  สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดี่ย คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 

[3] ผู้ช่วยศาสตราจารย์อารยา วาตะ สาขาวิชาแอนิเมชั่นและดิจิทัลมีเดีย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  

[4] ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์  สาขาวิชาการออกแบบกราฟิกและอินโฟร์  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

[5] รองศาสตราจารย์ ดร. สุปราณี ศิริสวัสดิ์ชัย  สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน  คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา