แนวทางการจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤตขององค์กรภาครัฐและเอกชน

          ในวิกฤตการณ์ทางสังคมที่ไม่มีความแน่นอน  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ  การเมือง  สังคมหรือปัญหาด้านสาธารณสุข  จนส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนในสังคมเป็นจำนวนมาก  ซึ่งก็จะส่งผลถึงบุคลากรขององค์กรที่ต้องทำหน้าที่ของตนเองในทุกๆ วัน  และเมื่อวิกฤตนั้นสร้างผลกระทบให้กับครอบครัวหรือคนรอบข้างด้วยแล้วนั้น  ความเชื่อมั่นต่อนโยบายหรือแนวปฏิบัติขององค์การต่อการจัดการแก้ไขหรือรับมือต่อวิกฤตการณ์จะเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้บริหารต้องเตรียมการให้รัดกุม  มีระบบและมีวุฒิภาวะในการตัดสินใจ

          การจัดการสื่อสารในภาวะวิกฤตขององค์การ  เป็นเรื่องที่ทุกองค์การควรมีแนวปฏิบัติเตรียมไว้ตั้งแต่มีเหตุการณ์ที่พอจะคาดการณ์ได้ว่าจะเปลี่ยนเป็นวิกฤตของค์การ  อย่างไรก็ตาม  การสื่อสารในภาวะวิกฤตจำเป็นต้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากพอ  และผู้นำขององค์การจำเป็นต้องมีวภวะผู้นำที่มีความเด็ดขาดในการตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำบางสิ่งบางอย่าง  เพื่อให้องค์การและบุคลากรของตนเองผ่านพ้นวิกฤตนะขณะนั้นไปได้  ซึ่งแนวทางการจัดการสื่อสารในภาวะวิกฤตนั้น  ควรประกอบด้วย

          ทีมงานเฉพาะกิจสำหรับการสื่อสารในภาวะวิกฤต  โดยทีมงานต้องมีบุคลากรระดับกำกับนโยบายและมีอำนาจในการตัดสินใจในองค์การเพื่อให้การตัดสินใจนั้นมีผลต่อทิศทางขององค์การได้ในทันที  (Single Command) ซึ่งทีมงานนี้จะต้องมี  “ข้อมูล”  ประกอบการวิเคราะห์และการตัดสินใจ  ทีมงานต้องมีการวิเคราะห์สถานการณ์ในทุกระดับ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (worse case  scenario) คาดว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร  แล้วถ้าเป็นแบบนั้นจะมีแนวปฏิบัติอย่างไร  การคิดและวิเคราะห์ในรูปแบบนี้จะช่วยให้องค์การมีการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤต  มีเวลาปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้  ซึ่งเป็นแผนงานรับมือที่จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นรายครั้ง

          ผู้นำที่มีภาวะผู้นำ  การตัดสินใจของผู้นำมีความสำคัญต่อองค์การและสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรได้มากหรือน้อยนั้น  วัดผลกับการตัดสินใจที่จะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรในขณะนั้น  ซึ่งในที่นี้หมายความรวมถึงการสร้างกระบวนการขึ้นมาอย่างสมเหตุสมผลมีความเป็นไปได้  ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้นำต้องกล้าคิด กล้าตัดสินใจ  ภายใต้ข้อมูล  และการรับฟังคำปรึกษาจากคนรอบข้าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  “การรับฟังความเห็นต่าง”  เพราะบางครั้งความเห็นที่แตกต่าง  มักมาจากกลุ่มคนที่อยู่วงนอกของทีมงาน  หรือเป็นกลุ่มบุคคลที่ประสบปัญหาอยู่จริงๆ การรับฟังความเห็นที่แตกต่าง  และนำมาประกอบการคิดวิเคราะห์  ตัดสินใจ  เป็นส่วนหนึ่งของภาวะผ้ำนำที่พึงมี  ซึ่งนอกจากจะพาองค์การรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรของตนเองในทางหนึ่งด้วย

          การสื่อสารอย่างเป็นนระบบ  ในวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น  สิ่งที่สร้างปัญหาให้กับองค์การนั้นคือ  การที่ข้อมูลข่าวสารมีมากเกินไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอม (Fake news)  การแก้ปัญหาดังกล่าวที่เหมาะสมคือ  การกำหนดแนวทางการสื่อสารอย่างเป็นระบบ  โดยทีมงานเฉพาะกิจฯ ที่จัดตั้งขึ้นเป็นผู้สื่อสารและรับฟังความเห็นหรือประเด็นต่างๆ เพียงผู้เดียว  การสื่อสารใช้การสื่อสารแบบสองทาง (Two-ways Communication)  มีการกำหนดวาระการสื่อสารที่ชัดเจน  มีกำหนดเวลาที่แน่นอน  และที่สำคัญที่สุดคือ  การสื่อสารที่ตอบประเด็นข้อสงสัยของบุคลากรหรือสังคมอย่างชัดเจน ไม่ใช้ข้อความสื่อสารในลักษณะให้ผู้ฟังตีความหรือแปลความเอง เนื่องจากการปล่อยให้ผู้ฟังตีความเองนั้นอาจสร้างความสับสนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อการควบคุมสถานการณ์ที่เกิดกับองค์การ

          กรณีการแก้สถานการณ์วิกฤตระดับสังคม  การประกาศจุดยืนขององค์การต่อสังคมเป็นแนวทางหนึ่งที่จะระบุทิศทางการรับมือสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น  เพราะจะทำให้สังคมคาดการณ์ทิศทางขององค์การที่จะดำเนินการได้  นอกจากนี้  การสื่อสารภายในองค์การ  การให้ข้อมูลและชี้แจงประเด็นต่างๆ ให้บุคลากรมีความเข้าใจต่อแนวทางการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บุคลากรเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับบุคคลภายนอกในอีกทางหนึ่ง

          โดยสรุปแล้ว  การจัดการสื่อสารในภาวะวิกฤตเป็นแผนงานที่องค์การควรมีการเตรียมไว้ตั้งแต่มีเหตุการณ์ที่สะท้อนได้ว่าจะแปรเปลี่ยนเป็นวิกฤตการณ์ขององค์การ  หรือเป็นเหตุการณ์ที่สามารถกระทบต่อองค์การได้ในอนาคต  การหาข้อมูลประกอบการคิดวิเคราะห์เพื่อเตรียมแผนการรับมือสถานการณ์  เป็นปัจจัยสำคัญที่องค์การควรมี  การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในการสื่อสาร  กำหนดแผนงานและตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  ซึ่งผู้นำจะมีบทบาทสำคัญมากในการตัดสินใจขับเคลื่อนองค์การให้พ้นจากสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น  ภาวะผู้นำจึงมีความสำคัญมากในช่วงเวลานี้  การสื่อสารอย่างเป็นระบบ  มีการตอบประเด็นคำถามหรือประเด็นที่ละเอียดอ่อนให้มีความชัดเจน  สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับสารได้  นอกจากนี้การสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย  ข้อความที่ใช้ต้องไม่สร้างความคลุมเครือ  ไม่ปล่อยให้ผู้รับสารคิดหรือตีความไปเอง  ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางเบื้องต้นของการจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤตต่อองค์การได้

————————————–

แหล่งอ้างอิง

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย. (2564, 22 เมษายน). 5 เคล็ดลับ การสื่อสารในภาวะวิกฤต รับมือโควิดรอบใหม่.     www.pptvhd36.com/news/สุขภาพ/146090  

ธนบดี ครองยุติ. (2555). การสื่อสารภาวะวิกฤตอุทกภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย.
วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์,
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.