เทคโนโลยีสำหรับธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์

             ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนเกิดรูปแบบประมวลผล การจัดเก็บข้อมูลและเทคโนโลยีด้านเครื่องมือการสื่อสารมีจำนวนมากซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจที่นำเครื่องมือเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานเพื่อให้องค์การประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้มีทั้งแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายและมีทั้งเสียค่าใช้จ่าย เช่น

             คลาวด์คอมพิวติ้ง  (Cloud Computing) คือการให้บริการของผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต (ISP) ในด้านการให้ใช้กำลังประมวลผลข้อมูล  หน่วยจัดเก็บหรือพื้นที่จัดเก็บข้อมูล  และแอพพลิเคชันผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ จากผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ขอใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวผ่านทางระบบออนไลน์  ลดความยุ่งยากในการติดตั้ง ดูแลระบบ ช่วยประหยัดเวลา และงบประมาณในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเอง ซึ่งก็มีทั้งไม่เสียค่าใช้จ่ายและแบบเสียค่าใช้จ่าย จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับองค์กรที่ต้องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ  ประเภทของการประมวลผลของคลาวด์แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ

            1.       คลาวด์ส่วนบุคคล (Private Cloud) คือระบบที่ทำงานอยู่บนคลาวด์และบริหารจัดการโดยบริษัทเพื่อการใช้งานภายในองค์กรเท่านั้น ผู้ให้บริการและผู้ใช้สามารถควบคุมและปรับปรุงระบบความปลอดภัยได้ด้วยตนเอง

            2.       คลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) คือคลาวด์แบบสาธารณะที่ดูแลจัดการโดยผู้ให้บริการภายนอกผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้จะมีสิทธิในการเข้าใช้และการควบคุมที่จำกัดขึ้นอยู่กับการให้สิทธิของผู้ให้บริการ  คลาวด์สาธารณะมีทั้งบริการที่เสียค่าใช้จ่าย จ่ายค่าใช้บริการตามปริมาณการใช้งาน  และบริการฟรี

          3.       คลาวด์แบบผสม (Hybrid Cloud) คือระบบที่ผสมผสานระหว่างคลาวด์ส่วนบุคคล และ            คลาวด์สาธารณะ ทำให้สามารถทำงานเชื่อมต่อกันได้ โดยผู้ใช้สามารถเลือกรูปแบบการใช้งานบาง             แอพพลิเคชันหรือรูปแบบการจัดเก็บข้อมูล ระหว่างคลาวด์สาธารณะและคลาวด์ส่วนบุคคลตามความเหมาะสม  ความคล่องตัวและประหยัดค่าใช้จ่าย

          อาร์เอฟไอดี (Radio Frequency Identification : RFID)  เป็นระบบฉลากอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกพัฒนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 โดยอุปกรณ์อาร์เอฟไอดี (RFID) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือดักจับสัญญาณอาร์เอฟไอดี (RFID) ในปัจจุบันมีลักษณะเป็นป้ายอิเล็กทรอนิกส์ (RFID Tag) ที่สามารถอ่านค่าผ่านคลื่นวิทยุในระยะใกล้ ทำหน้าที่เพื่อตรวจ ติดตามและบันทึกข้อมูล  โดยจะนำไปติดหรือฝังไว้ในกับวัตถุต่างๆ เช่น ตัวผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ โดยอาร์เอฟไอดี (RFID) แสดงรายละเอียดของสิ่งๆ นั้นว่าคืออะไร ผลิตที่ไหน ใครเป็นผู้ดำเนินการผลิต กรรมวิธีการผลิต  ผลิตเมื่อไร ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนกี่ชิ้น และแต่ละชิ้นมาจากที่ไหน รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งของวัตถุนั้นๆ  อาร์เอฟไอดี (RFID) ออกเป็น 2 ชนิด คือ

         1.       Active RFID เป็นอาร์เอฟไอดี (RFID) ที่สามารถเก็บจัดเก็บข้อมูลได้มากกว่า และมีราคาแพงกว่าชนิด Passive ใช้แบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงานอาร์เอฟไอดี (RFID) ชนิดนี้มีแบตเตอรี่อยู่ภายในจึงทำให้ RFID Tag ชนิดนี้มีระยะการรับส่งข้อมูลได้ในระยะไกล  และยังสามารถทำงานในบริเวณที่มีสัญญาณรบกวนได้ดี แต่การที่อาร์เอฟไอดี (RFID) ต้องใช้แบตเตอรี่จึงทำให้ Tag ชนิด Active มีอายุการใช้งานจำกัดตามอายุของแบตเตอรี่ เมื่อแบตเตอรี่หมดก็ต้องทิ้ง RFID Tag ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้  

         2.       Passive RFID เป็น RFID Tag อีกชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กกว่า Active RFID มีราคาถูก ทำงานโดยอาศัยพลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากการเหนี่ยวนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากตัวอ่านข้อมูลเองจึงไม่มีแบตเตอรี่อยู่ภายใน  ทำให้มีน้ำหนักเบา ราคาถูกกว่า มีอายุการใช้งานไม่จำกัด ข้อเสียของ Passive RFID คือระยะการรับส่งข้อมูลใกล้  ตัวอ่านข้อมูลต้องมีความไวสูง ไม่สามารถทำงานได้ในบริเวณที่มีสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวน

         เอนเอฟซี (Near Field Communication : NFC) เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายผ่านคลื่นวิทยุ ที่ความถี่ 13.56 MHz บนพื้นฐานมาตรฐาน ISO14443 เพียงแต่นำอุปกรณ์ทั้งสองมาวางชิดกัน หรือแตะกัน มีความเร็วในการรับส่งข้อมูลอยู่ที่ 424 kbit/s สามารถจับคู่อุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็วและใช้พลังงานต่ำ นิยมนำมาใช้ในการรับส่งข้อมูลขนาดเล็ก หรือส่งผ่านข้อมูลภายในระยะเวลาสั้นๆ ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวนิยมติดตั้งไว้ในอุปกรณ์แบบพกพา เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ซึ่งสามารถใช้งานได้โดยการนำไปแตะหรือสัมผัสกับอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีเอนเอฟซี (NFC) หรือเครื่องอ่านเอนเอฟซี (NFC) การใช้งานเอนเอฟซี (NFC) ในปัจจุบัน เช่น การจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ การใช้แทนบัตรโดยสาร การใช้แทนบัตรเข้าตัวอาคาร การชำระสินค้าและ/หรือบริการ  หรือการรับส่งข้อมูล เช่น รูปถ่าย ไฟล์เอกสาร เป็นต้น เทคโนโลยีเอนเอฟซี (NFC) ถูกพัฒนาโดยอาศัยพื้นฐานจากระบบอาร์เอฟไอดี (RFID) ลักษณะการทำงานของเอนเอฟซี (NFC) จึงใกล้เคียงกับอาร์เอฟไอดี (RFID) ต่างกันตรงที่เอนเอฟซี (NFC) สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเอนเอฟซี (NFC) ด้วยกันได้ ซึ่งในอาร์เอฟไอดี (RFID) จะอ่านข้อมูลลักษณะทิศทางเดียว 

          Electronic Data Interchange (EDI) คือ ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างองค์กร โดยอีดีไอจะกำหนดมาตรฐานของข้อมูลทางธุรกิจที่แต่ละองค์กรใช้เป็นประจำ (Routine Documents) เอาไว้ เช่น ใบสั่งซื้อ ใบเสร็จรับเงิน หรือ ใบจัดส่งสินค้า เป็นต้น เมื่อมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกิดขึ้น คอมพิวเตอร์ขององค์กรต้นทางจะแปลงข้อมูลเหล่านี้ให้อยู่ในรูปแบบมาตรฐาน แล้วส่งผ่านเครือข่าย “VAN (Value-Added Network)” ซึ่งเป็นเครือข่ายส่วนตัวระหว่างพันธมิตรทางการค้าไปยังคอมพิวเตอร์ขององค์กรปลายทาง ซึ่งจะแปลงข้อมูลดังกล่าวให้กลับมาเป็นข้อมูลต้นฉบับนั่นเอง

              อีดีไอเป็นระบบที่ช่วยองค์การให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน  เนื่องจากองค์กรสามารถส่งข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไปยังบริษัทคู่ค้า  ลูกค้า หรือธนาคาร โดยไม่ต้องใช้พนักงาน ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าและอาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้จากงานเอกสารอีดีไอจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยลดวงจรธุรกิจให้สั้นลง ลดต้นทุนการจัดทำเอกสาร อันจะทำให้องค์การมีผลิตผลจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นด้วย  ในอดีตอีดีไอยังมีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ เหมาะสำหรับองค์การขนาดใหญ่ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง และมาตรฐานของข้อมูลที่ใช้กับบริษัทคู่ค้าแต่ละรายอาจแตกต่างกัน ดังนั้น ในองค์การอาจต้องใช้หลายมาตรฐานข้อมูล จึงนับว่าเป็นระบบที่ขาดความยืดหยุ่น จากข้อจำกัดดังกล่าว ปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนาระบบ “Internet-based (Web) EDI” ขึ้นมาใช้ ซึ่งอีดีไอรูปแบบนี้จะใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการรับส่งข้อมูลแทนเครือข่าย VAN ที่มีขีดความสามารถจำกัด โดย Internet-based EDI มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่ำกว่าอีดีไอแบบเดิม นอกจากนี้ยังใช้งานง่าย สามารถเข้าถึงองค์การได้กว้างขวาง และมีเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการดำเนินงานที่หลากหลายอีกด้วย จึงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการทำ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ในยุคปัจจุบัน  ส่วนประกอบสำคัญของระบบอีดีไอ  ฮาร์ดแวร์ (Hardware) หมายถึง คอมพิวเตอร์ทุกประเภท และอุปกรณ์ต่อพ่วง เครือข่าย (Telecommunication Networks) ช่องทางหรือรูปแบบการเชื่อมต่อการสื่อสารผ่านทางผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ตหรือผ่านทางดาวเทียม และซอฟ์ตแวร์สื่อสาร และซอฟต์แวร์แปลข้อมูล (Communication Software and Translation Software) เป็นซอฟ์ตแวร์ที่ใช้ในการส่งผ่านข้อมูลและรับข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ของผู้รับและผู้ส่งข้อมูล ในขณะที่ ซอฟ์ตแวร์แปลข้อมูลจะทำหน้าที่ในการใส่รหัส (encoded) และถอดรหัส (decoded) ข้อมูล เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารกันได้