หน่วยในภาษา : ภาษาระดับข้อความ

                                                                  หน่วยในภาษา : ภาษาระดับข้อความ

 

                                                                                                                                                                      พรรณษา  พลอยงาม1

บทนำ

         การสื่อสารในชีวิตประจำวันนั้น ขณะใช้ภาษาในการสื่อสาร เราไม่ได้พูดทีละประโยค แต่ใช้ภาษาในลักษณะที่เป็นประโยคต่อเนื่องกัน หรือที่เรียกว่า “ภาษาระดับข้อความ (Discourse)” โดยภาษาระดับข้อความนั้น  นักภาษาศาสตร์ไทย เรียกหน่วยภาษาในระดับที่สูงกว่าประโยคไว้หลายอย่าง เช่น “ข้อความต่อเนื่อง” “วจนะ” “ปริจเฉท” “สัมพันธสาร” “วาทกรรม” ซึ่งเป็นการศึกษาภาษาโดยมองในเชิงโครงสร้างของภาษาที่ว่าภาษาระดับข้อความเป็นคำพูดหรือข้อเขียนที่ต่อเนื่องกัน และเป็นหน่วยในภาษาที่ใหญ่กว่าประโยค

       1. ความหมายของข้อความ

        มิติหนึ่งในการศึกษาของนักภาษาศาสตร์ยุคปัจจุบันที่ให้ความสนใจต่อภาษาในระดับที่สูงกว่าประโยค ซึ่งเกิดจากการเรียงต่อเนื่องกันไปของประโยคตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไป โดยเรียกว่า ภาษาระดับข้อความ (Discourse) ซึ่งมีผู้ให้ความหมายของภาษาระดับข้อความ ไว้ดังนี้

         จันทิมา อังคพณิชกิจ (2557) ข้อความ คือ หน่วยหรือข้อมูลภาษาที่ใช้อยู่ในบริบททางการสื่อสารอย่างใดอย่างหนึ่งของผู้ใช้ภาษาในสังคม อาจเป็นถ้อยคำภาษาพูด (spoken) หรือถ้อยคำภาษาเขียน (written)            อาจเป็นภาษามีรูปถ้อยคำ (verbal) หรือไร้ถ้อยคำ (non-verbal)  ก็ได้

          ชลธิชา บำรุงรักษ์ (2539)  กล่าวว่า ภาษาระดับข้อความ คือ ภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารทั้งภาษา

พูดและภาษาเขียนในสถานการณ์ที่เป็นจริง เพื่อทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง และมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองเจตนารมณ์บางประการของมนุษย์

          จากนิยามข้างต้น สรุปได้ว่า ข้อความ หรือภาษาระดับข้อความ หมายถึง การเรียงต่อเนื่องกันไปของประโยคตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไป มารวมกันเป็นข้อความ โดยประโยคเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กันทางความหมายทำให้ข้อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยภาษาระดับข้อความนั้นเป็นภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนในสถานการณ์จริง เพื่อทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งและมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองเจตนารมณ์บางประการของมนุษย์

___________________________________

1 อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย (ค.บ.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

          2. การเชื่อมโยงความในข้อความ

           ภาษาระดับข้อความ เป็นหน่วยทางภาษาที่มีประโยคเป็นองค์ประกอบ เกิดจากประโยคต่างๆมารวมกันเป็นข้อความ ความสัมพันธ์ที่ผูกประโยคเหล่านี้ไว้ด้วยกัน เรียกว่า “การเชื่อมโยงความ” (Cohesion) ภาษาไทยประกอบด้วยกลไกบางประการที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประโยคที่อยู่ต่อเนื่องเหล่านี้ เรียกกลไกนี้ว่า กลไกการเชื่อมโยงความ (Cohesive Mechanism) และกลไกเหล่านี้แสดงออกได้โดยเครื่องมือ เรียกเครื่องมือนี้ว่า เครื่องมือแสดงการเชื่อมโยงความ (Cohesive Device) อีกทั้งมีการเชื่อมโยงความโดย   การใช้เครื่องมือในลักษณะหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ “การเชื่อมโยงความโดยการใช้คำเชื่อม”

          3. การเชื่อมโยงความโดยการใช้คำเชื่อม

          การเชื่อมโยงความโดยการใช้คำเชื่อม (Conjunction) เป็นการเชื่อมโยงความโดยแสดงความสัมพันธ์ในประโยคหรือข้อความที่อยู่ต่อเนื่องกันหรือที่อยู่ใกล้เคียงกันโดยอาศัยคำเชื่อมเป็นกลไกแสดงการเชื่อมโยงความ

ใบบทความนี้ ผู้เขียนมุ่งศึกษาลักษณะการเชื่อมโยงความด้านการใช้คำเชื่อม ที่ปรากฏพบในคำให้การชาวกรุงเก่า ภาคที่ 1 ว่าด้วยเรื่องราชพงศาวดาร หน้าที่ 1 – 4 โดยใช้กรอบแนวคิดของชลธิชา บำรุงรักษ์ (2539) ในการวิเคราะห์ ซึ่งจากการศึกษา พบการเชื่อมโยงความโดยใช้คำเชื่อมแสดงความสัมพันธ์ลักษณะต่างๆ ดังนี้

          3.1 ความสัมพันธ์แบบขยายความ อาจเป็นการขยายคำ วลี หรือประโยค เพื่อให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น คำเชื่อมที่พบส่วนใหญ่คือ ที่ ซึ่ง อัน ดังตัวอย่างการพบคำเชื่อมแสดงความสัมพันธ์แบบขยายความในคำให้การชาวกรุงเก่า ภาคที่ 1 ได้แก่ ซึ่ง, อัน

         ปางเมื่อสมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์ ได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ เป็นองค์         พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เสด็จจาริกโปรดเวไนยสัตว์ให้บรรลุมรรคผลโดยลำดับ จนถึงได้เสด็จมาทรงรับพระเชตวันมหาวิหาร (1) ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายใกล้กรุงสาวัตถีมหานคร (2) ขณะเมื่อทรง  จำพรรษาอยู่ในมหาวิหารนั้น วันหนึ่งพระองค์เสด็จเข้าสู่มหากรุณาสมาบัติ ทรงเลือกเล็งแลดูเวไนยเผ่าพันธุ์ (3) อันควรจะได้มรรคผลธรรมวิเศษมีสรณะและศีลเป็นต้น (4) …  

                                                                                                                                          (คำให้การชาวกรุงเก่า ภาคที่ 1 : 1)

         จากตัวอย่างนี้ อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายใกล้กรุงสาวัตถีมหานคร ใน 2 ขยายคำนาม พระเชตวันมหาวิหาร ใน 1 โดยมี “ซึ่ง” เป็นตัวเชื่อม และ ควรจะได้มรรคผลธรรมวิเศษมีสรณะและศีลเป็นต้น ใน 4 ขยายคำนาม เวไนยเผ่าพันธุ์ ใน 3 โดยมี “อัน” เป็นตัวเชื่อม

          3.2 ความสัมพันธ์แบบคล้อยตาม แสดงการเชื่อมโยงว่าเหตุการณ์ที่เกิดในเนื้อความนั้นมี             ความต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน หรือเป็นไปในทำนองเดียวกัน คำเชื่อมที่เป็นกลไกแสดงความสัมพันธ์ลักษณะนี้ เช่น ก็, และ…ก็, แล้ว, แล้ว…ก็, จึง, รวมทั้ง, พร้อมกับ เป็นต้น ดังตัวอย่างการพบคำเชื่อมแสดงความสัมพันธ์แบบคล้อยตามในคำให้การชาวกรุงเก่า ภาคที่ 1 ได้แก่  ก็, และ, กับ, จึง

          ครั้นแล้วพระองค์เสด็จจากเขาสุวรรณบรรพต ไปยังตำบลบ้านพ่อแอ่งในข้างทิศตะวันตก ตำบลนั้นมีบึงใหญ่แห่งหนึ่ง ใกล้บึงนั้นมีพฤกษชาติใหญ่ต้นหนึ่ง มีกิ่งก้านใบอันสมบูรณ์ (16) สมเด็จพระพุทธองค์ก็ทรงกระทำปาฏิหาริย์อยู่เหนือยอดพฤกษชาตินั้น คือทรงนั่ง ทรงไสยาสน์ ทรงพระดำเนินจงกรมและทรงยืน บนยอดกิ่งไม้ใหญ่ มีพระอิริยาบถทั้งสี่เป็นปรกติมิได้หวั่นไหว (17)  ในขณะนั้น ฝ่ายพฤกษเทพยดาทั้งหลายได้เห็นพระปาฏิหาริย์ของพระองค์เป็นมหัศจรรย์ดังนั้น (18) ก็บังเกิดปีติโสมนัสเลื่อมใสในพระคุณของพระองค์ (19) จึงนำผลสมอดีงูแลผลสมอไทยอันเป็นของเทพโอสถ มากระทำอภิวาท น้อมเข้าไปถวายแด่พระพุทธองค์ (20) ในขณะนั้นพระองค์ทอดพระเนตรเห็นแพะเล็กตัวหนึ่งอยู่ในที่ใกล้ (21) ก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ (22) ฝ่ายอานนทเถรพุทธอนุชาเห็นพระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏดังนั้น (23) จึงกราบทูลถามถึงเหตุแห่งการแย้มพระโอษฐ์ว่าจะมีเป็นประการใด (24) สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้าจึงตรัสพยากรณ์ว่า ไปในอนาคตกาลเบื้องหน้า แพะตัวเล็กนี้จะได้บังเกิดเป็นกษัตริย์ครองราชย์สมบัติในประเทศนี้ จะมีเดชานุภาพมาก (25)  และจะได้ทำนุบำรุงบทวรัญช์อันเป็นรอยพระบาท (26)  กับ          รูปฉายปฏิมากรของเราตถาคตสืบไป (27)                                                                                                            

                                                                                                                                      (คำให้การชาวกรุงเก่า ภาคที่ 1 : 3)

          ในตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นความต่อเนื่องแบบคล้อยตามของเหตุการณ์ดังนี้ เหตุการณ์ในประโยคที่ 16 และประโยคที่ 17 ปรากฏต่อเนื่องกันโดยใช้คำว่า “ก็”   ประโยคที่ 18 , 19 และ 20 แสดงถึงเหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องกันโดยใช้   “ก็” และ “จึง” เป็นคำเชื่อมระหว่างประโยคที่ 18 และ 19 , 19 และ 20  ตามลำดับ และเหตุการณ์ต่อเนื่องในประโยคที่ 21 ปรากฏต่อเนื่องกับประโยคที่ 22  โดยใช้คำว่า “ก็” นอกจากนี้ประโยคที่ 23 ,24 , 25, 26 และ 27  แสดงถึงเหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องกันโดยใช้   “จึง” “จึง” “และ” “กับ” เป็นคำเชื่อมระหว่างประโยคที่ 23 และ 24 , 24 และ 25,  25 และ 26  , 26 และ 27 ตามลำดับ

          3.3 ความสัมพันธ์ด้านเวลา การเชื่อมโยงความระหว่างประโยคหรือข้อความที่อยู่ต่อเนื่องหรือใกล้เคียงกันนี้เป็นลักษณะที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในภาษาระดับข้อความประเภทเรื่องเล่า ซึ่งแสดงให้เห็นความเกี่ยวพันทางเวลาระหว่างเหตุการณ์ต่างๆที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง คำเชื่อมที่ใช้มีหลากหลายกว่าคำเชื่อมที่แสดงความสัมพันธ์ในลักษณะอื่น ที่พบมากเช่น เมื่อ พอ ขณะที่ วันหนึ่ง หลังจาก ก่อน ตอนนั้น ในเมื่อ ต่อมา ในที่สุด เป็นต้น ดังตัวอย่างการพบคำเชื่อมแสดงความสัมพันธ์ด้านเวลาในคำให้การชาวกรุงเก่า ภาคที่ 1 ได้แก่ ครั้นล่วงกาลนานมา, ครั้นพระพุทธศักราชล่วงได้, ในคราวหนึ่ง

         ครั้นล่วงกาลนานมา สมเด็จพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว (18) พระพุทธศักราชล่วงได้ 218 ปี จึงบังเกิดพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้ครองสมบัติในกรุงปาตลีบุตรมหานคร (19) พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมีการสร้างพระอาราม พระสถูปเจดีย์ และขุดบ่อสระเป็นต้น เป็นอันมาก พระองค์ได้เสด็จประพาสทั่วไปในสกลชมพูทวีปตราบเท่าถึงเมืองสังขบุรี เสด็จขึ้นครองราชสมบัติอยู่ในเมืองนั้นต่อไป พระองค์มีมหิทธิฤทธิเดชานุภาพมากล้ำเลิศกว่ากษัตริย์ทั้งหลาย ได้ทรงบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรรุ่งเรืองไปทั่วสกลชมพูทวีป ในคราวหนึ่งพระองค์ได้ตรัสแก่เสนาอำมาตย์ราชมนตรีทั้งปวงของพระองค์ว่า พระองค์ได้มาบังเกิดเป็นกษัตริย์ทั้งนี้ ด้วยบุญญาบารมีกฤษฎาธิการของพระองค์ตามพระพุทธทำนายซึ่งได้ตรัสพยากรณ์นั้น        ทุกประการ (20)          

                                                                                                                                     (คำให้การชาวกรุงเก่า ภาคที่ 1 : 4)

จากตัวอย่างนี้ แสดงความสัมพันธ์ทางเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีคำเชื่อม “ครั้นล่วงกาลนานมา”,พระพุทธศักราชล่วงได้” แสดงเหตุการณ์ใน 18 กับ 19  ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ 18 แล้วจึงเกิดเหตุการณ์ 19  และคำเชื่อม“ในคราวหนึ่ง” ที่แสดงความเกี่ยวพันทางเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงเวลาหนึ่ง  โดยบอกเหตุการณ์ใน 20

สรุป

            ภาษาระดับข้อความ (Discourse) เป็นภาษาระดับสูงกว่าประโยค เป็นหน่วยทางภาษาที่มีประโยคเป็นองค์ประกอบ ซึ่งเกิดจากประโยคต่างๆมารวมกันเป็นข้อความ ความสัมพันธ์ที่ผูกประโยคเหล่านี้ไว้ด้วยกัน เรียกว่า “การเชื่อมโยงความ” (Cohesion) โดยมีเครื่องมือแสดงการเชื่อมโยงความ (Cohesive Device)  ทั้งนี้ภาษาระดับข้อความนั้นเป็นภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนในสถานการณ์จริง     เพื่อทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งและมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองเจตนารมณ์บางประการของมนุษย์

 เอกสารอ้างอิง

จันทิมา อังคพณิชกิจ. 2557. การวิเคราะห์ข้อความ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ชลธิชา บำรุงรักษ์. 2539. การวิเคราะห์ภาษาระดับข้อความประเภทต่างๆในภาษาไทย. กรุงเทพฯ:

           มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

หลวงประเสริฐอักษรนิติ์. 2515. คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า. พระนคร:

           คลังวิทยา.