อักขรวิธี : ว่าด้วยเรื่องเสียงสระ

                                                                           อักขรวิธี : ว่าด้วยเรื่องเสียงสระ

 

                                                                                                                                                                      พรรณษา  พลอยงาม1

บทนำ

          อักขรวิธี ที่ปรากฏอยู่ในตำราหลักภาษาไทยของพระยาอุปกิตศิลปสาร เป็นภาคที่ว่าด้วยเรื่องของแบบแผนที่ว่าด้วยเรื่องของตัวหนังสือ พร้อมทั้งวิธีเขียนอ่านและใช้ตัวหนังสือให้ถูกต้องตามความนิยม โดยแบ่งเป็น 3 ภาคย่อย คือ ว่าด้วยลักษณะอักษร ว่าด้วยวิธีประสมอักษร และว่าด้วยวิธีใช้อักษร ในเรื่องของเสียงสระ ซึ่งเป็นเสียงที่สำคัญในภาษาไทย จัดอยู่ในภาคว่าด้วยลักษณะอักษร โดยเสียงสระจัดเป็นเสียงแท้ คือเสียงที่ออกมาจากลำคอโดยตรง โดยไม่ต้องใช้ลิ้นหรือริมฝีปากดัดแปลงให้ปรวนแปรไป เสียงสระถือเป็นเสียงที่สำคัญในภาษาไทย เพราะเมื่อรวมกับเสียงพยัญชนะ และเสียงวรรณยุกต์ ทำให้เกิดองค์ประกอบทางภาษาที่ใหญ่ขึ้น กลายเป็นพยางค์หรือคำที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน  

เสียงสระในภาษาไทย

          คำว่า เสียง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2554 (2556 : 1263) ได้ให้ความหมายว่า สิ่งที่รับรู้ด้วยหู เช่น เสียงฟ้าร้อง เสียงเพลง เสีนงพูด ดังนั้น เสียงในภาษา หมายถึง เสียงของมนุษย์ที่เปล่งออกมาเพื่อใช้สื่อความหมาย เพื่อถ่ายทอดความรู้ เรื่องราว ความต้องการ อารมณ์ ความรู้สึกต่างๆให้ผู้ฟังเข้าใจ    ความประสงค์ของผู้พูด

         ภาษาทุกภาษาใช้เสียงพูดเป็นสื่อ ในชีวิตประจำวันเราผลิตเสียงในภาษามากมายเพื่อสื่อสารระหว่างกัน เสียงที่เป็นบ่อเกิดของถ้อยคำในภาษาไทยนั้น มีเสียงสำคัญ 3 เสียง ได้แก่ เสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ ซึ่งเมื่อมาประกอบรวมกันเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้นจึงเกิดกลายเป็นพยางค์หรือคำที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน 

         เสียงสระ เป็นหนึ่งในเสียงที่สำคัญในภาษาไทย ซึ่งเสียงสระ  คือ เสียงที่ไม่ถูกดัดแปลงกระแสลมภายในช่องปาก เป็นเสียงที่ออกมาจากลำคอโดยตรง ด้วยเหตุนี้ในบางตำราจึงเรียกเสียงประเภทนี้ว่า “เสียงแท้”

 

___________________________________

1 อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย (ค.บ.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

 

 

เสียงสระในหนังสือหลักภาษาไทยในภาคอักขรวิธีของพระยาอุปกิตศิลปสาร

         ในตำราหลักภาษาไทยของพระยาอุปกิตศิลปสาร ในภาคอักขรวิธี ซึ่งว่าด้วยลักษณะอักษร และในตำราหลักภาษาหลายเล่ม ได้กล่าวว่า สระในภาษาไทยมีทั้งหมด  32 เสียง โดยแบ่งเป็น เสียงสระแท้ 18 เสียง เสียงสระประสม 6 เสียง และเสียงสระเกิน 8 เสียง ดังนี้

         1.สระแท้ คือสระแท้ที่เปล่งออกมาเป็นเสียงเดียวไม่มีเสียงสระอื่นประสม ในภาษาไทยมีสระแท้ 18 เสียง โดยแบ่งเป็นสระเสียงสั้น หรือที่เรียกว่า รัสสระ จำนวน 9 เสียง และสระเสียงยาว หรือฑีฆสระ จำนวน       9 เสียง ดังนี้

 

          สระเสียงสั้น (รัสสระ)                                  สระเสียงยาว (ฑีฆสระ)

                    อะ                                                       อา

                    อิ                                                         อี

                    อึ                                                         อือ

                    อุ                                                         อู       

                    เอะ                                                       เอ

                    แอะ                                                      แอ

                    โอะ                                                      โอ

                    เอาะ                                                     ออ

                    เออะ                                                     เออ

 

           2.เสียงสระประสม คือ เสียงสระที่เกิดจากการประสมของเสียงสระแท้สองเสียง ดังนั้นในบางครั้งจึงเรียกเสียงสระประสมนี้ว่า “สระเลื่อน” เนื่องจากเรียกตามการออกเสียงที่ผู้ผู้พูดต้องการออกเสียงสระแท้แรกก่อนที่จะออกเสียงสระแท้ที่สองตามมา

           ในตำราหลักภาษาไทยของพระยาอุปกิตศิลปสาร และหนังสือเรียนภาษาไทยหลายเล่ม ยังคงยึดว่า เสียงสระประสมในภาษาไทยมี 6 เสียง โดยมีความแตกต่างระหว่างเสียงสั้นกับเสียงยาวเช่นเดียวกับเสียงสระแท้ คือ

 

            สระเสียงสั้น (รัสสระ)                                                           สระเสียงยาว (ฑีฆสระ)

เอียะ เกิดจากการประสมของ   สระอิ กับ สระอะ             เอีย เกิดจากการประสมของ สระอี กับ สระอา

เอือะ เกิดจากการประสมของ   สระอึ กับ สระอะ             เอือ เกิดจากการประสมของ สระอือ กับ สระอา

อัวะ  เกิดจากการประสมของ   สระอุ กับ สระอะ             อัว  เกิดจากการประสมของ สระอู กับ สระอา

 

           3.สระเกิน  ได้แก่  สระที่มีเสียงซ้ำกับสระแท้ และมีเสียงพยัญชนะประสมหรือสะกดอยู่ด้วย

           ฤ ฤา ฦ ฦๅ อำ ไอ ใอ เอา เป็นสระมาจากภาษาสันสกฤต โดยมากใช้ในคำที่มาจากภาษาสันสกฤต เช่น พฤกษ์ (ส.วฤกฺษ) พฤษภาคม (ส.วฤษฺภ+อาคม) ฤทัย (ส. หฺฤทย) เป็นต้น

           ในหนังสือแบบเรียนจินดามณีเป็นต้นมา ฤ ฤา ฦ ฦๅ อำ ไอ ใอ เอา นับรวมอยู่ในจำพวกสระของไทย    อีกทั้งในตำราหลักภาษาไทยดั้งเดิม และหนังสือเรียนภาษาไทยหลายเล่มยังคงจัดให้เป็นเสียงสระ โดยเรียกว่า  “สระเกิน” ซึ่งมีอยู่ 8 เสียง ดังนี้

 

       สระเสียงสั้น (รัสสระ)                                        สระเสียงยาว (ฑีฆสระ)

อำ   มีเสียงซ้ำกับสระอะ มีตัว ม สะกด

ไอ   มีเสียงซ้ำกับสระอะ มีตัว ย สะกด

ใอ   มีเสียงซ้ำกับสระอะ มีตัว ย สะกด

เอา  มีเสียงซ้ำกับสระอะ มีตัว ว สะกด

ฤ    มีเสียงซ้ำกับสระอึ  มีเสียงพยัญชนะต้น ร       ฤๅ   มีเสียงซ้ำกับสระอือ  มีเสียงพยัญชนะต้น ร

ฦ    มีเสียงซ้ำกับสระอึ  เสียงพยัญชนะต้น ล         ฦๅ   มีเสียงซ้ำกับสระอือ  มีเสียงพยัญชนะต้น ล

 

          นอกจากนี้ อุปกิตศิลปสาร, พระยา (2546 : 5) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สระในภาษาไทยมี 32 เสียง ซึ่งในเสียงสระ 32 เสียงนี้ มีเสียงซ้ำกันอยู่ 8 เสียง ซึ่งเป็นสระเกิน คือ ฤ ฤา ฦ ฦๅ อำ ไอ ใอ เอา เพราะฉะนั้นจึงมีเสียงสระไทยต่างกันเพียง 24 เสียง เท่านั้น

เสียงสระในมุมมองของนักภาษาศาสตร์ปัจจุบัน

          นักภาษาศาสตร์ปัจจุบัน กล่าวว่า เสียงสระในภาษาไทยทุกเสียงเป็นเสียงโฆษะ กล่าวคือ เป็นเสียงที่มีความก้อง เนื่องจากการสั่นสะเทือนของเส้นเสียง โดยในเรื่องจำนวนเสียงสระในภาษาไทยตามมุมมองของนักภาษาศาสตร์ปัจจุบันมีดังนี้

          หน่วยเสียงสระเดี่ยว 18 หน่วยเสียง ได้แก่ อะ /a/  อา /a:/ อิ /i/  อี /i:/  อึ /ɯ/  อือ /ɯ:/  อุ /u/  อู /u:/ เอะ /e/  เอ /e:/  แอะ /ɛ /  แอ /ɛ:/  โอะ /o/  โอ /o:/  เอาะ /ɔ/  ออ /ɔ:/  เออะ /ɤ/ เออ /ɤ:/   ซึ่งตรงกับสระแท้ที่พระยาอุปกิตศิลปสารกล่าวไว้ 

           ส่วนหน่วยเสียงสระประสม นักภาษาศาสตร์ได้กล่าวกันไว้ ดังนี้

           กาญจนา นาคสกุล และคณะ (2554 : 28-29) กล่าวว่า สระประสมมี 3 หน่วยเสียง โดยได้ให้เหตุผลว่า คำไทยที่ออกเสียงสระประสมเสียงสั้น  ส่วนใหญ่เป็นคำเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น ผัวะ(เสียงอย่างเสียงไม้หักหรือเสียงตบ) เผียะ(เสียงตี) เปรี๊ยะ(เสียงที่เกิดจากสิ่งของที่แตกหรือขาด) เป็นต้น หรือเป็นคำยืมภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะคำยืมภาษาจีน เช่น เจี๊ยะ (กิน) ยัวะ (โกรธ) เกี๊ยะ (เกือกไม้แบบจีน) เป็นต้น ไม่มีคำปกติในภาษาไทยแท้ๆเลย นอกจากนี้ คำที่มีสระประสมซึ่งปกติออกเสียงสั้น ถ้าออกเสียงเป็นเสียงยาวก็ไม่ทำให้ความหมายต่างออกไป และคำที่มีเสียงสระประสมซึ่งปกติออกเสียงยาว ถ้าออกเสียงเป็นเสียงสั้น ก็ไม่ทำให้ความหมายต่างกันไปเช่นกัน คำที่มีสระประสมอาจออกเสียงสั้นยาวได้ เนื่องจากเป็นลักษณะของการเน้นลงน้ำหนักเสียง (Stress) ที่ต่างกัน หรือปรากฏในตำแหน่งที่ต่างกัน เช่น เบียดเบียน เรียบเรียง เรือเกลือ ลวกๆ รวบๆ ฯลฯ โดยพยางค์หน้าจะออกเสียงสั้นกว่าพยางค์หลัง ซึ่งเหตุที่ออกเสียงสั้นก็เป็นเพราะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้ลงน้ำหนัก จึงเกิดการปรับเสียงไปตามจังหวะที่ไม่ได้ลงน้ำหนักนั้น เสียงสระประสมสั้นกับเสียงสระประสมยาวที่เป็นเสียงเดียวกันจึงนับว่าเป็นหน่วยเดียวกัน ดังนั้น หน่วยเสียงสระประสมในภาษาไทยจึงมีเพียง 3 หน่วย แม้ว่าส่วนมากเสียงสระประสมจะปรากฏเป็นเสียงยาว แต่เมื่อไม่มีสระประสมเสียงสั้นปรากฏมากนักจึงได้ใช้รูปเสียงสั้นเป็นตัวแทนหน่วยเสียงสระประสมในภาษาไทย 3 หน่วย คือ /ia/  /ɯa /  /ua/

          อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ (2537 : 84) ได้มีความเห็นต่างออกไป โดยกล่าวว่า มีนักภาษาศาสตร์หลายคนไม่ถือว่าสระประสมมีเสียงสั้นยาวเพราะหาคู่เทียบเสียงไม่ได้ (คู่เทียบเสียง คือ คำที่มีเสียงต่างกันเพียงเสียงเดียวและความหมายต่างกัน เช่น กัน-มัน ต่างกันที่เสียงพยัญชนะต้น) แต่ท่านสามารถหาคู่เทียบเสียงสำหรับสระประสมเสียงสั้นและสระประสมเสียงยาวได้ ดังนี้

เพียะ    เสียงดังเช่นนี้เมื่อเอามือตีแขนหรือตบหน้า

เพี้ย      ตำแหน่งขุนนางไทยแคว้นล้านนาและล้านช้าง คือ พญา, ชื่อเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด

ยัวะ      โกรธ

ยั้วเยี้ย  อาการที่คนหรือสัตว์จำนวนมากเคลื่อนไหวขวักไขว่ไปมา

จั๊วะ      ลักษณะที่ขาวมาก

จั๊ว        ชื่อคนจีน

          ดังนั้นจึงมีความเห็นว่า สระประสมมีความแตกต่างระหว่างเสียงสั้นยาว และถือว่าสระประสมมี           6 หน่วยเสียง

         ในส่วนของสระเกิน  นักภาษาศาสตร์ไม่จัดเสียงเหล่านี้ว่าเป็นเสียงสระในภาษาไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า เสียงดังกล่าวมีความซ้ำซ้อนกับเสียงสระแท้ที่มีอยู่ รวมทั้งมีเสียงพยัญชนะประสมอยู่ด้วย

 

บทสรุป

          การที่เราสามารถสื่อสารในชีวิตประจำวันได้นั้น ย่อมเกิดจากการใช้เสียงพูดเป็นสื่อ โดยเสียงที่สำคัญเป็นบ่อเกิดของถ้อยคำในภาษาไทยนั้น ประกอบจาก 3 เสียง ได้แก่ เสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ ทำให้ก่อเกิดเป็นองค์ประกอบที่ใหญ่ขึ้นในโครงสร้างภาษาไทย โดยเฉพาะเสียงสระ ถือเป็นหนึ่งในเสียงที่สำคัญ นักภาษาให้ชื่อว่าเสียงแท้ เนื่องจากเป็นเสียงที่เปล่งออกมาโดยไม่ถูดดัดแปลงจากอวัยวะในช่องปาก นอกจากนี้นักภาษา คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้กล่าวไว้ในหนังสือหลักภาษาไทย ซึ่งเป็นแนวคิดไวยากรณ์ดั้งเดิม ในภาคอักขรวิธี โดยกล่าวว่า เสียงสระในภาษาไทยมีทั้งหมด 32 เสียง แบ่งออกเป็น สระแท้ 18 เสียง สระประสม 6 เสียง และสระเกิน 8 เสียง แต่ทั้งนี้นักภาษาศาสตร์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้ศึกษาเกี่ยวกับภาษาในเชิงวิทยาศาสตร์ ได้มีความคิดเห็นแย้งในเรื่องเสียงสระ ได้แก่ สระประสม บ้างกล่าวว่า สระในภาษาไทยมีทั้งหมด 21 หน่วยเสียง โดยแบ่งเป็น สระเดี่ยว 18 หน่วยเสียง และมีสระประสม 3 หน่วยเสียง บ้างกล่าวว่า สระในภาษาไทยมีทั้งหมด 24 หน่วยเสียง แบ่งเป็นสระเดี่ยว 18 หน่วยเสียง และมีสระประสม 6 หน่วยเสียง    อีกทั้งได้เห็นพ้องกันในเรื่องสระเกิน ที่ไม่นับรวมเป็นสระในภาษาไทย ทั้งนี้การพิจารณาจำนวนเสียงสระในภาษาไทยนั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองในการพิจารณาของนักภาษาแต่ละคน ว่ามีหลักการและเหตุผลในการอ้างอิงอย่างไรเป็นสำคัญ

เอกสารอ้างอิง

กาญจนา นาคสกุล และคณะ. (2554). บรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม1. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ:  สถาบัน

         ภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ:  นานมีบุ๊คส์

         พับลิเคชั่นส์. 

อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์. (2537). ภาษาศาสตร์เหมาะสมัยเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: ต้นธรรม.

อุปกิตศิลปสาร, พระยา. (2546). หลักภาษาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 12). กรุงเทพฯ: บริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช

         จำกัด.