สุขภาพจิต การปรับตัวและกลไกในการป้องกันตนเอง

สุขภาพจิต  ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Mental Health  ซึ่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้กำหนดความหมายของคำว่าสุขภาพจิตไว้คือ  “สุขภาพจิต  คือ  ความสามารถของบุคคลที่จะปรับตัวให้มีความสุขอยู่กับบุคคลอื่น และดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสมดุลอย่างสุขสบายรวมทั้งสมอง  ความสามารถของตอนเองในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งภายในจิตใจ”  สุขภาพจิตจึงมีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์  ผู้มีสุขภาพจิตดีย่อมมีจิตใจปลอดโปร่ง และมีร่างกายแข็งแรงควบคู่กันไปด้วยเสมอ  จนมีคำกล่าวว่า “จิตที่สดใสนั้นย่อมอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์”  (A sound mind in a sound body) เพราะร่างกายและจิตใจนั้นมีความสัมพันธ์กัน  ทั้งนี้จากความหมายจะเห็นได้ว่า คำว่า  สุขภาพจิต  มิได้หมายความเฉพาะเพียงแต่ความปราศจากอาการของโรคประสาทและโรคจิตเท่านั้น แต่หมายถึง ความสามารถในการปรับตัวได้ของบุคคล  การปรับตัวจึงเป็นปัจจัยใหญ่ที่สามารถทำนายถึงสุขภาพจิตของบุคคลได้

 

การปรับตัว

          การปรับตัว (Adaption) คือการที่บุคคลพยายามปรับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ตน และพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและความต้องการของตนเอง จนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขปราศจากความคับข้องใจ   ซึ่งการปรับตัวของบุคคลมีวิธีการปรับตัวให้เป็นไปตามความต้องการของตนเองในสภาพแวดล้อมต่างๆ   กระบวนการปรับตัวนี้เกิดขึ้นจากความจริงที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีความต้องการและเราสามารถใช้กระบวนการการปรับตัวและสามารถใช้วิธีการแบบต่าง ๆ ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงความต้องการนั้น ๆ  ในสภาวะแวดล้อมที่ปกติธรรมดาหรือมีอุปสรรคขัดขวางตนเอง  ในแง่ของจิตวิทยา หมายถึง กระบวนการที่ บุคคลได้แสดงพฤติกรรมเพื่อให้บรรลุความรู้สึกทางจิตใจ โดยการหาวิธีลดสภาวะความตึงเครียดทางอารมณ์ซึ่งเกิดจากความไม่สมปรารถนาในสิ่งที่ตนหรือสังคมแวดล้อมคาดหวัง

          การปรับตัวมีจุดมุ่งหมายสำคัญ 2 ประการคือ (พีธะกัญญ์ สุขโพธารมณ์ และปรัศนีย์ เกศะบุตร, 2554)

1. ปรับตัวเพื่อเอาชนะสิ่งแวดล้อมหรือปัญหา เพื่อถ่วงดุลสิ่งที่ตนเองยังขาดอยู่

2. ปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมหรือปัญหา เมื่อไม่สามารถเอาชนะได้ จึงปรับตนเองให้สอดคล้องตามสิ่งแวดล้อมและปัญหานั้น เพื่อรักษาสมดุลนั้นไว้

          เมื่อบุคคลเผชิญปัญหา และมีความลำบากในการปรับตัว จัดว่าเป็นการปรับตัวที่ไม่สมบูรณ์ จะมีกลไกของจิตที่จะเข้ามาช่วยในการผ่อนคลายหรือลดความตึงเครียดลง กลไกนี้คือ “กลไกการป้องกันตนเอง”

กลไกป้องกันตนเอง

          กลไกป้องกันตนเอง (Defense  Mechanism) เป็นกลยุทธ์ทางจิตใจที่มนุษย์ใช้ในการลดความเครียด  ความวิตกกังวล ความคับข้องใจ  เพื่อปกป้องหรือป้องกันตนเองให้ชีวิตอยู่รอดและอยู่ได้ด้วยความสุข 
มีรากฐานมาจากทฤษฎีจิตวิทยาเคราะห์ (Psychoanalysis) กลไกการป้องกันตนเองมีมากมายหลายแบบ ทุก ๆ กลไก มีหน้าที่เก็บกดความขัดแย้งภายในจิตใจ และเพื่อปฏิเสธความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น กลไกป้องกันแต่ละคนนํามาใช้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยบุคคลนั้นมีการจัดแบ่งเป็นกลุ่มตามลักษณะต่างๆ   ดังนี้

                      1. การปฏิเสธ (Denial) คือ หลีกเลี่ยงการรับรู้ความเป็นจริงที่ทนรับไม่ได้ โดยการปฏิเสธต่อการรับรู้สิ่งนั้น เช่น การที่ถูกคนรักทอดทิ้งแต่ไม่ยอมรับว่าเลิกกันแล้ว  หรือบางคนปฏิเสธไม่ยอมรับว่าตนเองป่วย เป็นต้น

                     2. การโทษผู้อื่น (Projection) คือ  การโยนความรู้สึกหรือความต้องการที่ตนเองรับไม่ได้ให้เป็นของผู้อื่น เพื่อป้องกันตนเองให้พ้นผิด  เช่น ตนเองไม่ชอบผู้ร่วมงานคนหนึ่ง จึงบอกกับหัวหน้าว่าเพื่อนร่วมงานคนนั้นไม่ชอบตนเองทั้งที่ความเป็นจริงความรู้สึกไม่ชอบนั้นเกิดจากตนเองเพียงฝ่ายเดียวเป็นต้น  กลไกชนิดนี้หากใช้มากไป อาจทำให้เกิดอาการกลัวและหวาดระแวงได้

                     3. การหาเหตุผลเข้าข้างตน (Rationalization) คือ  การหาสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลมาอธิบายความคิด หรือการกระทำของตนเองที่จิตใจยอมรับไม่ได้ บางครั้งก็เพื่อรักษาชื่อเสียงของตนเอาไว้ไม่ให้เสียหน้าหรืออับอาย เช่นตนเองรักชอบผู้หญิงคนหนึ่งแต่ผู้หญิงคนนั้นไม่ได้รักตนเอง  จึงไปบอกกับคนอื่นว่าผู้หญิงคนนั้นไม่ดีโชคดีที่ตนเองไม่ได้คนแบบนี้มาเป็นแฟน

                     4. การเก็บกด (Repression) คือ  การเก็บกดความคิด ความรู้สึก  หรือความต้องการที่ตนเองไม่ยอมรับไว้ในระดับจิตไร้สำนึก เป็นการเก็บกดโดยไม่ตั้งใจ ผลของการเก็บกดคือ “ลืม” เช่นเด็กบางคนเคยถูกครอบครัวทำร้ายร่างกาย แต่ทำเป็นลืมจนเมื่อโตขึ้นก็ลืมเหตุการณ์นั้นไปจริงๆ

                    5. การเกิดอาการทางร่างกาย (Somatization)  คือการเปลี่ยนสภาพความตึงเครียดภายใน มักเกิดจากการถูกตําหนิติเตียน ความรู้สึกผิด  กดดันจากความรับผิดชอบ หรือความกังวล ตื่นเต้น เป็นต้น  ไปเป็นอาการทางร่างกาย เช่น  นักเรียนรู้สึกปวดท้องอย่างหนักก่อนการนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน

                   6. การย้ายที่หรือเบี่ยงเบน  (Displacement) คือ การเปลี่ยนที่หรือย้ายที่ของอารมณ์จากบุคคลหนึ่งไปยังที่อื่นซึ่งมีผลเสียต่อตนเองน้อยกว่า  เช่น พนักงานถูกหัวหน้าดุในที่ทำงาน รู้สึกไม่พอใจแต่ไม่สามารถทำอะไรหัวหน้าได้ เพราะจะมีผลต่อหน้าที่การงาน เมื่อกลับมาบ้านก็แสดงความโกรธไปยังภรรยาหรือบุตรแทน เป็นต้น

                     7. การถดถอย (Regression) การถอยกลับไปสู่ระยะก่อนปัจจุบัน เพื่อทีจะหลีกเลียงความตึงเครียดที่เกิดขึ้นโดยภาวะถดถอยนี้สะท้อนถึงความต้องพื้นฐานที่เคยได้รับการตอบสนองมาก่อน เช่น คนแก่รู้สึกถึงกังวลต่อความชราและสุขภาพของตนเองกลับมาแต่งตัวและแสดงพฤติกรรมเหมือนวัยหนุ่ม หรือ เด็กบางคนเลิกปัสสาวะรดที่นอนแล้ว  แต่หลังจากแม่มีลูกคนเล็ก กลับไปปัสสาวะรดที่นอนอีก เป็นต้น 

                    8. การจินตนาการ เพ้อฟัน (Schizoid fantasy) คือ การใช้จินตนาการ และหนีไปอยู่ในโลกจินตนการของตนเพื่อหนีความขัดแย้งในใจ  เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุดวิธีหนึ่ง คือ จินตนาการในสิ่งที่อาจไม่สามารถทําได้ในชีวิตจริง เพื่อปลดปล่อยอารมณ์เครียดออกไป การจินตนาการ เพ้อฟัน เป็นวิธีที่กระทําได้ง่าย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่พบอยู่ทั่วไปในคนทุกระดับอายุ  แต่หากบุคคลใช้จินตนาการมากเกินไปจนเข้ามาแทนที่ความเป็นจริงหรือทําให้บุคคลหลีกหนีจากความเป็นจริง เช่น หญิงบางคนรู้สึกว่าตนเองต่ำต้อย อาจใช้จินตนาการ (fantasy) ทําให้มีความคิดหลงผิดคิดว่ามีผู้ชายที่สถานะสูงกว่ามาชอบพอรักใคร่ตนเอง

                   9.  การแสดงอารมณ์ขัน (Humor) คือ การใช้ อารมณ์ตลกขบขัน เพื่อแสดงออกถึงอารมณ์หรือความคิดโดยปราศจากความไม่สบายใจ และความไม่พึงพอใจโดยที่ตนเองไม่รู้สึกอึดอัด และเป็นผลดีต่อผู้อื่น  ซึ่งการใช้รูปแบบนี้ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีหรือเกิดผลเสียต่อผู้อื่น   

                   10. การยับยั้งชั่งใจ  (Suppression) คือ จัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยการใช้วิธีเก็บปัญหาเอาไว้ก่อนในระดับจิตสำนึก  มีลักษณะคล้ายการเก็บกด (Repression) แต่ต่างกันตรงที่กลไกนี้เกิดขึ้นโดยตั้งใจซึ่งเป็นส่วนของจิตสำนึก เช่น ก่อนนำเสนองานในที่ประชุม พนักงานเกิดความกังวลจนไม่สามารถทำงานได้ แต่เกิดกระบวนการยับยั้งชั่งใจว่า ถ้ายิ่งกังวลก็จะยิ่งไม่สามารถทำงานได้ จึงเลิกกังวลจนสามารถคิดงานไปนำเสนอจนได้

                   11. การทดแทน (Sublimation) คือ การหาทางระบายแรงขับดันตามสัญชาตญาน การเปลี่ยนความรู้สึกหรือแรงผลักดันให้เป็นรูปแบบกิจกรรมที่สร้างสรรค์และสังคมยอมรับ เช่น บางคนชอบความรุนแรงก้าวร้าว เลยรู้สึกว่าพฤติกรรมก้าวร้าวของตนเองนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม  จึงไปเรียน
ชกมวยและกลายไปเป็นนักมวย  ซึ่งกิจกรรมการชกมวยได้รับการยอมรับจากสังคม

                   12. การเห็นประโยชน์ของผู้อื่น (Altruism) คือ การเห็นแก่ผู้อื่นเป็นสำคัญ ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างมีคุณค่า โดยตนเองได้รับความพอใจและไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง  เช่น บางคนรู้ว่าตนเองป่วยและมีอายุอยู่ได้อีกไม่นาน จึงได้อุทิศอวัยวะและร่างกายของตนเองให้โรงพยาบาลเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการศึกษาทางการแพทย์ต่อไป ซึ่งทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าต่อผู้อื่น

 

          การปรับตัวโดยการใช้กลไกป้องกันตนเองจึงเป็นกลยุทธ์ที่บุคคลนำมาใช้เพื่อลดสภาวะทางอารมณ์ต่างๆ
ที่เกิดขึ้นด้วยการบิดเบือนปฏิเสธ และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ต่างๆ ลดความกังวลความขัดแย้งที่กระทบจิตใจ  นอกจากนี้การใช้กลไกป้องกันตนเองยังทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีและขจัดความกลัวต่างๆ ที่มารบกวนจิตใจให้หมดไป ดังนั้นเมื่อได้ใช้แล้วบุคคลนั้นจะรู้สึกสบายใจขึ้น เกิดสมดุลทางจิตใจ  แต่หากบุคคลมีการนำกลไกการปกป้องตนเองไปใช้ซ้ำ ๆ โดยไม่ยืดหยุ่นตามสภาพแวดล้อม สถานการณ์ หรือไม่เหมาะสมกับวุฒิภาวะบ่อยๆ หรือใช้กลไกทางจิตจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ชนิดก็จะส่งผลให้เกิดบุคลิกภาพที่ผิดปกติได้ (ณัฏฐา สายเสวย,2559 ; มาโนช หล่อตระกูล และคณะ, 2548 ; โมไณย อภิศักดิ์มนตรี; 2557; วราภรณ์ ตระกูลสฤกษ์; 2544)

 

สรุป

ความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตกับการปรับตัว คือ  บุคคลที่ปรับตัวได้คือการที่สามารถแก้ไขปัญหาหรือขจัดอุปสรรคนั้นได้ โดยไม่มีข้อขุ่นข้องหมองใจเหลืออยู่ การปรับตัวลักษณะนี้บางครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้รับการแก้ไขจนเสร็จสิ้น หากแต่บุคคลที่เผชิญกับปัญหาสามารถยอมรับสภาพปัญหาและทำใจได้ พร้อมปรับสภาพความคิด  ผลคือ บุคคลสามารถเป็นตัวของตัวเอง เข้าใจและยอมรับตนเองและผู้อื่น รวมทั้งสามารถรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ ตามความเป็นจริง นำประสบการณ์นั้นมาจัดให้สอดคล้องกับโครงสร้างหรือบุคลิกของตนได้อย่างไม่ขัดแย้งหรือบิดเบือน และจะมีการรับรู้และความคิดเกี่ยวกับตนเองในทางบวก  ในขณะที่บุคคลที่ปรับตัวไม่ได้ จะมีความขัดแข้งระหว่างความคิดเกี่ยวกับตนกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่อย่างมาก ทำให้เกิดความตึงเครียด วิตกกังวล สบสน ไม่แน่ใจ สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง และจะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับตนเองในทางลบ  อันจะส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ไม่ดีได้

อ้างอิง

ณัฏฐา สายเสวย (2559).จิตวิทยาของกลไกทางจิตและการเผชิญปัญหา. จิตเวชศิริราช DSM-5.ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

เบญจวรรณ บุณยะประพันธ์.(2561).  รูปแบบการใช้กลไกทางจิต : โลกแห่งจิตมนุษย์ (Defense Mechanism Styles : The World of Unconscious mind). วารสารวิชาการศิลปศาสตร์ประยุกต์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2  ก.ค. – ธ.ค. 2561.หน้า 113 –  126

พีธะกัญญ์ สุขโพธารมณ์ และปรัศนีย์ เกศะบุตร. (2554). การปรับตัวโดยการใช้กลไกป้องกันตนเอง .วารสารนักบริหาร, 30,4 (2554) 119-125.

มาโนช หล่อตระกูล และคณะ. (2548). จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี. กรุงเทพฯ : ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะ แพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

โมไณย อภิศักดิ์มนตรี. (2557). กลวิธานในการปองกันตัวของผู้บริหารสถานศึกษา. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ภาควิชาการบริหารการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร

วราภรณ์ ตระกูลสฤกษ์. (2544). จิตวิทยาการปรับตัว. กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมวิชาการ