วากยสัมพันธ์ : ประโยคในภาษาไทย

                                                                     วากยสัมพันธ์ : ประโยคในภาษาไทย

                                                                                                                                                                 พรรณษา  พลอยงาม1

บทนำ

              การสื่อสารในชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน อาจสื่อสารกันด้วยคำ กลุ่มคำ ประโยค หรือในลักษณะข้อความ ในการใช้ประโยคสื่อสารนั้น สามารถสื่อความหมายได้ครบถ้วนบริบูรณ์ เนื่องจากประโยคเป็นถ้อยคำที่เรียงกันเป็นระบบระเบียบ และมีใจความสมบูรณ์ โดยพระยาอุปกิตศิลปสารได้เรียกความสัมพันธ์ของคำที่กลายมาเป็นวลีและประโยค ซึ่งเป็นการประกอบสร้างคำขึ้นเป็นหน่วยทางภาษาที่ใหญ่ขึ้น เรียกว่า “วากยสัมพันธ์” ประโยคเป็นโครงสร้างทางภาษาที่สำคัญในการสื่อสาร ผู้ใช้ภาษาต้องเข้าใจโครงสร้างของประโยค เข้าใจวิธีการพิจารณาประโยคแต่ละชนิด ซึ่งการจะจำแนกประโยคแต่ละชนิดได้          ต้องพิจารณาทำความเข้าใจการเรียงลำดับคำในประโยค อีกทั้งการใช้ประโยคตรงตามเจตนา และการใช้ประโยคถูกต้องตามแบบแผนของภาษา จึงจะใช้ประโยคในการสื่อสารได้ถูกต้องและสัมฤทธิผล

 

               1.      ความหมายของประโยค

                จงชัย เจนหัตถการกิจ (2551 : 96) กล่าวว่า ประโยค หมายถึง ถ้อยคำหลายคำที่นำมาเรียงกันแล้ว

เกิดใจความสมบูรณ์ ซึ่งประกอบไปด้วยภาคประธานและภาคแสดง 

                กำชัย ทองหล่อ (2554: 367) ได้ให้ความหมายของประโยค คือ กลุ่มคำที่มีความเกี่ยวข้องกันเป็นระเบียบและมีเนื้อความครบสมบูรณ์โดยปรกติ ประโยคจะต้องมีบทประธานและบทกริยาเป็นหลักสำคัญ          แต่ถ้าใช้สกรรมกริยา จะต้องมีบทกรรมมารับ ถ้าใช้วิกตรรถกริยา จะต้องมีบทขยายจึงจะได้ความสมบูรณ์              บทขยายนั้นจะเป็นคำ วลี หรือประโยคก็ได้ ถ้าใช้อกรรมกริยา ไม่ต้องมีกรรมรับ เพราะได้ความสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่จะมีบทขยายให้ความชัดเจนขึ้นอีกก็ได้

              พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (2556: 711) ได้ให้ความหมายของประโยค คือ คำพูดหรือข้อความที่ได้ความบริบูรณ์ตอนหนึ่งๆ เช่น ประโยคบอกเล่า ประโยคปฏิเสธ ประโยคคำถาม

              ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่เรียงติดต่อกันเป็นระบบระเบียบตามโครงสร้างไวยากรณ์ของภาษา และได้ใจความครบถ้วนสมบูรณ์

              2.      ส่วนประกอบของประโยค

              ประโยคทุกชนิดจำแนกออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาคประธาน ประกอบไปด้วย บทประธาน และบทขยายประธาน ซึ่งบทขยายประธานอาจมีหรือไม่มีก็ได้ ภาคแสดง ประกอบไปด้วย บทกริยา บทขยายกริยา บทกรรม และบทขยายกรรม โดยภาคแสดงอาจจะมีหรือไม่มีกรรมก็ได้ แต่ต้องมีกริยา (คำกริยา) เสมอ

              3.      ประเภทของประโยคในภาษาไทย

               ประยุทธ กุยสาคร (2527: 137-141) กล่าวถึงประเภทของประโยคในภาษาไทยตามแนวหลักภาษาเดิม สามารถแบ่งชนิดของประโยคได้หลายลักษณะ ดังนี้

               1.แบ่งตามลักษณะการเรียงคำในประโยค

               2.แบ่งตามลักษณะโครงสร้างของประโยค

               3.แบ่งตามลักษณะการใช้ของประโยคหรือตามเจตนาของผู้ส่งสาร

               ในส่วนการแบ่งตามลักษณะการเรียงคำในประโยค พระยาอุปกิตศิลปสาร (2546 : 211-213) ได้แบ่งรูปประโยคตามลักษณะการเรียงลำดับคำเป็น 4 ประเภท คือ

                1.ประโยคกรรตุ คือ รูปประโยคที่เรียงคำโดยมีบทประธานอยู่ต้นประโยคเพื่อเน้นความสำคัญของ   บทประธาน ตามด้วยกริยา หรือตามด้วยกริยาและกรรม หรือตามด้วยกริยาและส่วนเติมเต็ม ซึ่งถือเป็นรูปประโยคที่นิยมใช้กันมากที่สุด เช่น                นกร้อง   พี่ล้างจาน แมวปีนต้นไม้

               2.ประโยคกริยา คือ ประโยคที่มีคำกริยาขึ้นต้น ตามด้วยประธาน กริยาเหล่านี้ คือ เกิด  มี ปรากฏ

เช่น เกิดพายุเมื่อวานนี้  มีกระทิงหลายฝูงในป่าห้วยขาแข้ง ปรากฏวัตถุประหลาดบนท้องฟ้า

               3.ประโยคกรรม คือ ประโยคที่มีกรรมอยู่หน้า เพื่อเน้นกรรมให้ชัดเจน เช่น ตามีถูกเสือกิน

ฉันถูกคุณครูดุ ขโมยถูกตำรวจจับ

                4.ประโยคการิต คือ รูปประโยคที่มีผู้รับใช้เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น แม่ให้ลูกล้างจาน ครูให้นักเรียนอ่านหนังสือ อาจารย์ให้นักศึกษาทำแบบทดสอบก่อนเรียน

               ข้อสังเกต บางตำรา ได้เพิ่มประเภทของประโยคตามลักษณะการเรียงคำในประโยคอีก 1 ประเภท ดังเช่นในหนังสือหลักภาษาไทยของ จงชัย เจนหัตถการกิจ คือ ประโยคกริยาสภาวมาลา คือ ประโยคที่นำคำกริยามาทำหน้าที่อย่างคำนาม โดยทำหน้าที่เป็นประธาน หรือกรรม ตัวอย่าง ออกกำลังกายทำให้ร่างกายแข็งแรง แกว่งมือทำให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ ฉันชอบมองโลกในแง่ดี      

              ในส่วนการแบ่งตามลักษณะโครงสร้างของประโยค ตามหลักไวยากรณ์ดั้งเดิมของพระยาอุปกิตศิลปสาร (2546 : 223 – 269) ได้แบ่งประโยคตามลักษณะโครงสร้างเป็น 3 ประเภท คือ

              1.ประโยคความเดียว หรือ เอกรรถประโยค คือประโยคที่มีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว ประกอบไปด้วยภาคประธานและภาคแสดง เช่น เด็ก ๆ กินขนมหมด คุณพ่อเดินอย่างรีบเร่ง  อาจารย์รักศิษย์ทุกคน

               2.ประโยคความรวม หรือ อเนกรรถประโยค “อเนกรรถ” แปลว่า หลายใจความ หมายถึง ประโยคที่มีใจความมากกว่า 1 ใจความ ดังนั้น ประโยคความรวม หมายถึง ประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไปที่รวมกันเข้าเป็นประโยคเดียวกัน โดยมีสันธานเป็นคำเชื่อม บางครั้งอาจจะละสันธานไว้ไม่ปรากฏให้เห็น และเมื่อแยกประโยคความรวมออกก็จะได้เป็นประโยคความเดียวที่มีเนื้อความสมบูรณ์เช่นกัน เช่น เพราะฝนตกรถจึงติด นิดและหน่อยทำการบ้าน เธอจะกินข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว

                3.ประโยคความซ้อน หรือ สังกรประโยค “สังกร” แปลว่า แต่งหรือปรุง ดังนั้น ประโยคความซ้อน หมายถึง ประโยคความเดียวที่มีส่วนขยายเป็นประโยค ซึ่งอาจจะทำหน้าที่ขยายประธาน ขยายกริยา หรือขยายกรรม จึงดูเหมือนกับว่ามีประโยคความเดียวซ้อนประโยคความเดียวอยู่จึงเรียกว่า ประโยคความซ้อน เช่น ฉันเห็นตำรวจจับผู้ร้าย น้องอดอาหารเพื่อลดความอ้วน เขาได้รับรางวัลซึ่งมีค่าทางจิตใจมาก

               ข้อสังเกต บางตำรา แบ่งประโยคตามลักษณะโครงสร้างตามแนวทฤษฎีใหม่ ดังเช่นในหนังสืออุเทศภาษาไทย ชุด บรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม 3 : ชนิดของคำ วลี ประโยคและสัมพันธสาร ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แบ่งประโยคตามโครงสร้างออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประโยคสามัญ ประโยคซ้อน และประโยครวม

              ในส่วนการแบ่งตามลักษณะการใช้ของประโยค พิมพร สอพิมาย (2546 : 21-22) ได้แบ่งประโยคตามลักษณะการใช้ของประโยคหรือแบ่งตามเจตนาของผู้ส่งสาร เป็น 3 ประเภท คือ

               1.ประโยคแจ้งให้ทราบ คือ ประโยคที่บอกเรื่องราว เหตุการณ์ ความคิดเห็น เป็นประโยคบอกเล่าหรือปฏิเสธก็ได้ เช่น ฝนตกแล้ว เขาพูดไม่สุภาพ เพื่อน ๆ ของฉันกำลังเดินเล่น

               2.ประโยคถามให้ตอบ คือ ประโยคที่มีเนื้อความเป็นคำถาม มักมีคำว่า ใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร ทำไม หรือ หรือไม่ ไหม เช่น คุณเห็นอะไร ขุนช้างเป็นลูกของใคร ทำไมเธอจึงตื่นสาย

               3.ประโยคบอกให้ทำ คือ ประโยคที่ผู้ส่งสารต้องการให้ผู้รับสารกระทำตาม อาจเป็นประโยคคำสั่ง เช่น อย่าเสียงดังนะ สุวนันท์ทำการบ้านเดี๋ยวนี้ หรือประโยคขอร้อง เชิญชวนให้กระทำ เช่น โปรดเข้าแถวด้วยนะคะ เข้ามาสิ พวกเราไปกันเถอะ

               ข้อสังเกต บางตำรา นักวิชาการได้แบ่งประเภทของประโยคตามลักษณะการใช้ของประโยคหรือแบ่งตามเจตนาของผู้ส่งสารที่แตกต่างกันออกไป ดังที่ ประยูร  ทรงศิลป์ (2553: 239-241) ได้จำแนกประเภทของประโยคตามเจตนาของผู้ส่งสาร โดยพิจารณาจากเจตนาในการส่งสารของผู้สื่อสารซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยคเป็นหลัก จำแนกประโยคได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ ประโยคบอกเล่า ประโยคปฏิเสธ ประโยคคำถาม และประโยคคำสั่ง ข้อร้อง ชักชวน หรือ วรวรรธน์  ศรียาภัย (2555: 17-18) ได้จำแนกประเภทของประโยค โดยพิจารณาจากเจตนาของผู้ส่งสารเป็นเกณฑ์ จำแนกประโยคได้เป็น 9 ประเภท ได้แก่ ประโยคบอกให้ทราบ ประโยคเสนอแนะ ประโยคสั่ง ประโยคห้าม ประโยคชักชวน ประโยคขู่ ประโยคขอร้อง ประโยคคาดคะเน และประโยคถาม ซึ่งจากการแบ่งประเภทของนักวิชาการเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว เป็นไปในทางเดียวกัน คือ ประโยคแสดงเจตนาของผู้ส่งสารแต่ละประเภทนั้น ย่อมแสดงเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งของผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร เพื่อต้องการให้ผู้รับสารได้รับรู้ถึงเจตนาต่าง ๆ ที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อสารไปยังผู้รับสาร อาจจะต้องการให้ทราบความคิดความรู้สึกของตน หรือต้องการให้ผู้รับสารบอกเล่าสิ่งที่ผู้รับสารทราบแก่ผู้ส่งสาร หรือต้องการให้ผู้รับสารกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

               4.      ข้อสังเกตในการเรียงลำดับคำในประโยค

               การเรียงลำดับคำในประโยค ในระบบภาษาไทยการเรียงลำดับคำถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากเรียงลำดับคำผิด ความหมายย่อมเปลี่ยนไป ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการสื่อสารได้ ดังนั้นผู้ใช้ภาษาควรเรียงลำดับคำในประโยคให้ตรงกับเจตนาที่เราต้องการสื่อออกไป เช่น

                คุณแม่ดีใจ                                        ความหมายไม่เหมือนกับ          คุณแม่ใจดี

                เขาอดทนต่อความลำบาก                ความหมายไม่เหมือนกับ          เขาทนอดต่อความลำบาก

                เขาใจหายเมื่อทราบว่าเพื่อนย้ายบ้าน ความหมายไม่เหมือนกับ         เขาหายใจเมื่อทราบว่าเพื่อนย้ายบ้าน

               นอกจากนี้ ในการเรียงลำดับส่วนต่างๆในประโยคภาษาไทยมีการเรียงลำดับแบบ ประธาน กริยา กรรม ดังตัวอย่างประโยค

               “น้องกินข้าว” มีการเรียงลำดับประธาน คือ “น้อง” กริยา คือ “กิน” และกรรม คือ “ข้าว”

               ถ้าเรียงใหม่เป็น “กินข้าวน้อง” โดยเรียงลำดับ กริยา กรรม ประธาน ก็จะได้ประโยคที่ผิดไวยากรณ์ของไทย หรือหากเรียงลำดับใหม่เป็น “ข้าวกินน้อง” ความหมายของประโยคก็จะเปลี่ยนแปลงไป 

สรุป

              ประโยค คือ กลุ่มคำที่เรียงติดต่อกันเป็นระบบระเบียบได้ใจความครบบริบูรณ์ โดยประโยคหนึ่งประโยคจะประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ ภาคประธานและภาคแสดง ซึ่งภาคประธานจะประกอบด้วยประธานกับส่วนขยายประธาน ส่วนในภาคแสดงประกอบด้วย กริยากับส่วนขยายกริยา และกรรมกับส่วนขยายกรรม ประเภทของประโยคในภาษาไทยตามแนวหลักภาษาเดิมได้แบ่งชนิดของประโยคได้หลายลักษณะ ได้แก่ การแบ่งตามลักษณะการเรียงคำในประโยค มีทั้งหมด 4 ประเภท คือ ประโยคกรรตุ ประโยคกริยา ประโยคกรรม และประโยคการิต การแบ่งตามลักษณะโครงสร้างของประโยค มีทั้งหมด             3 ประเภท คือ ประโยคความเดียว ประโยคความรวม และประโยคความซ้อน และการแบ่งตามลักษณะการใช้ของประโยคหรือเรียกว่าประโยคแสดงเจตนา มีทั้งหมด 3 ประเภท  คือ ประโยคแจ้งให้ทราบ ประโยคถามให้ตอบ และประโยคบอกให้ทำ การศึกษาประเภทของประโยคชนิดต่าง ๆ ได้อย่างเข้าใจถ่องแท้ ผู้ใช้ภาษาต้องศึกษาประเภทของประโยคแต่ละชนิดให้เข้าใจจึงจะสามารถเลือกใช้ประโยคได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งประโยคเป็นสิ่งที่สำคัญในการสื่อสาร หากใช้ประโยคผิดโครงสร้าง ผิดเจตนา ย่อมทำให้การสื่อสารไม่สัมฤทธิผล ผู้รับสารอาจตีความเป็นอย่างอื่น ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทยนั้นเป็นภาษาคำโดด    การเรียงลำดับคำในประโยคถือเป็นเรื่องสำคัญมาก หากเรียงลำดับคำผิดที่ ผู้ใช้ภาษาอาจสื่อความหมายผิดไปจากจุดประสงค์ได้ ดังนั้นในการเลือกใช้ประโยคจึงจำเป็นต้องรู้หลักเพื่อให้สามารถสื่อสารด้วยประโยคที่ถูกต้องตรงตามเจตนาของผู้ส่งสาร

เอกสารอ้างอิง  

กำชัย ทองหล่อ. (2554). หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 53. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น (1977).

จงชัย เจนหัตถการกิจ. (2551). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ: ธนาเพรส.

ประยุทธ์ กุยสาคร. (2527). ภาษาไทยเชิงภาษาศาสตร์. กรุงเทพฯ : หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู.

ประยูร  ทรงศิลป์. (2553).  หลักและการใช้ภาษาไทย.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.

พระยาอุปกิตศิลปสาร. (2546). หลักภาษาไทย : อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณ์.                      

          พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.

พิมพร สอพิมาย (2546). ทักษะภาษาไทยเพื่ออาชีพ. กรุงเทพฯ : แม็ค.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์ พับลิเคชั่นส์. 

วรวรรธน์  ศรียาภัย. (2555).  การเขียนเพื่อการสื่อสาร. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.