ภาพสะท้อนคุณธรรมจริยธรรมจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ศึกไมยราพ

                                                                                                                                           ดร.จริญญาพร สวยนภานุสรณ์[1]

บทนำ

             ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันแตกต่างจากอดีต ซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่าง ๆ นั้น เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในขณะที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก้าวล้ำไปข้างหน้า เราสามารถส่งยานอวกาศออกไปยังดาวต่าง ๆ นอกโลกได้ เรามีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย เราสามารถสนทนากับคนอีกซีกโลกได้ แต่ทำไมเรายังต้องเรียนวรรณคดี  คำถามที่ครูภาษาไทยในปัจจุบันแทบทุกคน ได้รับจากนักเรียนในทุกระดับชั้นที่ได้เข้าสอน

ทำไมต้องเรียนวรรณคดี

            วรรณคดี เป็นงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นนจากจินตนาการ ความรู้สึกนึกคิดรวมทั้งประสบการณ์ของผู้เขียน เพื่อถ่ายทอดแนวความคิด ทัศนคติ ตลอดจนความรู้สึกที่มีต่อสังคมในแง่มุมต่าง ๆ ตามยุคสมัย ทั้งนี้เพราะผู้เขียนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมย่อมที่จะมองเห็นและเข้าใจ ความเป็นไปในพฤติกรรมและความต้องการของคนในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างวรรณคดีกับสังคมดังกล่าว รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ (2523 : 3) ได้กล่าวไว้ว่า “วรรณคดีให้ความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่กวีถ่ายทอดไว้อย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจ นอกจากนี้ยังให้ข้อคิดอันเป็นประโยชน์ให้หยั่งเห็นแก่นแท้ของชีวิต เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ และยังเป็นกระจกเงาบานใหญ่สะท้อนภาพสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัยอีกด้วย”

             ด้วยเหตุที่วรรณคดีเป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่ถ่ายทอดภาพชีวิตและสังคม แสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ ค่านิยม อุดมคติ ความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ถึงแม้ว่าวรรณคดีจะไม่ใช่ตำราบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่เรื่องราวในวรรณคดีก็ได้สอดแทรกค่านิยมความรู้สึกนึกคิดผ่านตัวละครซึ่งเป็นตัวแทนของคนในยุคสมัยนั้น ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นธรรมชาติของมนุษย์และเข้าใจสังคมวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในชาติ เข้าใจวิถีชีวิตและแนวปฏิบัติ วรรณคดีจึงเป็นมรดกอันมีค่า ชาติใดที่มีความเจริญย่อมมีวรรณคดีประจำชาติไว้ขัดเกลาจิตใจของคนในชาติให้ประณีตอ่อนโยน (ชัตสุณี  สินธุสิงห์, 2532 : 75)

             จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าวรรณคดีมีคุณค่าหลายประการ การเรียนวรรณคดีนั้นนอกจากจะได้รับความบันเทิง จากเรื่องราวที่ได้อ่านแล้ว เรายังได้รับรู้ถึงความไพเราะความงดงามจากภาษา ที่ผู้เขียนคัดสรรคำนำมาร้อยเรียงถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกอย่างประณีต ซึ่งได้ช่วยกล่อมเกลาให้ผู้อ่านวรรณคดีเกิดความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ นอกจากนี้ยังมีคุณค่าทางสติปัญญาเนื่องจากการศึกษาวรรณคดีเป็นการเรียนรู้เรื่องราวของวิถีชีวิต วัฒนธรรม คุณธรรมจริยธรรม และอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจความเป็นธรรมชาติของมนุษย์และเข้าใจสังคมวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในชาติ รวมทั้งสามารถนำแง่คิดคติสอนใจที่ได้จากการศึกษาวรรณคดีมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

 

ภาพสะท้อนคุณธรรมจริยธรรมจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ศึกไมยราพ

            วรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เป็นวรรณคดีที่ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เนื่องจากภาวะสงครามทำให้ต้นฉบับกระจัดพลัดพรายไปไม่สมบูรณ์ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีมาแต่เดิมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ

            ด้วยเหตุว่าเป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญ จึงได้รับคัดเลือกให้นํามาบรรจุไว้ในหนังสือแบบเรียนวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และตอนที่นํามาให้นักเรียนได้ศึกษาคือตอนศึกไมยราพ เพราะเป็นตอนที่ปรากฏตัวละครที่สำคัญตัวหนึ่งคือ มัจฉานุ ซึ่งเป็นลูกของหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา ไมยราพเก็บมาเลี้ยงไว้เป็นลูกบุญธรรม มีหน้าที่เฝ้ารักษาด่านเข้าเมืองบาดาล อันเป็นวัยใกล้เคียงกับนักเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีเนื้อหาโดยย่อดังนี้

           ไมยราพได้รับบัญชาจากทศกัณฐ์ให้มาช่วยรบกับพระราม แต่ก่อนไปทำศึก ไมยราพฝันเป็นลางว่ามีดาวดวงน้อยเปล่งรัศมีมาบดบังดวงจันทร์ โหรทำนายว่าพระญาติ (ไวยวิก) จะได้ขึ้นครองเมืองแทน ไมยราพจึงหาทางป้องกันมิให้เป็นไปตามคำทำนายโดยการจับไวยวิกและนางพิรากวนผู้เป็นมารดาของไวยวิกและเป็นพี่สาวของไมยราพ ไปขังไว้ ฝ่ายพระรามก็ฝันว่าราหูมาบดบังพระอาทิตย์ พิเภกทำนายว่าพระรามจะถูกลักพาตัวไปแต่จะรอดกลับมาได้ เมื่อใดที่พระอาทิตย์ขึ้น พระรามจะพ้นเคราะห์ หนุมานจึงหาทางป้องกันไม่ให้พระรามถูกลักพาตัวโดยการเนรมิตกายให้ใหญ่แล้วอมพลับพลาที่ประทับของพระรามเอาไว้แต่ไมยราพซึ่งปลอมตัวเป็นพลทหารลิงแอบล่วงรู้ความลับนี้ จึงเหาะขึ้นไปบนอากาศกวัดแกว่งกล้องทิพย์ทำให้เกิดความสว่าง พลลิงทั้งหลายที่อยู่ยามเข้าใจว่าเป็นเวลาเช้าแล้วก็พากันละเลยต่อหน้าที่

           ไมยราพจึงย่องเข้าไปเป่ายาสะกดไพร่พลในกองทัพของพระรามจนหลับใหลไปหมด แล้วจึงแบกพระรามพาแทรกแผ่นดินไปยังเมืองบาดาล เมื่อถึงเมืองบาดาลไมยราพสั่งให้นำพระรามไปขังไว้ในกรงเหล็ก และนำไปไว้ยังดงตาลท้ายเมืองบาดาล จัดทหารยักษ์จำนวนโกฏิหนึ่ง เฝ้าเอาไว้อย่างแน่นหนา และสั่งให้นางพิรากวนตักน้ำใส่กระทะใหญ่เพื่อเตรียมต้มพระรามกับไวยวิกในวันรุ่งขึ้น ทางกองทัพของพระรามเมื่อทราบว่าพระรามถูกลักพาตัวไปให้หนุมานตามไปช่วยพระรามที่เมืองบาดาล ระหว่างทางหนุมานได้พบกับด่านต่าง ๆ หลายด่าน คือ ด่านกำแพงหินที่มียักษ์รักษานับพัน ด่านช้างตกมัน ด่านภูเขากระทบกันเป็นเปลวไฟ ด่านยุงตัวโตเท่าแม่ไก่ และด่านมัจฉานุ (บุตรของหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา) หนุมานสามารถผ่านด่านต่าง ๆ ได้  และได้ขอให้มัจฉานุบอกทางไปยังเมืองบาดาลให้ แต่มัจฉานุนึกถึงพระคุณของไมยราพที่ชุบเลี้ยงตนเป็นบุตรบุญธรรม จึงเลี่ยงบอกทางไปเมืองบาดาลให้หนุมานทราบเป็นความนัยให้หนุมานนึกเดาเอา หนุมานจึงตามไปถึงเมืองบาดาลพบนางพิรากวนออกมาตักน้ำตามคำสั่งของไมยราพ จึงขอให้นางพิรากวนพาเข้าเมืองบาดาลโดยการแปลงเป็นใยบัวติดสไบนางเข้าไป หนุมานค้นหาพระรามจนพบแล้วร่ายมนต์สะกดยักษ์ที่อยู่เวรยามให้หลับหมดพาพระรามออกมาจากเมืองบาดาลและไปฝากเทวดาที่เขาสุรกานต์ให้ช่วยดูแลพระราม ส่วนตนเองก็ย้อนกลับไปสู้กับไมยราพ และฆ่าไมยราพตายในที่สุด

          จากการวิเคราะห์ภาพสะท้อนคุณธรรมจริยธรรมจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ศึกไมยราพ ผลปรากฏดังนี้

1. ความกตัญญู

          ในตอนศึกไมยราพเป็นตอนที่แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณของทั้งตัวหนุมาน ที่เสี่ยงภัยอันตรายเพื่อไปช่วยพระราม ผู้เป็นนายของตนจากไมยราพ และสำคัญที่สุด คือ แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณของมัจฉานุ ทั้งต่อหนุมานผู้เป็นบิดา แม้ว่าหนุมานผู้เป็นพ่อไม่ได้เลี้ยงดูมัจฉานุมา แต่มัจฉานุก็มีกตัญญูรู้คุณ และกล่าวขอขมาโทษที่ได้ล่วงเกินหนุมานด้วยความไม่รู้ ขอหนุมานอย่าได้ถือโทษ ดังบทกลอน

                  บัดนั้น                        มัจฉานุผู้ชาญชัยศรี

เห็นประจักษ์เหมือนคำชนนี         ยินดีก็วิ่งเข้าไป

ยอกรขึ้นเหนือศิโรเพฐน์             น้อมเกศบังคมประนมไหว้

ตัวลูกไม่แจ้งประจักษ์ใจ             จึ่งชิงชัยกับพระบิดา

อันโทษนี้ใหญ่หลวงนัก               ลูกรักจักขอโทษา

อย่าให้เป็นกรรมเวรา                แก่ข้าน้อยนี้สืบไป

          ความกตัญญูต่อไมยราพ ผู้ที่ชุบเลี้ยงจนเติบใหญ่ แม้จะทราบว่าหนุมานเป็นบิดา แต่การที่จะบอกทางให้หนุมานไปสังหารไมยราพนั้น ก็เปรียบดังไม่รู้บุญคุณ และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ จึงไม่สามารถบอกทางได้ ได้แต่บอกใบ้ให้หนุมานคิดเอง ดังบทกลอน

                 บัดนั้น                       มัจฉานุผู้มีอัชฌาสัย

ได้ฟังอัดอั้นตันใจ                     บังคมไหว้แล้วตอบวาที

ข้อนี้ขัดสนเป็นพ้นคิด                พระบิดาจงโปรดเกศี

ด้วยพญาไมยราพอสุรี                ได้เลี้ยงลูกนี้จนใหญ่มา

พระคุณดั่งคุณบิตุเรศ                ซึ่งบังเกิดเกศเกศา

อันซึ่งจะบอกมรคา                  ดั่งข้าไม่มีกตัญญู

2. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่

          มัจฉานุแม้ยังเยาว์วัย แต่ก็ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างแข็งขัน ไม่ละทิ้งหน้าที่ ในเรื่อง มัจฉานุได้รับมอบหมายจากไมยราพให้รักษาด่านเข้าเมืองบาดาล ก็ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ ไม่ละทิ้งหน้าที่

                 บัดนั้น                       มัจฉานุผู้ใจแกล้วกล้า

ซึ่งอยู่ในสระคงคา                     เป็นด่านรักษาชั้นใน

ราตรีเที่ยงคืนเคยเที่ยว               ลดเลี้ยวกระเวนทางใหญ่

ก็สำแดงแผลงฤทธิเกรียงไกร        ขึ้นไปจากท้องชลธร

 ถึงที่ขอบสระก็หยุดอยู่              แลดูไปทั่วทุกสถาน

เห็นวานรเผือกผู้อหังการ            ล่วงด่านผ่าทางเข้ามา

3. ความละเอียดรอบคอบ สุขุม มีสติใคร่ครวญเหตุผล

หนุมานนอกจากมีความเก่งกล้าสามารถ ความกล้าหาญแล้ว ยังมีความละเอียดรอบคอบ สุขุม มีสติใคร่ครวญเหตุผล ก่อนลงมือทำอะไร ดังจะเห็นได้จากตอนที่ไมยราพล่อลวงใช้กลวิธีจะสังหารหนุมานด้วยการตีด้วยกระบองตาล หนุมานก็คิดใคร่ครวญอย่างมีสติ ดังบทกลอน

                บัดนั้น                       คำแหงหนุมานทหารใหญ่

ได้ฟังก็ดำริตริไตร                     อันอ้ายไมยราพอสุรา

มันคิดเปรียบเทียบดั่งนี้              เห็นจะมีอุบายยักษา

กูก็ไม่เกรงฤทธา                      จะซ้อนกลฆ่ามันให้วายปราณ

4. การถือสัจจะ

สัจจะหรือความซื่อสัตย์ ที่ปรากฏในเรื่องได้แก่ ตอนที่ไมยราพรบกับหนุมาน แล้วให้สัญญาต่อกันว่า จะผลัดกันใช้กระบองตาลตี คนละ 3 ที แม้ว่าไมยราพจะกลัวตาย แต่ก็ถือสัจจะที่ให้ไว้เป็นสำคัญ ดังบทกลอน

               เมื่อนั้น                       พญาไมยราพยักษา

ได้ฟังจึ่งตอบวาจา                    อันคำเราว่านี้โดยธรรม์

แม้นมาตรมิคงในสัจ                 ขอจงหัสนัยน์รังสรรค์

กับฝูงเทวาทั้งนั้น                      สังหารชีวันให้บรรลัย

สรุป

            การเรียนวรรณคดีนั้นนอกจากจะได้รับความบันเทิง จากเรื่องราวที่ได้อ่านแล้ว เรายังได้รับรู้ถึงความไพเราะความงดงามจากภาษา ช่วยกล่อมเกลาให้ผู้อ่านวรรณคดีเกิดความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ นอกจากนี้ยังมีคุณค่าทางสติปัญญาเนื่องจากการศึกษาวรรณคดีเป็นการเรียนรู้เรื่องราวของวิถีชีวิต วัฒนธรรม คุณธรรมจริยธรรม จากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกไมยราพ แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากเรื่องทั้งหมด แต่ในตอนนี้ก็สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม อันเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต และเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำไปประยุกต์ใช้พัฒนาตนเองรวมทั้งสามารถนำแง่คิดคติสอนใจที่ได้จากการศึกษามาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

เอกสารอ้างอิง

ชัตสุนีย์ สินธุสิงห์. (2532). วรรณคดีทัศนา. กรุงเทพมหานคร: โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์

          มหาวิทยาลัย.

พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, พระบาทสมเด็จพระ. (2507). รามเกียรติ์ เล่ม 5. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา.

รื่นฤทัย สัจพันธ์. (2523). สีสรรพ์วรรณศิลป์.กรุงเทพมหานคร: บริษัทต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด.

[1] อาจารย์สาขาภาษาไทย (ค.บ.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา