ระบบกลไกของสถานศึกษาในการสนับสนุนหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ

              ระบบกลไกของสถานศึกษาในการสนับสนุนหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ
                                                                                                                         บังอร  เสรีรัตน์

                     ปัจจุบันการศึกษาไทยมีการปรับเปลี่ยน และมีการกำหนดจุดเน้นที่มีเป้าหมายในการพัฒนาสมรรถนะ นั่นคือเน้นการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะที่มีเป้าหมายให้การจัดการศึกษาเป็นกระบวนการสร้างสมรรถนะ ให้ผู้เรียนสามารถพร้อมรับและเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามความสนใจ และความถนัดของผู้เรียน

                    การจัดการศึกษาฐานสมรรถนะประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน ที่ต้องมีความสัมพันธ์และความสอดคล้องกันตลอดแนว (alignment) ได้แก่หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-Based Curriculum: CBC)  การเรียนการสอนฐานสมรรถนะ (Competency-Based Instruction: CBI) และ การวัดและประเมินฐานสมรรถนะ (Competency-Based Assessment:  โดยในส่วนการจัดการศึกษาระดับสถานศึกษาก็ต้องดำเนินการใน 3 ส่วนคือการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ การจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ  และ การวัดและประเมินฐานสมรรถนะ เช่นกัน

           สำหรับหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จัดทำขึ้นโดยสถานศึกษาในการกำหนดรายละเอียดการจัดประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน  ทิศนา แขมมณี (2564) ได้กล่าวถึงลักษณะสำคัญของหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะว่ามีดังนี้ 1)เป็นหลักสูตรแบบเน้นผลลัพธ์ มีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน  ที่มุ่งให้ผู้เรียนทำอะไรได้ตามที่กำหนด  ๒)เป็นหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกับบริบท จุดเน้น ภูมิสังคม และสถานการณ์ของสังคม อีกทั้งสอดคล้องกับกรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ๓) เป็นหลักสูตรที่มีจุดเน้นอยู่ที่การปฏิบัติ /การกระทำ และ การประยุกต์ใช้ความรู้  ทักษะ คุณลักษณะ และเจตคติ ในการปฏิบัติงานและสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตจริง ซึ่งมีความหมายต่อผู้เรียน ๔)เป็นหลักสูตรที่มีพันธรับผิดชอบในการบรรลุเป้าหมายของผู้เรียนทุกคนอย่างชัดเจน โดยการจัดระบบสนับสนุนผู้เรียนจนกระทั่งบรรลุเป้าหมาย ๕) เป็นหลักสูตรที่เอื้อและส่งเสริมการเรียนรู้แบบองค์รวม ที่มุ่งให้เกิดสมรรถนะ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้  ทักษะ คุณลักษณะ และเจตคติในงานอย่างเป็นองค์รวม ๖) เป็นหลักสูตรที่เน้นการเรียนการสอนสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล (differentiated  instruction) ผู้เรียนใช้เวลาเรียนมาก – น้อย ได้ตามความถนัดและความสามารถของตน เน้นการเรียนรู้แบบรอบรู้ (mastery  learning ) คือผู้เรียนจะต้องประสบผลสำเร็จในแต่ละขั้นตอนก่อนที่จะก้าวไปสู่ขั้นต่อไป  โดยครูมีบทบาทเป็นผู้ชี้แนะ ผู้ฝึก ผู้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวก ติดตาม ให้ข้อมูลป้อนกลับ  และประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียน และ ๗) เป็นหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับการประเมินเพื่อพัฒนา (formative  assessment)

        ในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ และการนำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะไปใช้นั้น สถานศึกษาจำเป็นจะต้องจัดระบบกลไกด้านต่าง ๆ  และการดำเนินการตามระบบกลไก4 ประการ คือ 1)  ระบบกลไก ด้านการเสริมสร้างแรงจูงใจ ความรู้และทักษะสำคัญแก่บุคลากร 2) ระบบกลไกด้านการสนับสนุนทรัพยากรสำคัญ  3) ระบบกลไกด้านการสร้างเครือข่ายและหุ้นส่วนการเรียนรู้  และ 4) ระบบกลไกด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รายละเอียด ดังนี้

1)  ระบบกลไก ด้านการเสริมสร้างแรงจูงใจ ความรู้และทักษะสำคัญแก่บุคลากร

ระบบกลไก ด้านการเสริมสร้างแรงจูงใจ ความรู้และทักษะสำคัญแก่บุคลากร มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะส่งผลให้การพัฒนาและการใช้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียนเกิดความสำเร็จ ในการดำเนินการนั้นอาจจะทำโดยทีมงานในโรงเรียน  โดยนักวิชาการภายนอกโรงเรียน หรือทำร่วมกันกับเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งที่เป็นกลุ่มบุคคล และองค์กรต่าง ๆ                     

ในการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ตลอดจนการสร้างความตระหนัก การเห็นความสำคัญและมั่นใจในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนนั้น หากสามารถพัฒนาให้เกิดแก่บุคลากรทุกกลุ่มทุกฝ่ายในช่วงต้นก็จะทำให้การทำงานราบรื่น  โดยควรเริ่มต้นจากการสำรวจความต้องการ ความสนใจ และปัญหาของบุคลากร และพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการ ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เน้นการพัฒนาบุคลากรผ่านการปฏิบัติจริง

2) ระบบกลไกด้านการสนับสนุนทรัพยากรสำคัญ

การพัฒนาและการใช้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียนนั้นจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรหลายอย่างแตกต่างไปจากเดิม เพื่อทำให้ครูมีความพร้อมในการพัฒนาตนเอง และออกแบบ/จัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะ และเพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสเกิดคุณลักษณะ ทักษะ และความรู้และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยทรัพยากรหลายอย่างทั้งสื่อ แหล่งเรียนรู้ สถานที่ สถานการณ์ต่าง ๆ  ระบบกลไกด้านการสนับสนุนทรัพยากรจึงเป็นระบบที่สะท้อนการให้ความสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนของโรงเรียน

ในการสนับสนุนทรัพยากรสำคัญให้เหมาะสมนั้นต้องเริ่มต้นจากการสำรวจทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานทั้งทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้ของบุคลากร การเรียนรู้ของนักเรียน การทำงานร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ หลังจากได้รายละเอียด/รายการทรัพยากรสำคัญที่ต้องได้รับการสนับสนุนแล้วต้อง
วางแผนการได้มาซึ่งทรัพยากรสำคัญนั้นๆ ซึ่งอาจจะใช้วิธีการจัดสรรโดยงบประมาณของโรงเรียน หรือการแสวงหาทรัพยากรจากหน่วยงาน/องค์กรในระดับต่าง ๆ หรืออาจจะเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันกับหน่วยงาน/องค์กรในระดับต่าง ๆ

3) ระบบกลไกด้านการสร้างเครือข่ายและหุ้นส่วนการเรียนรู้ 

ระบบกลไกด้านการสร้างเครือข่ายและหุ้นส่วนการเรียนรู้เป็นระบบกลไกที่จะทำให้เกิดภาพการจัดการศึกษาที่พึงประสงค์ ที่สะท้อนความร่วมมือกันในการจัดการศึกษา เครือข่ายและหุ้นส่วนการเรียนรู้  มีหลายลักษณะ ทั้งหุ้นส่วนการเรียนรู้ ที่เป็นผู้ปกครองที่เข้ามาช่วยพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนร่วมกับครูเมื่อผู้เรียนอยู่ที่บ้าน/ในครอบครัว หรือเครือข่ายการเรียนรู้ที่เป็นบุคคล/องค์กร/สถานประกอบการ ในระดับชุมชน และองค์กร ที่เข้ามาช่วยพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนร่วมกับครูทั้งในลักษณะการเป็นแหล่งเรียนรู้ ดูงาน จัดสถานการณ์ที่ช่วยในการพัฒนาสมรรถนะและประเมินสมรรถนะผู้เรียน

ระบบกลไกด้านการสร้างเครือข่ายและหุ้นส่วนการเรียนรู้นี้จะเกิดผลดีเมื่อผู้เป็นเครือข่ายและหุ้นส่วนการเรียนรู้ มีความเข้าใจแนวคิด แนวทางการพัฒนาสมรรถนะนักเรียน จึงต้องมีการปรับแนวคิดมุมมองในการทำงานร่วมกันในช่วงต้น และจัดประสบการณ์ต่าง ๆ ให้ได้เรียนรู้อย่างเข้าใจลึกซึ้ง นอกจากนี้ต้องจัดระบบการทำงานแบบมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการตั้งแต่ร่วมวางแผนการทำงาน ร่วมพัฒนาหลักสูตร และวางแผน ติดตาม กำกับ ช่วยเหลือในการใช้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ

4) ระบบกลไกด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ระบบกลไกด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นกลไกที่จะทำให้ครูผู้สอนเกิดการพัฒนาสมรรถนะด้านการออกแบบ การจัดการเรียนรู้ การวัดประเมินผล และสมรรถนะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้เน้นการนำประสบการณ์จากหน้างาน/การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนมาเรียนรู้ร่วมกันผ่านเทคนิค วิธีการ และเครื่องมือต่าง ๆ ระบบกลไกนี้มีทั้งในลักษณะการจัดตั้งอย่างเป็นทางการเป็นระบบระเบียบขั้นตอนที่ชัดเจน และเป็นระบบกลไกที่ดำเนินการอย่างเป็นธรรมชาติ/ดำเนินการเป็นวิถีปกติของบุคลากรในโรงเรียนซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องตระหนักในความสำคัญและประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงกำหนดและจัดสรรเวลาวิธีการ กลุ่มผู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันขึ้นมาเอง  

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อาจจะจัดหลายรูปแบบเช่นการจัดระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยี่ การจัดระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มเล็กๆ การจัดระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในโรงเรียน การจัดระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีการผสานความรู้กันทั้งบุคลากรภายในและภายนอกโรงเรียน และอาจจะเป็นในลักษณะการจัดระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรของเครือข่ายโรงเรียนก็ได้

การจัดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเป็นแนวคิด แนวทางสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้เขียนได้ทำการวิจัยและค้นพบ โมเดลสามมิติ PLC ที่สะท้อนการทำงาน/ ภารกิจสำคัญ 3 ประการในการพัฒนาชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 มิติ คือ 1) มิติการหนุนเสริม 2) มิติผลที่จะเกิดกับผู้เรียน และ 3) มิติวิธีการพัฒนาครู รายละเอียดแต่ละมิติมีดังนี้  มิติการหนุนเสริม เป็นมิติที่เกี่ยวกับการจัดปัจจัย และกระบวนการที่จะช่วยขับเคลื่อนชุมชนการเรียนรู้ ทางวิชาชีพ ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ ของผู้บริหาร ทีมบริหารจัดการและอำนวยความสะดวก ซึ่งสามารถ ดำเนินการโดยการจัดทีม/พัฒนาทีมงานทำหน้าที่เกื้อกูล ช่วยเหลือ โอบอุ้มชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เน้นผู้ที่มีคุณลักษณะสำคัญคือ มีใจที่จะทำงาน เปิดใจ เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้และเห็นความสำคัญของ การเรียนรู้เพื่อการพัฒนางาน เข้าใจบทบาทหน้าที่ แนวคิดสำคัญ และ กระบวนการต่าง ๆ ผ่านการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันระหว่างสมาชิก เพื่อให้เกิดการร่วมมือรวมพลังและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสมาชิก รวมทั้งจัดโอกาสและพื้นที่ในการเรียนรู้รู้ร่วมกัน อาทิ การสร้างความตระหนัก และความเข้าใจ ในการทำงานการกำหนดตารางเวลาการวางแผนการทำงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสังเกตชั้นเรียน การสะท้อนผลการเรียนรู้ การถอดบทเรียน การจัดบรรยากาศที่ผ่อน คลายเกื้อกูลโอบอุ้มและเป็นกัลยาณมิตร มิติผลที่จะเกิดกับผู้เรียน เป็นมิติที่เป็น “หัวใจในการทำงาน” เป็นมิติที่เกี่ยวกับการกำหนด ระบุความสามารถ / คุณลักษณะของผู้เรียนที่ต้องการพัฒนาร่วมกัน และการร่วมกันออกแบบกิจกรรม /สื่อที่ จะใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถ/คุณลักษณะของผู้เรียนนั้น ๆ มิตินี้เป็นการกำหนดจุด ร่วมในการทำงานสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการทำงานของทุกคน จุดร่วม/เป้าหมายร่วมนี้จะต้องเกิดจากการร่วมกันคัดสรร กลั่นกรอง และ เลือกประเด็นที่สำคัญที่สุด ซึ่ง อาจจะเป็น คุณลักษณะของผู้เรียนที่เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น หรือ เป็นคุณลักษณะสำคัญที่ทุกคนลง ความเห็นว่าต้องพัฒนาให้เกิดกับผู้เรียน หลังจากนั้นทุกคนจึงร่วมกันเรียนรู้ ศึกษา พัฒนา และ หา รูปแบบ วิธีการ กลวิธี นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เกิดคุณลักษณะที่ เป็นเป้าหมายนั้น เพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ในโอกาสต่อไป อีกทั้งเพื่อการแบ่งปันแก่ครูคนอื่นที่ยังมี ปัญหาในการพัฒนาผู้เรียนในเรื่องนี้ มิติวิธีการพัฒนาครู เป็นมิติที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาครูให้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้จากกันและกัน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่สอน ตลอดจนพัฒนาครูให้มีศาสตร์และศิลป์ในการสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ได้ง่าย สนุกสนาน เลือกเทคนิคการสอนที่เหมาะสม มีทักษะการสอนในทักษะย่อย ๆ ต่าง ๆ ทั้งการออกแบบการเรียนการสอน การวางแผนการสอน การจัดทำสื่อการเรียนการสอน การปฏิบัติการสอนที่เน้น active learning และการวัดและ ประเมินผลการสอน ตลอดจนการนำผลการปฏิบัติการสอนมาใช้ในการปรับปรุงแนวทางการพัฒนาผู้เรียน

จากข้อมูลเกี่ยวกับระบบและกลไกทั้ง 4 ข้างต้นจะช่วยให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ และนำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะไปใช้การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนได้ตามเป้าหมาย

 

เอกสารอ้างอิง

 

ทิศนา  แขมมณี. (2564). แนวทางการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ.เอกสารอัดสำเนา