บทบาทของงาน 
Graphic Design [สุ ธ า ทิ พ ย์ ห อ ม สุ ว ร ร ณ]

บทบาทของงาน Graphic Design

ผศ.สุธาทิพย์ หอมสุวรรณ
สาขาวิชาครีเอทีพกราฟิก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ BSRU

วิวัฒนาการของการออกแบบกราฟิกและเทคโนโลยีด้านการผลิตงานกราฟิกมีการพัฒนามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จากการค้นพบภาพเขียนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ การบันทึก การบอกเล่าเหตุการณ์และความเชื่อต่างๆ ในอดีต จากภาพสัญลักษณ์ต่างๆ จนมาถึงการคิดค้นเป็นอักษรภาพเพื่อใช้ในการสื่อสารในอดีต วิวัฒนาการเรื่อยมาจนมาเป็นตัวอักษรอย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน นำไปสู่การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งจะต้องใช้หลักการออกแบบกราฟิกมาใช้พัฒนาให้เกิดรูปแบบที่สวยงามและสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ การออกแบบกราฟิกเป็นการสื่อสารด้วยภาพและตัวอักษรด้วยการจัดองค์ประกอบตามหลักการออกแบบเพื่อให้สามารถสื่อสารข้อมูลหรือข่าวสารไปสู่กลุ่ม    เป้าหมาย สื่อที่หลากหลายในปัจจุบันล้วนผ่านการออกแบบกราฟิกไม่ว่าจะเป็น บรรจุภัณฑ์ หนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ การออกแบบสื่อออนไลน์ หรือการปรับปรุงทัศนียภาพสิ่งแวดล้อม ชีวิตของผู้คนล้วนถูกผสมผสานเข้ากับงานกราฟิกอยู่ตลอดเวลา

ความหมายของการออกแบบกราฟิก

คำว่า “การออกแบบ (Design)” มีรากศัพท์จากภาษาลาตินว่า Designare หมายถึง การวางแผน รวบรวม หรือการจัดองค์ประกอบทั้งที่เป็นสองมิติ และสามมิติ เข้ากับอย่างมีหลักเกณฑ์ทางด้านความงามประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและสร้างคุณค่านิยมทาง   ความงาม ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของงานออกแบบ

คำว่า “กราฟิก (Graphic)”  มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Graphikos หมายถึง สื่อ หรือวัสดุต่างๆ ที่ประกอบไปด้วยภาพถ่าย ภาพวาด ลายเส้น สัญลักษณ์ ตาราง แผนภาพ คำบรรยาย ซึ่งใช้สื่อความหมาย ถ่ายทอดข้อมูล ข้อเท็จจริง และแนวคิด งานกราฟิกใช้หลักทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับการวาดภาพ การเขียนภาพ ทักษะฝีมือ งานกราฟิกมีความสัมพันธ์กับการออกแบบ หากมีการออกแบบที่ดีจะส่งผลให้งานกราฟิกที่ดีและน่าสนใจ (ศิริพรณ์  ปีเตอร์, 2549, น. 3-4)

กล่าวโดยสรุป การออกแบบกราฟิก (Graphic Design) หมายถึง การวางแผน การวิเคราะห์ข้อมูล การแก้ปัญหา การถ่ายทอดความคิดและมโนทัศน์เพื่อออกแบบสื่อหรือวัสดุต่างๆ ซึ่งมีส่วนประกอบของภาพลักษณะต่างๆ และตัวอักษร ออกมาเป็นโครงสร้างให้สามารถสื่อสารข้อมูลโดยผ่านการจัดองค์ประกอบตามหลักการเพื่อให้เกิดความน่าสนใจต่อกลุ่มเป้าหมาย สามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

บทบาทความสำคัญของงานออกแบบกราฟิก

การออกแบบกราฟิกมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสื่อสารตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การออกแบบกราฟิกช่วยให้การสื่อสารข้อมูลเกิดความดึงดูดน่าสนใจ งานออกแบบกราฟิกที่ดีต้องอาศัยการออกแบบที่ดีในการสื่อความหมาย ข้อมูลและความนึกคิดไปยังผู้บริโภค การสร้างสรรค์  งานออกแบบกราฟิกได้มีการพัฒนาและมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามกาลเวลาและความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละยุคสมัย ประกอบกับทักษะและแนวคิดอันสร้างสรรค์ของนักออกแบบนั้นมีส่วนช่วยพัฒนาสังคมให้เจริญและดำรงอยู่อย่างสร้างสรรค์ 

Allen Hurlburt นักออกแบบและสมาชิกของ The Art Directors Club ได้จำแนกหน้าที่ของงานออกแบบกราฟิก โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังที่ปาพจน์ หนุนภักดี (2553: น.9) อธิบายไว้ดังนี้

– งานออกแบบกราฟิกมีหน้าที่บอกเรื่องราว รายละเอียดต่างๆ ข้อมูลที่ซับซ้อนให้ชัดเจน เข้าใจง่าย (To Inform) 

– งานออกแบบกราฟิกแสดงถึงลักษณะของบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมีเอกลักษณ์และบุคลิกของสิ่งนั้น (To Identify)

– งานออกแบบกราฟิกมีหน้าที่โน้มน้าวหรือชักจูง สื่อให้เห็นจุดเด่นของสิ่งที่กล่าวถึง (To Persuade)

งานออกแบบกราฟิกมีส่วนในการสร้างสรรค์การสื่อสารอย่างเป็นระบบมีโครงสร้างที่เป็นระเบียบแบบแผน มีบทบาทอย่างมากมายต่อหลากหลายวงการในลักษณะต่างๆ ดังนี้

1. บทบาทของงานกราฟิกต่อการดำรงชีวิต 

งานออกแบบกราฟิกที่ดีนั้นมีคุณค่าทางด้านประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันโดยตรงและทางด้านอารมณ์ความรู้สึก มีผลทางอารมณ์ทำให้เกิดความพึงพอใจ สุขสบายใจ หรือก่อให้เกิดความคิดอื่นๆ ส่งผลต่อทัศนคติที่ดีงามของบุคคล 

2. บทบาทของงานกราฟิกต่อสังคม 

งานกราฟิกถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางสำหรับมนุษย์ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในสังคม มีบทบาทในการลดข้อจำกัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคล งานกราฟิกจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อมนุษย์และสังคมซึ่งมีบทบาทต่างๆ ดังที่วิรุณ  ตั้งเจริญ (2539: น.2-9) อธิบายไว้สรุปได้ดังนี้

2.1 สร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคม บุคคลแต่ละคนมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ การใช้งานกราฟิกเข้าช่วยจะทำให้ง่ายต่อการสื่อความหมายได้เป็นอย่างดี งานออกแบบกราฟิกมีบทบาทในการสร้างสัญลักษณ์เพื่อความเข้าใจและสร้างข้อตกลงที่เข้าใจร่วมกันในสังคม หรือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำรงชีวิตร่วมกัน เช่น การออกแบบภาพสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมาย สร้างกฏปฏิบัติที่จำเป็นต้องมีความเข้าใจร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนในสังคมในยุคที่การสื่อสารไร้พรมแดน มีการปฏิสัมพันธ์กับนานาชาติ งานออกแบบกราฟิกจึงสำคัญอย่างมากในการสื่อความหมายร่วมกันภายใต้ความแตกต่างของเชื้อชาติและภาษา

2.2 สร้างความเจริญก้าวหน้าทางธุรกิจ ด้วยรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน  การแข่งขันที่มีสูงมาก รูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไป รูปแบบพาณิชย์อิเล็คโทรนิกส์เข้ามามีบทบาทแทนที่การค้าขายแบบเดิม ผู้ผลิตสินค้าจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพึงพาอาศัยกราฟิกในการสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวสินค้าก่ให้เกิดการสร้างอัตลักษณ์องค์กร (Brand Identity) ปรับปรุงรูปร่างหน้าตาของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ (Packaging Design) ให้ดึงดูดใจผู้บริโภคท่ามกลางคู่แข่งที่มีมากมาย อีกทั้งกราฟิกยังช่วยในการสื่อสารข้อมูล ประชาสัมพันธ์โฆษณา (Public Relation) มีทั้งกราฟิกในรูปแบบสิ่งพิมพ์และรูปแบบมัลติมีเดีย

2.3 สร้างความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการในยุคแห่งการเรียนรู้ไร้พรมแดน ผู้คนไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ในชั้นเรียนอีกต่อไป สามารถศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ มากมาย เช่น เรียนรู้ทางอินเตอร์เน็ต สื่อเรียนรู้มัลติมีเดียต่างๆ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญใน การสร้างสรรค์สื่อเหล่านี้คือการออกแบบกราฟิก ภาพที่นำมาใช้ การใช้สี และการจัดวางตัวอักษร ล้วนต้องถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ง่าย รวดเร็ว น่าสนใจส่งผลให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสื่อสารที่ไร้พรมแดนในปัจจุบันงานกราฟิกมีอิทธิพลอย่างมากต่อการสื่อสารในระดับสากล สามารถสื่อความหมายไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันทางด้านเชื้อชาติ และภาษา สามารถสื่อสารได้แทนคำพูดต่างๆ ได้โดยการใช้งานกราฟิก นักออกแบบกราฟิกจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีความรู้ความเข้าในในศาสตร์ด้านการออกแบบ สุนทรียศาสตร์เพื่อช่วยให้ได้สร้างสรรค์ผลงานออกแบบกราฟิกเพื่อการสื่อความหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีองค์ประกอบของความสวยงาม (Asthetic) มีประโยชน์ใช้สอยที่ดี (Funtion) และมีแนวความคิดในการออกแบบที่ดี (Concept) งานกราฟิกที่ดีนั้นควรกระตุ้นให้เกิดกระบวนการสื่อสารอย่างครบวงจร แสดงคุณค่าของงานออกแบบและสามารถสอดประสานกับประเพณี ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นได้อีกด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

หนังสือและบทความในหนังสือ

ปาพจน์  หนุนภักดี. (2553). หลักการและกระบวนการออกแบบงานกราฟิกดีไซน์. นนทบุรี: ไอดีซีฯ.
วิรุณ  ตั้งเจริญ. (2539). การออกแบบ. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
ศิริพรณ์ ปีเตอร์. (2549). การออกแบบกราฟิก. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.