ทักษะการประกอบการธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ภายใต้วิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal)

ทักษะการประกอบการธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ภายใต้วิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal)

Creative Business Entrepreneurship Skills in the New Normal

 

เกษสุดา  บูรณศักดิ์สถิตย์

Ketsuda Buranasaksathit

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

 

บทคัดย่อ

 

            บทความวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงทักษะการประกอบการธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ภายใต้วิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) ซึ่งประกอบด้วย ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ในการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเป็นผู้นำด้านการสร้างนวัตกรรม  การเป็นผู้นำด้านวิสัยทัศน์ขององค์กร การเป็นผู้นำด้านการสนับสนุนและส่งเสริมทักษะความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับพนักงานขององค์การ และการส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีม ด้านความรู้ ความเข้าใจในกลยุทธ์ต่างๆ ที่สำคัญในการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน ด้านการศึกษาคู่แข่งขันทางธุรกิจ ด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการประกอบธุรกิจ และด้านการศึกษาและติดตามข้อมูลต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เพื่อนำประโยชน์จากการศึกษาครั้งนี้ เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับองค์กรธุรกิจที่จะสามารถนำแนวทางไปปฏิบัติหรือพัฒนาเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทางธุรกิจ และตระหนักถึงความอยู่รอดขององค์กรต่อไปในอนาคต

 

คำสำคัญ: ทักษะการประกอบการธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ , ผู้ประกอบการ

 

 

บทนำ

            ปัจจุบันแนวโน้มการประกอบธุรกิจหลายประเภทต้องรับมือกับสภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยรูปแบบการใช้ชีวิตเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า “ความปกติใหม่” หรือ “New Normal” ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการเกิดการปรับตัวและเรียนรู้การนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งนวัตกรรมนี้จะช่วยให้ธุรกิจเกิดความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน (Competitive Advantage) ที่เหนือกว่าคู่แข่งอื่นทางธุรกิจประเภทเดียวกัน (Smith, 2006)

            ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์นั้น จัดเป็นทักษะสำคัญที่ผู้ประกอบการหรือผู้ที่คิดริเริ่มดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องมีเป็นอันดับแรก เพื่อที่จะพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งมีการวางแผนการดำเนินงานและพร้อมที่จะยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหวังผลกำไรที่เกิดจากผลการดำเนินงานของธุรกิจตนเอง รวมทั้งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน (ศรากุล สุโคตรพรหมมี, 2559)

 

 

            ทั้งนี้ ทักษะการประกอบการธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ภายใต้วิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์สามารถนำมาใช้ในการดำเนินงานทางธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น (สมใจ ศรีเนตร, 2560)  จากการศึกษาครั้งนี้ สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับองค์กรธุรกิจซึ่งสามารถนำแนวทางไปปฏิบัติหรือพัฒนาเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทางธุรกิจ และตระหนักถึงความอยู่รอดขององค์กรต่อไปในอนาคต

 

วิธีการศึกษา

            การศึกษาในครั้งนี้ ใช้วิธีการทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) และนำเสนอในรูปแบบของการพรรณนาเชิงวิเคราะห์ ซึ่งใช้แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ โดยการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ อาทิ งานวิจัย การสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลออนไลน์ เป็นต้น

 

 ผลการศึกษา

          การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาจากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถสรุปถึงทักษะการประกอบการธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ภายใต้วิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) โดยผลจากการศึกษา ดังนี้

            ผู้ประกอบการ ควรใช้ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ในการบริหารงานเพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงานที่กระตุ้นการระดมความคิดให้กับพนักงานในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ และเปิดโอกาสให้องค์กรเป็นสังคมที่สามารถแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งการคิดนอกกรอบ ตลอดจนการให้พนักงานในองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้ประกอบการนั้นจำเป็นต้องมีคุณลักษณะเชิงสร้างสรรค์โดยชอบเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา มีความสุขและสนุกกับการทำงาน สามารถใช้ความสามารถในการบริหารจัดการในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ (สุพาดา สิริกุตตา, 2556)

            นอกจากนี้ ทิบดี ทัฬหกรณ์ และธีระวัฒน์ จันทึก (2561) ได้ศึกษาถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญ ดังนี้

             ด้านปัจจัยภายในของผู้ประกอบการ (Internal entrepreneur) เป็นความสามารถของบุคคลที่ประกอบด้วยทักษะต่างๆ ที่สำคัญ ซึ่งประกอบด้วย

            1) ผู้ประกอบการ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

            2) ผู้ประกอบการ ควรมีความรู้ ความเข้าใจในกลยุทธ์ต่างๆ ที่สำคัญในการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน โอกาสทางการตลาด และความสำเร็จของผู้ประกอบการ

            3) ผู้ประกอบการ เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา มีจินตนาการ มีความสุขกับการทำงาน และมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่ดี

            4) ผู้ประกอบการ ต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และมีการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านมาซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างสร้างสรรค์

            5) ผู้ประกอบการ ต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ด้านความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสามารถสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์นั้นให้เป็นรูปธรรม

            ด้านปัจจัยภายนอกของผู้ประกอบการ (External entrepreneur) เป็นสภาพแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบการ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ หรืออาจเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานของผู้ประกอบการสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย

            1) นวัตกรรม เทคโนโลยี ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            2) คู่แข่งขัน ผู้ประกอบจำเป็นต้องศึกษาคู่แข่งขันทางธุรกิจ ทราบความเคลื่อนไหวของคู่แข่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสามารถเตรียมการวางแผนเพื่อสร้างความแตกต่างทางธุรกิจ

            3) เครือข่ายความร่วมมือ ผู้ประกอบการควรสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการประกอบธุรกิจ เพื่อความร่วมมือในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน

            4) กระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาและติดตามข้อมูลต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการดำเนินงานขององค์การในระยะยาวได้

            5) ความต้องการของตลาด โดยผู้ประกอบการควรศึกษาและติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาสินค้าและบริการที่เหมาะสม สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงตามเป้าหมาย

            ทั้งนี้ ความได้เปรียบเชิงการแข่งขันนั้น เป็นการสร้างความสามารถในธุรกิจของตนให้สูงกว่าคู่แข่งขัน โดยธุรกิจจะต้องมุ่งสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขัน 3 ด้าน ประกอบด้วย การเป็นผู้นำด้านต้นทุน การสร้างความแตกต่าง และการมุ่งเน้นตลาดเฉพาะส่วน (Michael E. Porter, 1990)  อีกทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลายได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และอินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในสร้างโอกาสสำหรับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เชื่อมต่อกับผู้คนและธุรกิจอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจในหลากหลายมิติ อาทิ ช่องทางการจำหน่ายสินค้า การออกแบบ การผลิต การตลาด เป็นต้น หรือที่เรียกว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce)  ซึ่งหลายองค์กรเกิดการปรับตัวและนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้ในปัจจุบันกันอย่างแพร่หลาย (Smith, 2006)

            นอกจากนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจสำเร็จนั้น ดังต่อไปนี้ (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม , 2563)

            1) วิสัยทัศน์ แนวคิดและความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการ ซึ่งพบว่า คุณลักษณะสำคัญที่ดีของผู้ประกอบการนั้นจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดีและมองการณ์ไกล

            2) ความสามารถด้านการตลาด และการกระจายสินค้า พบว่า การหาช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการ การขยายการตลาด ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง

            3) คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์หรือบริการ พบว่า สินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ การสร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์นั้น มุ่งเน้นการพัฒนาด้านนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สำคัญในการสร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์นั่นเอง

            4) ประสบการณ์ทางธุรกิจ ทักษะ และความชำนาญ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกอบการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการที่ดีนั้น จะต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญ รวมถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

            5) ความพร้อมด้านแหล่งเงินทุน ซึ่งเงินทุนจัดเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จัดเป็นการสร้างสภาพคล่องให้กับธุรกิจ เพื่อพัฒนาต่อยอดการดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

            6) เครือข่ายทางธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจ อาทิ ผู้จัดหาปัจจัยทางการผลิตหรือซัพพลายเออร์ คู่ค้า  ความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชน โดยผู้ประกอบการที่ดีจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

            7) การกำหนดแผนงาน และเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจะมีการวางแผนการทำงานและแผนธุรกิจที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน จัดเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดเป้าหมายของธุรกิจนั่นเอง

 

สรุปผล

            สำหรับทักษะการประกอบการธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ภายใต้วิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบัน โดยผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์เพื่อใช้การปรับตัวและสามารถเรียนรู้การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในพัฒนาการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยนวัตกรรมนี้จะช่วยให้ธุรกิจเกิดความได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งอื่นทางธุรกิจประเภทเดียวกัน โดยสามารถสรุปเป็นแนวทางได้ดังนี้

            1) ผู้ประกอบการ จำเป็นต้องมีทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ในการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการเปิดโอกาสให้พนักงานในองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

            2) ผู้ประกอบการ จะต้องเป็นผู้นำด้านการสร้างนวัตกรรม โดยสามารถคิดค้นสร้างสรรค์รูปแบบของนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมกระบวนการ และนวัตกรรมการตลาด เพื่อพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายทางธุรกิจได้อย่างสำเร็จ

            3) ผู้ประกอบการ เป็นผู้นำด้านวิสัยทัศน์ขององค์กร ซึ่งต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดีและมองการณ์ไกล รวมทั้งการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หมั่นเรียนรู้ทางเทคโนโลยีและให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมอย่างสม่ำเสมอ

            4) ผู้ประกอบการ จะต้องเป็นผู้นำด้านการสนับสนุนและส่งเสริมทักษะความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับพนักงานขององค์การ และการส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีม ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

            5) ผู้ประกอบการ ควรมีความรู้ ความเข้าใจในกลยุทธ์ต่างๆ ที่สำคัญในการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน โอกาสทางการตลาด และความสำเร็จของผู้ประกอบการ

            6) ผู้ประกอบการ ต้องศึกษาคู่แข่งขันทางธุรกิจ ทราบความเคลื่อนไหวของคู่แข่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสามารถเตรียมการวางแผนทางธุรกิจในอนาคตได้

            7) ผู้ประกอบการ ควรสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการประกอบธุรกิจ เพื่อความร่วมมือในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน

            8) ผู้ประกอบการ จะต้องศึกษาและติดตามข้อมูลต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการดำเนินงานขององค์การในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสารอ้างอิง                                                                                      

 

กรมสุขภาพจิต. (2563). New Normal ชีวิตวิถีใหม่.สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2564, จาก https://www.  dmh.go.th/news/view.asp?id=2288

ทิบดี ทัฬหกรณ์ และธีระวัฒน์ จันทึก . (2561). ปัจจัยสู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ ในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์.      Veridian E-Journal, Silpakorn University. 11(1), น. 396-410.

ศรากุล สุโคตรพรหมมี. (2559). กลยุทธ์ธุรกิจระหว่างประเทศ. กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น จำกัด.

สุดารัตน์ พิมลรัตนกานต์. (2560). การเป็นผู้ประกอบการ. กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น จำกัด.

สุพาดา สิริกุตตา. (2556). กลยุทธ์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีผลต่อความสำเร็จขององค์กรธุรกิจ: กรณีศึกษาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคกลางตอนบน. วารสารวิทยาสารเกษตรศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์. 34(3),  น. 428-439.

Smith, D. (2006). Exploring innovation. Maidenhead, Berkshire: McGraw-Hill.