ดิสนีย์รีเมค : ปัดฝุ่นการ์ตูนในตำนาน สู่การเล่าขานฉบับคนแสดง

ดิสนีย์รีเมค : ปัดฝุ่นการ์ตูนในตำนาน สู่การเล่าขานฉบับคนแสดง

Disney Remake : Revive Classic Animated Films to Modern Live-Action

                                                                                                       นิวัฒน์ ประสิทธิวรวิทย์                                                                         

                                                                                                       อาจารย์ประจำสาขาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย                                                                     

                                                                                                        คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

            ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมภาพยนตร์สหรัฐอเมริกาหรือที่เรารู้จักกันดีในนาม “ฮอลลีวู้ด” มีการขยับปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ อาทิ การจัดสร้างและจัดฉายภาพยนตร์ในระบบสามมิติ ความนิยมในการรับชมภาพยนตร์ในรูปแบบสตรีมมิ่งหรือวีดีโอ การเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดผู้ชมในจีน ความนิยมในหนังแนวซูเปอร์ฮีโร่ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ประเด็นเหล่านี้ เทียบไม่ได้เลยกับข่าวคราวการขยายอาณาจักรของวอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอ ที่สั่นสะเทือนวงการฮอลลีวู้ดในระดับฐานราก หลังจากพวกเขาเข้าซื้อกิจการของมาร์เวล สตูดิโอ ลูคัส ฟิล์ม และรายล่าสุด คือ บริษัท ทเว็นตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ จนส่งผลให้พวกเขาขยับขึ้นเป็นสตูดิโอที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในโลกภาพยนตร์ไปแล้ว

 

            ดิสนีย์ครองโลก : มนต์ขลังพิกซาร์ การคืนชีพสตาร์ วอร์ส และยุคทองของมาร์เวล

            เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จของพิกซาร์ สตูดิโอ มีส่วนสำคัญยิ่งในการต่อชีวิตดิสนีย์ สตูดิโอ ที่กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ หลังจากยุคทองของพวกเขา(The Disney Renaissance) สิ้นสุดลงในช่วงปี ค.ศ.2000 สวนทางกับพิกซาร์ ซึ่งกำลังสถาปนาตนเองเป็นสตูดิโอผู้สร้างอนิเมชั่นหมายเลขหนึ่งของโลก หลังความสำเร็จท่วมท้นทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์ของภาพยนตร์เรื่อง ทอย สตอรี่(Toy Story) บริษัท รับจ้างหลอน (ไม่) จำกัด(Monster Inc.) นีโม…ปลาเล็ก…หัวใจโต๊โต(Finding Nemo) และรวมเหล่ายอดคนพิทักษ์โลก(The Incredibles)

          จนกระทั่งในปี ค.ศ.2006 ดิสนีย์ ภายใต้การบริหารของบ๊อบ อิเกร์ได้บรรลุข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการของพิกซาร์จากสตีฟ จ็อบส์ ด้วยเงินจำนวน 7,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้ดิสนีย์ได้รับผลกำไรมหาศาลอย่างต่อเนื่องจากภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ทำเงินมหาศาลจากทั่วโลกในแต่ละปี ทั้งในส่วนของภาพยนตร์ ของเล่นและของที่ระลึก ตลอดจนเครื่องเล่นใหม่ๆในสวนสนุกดิสนีย์แลนด์

          ต่อมาในปี ค.ศ.2009 ดิสนีย์เดินหน้าซื้อกิจการของมาร์เวล บริษัทสร้างการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ชื่อดัง ด้วยเม็ดเงินเพียง 4,000 ล้านเหรียญ ซึ่งกลายเป็นข้อตกลงที่คุ้มค่าที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ เพราะภายในเวลาเพียง 7 ปี (ค.ศ.2008-2015) หนังซูเปอร์ฮีโร่ 17 เรื่องที่พวกเขาออกทุนสร้างไปกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้น ทำรายได้กลับมากว่า 13,000 ล้านเหรียญ

          จากความสำเร็จของมาร์เวล ดิสนีย์ได้ต่อยอดธุรกิจด้วยการซื้อสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์สตาร์ วอร์สจากบริษัท ลูคัส ฟิล์ม 4,060 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพียงแค่“อุบัติการณ์แห่งพลัง”อันเป็นภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส ภาคแรกภายใต้การดำเนินงานของดิสนีย์ออกฉายก็ทำรายได้ทั่วโลกไปกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และแผนการที่ดิสนีย์วางไว้ให้มีการสร้างภาพยนตร์สตาร์ วอร์สออกฉายทุกปี ก็ทำให้ภาพยนตร์ชุดนี้เป็นบ่อเงินบ่อทองของดิสนีย์ควบคู่ไปกับภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวล และภาพยนตร์อนิเมชั่นพิกซาร์

 

            แผลใหญ่ของดิสนีย์ : ปั้นโปรเจคต์ใหม่ แต่ไร้ท่า

            อย่างไรก็ตาม ในความสำเร็จท่วมท้นนั้น ดิสนีย์กลับพบจุดอ่อนสำคัญของตนเอง กล่าวคือ แม้พวกเขามีภาพยนตร์สำหรับเด็กและครอบครัว คือ อนิเมชั่นพิกซาร์ มีภาพยนตร์แอ็คชั่นไซไฟที่ถูกใจวัยรุ่นและผู้ชายอย่าง สตาร์ วอร์ส และภาพยนตร์ในจักรวาลมาร์เวล แต่จะพบว่า ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาในลักษณะเป็นเทพนิยายแฟนตาซีต่างๆ ซึ่งเป็นโจทย์ถนัดสำหรับดิสนีย์ กลับล้มเหลวเรื่องแล้วเรื่องเล่า อาทิ จอห์น คาร์เตอร์ นักรบสงครามข้ามจักรวาล(John Carter) เจ้าชายแห่งเปอร์เซีย : มหาสงครามทะเลทรายแห่งกาลเวลา(A Prince of Persia) ศึกอภินิหารพ่อมดถล่มโลก(Sorcerer’s Apprentice) ย่นเวลา ทะลุมิติ(A Wrinkle in Time) ผจญแดนอนาคต(Tomorrowland) เดอะนัทแครกเกอร์กับสี่อาณาจักรมหัศจรรย์(The Nutcracker and the Four Realms) ซึ่งพวกเขาเองก็คงเจ็บปวดไม่น้อย เพราะหากมองจากศักยภาพของแต่ละโปรเจคต์ที่ริเริ่มกันมานั้น สามารถไปต่อยอด แตกแขนงออกเป็นภาคต่อ ภาคแยก ได้อีกมากมาย แต่สิ่งเดียวที่ทำให้โปร เจคต์เหล่านี้ไม่ได้ไปต่อ คือ การขาดทุน

          แต่ดิสนีย์เองคงไม่อยากปล่อยให้รายได้บางส่วนหลุดลอยไป แม้ต้องยอมรับว่า ภาพยนตร์เหล่านี้ไม่มีเสน่ห์มากพอสำหรับผู้ชมเพศหญิง เช่นเดียวกับผู้ชมที่มากันเป็นครอบครัว ก็จะอุดหนุนดิสนีย์เมื่อมีภาพยนตร์อนิเมชั่นเข้าฉาย แต่นั่นก็อาจไม่เพียงพอ เพราะการสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นแต่ละเรื่อง ต้องใช้เวลายาวนานหลายปี ทางออกของดิสนีย์ จึงต้องเป็นการหาทิศทางที่ถูกต้องในการสร้างภาพยนตร์ที่ถูกอกถูกใจผู้ชมเหล่านี้

 

            คืนชีพเรื่องเล่าคลาสสิก : ความสำเร็จของดิสนีย์รีเมค

            หากเราพิจารณารายชื่อภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้จะพบเรื่องน่าทึ่งประการหนึ่ง นั่นคือ ราวครึ่งหนึ่งของภาพยนตร์ที่ทำเงินได้ในช่วงสองทศวรรษหลัง ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ แต่เป็นการนำของเดิมมาทำใหม่ หรือทำเพิ่มเติม เช่น คำสาปมรณะ(The Ring) สตาร์ วอร์ส(Star Wars) จูราสวิค เวิลด์(Jurassic World) ทอย สตอรี่ 3(Toy Story 3) มันมาจากนรก(It) โคตรคนทีมมหากาฬ(The Expendables) เป็นต้น ประเด็นนี้เอง ทำให้เกิดกระแสของการนำภาพยนตร์ที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตกลับมาปัดฝุ่นทำใหม่ ซึ่งทางดิสนีย์เองก็นับว่ามีข้อได้เปรียบ ภาพยนตร์หลายเรื่องของพวกเขาเป็นที่คุ้นเคยสำหรับผู้ชมในวงกว้าง โดยเฉพาะภาพยนตร์การ์ตูนที่เคยโด่งดังเป็นพลุแตกในช่วงทศวรรษ 1990 อาทิ Beauty and the Beast, The Lion King, Aladdin, Mulan รวมไปถึงนิทานคลาสสิกอย่าง The Jungle Book, Mary Poppins, Dumbo, Sleeping Beauty, Peter Pan, Winnie the Pooh, Cinderella, Alice in Wonderland ฯลฯ ซึ่งหากว่า แผนการคืนชีพให้เรื่องเล่าแสนคลาสสิกเหล่านี้ประสบความสำเร็จ นี่อาจเป็นจิ๊ก ซอว์ที่ทำให้แผนการยึดครองใจผู้ชมทุกเพศ ทุกวัยของดิสนีย์นั้นประสบความสำเร็จ

          อย่างไรก็ตาม ดิสนีย์เองก็นับว่าพบกับความเสี่ยงไม่น้อย ความเสี่ยงแรก คือ การนำเรื่องราวเหล่านั้นกลับมาทำใหม่ ผู้ชมย่อมคาดหวังเทคนิคและโปรดักชั่นที่ดีกว่าเดิม ซึ่งประเด็นนี้ พวกเขาต้องขอบคุณความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านภาพที่พัฒนาไปไกล จนแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้บนจอภาพยนตร์อีกแล้ว ส่วนอีกความเสี่ยงหนึ่งคือ การที่ผลงานดั้งเดิมของพวกเขาได้รับการยอมรับในระดับสูง การทำให้เทียบเคียงกับของเดิม จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง ประเด็นนี้เอง ดิสนีย์ได้ตัดสินใจเบี่ยงเบนความคาดหวังของผู้ชม ด้วยการเปลี่ยนภาพตัวละครการ์ตูนที่โลดแล่นได้อย่างใจนึก(Animated Film) มาเป็นภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดงจริง ประกอบเข้ากับฉากที่รังสรรค์โดยเทคนิคพิเศษ(Live Action) ในขณะที่โครงเรื่องนั้น ยังคงยึดถือของเดิมไว้เป็นส่วนใหญ่

          ผลตอบรับที่เกิดขึ้นกับดิสนีย์รีเมคในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต้องนับว่าสอบผ่านอย่างงดงาม โดยเฉพาะในแง่รายได้ ภาพยนตร์เรื่อง Alice in Wonderland(2011) ทำรายได้ทั่วโลกไปถึง 1,025 ล้านเหรียญสหรัฐภาพยนตร์เรื่อง Maleficent(2014) กวาดรายได้ทั่วโลก 758 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพยนตร์เรื่อง Cinderella(2015) ทำรายได้ทั่วโลก 543 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพยนตร์เรื่อง The Jungle Book(2016) ทำรายได้ทั่วโลก 966 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพยนตร์เรื่อง Beauty and the Beast(2017) ทำรายได้ทั่วโลกไปถึง 1,263 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพยนตร์เรื่อง Aladdin(2019) ทำรายได้ทั่วโลก 1,026 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพยนตร์เรื่อง The Lion King(2019) กวาดรายได้ทั่วโลกไปถึง 1,508 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์รีเมคฉบับคนแสดงที่อยู่ระหว่างการสร้างและพร้อมฉายในอนาคตอันใกล้อีกหลายเรื่อง อาทิ Maleficent : Mistress of Evil(2019) Lady and the Tramp(2019) Mulan(2020) Little Mermaid ฯลฯ

          เหตุผลหลักๆของการที่ภาพยนตร์รีเมคของดิสนีย์ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ก็คือ การที่ผู้คนที่เคยชมภาพยนตร์ยุคทองของดิสนีย์ พร้อมใจกันไปชมภาพยนตร์รีเมคเหล่านี้อีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นความรู้สึกถวิลหาอดีต ซึ่งจุดสำคัญอยู่ตรงที่ดิสนีย์ได้ผสมผสานองค์ประกอบเดิมๆที่มีเสน่ห์ เช่น ตัวละคร เพลง เหตุการณ์สำคัญๆในเรื่อง เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ นักแสดงที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน หรือมุกตลกร่วมสมัยได้อย่างลงตัว ดังนั้น ภาพยนตร์รีเมคของพวกเขาจึงทั้งสดใหม่ และมีกลิ่นอายของต้นฉบับในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนลีลาการนำเสนอให้ดูเคร่งขรึม จริงจังขึ้น โดยเฉพาะในฉากต่อสู้ต่างๆ ก็มีส่วนทำให้ผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่สามารถสนุกกับภาพยนตร์เหล่านี้ไปพร้อมๆกับบุตรหลานของพวกเขา

 

          บทสรุป : กระบวนการผลิตซ้ำที่ไม่มีวันจบสิ้น

          ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับดิสนีย์ ต้องนับว่าเป็นทั้งเรื่องน่ายินดีและน่าประหลาดใจพอๆกัน เพราะหากพิจารณาย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของพวกเขา นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขารีเมคผลงานเก่าๆของตนเอง ภาพยนตร์บางเรื่องถูกสร้างใหม่มากกว่า 2 ครั้ง อาทิ Alice in Wonderland, Peter Pan, Beauty and the Beast, The Jungle Book เป็นต้น จนมีคำกล่าวที่ว่า “ไม่ว่าคุณจะเกิดในยุคสมัยใด ดิสนีย์ก็พร้อมให้บริการภาพยนตร์เรื่องเดิมในฉบับที่สร้างในยุคสมัยของคุณ” แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า “เรื่องราวที่ดีไม่เคยล้าสมัย” และยิ่งไปกว่านั้น “มันยังคงขายได้” และมีแนวโน้มที่จะขายได้ตลอดไปเสียด้วย

 

          รายการอ้างอิง

ลงทุนแมน. (2560, 15 ธันวาคม). กรณีศึกษา Marvel Comic. วันที่เข้าถึงข้อมูล 20 สิงหาคม 2562, แหล่งที่มา https://www.longtunman.com/3662
สตาร์พิคส์. (2557). Starpics Special Disney Treasures – Millennium Renaissance. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์สตาร์พิคส์.
Aaron H Goldberg. (2016). The Disney Story: Chronicling the Man, the Mouse and the Parks. USA: Quaker Scribe.
_______________. (2018). The Wonders of Walt Disney World. USA: Quaker Scribe.
Ahead Aisa. (2560, 6 ธันวาคม). Pixar : จุดเริ่มต้นของดีลประวัติศาสตร์ ที่พลิกชะตา Disney สู่ความยิ่งใหญ่. วันที่เข้าถึงข้อมูล 21 สิงหาคม 2562, แหล่งที่มา https://ahead.asia/2017/12/06/pixar-most-important-deal-for-disney/
Ally. (2019, April 12). Disney Live-Action Remakes: Make a Good Movie or Go Home
          Retrieved August 23 2019, from https://thewildestrideinthewilderness.com/disney-live-action-remakes/
Anna Leszkiewicz. (2016, May 30). Why is Disney producing so many live-action remakes of its most popular animated movies? Retrieved August 19 2019, from https://www.newstatesman.com/culture/film/2016/05/why-disney-producing-so-many-live-action-remakes-its-most-popular-animated
Dominick Suzanne-Mayer and Leah Pickett. (2016, November 22). From The Little Mermaid to Tarzan: Ranking the Disney Renaissance. Retrieved August 21 2019, from https://consequenceofsound.net/2016/11/ranking-the-disney-renaissance/
Ian Sanswell. (2019, March 29). Why Disney is making live-action remakes of everything. Retrieved August 19 2019, from https://www.digitalspy.com/movies/a26982936/disney-remakes-why/
Imdb.com. (2019). Mulan(2020) Retrieved August 23 2019, from https://www.imdb.com/title/tt0004566758/
John Callaham. (2019, August 23). Disney Plus: Everything you need to know (Update with new shows).  Retrieved August 24 2019, from https://www.androidauthority.com/disney-plus-streaming-service-923534/
Mentalitch. (2019).  Biggest Disney Flops. Retrieved August 24 2019, from https://mentalitch.com/biggest-disney-flops/
Rebecca Cline. (2019). The Walt Disney Studios: A Lot to Remember. USA: Disney Editions.
Reza Mardian. (2019, May 28)  Why Disney keeps remaking animated classics as live-action films. Retrieved August 19 2019, from https://www.thejakartapost.com/life/2019/05/28/why-disney-keeps-remaking-animated-classics-as-live-action-films.html
Robert Moran. (2019, July 15). Why are Disney remaking their classics as less interesting ‘live action’ movies? Retrieved August 19 2019, from https://www.stuff.co.nz/entertainment/film/114243203/why-are-disney-remaking-their-classics-as-less-interesting-live-action-movies