ความเชื่อ “เจ้าพ่อ” ในมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

บทนำ

          ความเชื่อเป็นเหมือนสิ่งที่มีอำนาจซ่อนเร้นลับซ่อนอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์จากอดีตถึงปัจจุบัน  เป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรม การแสดงออกของคนในแต่ละสังคม เพราะถ้าคนในสังคมใดมีความเชื่อหรือค่านิยมในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วก็ต้องประพฤติโดยการแสดงออกเป็นประเพณีหรือพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อให้มีความเหมาะสมหรือสอดคล้องกับคติความเชื่อที่สังคมให้ความเคารพนับถือหรือเกรงกลัว (ขนิษฐา จิตชินะกุล, 2545 : 34) ความเชื่อจึงเป็นการยอมรับ การคล้อยตาม ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งทั้งที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล ดังเช่นความเชื่อของ “เจ้าพ่อ” ในมหาวิทยาราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา บุคคลที่มีความสำคัญต่อมหาวิทยาลัยในหลาย ๆ ด้าน รวมไปถึงการเป็นศูนย์รวมของจิตใจของผู้คนในรั้วบ้านสมเด็จ ฯ

            “เจ้าพ่อ” หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นมหาบุรุษของไทยที่สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงท่านเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคนในสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และชุมชนใกล้เคียง เนื่องจากที่ตั้งของสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และบริเวณโดยรอบเคยเป็นจวนและที่ดินของท่านมาก่อน ทุก ๆ คนในสถาบันราชภัฏแห่งนี้จึงเคารพเทิดทูนท่านโดยขนานนามท่านว่า “เจ้าพ่อ” และเรียกตนเองว่า “ลูกสุริยะ” เนื่องจากท่านได้รับพระราชทานตรามหาสุริยมณฑลจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นตราประจำตัวและยึดถือเป็นสัญลักษณ์แทนตัวท่านมาโดยตลอด สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นบุตรคนใหญ่ของสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงจัน เกิดในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2341 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 9 คน บรรพบุรุษของตระกูลบุนนาคเป็นเสนาบดีคนสำคัญ มาตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้รับราชการแผ่นดินสืบทอดต่อกันมา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้รับการศึกษาและฝึกฝนวิชาการต่าง ๆ เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการต่อเรือแบบฝรั่ง จนสามารถต่อเรือกำปั่นขนาดใหญ่เป็นจำนวนหลายลำ อีกทั้งท่านยังมีความสนใจในความรู้อื่น ๆ เช่น วรรณคดี การค้าการปกครอง เป็นต้น (ประวัติสมเด็จเจ้าพระยา, 2567 : ออนไลน์)

          สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังเป็นบุคคลสำคัญมีคุณูปการต่อสถานศึกษาที่มีนามว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา” เนื่องจากท่านเป็นเจ้าของบ้านหรือจวนที่ใช้เป็นที่สถานที่จัดตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และโรงเรียนศึกษานารีในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าต่อมาในปี พ.ศ. 2474 โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยาจะย้ายแลกเปลี่ยนพื้นที่กับโรงเรียนศึกษานารีแล้ว แต่นามสถาบันก็ยังคงเป็น “บ้านสมเด็จเจ้าพระยา” และดำเนินการจัดการเรียนการสอนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, 2567 : ออนไลน์)

              โดย “เจ้าพ่อ” จึงเป็นที่เคารพเทิดทูลและเป็นศูนย์รวมจิตใจของครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนบุคคลที่อยู่ในชุมชนใกล้เคียง ในด้านความเชื่อความเคารพ มีข้อมูลจากการสอบถามนักศึกษาและบุคคลากรในมหาวิทยาลัยในด้านความเชื่อของ “เจ้าพ่อ” ดังนี้

                เชื่อเรื่องการขอให้พ่อช่วงช่วยในการเรียนครับ ไปไหว้ก่อนที่จะสอบ หรือช่วงใกล้เกรดจะออกก็ไปขอพรให้ได้ A ครับ ในส่วนของสาขา ทุก ๆ ครั้งที่มีการจัดกิจกรรม เราก็จะพากันไปไหว้พ่อช่วงเพื่อขอให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีครับ

              ทุกเช้าที่มามหาวิทยาลัย จะไหว้พ่อช่วงก่อนเข้าเรียน โดยยึดถือว่าเจ้าพ่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยให้ประสบความสำเร็จ

             ในส่วนตัวผมผมมีความเชื่อในเรื่อง เกี่ยวกับความสำเร็จ ขอในสิ่งที่ต้องการและปรารถนา เพราะถือว่าท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ จะคิดการสิ่งใดก็จะสำเร็จตามพ่อช่วง และจะขอในเรื่องของความแคล้วคลาดปลอดภัย เพราะเชื่อว่าท่านจะคุ้มครอง ปกปักรักษาลูกบ้านสมเด็จทุกคน

               วันเจ้าพ่อจะเป็นวันที่ลูกบ้านสมเด็จทุกคนมาร่วมกันสักการะพ่อช่วง แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อท่าน และความสามัคคีของทุกคนที่มาร่วมกันไหว้

                ทุกครั้งที่ผ่านพ่อช่วง จะขอให้ท่านช่วยปกป้องคุ้มครองจากภัยอันตราย และแคล้วคลาดปลอดภัยในการเดินทางมาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา หรือทุกครั้งที่รู้สึกกังวล มีความเครียดในเรื่องต่าง ๆ ก็จะขอพรให้สิ่งที่กำลังทำนั้นประสบความสำเร็จ หรือผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

               มีความเชื่อในด้านการขอให้ทำสิ่งใดขอให้ประสบความสำเร็จทั้ง การทำงาน การเรียน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมาย ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เป็นลักษณะของการอธิษฐานให้ผ่านไปได้ด้วยดี ขจัดอุปสรรค ให้มีสติ ในบางครั้งจะขอให้เจ้าพ่อช่วง บุนนาค ช่วยปกป้องคุ้มครองให้เเคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยอันตรายต่าง ๆ  และการเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเมื่อเดินผ่านก็จะมีการยกมือไหว้และอธิษฐานในใจตลอด เปรียบเสมือนเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ

             มีความเชื่อเกี่ยวกับการให้ความเคารพนับถือเจ้าพ่อโดยจะไหว้ทุกครั้งในตอนที่เดินเข้าและออกจากมหาวิทยาลัยโดยการไหว้ตอนเดินเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเสมือนกับการเริ่มต้นของวันที่ดี ให้การทำงานทุกอย่างราบรื่น และการไหว้ตอนเดินออกจากมหาวิทยาลัยเสมือนการขอบคุณสำหรับการสิ่งต่าง ๆ ที่ประสบผลสำเร็จหรือหากมีปัญหาจะถือเป็นการขอบคุณสำหรับบทเรียนต่าง ๆ ที่ได้รับในวันนั้น ๆ หากมีการแข่งขันต่าง ๆ จะขอพรให้ตนเองนั้นมีสติและสามมารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

                 มีความเชื่อด้านการเรียน ด้านสุขภาพ ความปลอดภัย เมื่อเดินผ่านพ่อช่วง จะยกมือไหว้และขอพรในใจ ทางด้านการเรียนจะขอให้ตนเองเรียนแล้วเข้าใจ รู้เรื่อง ในเวลาสอบจะอธิฐานให้ท่านช่วยให้ทำข้อสอบได้ ทางด้านสุขภาพจะขอพรให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไม่ไข้ ด้านความปลอดภัยจะขอให้เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย ไม่ได้ขอพรให้แค่ตัวเองแต่จะนึกถึงคนในครอบครัวให้ท่านช่วยคุ้มครอง

                ขอพรเจ้าพ่อให้ช่วยปกปักรักษา ให้แคล้วคลาดปลอดภัยทั้งด้านสุขภาพร่างกายจากการที่มาเรียนไกลบ้าน หรือในเวลาที่มีการไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ทางหน่วยงานที่พาไปจะมีการไหว้ขอพรให้เจ้าพ่อช่วยปกปักรักษาให้เดินทางอย่างปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เพราะมีความเชื่อว่าท่านเป็นบุคคลที่สำคัญที่สามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยวของชาวบ้านสมเด็จ

               เจ้าพ่อเป็นมหาบุรุษที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ  และเป็นบุคคลต้นแบบในด้านของความดีงาม ความเสียสละ ความซื่อสัตย์ ให้กับชาวราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

          ในทุก ๆ ปีของวันที่ 19 มกราคม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้จัดงานวันถึงแก่พิราลัยประมาณหนึ่งสัปดาห์เป็นสัปดาห์แห่งการเชิดชูเกียรติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มหาบุรุษรัตโนดมเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีและเพื่อแสดงกตเวทิตาคุณแด่เจ้าพ่อ ซึ่งจะมีผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า และชุมชนรอบมหาวิทยาลัย เข้าร่วมงานโดยการกราบไหว้สักการะ ลานอนุสาวรีย์ พิธีบวงสรวงถวายเครื่องสังเวย ศาล 7 จุดวางพวงหรีดบริเวณรูปปั้นของเจ้าพ่อที่ยืนตระหง่านในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ ฯ โดยในงานวันพิราลัยได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจอย่างมากมาย

          ความมีคุโณปการที่สำคัญของ “เจ้าพ่อ” ในวาระครบ 150 ปี ของการเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในพุทธศักราช 2561 มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้ดำเนินการเสนอชื่อ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ตามหลักเกณฑ์การเสนอชื่อบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ผ่านกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเสนอชื่อต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เพื่อประกาศยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อไป (ประวัติสมเด็จเจ้าพระยา, 2567 : ออนไลน์)

 สรุป

               ความเชื่อเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรม การแสดงออกของคนในแต่ละสังคม เพราะถ้าคนในสังคมใดมีความเชื่อหรือค่านิยมในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วก็ต้องประพฤติโดยการแสดงออกเป็นประเพณีหรือพิธีกรรมต่าง ๆ โดยความเชื่อของ “เจ้าพ่อ” ในรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาจึงปรากฏความเชื่อในด้านความประพฤติในการกราบไหว้เคารพนับถือเปรียบเสมือนเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจในทุก ๆ ด้านของการเป็น “ลูกสุริยะ” อีกทั้งในงานวันพิราลัยเป็นงานประเพณีของมหาวิทยาลัยที่จัดขึ้นในทุก ๆ ปี เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและระลึกถึงคุณงามความดีของ “เจ้าพ่อ” มีพิธีกรรมของการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถวายเครื่องสังเวย ศาล 7 จุด ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เป็นสิริมงคลให้กับบุคลากรทุกคนในรั้วบ้านสมเด็จฯ ความเชื่อดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่เป็นการกำหนดพฤติกรรม การแสดงออก และเป็นค่านิยมที่พึงปฏิบัติมาเป็นประเพณีพิธีกรรมที่ปรากฏของครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนบุคคลที่อยู่ในชุมชนใกล้เคียง เพราะ “เจ้าพ่อ” คือมหาบุรุษรัตโนดมที่เป็นความภาคภูมิใจของ “มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา”

อ้างอิง

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2567). 19 มกราคม วันคล้ายวันพิราลัย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหา

ศรีสุริยวงศ์. (สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม  2567). https://www.silpa-mag.com

ประสพสุข ฤทธิเดช. (2557). คติชนวิทยา. มหาสารคาม : อภิชาตการพิมพ์.

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. (2567). ประวัติสมเด็จเจ้าพระยา. (สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม  2567).

                 https://www.bsru.ac.th/history