ความงามของภาษาไทย

บทนำ

หากจะกล่าวว่า “ภาษาไทย”  เป็นภาษาที่มีความงาม และความไพเราะที่สุดภาษาหนึ่งก็คงไม่ผิดนัก เพราะภาษาไทยมีเสียงสระ และเสียงพยัญชนะ ที่มีการผสมผสานกันอย่างลงตัวและยังมีเสียงวรรณยุกต์ที่เปรียบเสมือนเสียงสูงต่ำของดนตรี  อีกทั้งเรื่องความงดงามของภาษาที่มีการสรรคำมาใช้ในลักษณะต่าง ๆ ทั้ง การเล่นคำ   การหลากคำ  การซ้ำคำ  การใช้คำพ้อง   คำผวน  คำผัน  หรือการใช้โวหารต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแสดงถึงความมีเสน่ห์แห่งภาษาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง  และหากจะกล่าวถึงวรรณคดีไทยในอดีตส่วนมากมักจะแต่งด้วย    คำประพันธ์ร้อยกรอง เราก็จะได้เห็นความงามของร้อยกรองอันเกิดจากถ้อยคำที่กวีใช้ภาษาที่งดงามถ่ายทอดอารมณ์สะเทือนใจ ความนึกคิดและจินตนาการของกวีดังที่เราเรียกว่าความงามของภาษา

 

ความหมายของภาษา

           พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า“ภาษา” หมายถึง ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียน เพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (2556 : 868)

          ประสิทธิ์ กาพย์กลอนและนิพนธ์ อินสิน ให้ความหมายว่า“ภาษา” หมายถึง ระบบสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการส่งความคิดถึงกันและกัน (2533 : 1)

ประเภทของภาษา

ภาษาแบ่งตามลักษณะการสื่อสารได้ 2 ประการ ได้แก่

1.      วัจนภาษา คือ ภาษาที่ใช้ถ้อยคำในการสื่อสาร ได้แก่ ภาษาพูด และ ภาษาเขียน

2.      อวัจนภาษา คือ ภาษาที่ไม่ใช้ถ้อยคำในการสื่อสาร ได้แก่ ภาษาท่าทาง ภาษาหน้าตา ภาษามือ และภาษาสัญลักษณ์

องค์ประกอบของภาษา ภาษามีองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ

1.      เสียง เกิดจากการเปล่งเสียงแทนพยางค์ และคำ

2.      พยางค์และคำ เกิดจากการประสมพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์

3.      ประโยค เกิดจากการนำคำมาเรียงกันตามลักษณะโครงสร้างของภาษาที่กำหนดเป็นกฎเกณฑ์

หรือเป็นระบบไวยากรณ์ของแต่ละภาษา[1]

4.      ความหมาย คือ ความหมายที่เกิดจากคำหรือประโยคเพื่อใช้ในการสื่อสารทำความเข้าใจกัน

ความงามในภาษา

          ร้อยแก้วและร้อยกรอง มีคุณค่าและความงดงามของภาษาในตัวของมันเอง ผู้เขียนจึงต้องสร้างสรรค์คำ ตามลักษณะของรูปแบบและฉันทลักษณ์ โดยมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้

1.      ใช้ภาษาที่ตกแต่งดี อ่านแล้วมองเห็นภาพตามไปด้วยเรียกว่า มีอลังการทางภาษา

2.      ใช้ภาษาถูกต้องตามหลักไวยากรณ์

3.      ใช้ถ้อยคำที่มีเสียงไพเราะและมีความหมายบริบูรณ์

ความงามของภาษาจึงมาจากการสรรคำหรือเลือกคำ การเรียบเรียงคำ การใช้โวหารภาพพจน์ การใช้ถ้อยคำจะต้องมีค่าในการสื่อสารโดยใช้ถ้อยคำให้ตรงกับความรู้สึกนึกคิดของตนและมีความหมายแก่ผู้อ่านให้ใกล้ภาพในใจของผู้ประพันธ์มากที่สุด เช่นเดียวกับ “เสียง” เสียงในภาษาทำให้เกิดความงามทั้งเสียงวรรณยุกต์ เสียงสัมผัส และเสียงหนักเบา นอกจากนี้การที่เราจะมองเห็นความงามในภาษา เราจะต้องเข้าใจความหมายในถ้อยคำหรือข้อความเสียก่อน ความงามในภาษาจึงมีหลักสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกันไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง

ลีลาความงามของร้อยกรอง

          ลีลาความงามของร้อยกรองมีความสอดคล้องกับเสียงของคำที่ใช้ในบทร้อยกรองซึ่งหมายถึง  ความไพเราะในด้านเสียงสัมผัส  เสียงวรรณยุกต์  เมื่อนำมาใช้อย่างเหมาะสมก็จะทำให้บทร้อยกรองไพเราะมากยิ่งขึ้น เสียงในคำประพันธ์ไทยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บทกวีมีค่าและน่าอ่านมากขึ้น  สอดคล้องกับภาษาที่มีวรรณยุกต์และมีเสียงสั้นเสียงยาว  เช่น ภาษาไทยเป็นภาษาที่ได้เปรียบในการแต่งร้อยกรองเป็นอย่างยิ่ง กวีไทยได้หยิบยกความได้เปรียบนี้มาใช้อย่างมีศิลปะ ทำให้ร้อยกรองมีลักษณะเด่นในเรื่องเสียง ความไพเราะกลมกลืนของเสียงและจังหวะของคำ ซึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำของเสียงวรรณยุกต์ และเสียงสัมผัส ความงามความไพเราะของกาพย์กลอนหรือร้อยกลองนั้นจึงอยู่ที่เสียงกับจังหวะของคำเป็นสำคัญ  ดังตัวอย่าง

          ร้อยแก้ว

          “ยังรถวิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือรถไฟสำหรับใช้ทางไกล ไปได้ตลอดทุกหัวเมืองที่อยู่เกาะเกรดบริดติน ทางรถไฟนั้นทำด้วยเหล็กเป็นทางตรง ถ้าถึงภูเขาก็เจาะเป็นอุโมงค์ตลอดไปจนถึงข้างโน้น ที่เป็นเนินต่ำ ๆ ก็ตัดเนินลงเป็นทางราบเสมอดิน ถ้าถึงแม่น้ำหรือลำคลองก็ก่อสะพานศิลาข้าม ถ้าเป็นลุ่มก็ถมขึ้นให้ดอนเสมอแล้วทำเป็นสองทางบ้าง สี่ทางบ้าง เคียงกัน ทางรถไปทางหนึ่ง ทางรถมาทางหนึ่ง”

                                                                                       (จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย)

          ร้อยกรอง

                    รถวิเศษอีกอย่างสำอางเอี่ยม        ไม่พักเทียมสัตว์สิงห์วิ่งออกปริด

          คือรถไฟใช้สิ้นทุกถิ่นทิศ                       ในแว่นแคว้นแดนอังกฤษหนทางไกล

          หนทางที่รถเดินดำเนินนั้น                    ทำด้วยเหล็กหล่อมั่นไม่หวั่นไหว

          ดูตรงลิ่วแลลิบตลิบไป                         ถึงเขาใหญ่เจาะลอดตลอดรวง

          ถ้าเนินต่ำตัดปราบให้ราบรื่น                  เสมอพื้นดินล่างเหมือนทางหลวง

          ถึงแม่น้ำลำละหานธารทั้งปวง                จะข้ามห้วงนทีมีสะพาน

                                                                                                    (นิราศลอนดอน)

         จะเห็นได้ว่าการเลือกใช้คำให้ถูกต้องให้ตรงตามความหมายที่ต้องการในการใช้ภาษานั้นภาษาไทยมีถ้อยคำให้เลือกใช้จำนวนมากจึงควรเลือกใช้ถ้อยคำที่มีค่าในการสื่อสารให้มากที่สุด ถ้อยคำในภาษาไทยมีพลังของภาษาอยู่ในคำนั้น ๆ คำที่คล้าย ๆ กัน แต่มีความหมายไม่เท่ากันหรือต่างกัน ถ้าไม่พิถีพิถันในการใช้จะทำให้สื่อความได้     ไม่ตรงตามความหมายหรือเจตนารมณ์ของผู้ส่งสาร ดังที่สมจิตร ภูเต็มเกียรติ (2554 : 3) กล่าวถึงการสรรคำหรือการเลือกใช้ถ้อยคำเพื่อให้เกิดความงามของภาษา ดังนี้

1.     การสรรคำหรือการเลือกใช้ถ้อยคำ

1.1    การเลือกใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องตรงตามความหมายที่ต้องการ

เนื่องจากภาษาไทยมีถ้อยคำให้เลือกใช้จำนวนมากการใช้ภาษาจึงอาจผิดเพี้ยนไป ดังเช่น

ทัศนคติ : ใช้เมื่อกล่าวถึงความรู้สึกนึกคิดที่บุคคลมีต่อสิ่งต่าง ๆ

ทัศนะ : ใช้เมื่อกล่าวถึงความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ทะนุถนอม : ใช้เมื่อกล่าวถึง การแสดงความห่วงใย เอาใจใส่ ดูแลอย่างใกล้ชิด

ถนอม : ใช้เมื่อกล่าวถึงพฤติกรรมในการใช้สิ่งของโดยระมัดระวัง

            ถ้อยคำในภาษาไทยมีให้เลือกใช้หลายลักษณะ มีความงดงามหลายแบบ เช่น

1.1.1   คำนามที่เป็นคำประสมขึ้นต้นด้วยคำ ๆ เดียวกัน เช่น บานบุรี บานชื่น

1.1.2    กลุ่มคำที่เป็นคำซ้อนหรือสำนวน มีทั้งกลุ่มคำนามกลุ่มคำกริยา

กลุ่มคำนาม  = เครื่องใช้ไม้สอย คุณงามความดี  บาปบุญคุณโทษ

กลุ่มคำกริยา = พึ่งพาอาศัย     ฟูมฟักรักษา

1.1.3   คำไวพจน์ หรือคำที่มีความหมายเหมือนกันคล้ายกัน ในภาษาไทยมีคำวิเศษณ์หรือ

คำขยายที่เป็นไวพจน์กันจำนวนมาก แต่ใช่ว่าจะใช้แทนกันได้ต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับบริบทหรือสถานะที่ต่างกันจึงจะทำให้เกิดความงามในภาษา ลองสังเกตคำที่มีความหมายว่า “งาม” แต่จะใช้คนละสถานะหรือ  คนละบริบทกัน เช่น ต้นข้าวเขียวขจี พิศห่อเห็นรางชาง  หน้าแฉล้ม  ตึกสูงตระการ  เรณูดำรูรส  จะเห็นได้ว่าเมื่อนำคำ ๆ เดียวกันไปใช้ประสมกับคำอื่นหรือบริบทอื่นความหมายก็จะไม่เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังในการเลือกใช้

 

1.2    เลือกใช้คำโดยคำนึงถึงเสียง

ความงามในภาษาไทยมีทั้งเรื่องของเสียงวรรณยุกต์ เสียงสัมผัส เสียงหนักเบา ซึ่งเสียงเหล่านี้

จะช่วยให้เกิดความงามในภาษา ถ้าเลือกใช้ให้ถูกต้องจะให้ความหมายได้ตามเจตนาของผู้ส่งสาร ได้แก่

1.2.1   การเล่นเสียงวรรณยุกต์ ในภาษาไทยคำ ๆ เดียวกัน ต่างเสียงวรรณยุกต์กันจะมีความหมายต่างกัน เสียงวรรณยุกต์ในลักษณะนี้เองจะช่วยให้เกิดความไพเราะทั้งในด้านเสียงของคำและความหมาย เช่น

“รักเลือนเลือนเลื่อนไหลในความฝันและหวั่นหวั่นหวิวไหวในความหมอง”

“ธรณีนี่นี้  เป็นพยาน”  (นี่ นี้ ย้ำให้ชัดเจนว่า ที่นี่และตรงนี้)

“ขอให้ความระลึกถึงต่อมิตร ได้ตามติดเฝ้าแฝงทุกแห่งหน

เพื่อเป็นเพื่อนยามพรั่นหวั่นกมล  จากเราคนที่หวงห่วงและคอย”

1.2.2   เสียงสัมผัส คนไทยเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน ชอบพูดให้คล้องจองกันทั้งสัมผัสสระและ
สัมผัสอักษร ซึ่งสัมผัสทั้งสองประเภทมีดังนี้

                        สัมผัสสระ หมายถึง พยางค์ที่มีเสียงสระและเสียงตัวสะกดมาตราเดียวกัน เช่น สำนวนไทย “น้ำมาปลากินมด  น้ำลดมดกินปลา”  หรือ “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา”

                         สัมผัสอักษร หรือสัมผัสพยัญชนะ หมายถึง พยางค์ที่มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน เช่น “หวดเหียงหาดแหนหัน  จันทน์จวงจันแจงจิก ปรับปรุงปริกปรูปราง คุยแคคางค้อเค็ด หมู่ไม้เพล็ด หมู่ไม้พลอง หมู่ไม้ฟองไม้ไฟ หมู่ไม้ไผ่ไม้โพ ไม้ตะโกตะกู ไม้ลำพูลำแพง หมู่ไม้แดงไม้ดัน”

                                                                                (ลิลิตพระลอ)

                                        ลางลิงลงลอดไม้           ลางลิง

                              แลลูกลิงลงชิง                        ลูกไม้

                              ลิงลมไล่ลมติง                        ลิงโลด  หนีนา

                              แลลูกลิงลางไหล้                     ลอดเลี้ยวลางลิง

                                                                                (ลิลิตพระลอ)

1.2.3    การเล่นคำและซ้ำคำ

1)       การเล่นคำหรือคำพ้องเสียง หมายถึง การนำคำหรือพยางค์ที่มีเสียงเหมือนกัน

มาใช้ในความหมายที่ต่างกัน ดังตัวอย่างการเล่นคำที่พ้องทั้งรูปและเสียงต่อไปนี้

                                        ถึงคลองขวางบางจากยิ่งตรมจิต       ใครหนอคิดชื่อบางไว้ขวางกั้น

                                    ว่าชื่อจากแล้วไม่รักรู้จักกัน             พิเคราะห์ครันหรือมาพ้องกับคลองบาง

                                    ทั้งจากที่จากคลองเป็นสองข้อ                     ยังจากกอนั้นก็ขึ้นในคลองขวาง

                                    โอ้ว่าจากช่างมารวบประจวบทาง                  ทั้งจากบางจากไปใจระบม

                                                                                                                        (นิราศพระบาท)

2)       ซ้ำคำหรือย้ำคำ เป็นการนำคำเดียวกันมาใช้ซ้ำ ๆ เพื่อย้ำความหมาย เช่น

“ทิ้งอดีตอันมากมายไว้ข้างหลัง    หวังความหวังหวังที่มีหวังกว่า

                              ลอยชีวิตกลางทะเลของเวลา                  เสน่หาของความหวังพังทลาย”

                                                                              (สายใย : ความเจ็บปวดของวานนี้ที่ได้รับ)

                                        “จะว่าโศกโศกอะไรที่ในโลก        ก็ไม่โศกใจหนักเหมือนรักสมร

                              จะว่าหนักหนักอะไรในดินดอน               ถึงสิงขรก็ไม่หนักเหมือนรักกัน”

                                                                                                    (นิราศเดือน)

3)       คำอัพภาส คือการเพิ่มเสียงพยัญชนะของคำนั้นด้วยเสียง “อะ” อีก 1 พยางค์

                                    เช่น

“สาดปืนไฟยะแย้ง        แผลงปืนพิษยะยุ่ง

 พุ่งหอกซัดขะไขว่                   พึ่งหอกใหญ่คะคว้าง…” 

                                                            (ลิลิตตะเลงพ่าย)

1.2.4   การเลียนเสียงธรรมชาติ (สัทพจน์) คือ การนำเสียงที่เกิดจากธรรมชาติมาใช้ในคำประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง จะทำให้เกิดความงามในภาษาได้อีกลักษณะหนึ่ง เช่น

                              “แต่ย่างเหยียบเกรียบกรอบก็เหลียวหลัง พระโสตฟังให้หวาดแว่วว่าสำเนียงเสียงพระลูกแก้วเจ้าบ่นอยู่งึมๆ พุ่มไม้ครึ้มเป็นเงาชะโงกเงื้อม…”

1.2.5   คำที่เล่นเสียงหนักเบาและจังหวะ ทำให้เกิดจังหวะในการอ่าน นิยมใช้ในร้อยกรอง

ประเภทฉันท์ ได้แก่ ครุ ลหุ ดังตัวอย่าง

                              มาณวกฉันท์ 8

                                                  จงจรเที่ยว        เทียวบทไป

                                        พงพนไพร                  ไศลลำเนา

                                        ดั้นบทเดิน                  เพลินจิตเรา

                                        แบ่งทุกข์เบา               เชาวนไว

                                                                                (นิทานเวตาล เรื่องที่ 6)

1.3    เลือกใช้คำให้เหมาะแก่เรื่องและฐานะของบุคคล เช่น

“กิระดังได้สดับมา  ยังมีกระทาชายนายหนึ่ง  เดินทางร่อนเร่กระเซอะกระเซิง  เข้ามาใน

เมืองหลวงของประเทศหนึ่ง  ตะแกตื่นตาตื่นใจ ในความงามของเมืองนั้นเป็นอันมาก”

                    “กิระดังได้สดับมา         เหมาะแก่เนื้อเรื่องประเภทนิทาน

                    “กระทาชาย”  “ตะแก”  เหมาะแก่ฐานะของบุคคลในเรื่อง

 

1.4    การเลือกใช้ถ้อยคำให้เหมาะแก่ลักษณะของคำประพันธ์ คำจำนวนมากสามารถใช้ได้ทั้ง 

ร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น คำพื้นฐานต่าง ๆ ที่ใช้อยู่โดยทั่วไป แต่คำบางคำใช้เฉพาะในบทร้อยกรองเท่านั้น เช่น จรลี ไคลคลา เยาวมาลย์ ศศิธร หรือคำสร้อย เช่น แม่เอย ราแม่

 

สรุป

        ประเภทของภาษาที่ทำให้ภาษามีความงดงามนั้นมีทั้งวัจนภาษา อวัจนภาษา รวมไปถึงภาษาสัญลักษณ์ทำให้ภาษามีองค์ประกอบหลากหลายทั้ง ด้าน เสียง พยางค์และคำ การประสมพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ การนำคำมาเรียงกันตามลักษณะโครงสร้างของภาษาที่กำหนดเป็นกฎเกณฑ์ หรือเป็นระบบไวยากรณ์ของแต่ละภาษาดังนั้นการเลือกใช้คำให้ถูกต้องให้ตรงตามความหมายที่ต้องการในการใช้ภาษานั้นภาษาไทยจึงมีถ้อยคำให้เลือกใช้จำนวนมากจึงควรเลือกใช้ถ้อยคำที่มีค่าในการสื่อสารให้มากที่สุดเพื่อให้เกิดภาษาที่มีความงดงาม

เอกสารอ้างอิง

ประทีป วาทิกทินกร. (2538). ร้อยกรอง. ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์.

          กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ประสิทธิ์ กาพย์กลอนและนิพนธ์ อินสิน. (2533). ภาษาวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ :

นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ จำกัด.

สมจิตร ภูเต็มเกียรติ.  (2554). ความงามในภาษา. สื่อการสอนบูรณาการ : กาพย์เห่เรือ. นนทบุรี :     

โรงเรียนศรีบุณยานนท์.