การออกแบบสื่อการสอนทัศนวัสดุ (Visual Materials) สำหรับการสอนศิลปะ

การออกแบบสื่อการสอนทัศนวัสดุ (Visual Materials) สำหรับการสอนศิลปะ  

 

ปัจจุบันกรอบแนวคิดเชิงมโนทัศน์สำหรับทักษะในศตวรรษที่ 21 เป็นที่ยอมรับในการจัดการเรียนการสอนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นกรอบแนวคิดที่เน้นผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียนเป็นสำคัญ เช่นเดียวกันกับการจัดการเรียนการสอนวิชาศิลปะ ที่ถึงแม้จะเป็นรายวิชาที่เน้นการสอนแบบลงมือปฏิบัติ (Practice) อยู่แล้ว  แต่การสร้างสรรค์สื่อการเรียนการสอนในวิชาที่เป็นทฤษฎีทางศิลปะ หรือองค์ความรู้ที่เป็นนามธรรม ก็ยังมีส่วนสำคัญที่ผู้สอนจะต้องอำนวยความสะดวก (Facilitate) ให้ผู้เรียนสามารถมองเห็น รับรู้ หรือสัมผัสได้ เพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้สู่การสร้างสรรค์หรือศึกษาผลงานศิลปะได้

สื่อการสอนศิลปะ มีการนำนวัตกรรมหลายรูปแบบมาอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอน เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI : Computer-Assisted Instruction) สื่อมัลติมีเดีย (Multimedia) วีดีทัศน์เชิงปฎิสัมพันธ์ (Interactive Media/Video) เป็นต้น แต่สื่อการสอนอีกประเภทที่มองข้ามไม่ได้ คือ สื่อทัศนวัสดุ (Visual Materials) เช่น แผ่นพับ บอร์ดสำหรับนำเสนอ สมุดทำมือ โปสเตอร์ บอร์ดเกมส์ เป็นต้น สื่อทัศนวัสดุเหล่านี้ ยังคงมีบทบาทต่อการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพราะเป็นสื่อที่สามารถสร้างได้ง่าย ต้นทุนในการผลิตต่ำ ใช้งานได้แม้ไม่มีไฟฟ้า สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายตามบริบทของสถานศึกษาแต่ละพื้นที่

การสร้างสื่อการสอนทัศนวัสดุ (Visual Materials)  ที่มีคุณภาพย่อมสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่ตื่นเต้นให้กับผู้เรียน สำหรับครูศิลปะที่ต้องการสร้างสื่อการสอนประเภทนี้ การออกแบบและเริ่มจากการเขียนแบบก่อนจะช่วยให้การสร้างสื่อการสอนเป็นไปตามขั้นตอน ประหยัดเวลา ลดความผิดพลาดในการสร้างชิ้นงานจริงมากขึ้น นอกจากนี้การเขียนแบบยังช่วยให้ครูผู้สอนที่ต้องการผลิตสื่อการสอนศิลปะที่มีการใช้ทักษะทางด้านวิศวกรรม ไฟฟ้า หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่สามารถผลิตด้วยตนเองได้ สามารถสื่อสารและทำให้ผู้ผลิตกับผู้ออกแบบเห็นภาพร่วมกัน สื่อการสอนที่ดีควรให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ในการนำเสนอ ซึ่งจะสร้างความแตกต่าง แปลกใหม่ สามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียน ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอมากขึ้น และช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจตรงกันอย่างชัดเจนในเวลาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น แนวคิดในการออกแบบสื่อทัศนวัสดุ (Visual Materials) สำหรับการสอนศิลปะ  มีดังนี้

1.      ความเรียบง่าย

การคำนึงถึงความสำคัญของการใช้พื้นที่ว่าง (space) ในการออกแบบ หรือใช้ศิลปะแบบมินิมอลลิสต์ (Minimalism) ในการสร้างสื่อให้เรียบง่ายที่สุด ตัดทอนสิ่งตกแต่งอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น เพื่อขับเน้นส่วนสำคัญที่ต้องการสื่อสาร ความเรียบง่ายจะช่วยให้การนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนถูกทำให้เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งนี้อาจเริ่มจากการเลือกใช้วัสดุที่มีการปรุงแต่งน้อยที่สุด

2.      การเลือกแบบอักษร

แบบอักษรมีความสำคัญต่อการกำหนดแนวโน้มหรือธีมโดยรวมของชิ้นงาน ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกของผู้รับสาร การนำเสนอเนื้อหาสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัยส่งผลต่อการเลือกใช้แบบอักษร เช่นควรใช้อักษรแบบไม่มีเชิง (sans-serif หรือ simple serif) เหมาะสำหรับการนำเสนอข้อมุลที่ใช้อักษรจำนวนมาก และมีผู้รับสารช่วงชั้นมัธยมไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอักษรแบบไม่มีเชิงจะมีความกว้างของเส้นที่สม่ำเสมอ ช่วยทำให้อ่านได้ง่าย สามารถเลือกใช้รูปแบบปกติ หรือตัวหนาได้ แต่ต้องมีความคลุมโทนกับงานนำเสนอ รูปแบบอักษร sans-serif ยอดนิยม ได้แก่ Helvetica, Futura, DinDan และ Proxima Nova เป็นต้น และหากจำเป็นต้องนำเสนอเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอความเป็นไทย แบบอักษรควรเป็นอักษรไทยที่มีความร่วมสมัย เช่น บี เอส อาร์ ยู บ้านสมเด็จ หรือหากนำเสนอเนื้อหาสำหรับเด็กช่วงประถม ที่มีการใช้อักษรไม่เยอะ สามารถเลือกใช้ตัวอักษรแบบตัวเขียน (Script) เพื่อเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดูสนุกสนานขึ้นได้

3.      ทฤษฎีสีที่ใช้

การออกแบบสื่อการสอนศิลปะ ควรมีการกำหนดพาเลตสี (color palette) หรือ ทฤษฎีสีที่ใช้ได้แก่ ใช้สีคู่ตรงข้าม สีโทนเดียว สีใกล้เคียง เป็นต้น พาเลตสีจะเป็นตัวกำหนดความสมดุลในงาน สามารถใช้กำหนดพื้นหลัง หัวเรื่อง สี อักษรและการเน้นส่วนที่ต้องการได้ การกำหนดพาเลทสีจะช่วยให้การออกแบบสื่อการสอนมีความน่าสนใจ และทันสมัยมากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลต่อการเลือกใช้วัสดุในการสร้างสื่อได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ยังคงอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่าย

4.      การจัดวาง

การจัดวางภาพ และกลุ่มข้อความ ถือเป็นส่วนสำคัญอีกประการที่มักถูกมองข้าม การออกแบบสื่อการสอนศิลปะควรคำนึงถึงการจัดวาง Layout โดยใช้  Grid system หรือ ระบบกริดอยู่เสมอ ผู้สร้างสื่อการสอนควรกำหนดการออกแบบต่าง ๆ ด้วยโครงสร้างที่ประกอบด้วยเส้นแนวตั้ง และเส้นแนวนอนมารวมกัน เพื่อจัดองค์ประกอบของรูปภาพ และกลุ่มข้อความ ในงานออกแบบให้มีความต่อเนื่อง (Consistency) และมีความสมดุล (Balance) ซึ่งการจัดรูปแบบองค์ประกอบที่ซ้ำ ๆ กัน  Grid system จะยิ่งช่วยให้ทำงานได้สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น

5.      ความสอดคล้อง

สื่อการสอนทัศนวัสดุ อาจมีจำนวน 1 หน้ากระดาษ ไปจนถึงเป็นสมุดหรือหนังสือเลยก็ได้ ในการออกแบบจำเป็นต้องอาศัยความสอดคล้องกันทั้ง รูปแบบของภาพ การเลือกสี แบบอักษร วัสดุที่ใช้ รวมถึงตำแหน่งการจัดวาง ต้องทำผลงานทั้งหมดให้ดูเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบเดียวกัน ใช้ตัวอักษรประเภทเดียวกันตลอดทั้งการออกแบบ สามารถปรับเปลี่ยนเลือกแบบอักษร และขนาดสำหรับหัวเรื่อง เพื่อขับเน้นส่วนสำคัญได้ การวางตำแหน่งทั่วไปสำหรับองค์ประกอบข้อความ เช่น หัวเรื่องที่ตรงกลางด้านบน และข้อมูลที่ด้านล่าง ใช้กล่องข้อความในการกำหนดขอบให้ข้อความชิดซ้าย-ขวา ใช้พื้นหลัง หรือสไตล์ของภาพถ่ายในแบบเดียวกันตลอดการออกแบบ

6.      การใช้เทคนิคผสม

ในการสร้างสื่อการสอนให้น่าสนใจ ควรมีการการผสมผสานเทคนิควิธีการ หรือวัสดุที่ใช้สร้างสื่อ การใช้แสง สี เสียง หรือสื่อประเภทอื่น ๆ  ที่เร้าประสาทสัมผัสนอกจากการมองเห็นแบบ 2 มิติ เพียงอย่างเดียว การใช้เทคนิคผสมจะช่วยทำให้งานสื่อการสอนน่าสนใจขึ้น เพิ่มการปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียน เช่น การใช้ภาพร่วมกับสื่อวิดีโอ การใช้แผ่นพับที่มีการเจาะ การประติด การเทคนิคสร้างพื้นผิวเงา-ด้าน การทำภาพนูนขึ้นมา การทำภาพ popup เป็นต้น

การออกแบบเพื่อสร้างสื่อการสอนศิลปะ ที่เป็นทัศนวัสดุ (Visual Materials) ต้องอาศัยกระบวนการสร้างสรรค์ โดยใช้องค์ประกอบทฤษฏีต่าง ๆ  และใช้วัสดุนานาชนิดเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อสนองความต้องการในการจัดการเรียนรู้ใศตวรรษที่ 21 แก้ปัญหา หรือเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนศิลปะให้มีคุณภาพสูงขึ้นกว่าเดิม การออกแบบที่ดียังคงต้องมีความเป็นเอกภาพ (Unity) ดุลยภาพ หรือ ความสมดุล (Balancing) สัดส่วน (Proportion) ความมีจุดเด่น (Emphasis) สร้างความดึงดูด กระตุ้นความสนใจ สร้างความแตกต่าง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมกับเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอมากขึ้น ช่วยทำให้เนื้อหาที่มีความเป็นนามธรรมสูง ถูกถ่ายทอดให้เข้าใจง่าย มีประสิทธิภาพ และเรียนรู้ได้เร็วขึ้น

 

เอกสารอ้างอิง

ธารทิพย์ เสรินทวัฒน์. (2550). ทัศนศิลป์: การออกแบบพาณิชย์ศิลป์. กรุงเทพมหานคร. หลักไทช่าง    

พิมพ์

นฤมล บุญส่ง. (2561). สื่อสังคมกับการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21. Veridian E-Journal,       Silpakorn University. 11(1), 2875-2876

มนูญ ไชยสมบูรณ์.(2551). การออกแบบสิ่งพิมพ์. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 10 มิถุนายน 2560, เข้าถึงได้จาก https://www.gotoknow.org

มาโนช กงกะนันทน์.(2538). ศิลปะการออกแบบ. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิชย์

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และ อธิป จิตตฤกษ์. (2554). ทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ : Open Worlds.

วิจารณ์ พานิช. (2555). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี – สฤษดิ์วงศ์.

สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สพฐ. (2560). แนวทางจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

อารยะ ศรีกัลยาณบุตร. (2550). การออกแบบสิ่งพิมพ์. กรุงเทพมหานคร. วิสคอมเซ็นเตอร์