การวางแผนการผลิต Production planning

การวางแผนการผลิต

Production planning

ขวัญชัย  ช้างเกิด

บทนำ

การผลิตได้ในปริมาณที่ลูกค้าต้องการ  เป็นวัตถุประสงค์หลักที่สําคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งของการบริหารการผลิตซึ่งการที่จะสามารถผลิตได้ตามปริมาณที่กําหนดไว้ต้องอาศัยทรัพยากรขององค์การหลายอย่าง อันได้แก่ เงินทุน วัตถุดิบ แรงงาน ตลอดจนเครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่เนื่องจากทรัพยากรของ องค์การมีอยู่อย่างจํากัดจึงต้องวางแผนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในสิ่งอํานวยความสะดวก เครื่องจักรอุปกรณ์  ตลอดจนโรงงานซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ทําการผลิต  ต้องอาศัยเงินลงทุนจํานวนมาก  และใช้เวลาในการคืนทุนนาน ดังนั้น การวางแผนและจัดการด้านกําลังการผลิต ซึ่งเป็นการวางแผนและดําเนินการเกี่ยวกับขนาดของโรงงานหรือสถานที่ทําการผลิต จํานวนเครื่องจักรอุปกรณ์ ตลอดจํานวนคนงานที่เหมาะสม จึงเป็นภาระงานสําคัญของการบริหารการผลิต  โดยต้องคํานึงถึงผลลัพธ์ต่อองค์การในระยะสั้นควบคู่กับระยะยาว  และใช้ ปัจจัยเชิงปริมาณเป็นหลักในการพิจารณาประกอบกับปัจจัยเชิงคุณภาพให้องค์การมีกําลังการผลิตที่ เหมาะสม  ไม่เกิดปัญหาการผลิตได้น้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าเพราะกําลังการผลิตน้อย เกินไป    และไม่เกิดปัญหาเครื่องจักรมากเกินไปจนกลายเป็นความสูญเปล่าเพราะกําลังการผลิตมากเกินไป

 

ความหมายของการวางแผนการผลิต

อนุรัตน์ ระยับพันธุ์ (2559) การวางแผนการผลิต หมายถึงการวางแผนในการจัดการปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น แรงงาน เครื่องจักร วัตถุดิบ กระบวนการผลิต หรือ 4M (Man, Machine, Machine, Method) เพื่อให้ผลการผลิตบรรลุตามเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ตามความต้องการของลูกค้า

พัทธ์ธีรา สมทรง (2552) การวางแผนและควบคุมการผลิต หมายถึง การจัดระเบียบการไหลของงานในระบบ แล้วติดตามการทำงานนั้นว่าเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้หรือไม่ เพื่อที่จะได้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ทันเวลา

สุดารัตน์  พิมลรัตนกานต์ (2557) การผลิต (Production) หมายถึง กระบวนการ (Process) ในการแปลรูปการผลิตเข้ากับวัตถุดิบโดยหน่วยการผลิต เพื่อให้เกิดเป็นสินค้าและบริการต่าง ๆ นำไปสนองความต้องการของมนุษย์     

จากความหมายข้างต้น ของการวางแผนการผลิต หมายถึง การจัดแผนการผลิตเพื่อให้บรรลุความต้องการของลูกค้า โดยคำนึงถึงระยะเวลาการผลิตและการส่งมอบให้ลูกค้าเป็นหลัก

 

 

 

วัตถุประสงค์การวางแผนการผลิต

1. จัดหากำลังการผลิตที่จำเป็นต่อการตอบสนองแผนการผลิต ที่วางไว้ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย

2. ดูแลให้ต้นทุนการผลิตต่ำ

3. ลดช่วงเวลานำในการผลิต

4. ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการผลิตของโรงงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

5. จัดรวบรวมข้อมูลข่าวสารและผลลัพธ์จากการวางแผนให้กับ ฝ่ายบริหารเพื่อการตัดสินใจ

 

การวางแผนกำลังการผลิต

กระบวนการในการจัดหาทรัพยากรการผลิตที่จำเป็นต่อการทำให้บรรลุ ตามแผนการผลิตที่ได้วางไว้สำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่งในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงวิธีการที่สามารถทำให้กำลังการผลิตที่มีอยู่พร้อมซึ่งขึ้นอยู่กับเครื่องจักรและกำลังคนโดยอาจพิจารณาถึงกำลังการผลิตในช่วงเวลาปกติ ล่วงเวลา จำนวนกะการทำงานรวมทั้งจากหน่วยผลิตอื่นๆ ในโรงงานและจากแหล่งภายนอก (Outsources) แผนการผลิตจะไม่สามารถนำไปดำเนินการได้หากปราศจากกำลังการผลิตที่เพียงพอของหน่วยงานในการตอบสนองความต้องการ ดังนั้น การวางแผนกำลังการผลิตจึงเสมือนเป็นการเชื่อมแผนการผลิตกับทรัพยากรการผลิตให้มีความสอดคล้องกัน ซึ่งจำเป็นต้องใช้กระบวนการในการวางแผนกำลังการผลิต สำหรับกระบวนการในการวางแผนกำลังการผลิตสามารถสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1.คำนวณหากำลังการผลิตที่นำไปใช้ได้ของหน่วยผลิตแต่ละ หน่วยในแต่ละช่วงเวลา

2.คำนวณหาภาระงานหรือความต้องการกำลังการผลิตของ หน่วยผลิตแต่ละหน่วยในแต่ละช่วงเวลา

3.ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เป็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างกำลังการผลิตที่นำไปใช้ได้กับความต้องการกำลังการผลิต หากเป็นไปได้ควรเลือกปรับกำลังการผลิตที่นำไปใช้ได้ให้สอดคล้องกับความ ต้องการกำลังการผลิตหรือภาระงาน

ประเด็นสำคัญสำหรับการวางแผนการผลิตก็คือแผนการผลิตที่เป็นไปได้จะต้องถูกสร้างขึ้นมาภายใต้ข้อจำกัดทั้งหมดของระบบดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อจำกัดของทรัพยากรที่เกี่ยวข้องทุกๆ รายการรวมทั้งนโยบายสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและอื่นๆ เป็นต้น

 

กำลังการผลิต

          ปริมาณงานหรือจำนวนหน่วยปฏิบัติการสามารถที่จะผลิต รองรับ หรือจัดเก็บได้ในหนึ่งหน่วยเวลา กำลังการผลิตมีผลต่อต้นทุนเป็นอย่างมาก เพราะกำลังการผลิตจะต้องมีความสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

ดัชนีชีวัดที่นิยมใช้ในการวัดสมรรถนะของระบบ

อรรถประโยชน์ = ผลผลิตที่เกิดขึ้นจริง/กำลังการผลิตตามแผน

ประสิทธิภาพ = ผลผลิตที่เกิดขึ้นจริง/กาลังการผลิตหวังผล

 

                  กำลังการผลิต (capacity) คือ อัตราสูงสุดที่ระบบการผลิตสามารถผลิตได้เต็มที่ในช่วงเวลาหนึ่งของดำเนินงานการวัดกำลังการผลิตสามารถกระทำได้ 2 ทาง คือ

1. การวัดกำลังการผลิตจากผลผลิต   

การวัดกำลังการผลิตจากผลผลิตจะใช้เมื่อผลผลิตจากกระบวนการสามารถนับเป็นหน่วยได้ง่าย ได้แก่ สินค้าที่มีตัวตน (tangible goods) ซึ่งจะเน้นการผลิตแบบตามผลิตภัณฑ์ (product  –  focused) เช่น การวัดกำลังการผลิตของโรงงาน โดยนับจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ต่อปี (โรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้า) นับจำนวนนมกล่องที่ผลิตได้ต่อวัน (โรงงานนมสดเมจิ) นับจำนวนลิตรของน้ำมันที่กลั่นได้ต่อเดือน (โรงงานกลั่นน้ำมันไทยออยล์) เป็นต้น

2. การวัดกำลังการผลิตจากปัจจัยการผลิต   

การวัดกำลังการผลิตจากปัจจัยการผลิต จะใช้เมื่อผลผลิตจากกระบวนการนับเป็นหน่วยได้ยาก หน่วยของผลิตภัณฑ์ไม่ชัดเจน ได้แก่ การบริการต่างๆ ซึ่งจะเป็นการผลิตแบบตามกระบวนการ    เช่น การวัดกำลังการผลิตของร้านบิวตี้ซาลอนจากจำนวนช่างตัดผม การวัดกำลังการผลิตของโรงพยาบาลจำนวนเตียงคนไข้ การวัดกำลังการผลิตของร้านอัดขยายภาพจากจำนวนชั่วโมงการทำงานของเครื่องจักร  เป็นต้น    

ตัวอย่าง ผู้จัดการร้าน One more  Bakery จะต้องเพิ่มกำลัง การผลิตเพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการของลูกค้า โดยทำการ เพิ่มอีกหนึ่งสายการผลิต กำลังการผลิตหวังผลของสายการผลิตนี้ เท่ากับสายการผลิตแรกคือ 175,000 ชิ้น แต่ประสิทธิภาพของ สายการผลิตนี้มีค่าเพียง 75% อันเนื่องจากความชำนาญที่น้อย กว่าสายการผลิตแรก ผู้จัดการต้องการคำนวณหาผลผลิตที่ เกิดขึ้นจริงของสายการผลิตนี้

ผลผลิตที่เกิดขึ้นจริง =กำลังการผลิตหวังผล * ประสิทธิภาพ =175,000*0.75 = 131,250 ชิ้นต่อสัปดาห์ 21    

                    แม้ว่าองค์การจะมีกำลังการผลิตเป็นอัตราสูงสุดที่จะสามารถผลิตได้ แต่ในการปฏิบัติงานจริงอัตราการผลิตมักจะต่ำกว่ากำลังการผลิต เพราะจะต้องคำนึงถึงการหยุดพักหรือการบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ เพื่อถนอมไว้ใช้งานได้ในระยะยาวมากกว่าการเล็งผลในระยะสั้นเท่านั้น    การใช้กำลังการผลิตอย่างเต็มที่มักจะเกิดต้นทุนการทำงานล่วงเวลาในกะพิเศษหรือการลดการบำรุงรักษาอุปกรณ์ตามแผนที่กำหนดไว้ประจำหรือ การใช้ผู้รับสัญญาช่วง ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทั้งสิ้น ดังนั้นกำลังการผลิตที่เต็มที่จะถูกใช้จริงก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นและไม่เกิดขึ้นบ่อยนักภายในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ  เท่านั้น

 

 

 

 

กระบวนการวางแผนการผลิต

กระบวนการวางแผนการผลิต ประกอบ 3 ขั้นตอน ดังนี้

1.จัดทำแผนความต้องการของลูกค้า (Customer Requirement Planning)

แผนความต้องการของลูกค้าเป็นขั้นตอนแรกของการวางแผนกการผลิต ข้อมูลความต้องการของลูกค้าอาจจะได้มาจากหลายทาง เช่น จากลูกค้าโดยตรง วิธีนี้หากสามารถหามาได้จะเป็นข้อมูลที่มีความแม่นยำสูงมาก สามารถวางแผนการผลิตได้ง่าย ข้อมูลความต้องการของลูกค้าจากการพยากรณ์ ข้อมูลประเภทนี้ต้องมีข้อมูลสนับสนุนที่ดีพอสมควรจึงจะทำให้การวางแผนการผลิตมีความแม่นยำ ต้องมีการวิเคราะห์ในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งข้อมูลแต่ละประเภทก็มีความแปรปรวนที่แตกต่างกัน

2.จัดทำแผนความต้องการวัสดุ (Material Requirement Planning)

แผนความต้องการวัสดุหมายถึงการจัดเตรียม จัดหา วัสดุ,ชิ้นส่วน,วัสดุกึ่งสำเร็จ รูปให้เพียงพอต่อความต้องการในการผลิต ซึ่งสามารถประมาณการได้จากประมาณการความต้องการของลูกค้า. รายการวัสดุที่จะต้องใช้จะถูกกำหนดไว้ในบัญชีรายการวัสดุ (Bill Of Material : BOM) ซึ่งจะระบุชนิดของวัสดุและชิ้นส่วน ปริมาณการใช้ต่อหน่วย รวมถึงข้อมูลที่จำเป็นอื่นๆ เช่น ระยะเวลาในการจัดส่งจากผู้ผลิตสินค้า(Supplier) กรณีที่มีการสั่งซื้อจากภายนอก กำลังการผลิตภายในสำหรับกรณีที่ชิ้นส่วนเอง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดต้องมีความชัดเจนทั้งด้านปริมาณและระยะเวลาส่งมอบ

3.วางแผนการผลิต (Production Planning)

หลังจากที่ได้แผนความต้องการของลูกค้าและมีการเตรียมการวัสดุให้เพียงพอแล้ว ก็จะทำการวางแผนการผลิต ซึ่งมีขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้

 

3.1วางแผนกระบวนการ (Process Planning)

การวางแผนกระบวนการเป็นกำหนดกระบวนการและลำดับในการผลิต. กระบวนการที่ดีต้องเป็นกระบวนการที่สั้นที่สุดซึ่งหมายถึงใช้เวลาในการผลิตจนกระทั่งออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูปน้อยที่สุด.

3.2วางแผนการเครื่องจักร (Machine Planning)

ในกระบวนการผลิตที่ต้องใช้เครื่องหลักเป็นหลักจำเป็นต้องมีการใช้เครื่องจักรให้เกิดประโยชน์สุงสุด ตามทฤษฎีแล้วเครื่องจักรต้องทำงาน 24 ชั่วโมงทุกวัน หรือไม่มีการหยุดทำงานเลย แต่ในการทำงานจริง เวลาสูญเสียของเครื่องจักรมีหลายอย่าง เช่น หยุดเพื่อปรับตั้งชิ้นงาน หยุดเพื่อซ่อมแซม, หยุดเพราะไม่มีงานป้อน, หยุดเพื่อตรวจสอบชิ้นงาน เป็นต้น

3.3วางแผนด้านแรงงาน (Man Planning)

การวางแผนการแรงงานจะคล้ายๆ กับการวางแผนการใช้เครื่องจักร คือ ต้องให้กระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่องให้มากที่สุดแต่ทั้งนี้ต้องอย่าลืมกฎหมายด้านแรงงานที่กำหนดเวลาในการทำงาน การพักที่ชัดเจน ดังนั้น การวางแผนด้านแรงงานจึงยากกว่าการวางแผนเครื่องจักรหลายเท่าตัว

3.4การวางแผนการจัดเก็บ (Store Planning)

การวางแผนการจัดเก็บ หมายถึงการวางแผนในการควบคุมวัสดุคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมซึ่งหมายถึงมีเพียงพอต่อการใช้งานและไม่สูงเกินไปภายใต้ระดับที่กำหนด การวางแผนการจัดเก็บนี้รวมถึง การวางแผนการจัดเก็บสินค้าในระหว่างผลิต, สินค้ากึ่งสำเร็จรูป, สินค้าสำเร็จรูป

 

กระบวนการผลิต

          กระบวนการผลิตเป็นการดำเนินงานที่ต้องใช้เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ สำหรับแต่ละการดำเนินงาน กระบวนการผลิตยังกำหนดทรัพยากรการดำเนินงานที่จำเป็น เวลาที่ต้องใช้เพื่อตั้งค่า และทำการดำเนินการ และวิธีที่ควรคำนวณต้นทุน สามารถใช้กระบวนการผลิตเดียวกันในการผลิตผลิตภัณฑ์หลายอย่าง หรือสามารถกำหนดกระบวนการผลิตที่ไม่ซ้ำกันสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ย่อยได้ กระบวนการผลิตที่ใช้แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณที่ต้องผลิต ดังนั้นในกระบวนการนี้จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ อันได้แก่ ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการแปลงสภาพ (Conversion Process) และผลผลิต (Output) โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

ปัจจัยนำเข้า (Input)

คือทรัพยากรขององค์การที่ใช้ผลิตทั้งที่เป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตน (Tangible Assets) เช่น วัตถุดิน เครื่องจักร อุปกรณ์ และสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) เช่น แรงงาน ระบบการจัดการ ข่าวสาร ทรัพยากรที่ใช้จะต้องมีคุณสมบัติและประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสม และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เพื่อให้สินค้าสำเร็จรูปสามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ในท้องตลาด

กระบวนการแปลงสภาพ (Conversion Process) เป็นขั้นตอนที่ทำให้ปัจจัยนำเข้าที่ผ่านเข้ามามีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ได้แก่

-รูปลักษณ์ (Physical) โดย การผ่านกระบวนการผลิตในโรงงาน

-สถานที่ (Location) โดย การขนส่ง การเก็บเข้าคลังสินค้า

-การแลกเปลี่ยน (Exchange) โดย การค้าปลีก การค้าส่ง

-การให้ข้อมูล (Information) โดย การติดต่อสื่อสาร

-จิตวิทยา (Psychological) โดย การนันทนาการ ฯลฯ

ผลผลิต (Output)

เป็นผลได้จากระบบการผลิตที่มีมูลค่าสูงกว่าปัจจัยนำเข้าที่รวมกันอันเนื่องมาจากที่ได้ผ่านกระบวนการแปลงสภาพ ผลผลิตแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สินค้า (Goods) และบริการ (Service)

 

 

 

กลยุทธ์กระบวนการ

          ความพยายามที่จะหาวิธีการที่ดีสุดในการแปลงสภาพเพื่อให้สินค้าหรือบริการสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและตรงตามข้อกำหนดของฝ่ายออกแบบ โดยควบคุมต้นทุนการผลิตและตอบสนองต่อเงื่อนไขของฝ่ายอื่นๆ

กลยุทธ์กระบวนการ 4 ประเภท ได้แก่ (1) การมุ่งเน้นตามกระบวนการ (2) การมุ่งเน้นการทำซ้ำ (3) การมุ่งเน้นตามผลิตภัณฑ์ (4) การมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะราย การแบ่งประเภทกลยุทธ์กระบวนการนี้ จะขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตสินค้าและบริการนั้นๆ กับจำนวนชนิดของผลิตภัณฑ์ ดังแสดงใน ภาพที่ 3.1

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 3.1 กลยุทธ์กระบวนการ 4 ประเภท

ที่มา: Jay Heizer & Barry Render, 2551, การจัดการผลิตและปฏิบัติการ ., หน้า 127

1.การมุ่งเน้นตามกระบวนการ

กระบวนการผลิตกว่า 75% ทั่วโลก เป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อ โดยมุ่งเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์หลายชนิด แต่ผลิตในปริมาณไม่มาก โดยจะจัดเป็นหมวดหมู่หรือชนิดของกระบวนการ ทำให้สามารถทำงานในบริเวณเดียวกันภายใต้การควบคุมดูแลของพนักงานที่ทำหน้าที่คล้ายกัน

ข้อดี คือ เพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิตสินค้าได้หลากหลาย และสามารถ หยุดงานใดงานหนึ่งเพื่อทำงานอีกงานแทนในช่วงเวลาที่ต้องการสินค้าชนิดนั้นด่วนเป็นพิเศษได้ กระบวนการนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า กระบวนการผลิตแบบไม่ต่อเนื่อง

 

 

 

2. การมุ่งเน้นการทำซ้ำ

กระบวนการนี้จะใช้โมดุล คือชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบที่เตรียมไว้ก่อนล่วงหน้ามาประกอบในสายการผลิต หากต้องการสินค้าที่ใกล้เคียงแค่เปลี่ยนโมดุล ก็จะสามารถผลิตสินค้าได้อีกลักษณะ

ข้อดี ประกอบด้วย

1.ด้านต้นทุนการผลิต มีการเตรียมล่วงหน้า ทำให้สามารถผลิตได้จำนวนมาก

2.ด้านความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า เนื่องจากสามารถผลิตได้หลากหลายจากการมีได้หลายโมดุลตามความต้องการของลูกค้า

3. การมุ่งเน้นตามผลิตภัณฑ์

เป็นกระบวนการที่ผลิตสินค้าที่มีจำนวนชนิดผลิตภัณฑ์ไม่มาก โดยที่แต่ละผลิตภัณฑ์จะผลิตในปริมาณมาก เครื่องจักรจะถูกจัดเรียงตามขั้นตอนและลำดับการผลิตของแต่ละชนิดผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์จะเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องบนสายการผลิต กระบวนการผลิตนี้มักมีการลงทุนเบื้องต้นในระบบการผลิตสูง โดยมีต้นทุนคงที่สูงและต้นทุนแปรผันต่ำ เป็นการผลิตสินค้าปริมาณมาก  (Mass production)

ข้อดี ง่ายต่อการควบคุมคุณภาพในการผลิตสินค้า

4. การมุ่งเน้นการตอบสนองตามความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะราย

กระบวนการผลิตนี้เป็นแนวทางที่ตอบสนองด้วยความรวดเร็วและต้นทุนการผลิตต่ำ หัวใจสำคัญของกลยุทธ์นี้ต้องอาศัยการผสมผสานระหว่าง การออกแบบผลิตภัณฑ์แบบโมดูลของกลยุทธ์มุ่งเน้นการทำซ้ำหลักการผลิตรวดเร็วของกลยุทธ์มุ่งเน้น  ผลิตภัณฑ์ และการจัดตารางผลิตที่มีประสิทธิภาพจากกลยุทธ์มุ่งเน้นตามกระบวนการมาประกอบเข้าด้วยกัน

การวิเคราะห์และการออกแบบกระบวนการผลิต

การวิเคราะห์และการออกแบบกระบวนการผลิตเป็นกระบวนการก่อนที่จะเริ่มผลิตสินค้าโดยจะสามารถทำให้ทราบถึงกระบวนการต่างๆ และกำหนดระยะเวลาการทำงานในแต่ละขั้นต้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องมีเครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์และการออกแบบกระบวนการ ดังนี้

1.แผนภาพการไหล (Flow diagram)

เป็นการใช้แผนภาพเพื่อแสดงการไหลของวัตถุดิบ ชิ้นงาน หรือข้อมูล เคลื่อนผ่านกระบวนการต่างๆจนกระทั่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ

2.แผนผังงานตามเวลา (Time-function mapping)

          เป็นแผนผังที่มีลักษณะเหมือนกับแผนภาพการไหลแต่เพิ่มระยะเวลาของการทำงานแต่ละขั้นตอนเข้ามาพิจารณาร่วมในแกนนอน จะใช้สัญลักษณ์วงกลมแทนกิจกรรม และสัญลักษณ์ลูกศรแทนทิศทางการไหลของงาน โดยมีเวลากำกับไว้ในแกนนอน

3.สายธารแห่งคุณค่า (Value-Stream Mapping: VSM)

          แสดงให้เห็นถึงการไหลของวัตถุดิบและข้อมูลที่เคลื่อนผ่านไปยังกระบวนการต่างๆ ที่เกิดคุณค่าและไม่เกิดคุณค่าในกระบวนการผลิตและโซ่อุปทาน เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และเข้าใจถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้อง

4.แผนภูมิกระบวนการ (Process charts)

          เป็นแผนภูมิที่ใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อมาอธิบายกระบวนการในแต่ละขั้นตอนย่อยจนกระทั่งกลายเป็นสินค้าที่ต้องการ สัญลักษณ์ 5 รูปแบบจะใช้แทนขั้นตอนการทำงาน 5 งานย่อยได้แก่ ปฏิบัติการ ขนส่ง ตรวจสอบ หยุดรอ และจัดเก็บ

วัตถุประสงค์ของเทคโนโลยีในการผลิต มีดังนี้

          1. เพิ่มผลผลิตให้มีมากขึ้น ลดความสิ้นเปลืองจากการสูญเสีย วัตถุดิบในกระบวนการผลิตลง

          2. เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพราะการผลิตสินค้าจำนวนมากจะทำให้ลดต้นทุนการผลิต ผู้ผลิตได้กำไรมากขึ้น และอาจทำให้สินค้ามีราคาถูกลง

          3. เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน เป็นการเพิ่มคุณค่าและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ มีแบบให้เลือกหลากหลายผลิตภัณฑ์มีคุณภาพขึ้น

          4. เพื่อลดแรงงานหรือกำลังคนทำงานได้น้อยลง

 

เทคโนโลยีทางการผลิต

          การนำความรู้ วิทยาการ และประสบการณ์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยในการผลิตสินค้าและบริการ รวมทั้งการคิดค้นหาวิธีการนำทรัพยากรมาใช้ในด้านใหม่ๆ เพื่อให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประเทศไทยเรามีวัตถุดิบในการผลิตจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ป่าไม้ และแร่ธาตุ หากเราใช้ทรัพยากรไม่ระมัดระวัง ทรัพยากรอาจหมดสิ้นหรือเสื่อมค่าได้ ผู้ผลิตจึงจำเป็นที่จะใช้เทคโนโลยีให้ได้ประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการผลิตสินค้าแต่ละชนิดมีการแข่งขันสูง ผู้ผลิตจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อให้มีคุณภาพและตรงตามต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด เทคโนโลยีทางการผลิตมีดังนี้

1.เทคโนโลยีเครื่องจักรกล (Machine Technology)

เป็นระบบควบคุมอย่างชาญฉลาด (Intelligence control) ทาให้องค์กรควบคุมเครื่องจักรได้อย่างง่ายดาย

2.ระบบพิสูจน์ทราบอัตโนมัติ (Automat Identification System:AIS)

เครื่องจักรส่วนใหญ่ถูกควบคุมด้วยระบบดิจิตอล เนื่องจากระบบดิจิตอลช่วยให้ส่งข้อมูลปริมาณมากๆ ในรูปแบบของ หน่วยประมวลผลข้อมูลสารสนเทศทางคอมพิวเตอร์ บิตและไบต์

3.การควบคุมกระบวนการ (Process Control)

เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ติดตามและควบคุมกระบวนการผลิตสินค้าหรืองานบริการ

4.ระบบตรวจสอบด้วยภาพ (Vision Systems)

เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกล้องถ่ายภาพวีดีทัศน์กับเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการตรวจสอบกระบวนการผลิตหรือการดำเนินงาน

5.หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Robots)

คือเครื่องจักรที่มีความยืดหยุ่นสามารถจับยึดและเคลื่อนชิ้นงานหรือเครื่องมือการผลิตให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางและระยะที่ต้องการ

6.ระบบจัดเก็บสินค้าคงคลังและเรียกคืนอัตโนมัติ (Automated Storage and Retrieval System : ASRS)

เป็นระบบที่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการควบคุมอัตโนมัติ โดยแสดงตำแหน่งว่างที่เหมาะสมกับชิ้นงาน และจะสั่งให้ชุดจัดเก็บเคลื่อนเข้าไปจัดเก็บบนที่ว่างนั้น

7.พาหนะขนส่งชิ้นงานด้วยระบบนำร่องอัตโนมัติ(Automated Guided Vehicles : AGV )

เป็นระบบที่ใช้หลักการของการขับเคลื่อนรถหรือพาหนะขนาดเล็กด้วยลวดนาร่อง ซึ่งทิศทางการเคลื่อนที่จะถูกกำหนดโดยศูนย์ควบคุม

 

8.ระบบการผลิตแบบยืดหยุ่น (Flexible Manufacturing System: FMS)

เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ถูกนำมาใช้ในการควบคุมหน่วยการผลิต ที่ประกอบด้วยเครื่อง จักรกลและอุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุให้สามารถทำงานประสานกันได้อย่างอัตโนมัติ

9.การผสานระบบคอมพิวเตอร์เข้ากับระบบการผลิตอย่างบูรณาการ (Computer Integrated Manufacturing: CIM)

เป็นการประยุกต์คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยให้การออกแบบจะส่งข้อมูลชุดคำสั่งไปให้กับเครื่องจักรกล เพื่อให้เครื่องจักรทาการผลิตสินค้าตามที่ออกแบบมาในเวลาเพียงไม่กี่นาที

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

กตัญญู หิรัญญสมบูรณ์. (2542). การบริหารอุตสาหกรรม. กรุงเทพฯ : งานตำราและเอกสารการพิมพ์. คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ชุมพล  ศฤงคารศิริ.  (2542).  การวางแผนและควบคุมการผลิต.  กรุงเทพฯ  :  ส.เอเชียเพรส (1989).

เปรื่อง  กิจรัตน์ภร.  (2537).  การบริการงานอุตสาหกรรม  ระบบ และกระบวนการผลิต.  กรุงเทพฯ  : คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม  สถาบันราชภัฏพระนคร.

ยุทธ  ไกยวรรณ์.  (2543).  การบริหารการผลิต.  กรุงเทพฯ  :  ศูนย์สื่อเสริม.   

วิชัย  แหวนเพชร.  (2536).  การวางแผนและควบคุมการผลิต.  กรุงเทพฯ  :  คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและวิศวกรรมศาสตร์  สถาบันราชภัฏพระนคร. 

วินิจ  วีระยางกูร.  (2533).  การจัดการผลิต.  กรุงเทพฯ  :  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค.

สุปัญญา  ไชยชาญ.  (2540).  การบริหารการผลิต.  พิมพ์ครั้งที่ 4  กรุงเทพฯ  :  พี.เอ.ลีฟวิ่ง. 

เสรี  สมนาแซง.  (2529).  การวางแผนและควบคุมการผลิต.  กรุงเทพฯ  :  ขอนแก่น  ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สนธยา  แพ่งศรีสาร (2559) การวางแผนกำลังการผลิต. [ออนไลน์] http://elearning.nsru.ac.th /web_elearning /sonthaya/lesson%205/lesson%205.html [สืบค้นเมื่อ 10มกราคม2561].

สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น).(2558).การวางแผนและ ควบคุมกำลังการผลิต[ออนไลน์] http://www.tpa.or.th/publisher/admin/newbook/P0922%20intro.pdf[สืบค้นเมื่อ 10มกราคม2561].

Jay Heizer & Barry Render.(2551) การจัดการผลิตและปฏิบัติการ : Operations Managementแปลและเรียบเรียงโดย จิณตนัยไพรสณฑ์และคณะ. กรุงเทพฯ : เพียร์สัน เอ็คดูเคชัน อินโดไชน่า.

Logisticafe. (2552) กระบวนการผลิต (production process) คืออะไร. [ออนไลน์] https: // www.logisticafe.com/2009/11/production-process/ [สืบค้นเมื่อ 10มกราคม2561].

พัชราภรณ์. (2560) บทที่ 7 กลยุทธ์กระบวนการและการวางแผนกําลังการผลิต. [ออนไลน์] http://www.elfms.ssru.ac.th/pacharaporn_le/file.php/1/BUA3122_DOC_3_2560/less7.pdf [สืบค้นเมื่อ 10มกราคม2561].

สายพิรัน.(2556).เทคโนโลยีสารสนเทศและการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ.[ออนไลน์] http://saipirun5154.blogspot.com/2013/09/blog-post_6935.html [สืบค้นเมื่อ 10มกราคม2561].