การจัดการชั้นเรียนที่ผู้เรียนมีความแตกต่างหลากหลาย Managing a Classroom with Diverse Learners

                                                                      บุษบากร สุวรรณเกษา

การจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันควรมุ่งตอบโจทย์ความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน ครูควรมีรูปแบบการสอนที่สามารถประยุกต์ให้ตอบสนองตามเป้าหมายและความต้องการของผู้เรียนทุกคน ผู้เรียนทุกคนควรได้เรียนรู้ในบรรยากาศที่ครูผู้สอน จัดกระบวนการเรียนการสอนที่ตอบสนองรูปแบบการเรียนรู้เฉพาะบุคคล โดยตระหนักถึงความแตกต่างทั้งด้านความสามารถทางสติปัญญา ประสบการณ์เดิม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา และความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย (Celik, 2019) สำหรับผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายนั้นไม่ได้ระบุเจาะจงเฉพาะผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึง (Goh, 2004) กลุ่มที่ฐานะยากจน กลุ่มเปราะบาง เด็กกำพร้า กลุ่มเด็กที่มีปัญหาสุขภาพ เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม กลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบ กลุ่มนอกระบบ กลุ่มท้องในวัยเรียน เด็กป่วยเรื้อรัง หรือกลุ่มเด็กเร่รอน เป็นต้น (Celik, 2019)

การจัดการชั้นเรียนสำหรับผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ในห้องเรียนควรเป็นห้องเรียนที่นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงหลักสูตรที่เหมาะสม เรียนรู้เนื้อหาที่เข้มข้นและท้าทาย มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน และมีปฏิสัมพันธ์ที่เท่าเทียมระหว่างนักเรียนด้วยกัน ได้รับการยอมรับและเห็นคุณค่า มีการนำเสนอผลการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งครูมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดชั้นเรียนสำหรับทุกคน โดยครูต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างด้านความสามารถ เชาว์ปัญญา ต้องรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อที่จะสามารถปรับหลักสูตร จัดการชั้นเรียน สร้างการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ออกแบบการประเมินการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมและเสมอภาค (Celik, 2019) และควรมีทัศนคติที่ดีต่อผู้เรียนทุกคน ควรชื่นชม ค้นหาข้อดี และจัดการศึกษาที่ตอบสนองกับความแตกต่างเฉพาะบุคคล (สราวุธ ชัยยอง, 2565) อันจะทำให้เกิดการลดช่องว่างในชั้นเรียน และทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ไปพร้อมกันโดยที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้หลังห้อง ห้องเรียนสำหรับทุกคนจึงเป็นห้องเรียนที่ขจัดการเลือกปฏิบัติ การลดอุปสรรคในการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ผู้เรียนทุกคนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้โรงเรียนควรมีระบบการช่วยเหลือที่ตอบสนองกับผู้เรียนทุกคน

          แนวทางการจัดการจัดการเรียนรู้ห้องเรียนเสมอภาคหรือห้องเรียนสำหรับทุกคน ที่เน้นให้นักเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายในชั้นเรียนได้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ดังนี้

1.   สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน ทั้งความสามารถทางปัญญา และภูมิหลังทางวัฒนธรรม (สราวุธ ชัยยอง, 2565) รวมถึงความรู้หรือประสบการณ์เดิม ความพร้อมในการเรียน ความสนใจ หรือ ทักษะที่ต้องการพัฒนาของผู้เรียนแต่ละคน (Celik, 2019)

2.   สร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้แสดงออกและมีปฏิสัมพันธ์กัน เช่น สร้างปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ใช้กิจกรรมกลุ่มที่ประกอบด้วยนักเรียนที่มีความหลากหลายเพื่อให้นักเรียนได้ใช้ทักษะและความสามารถที่หลากหลายของตนเอง เป็นต้น (สราวุธ ชัยยอง, 2565)

3.   สร้างบรรยากาศที่ตอบสนองความแตกต่างหลากหลาย เช่น การมีมุมแสดงผลงานที่ให้ผู้เรียนทุกคนสามารถนำผลงานมาจัดแสดง หรือปรับเปลี่ยนการจัดโต๊ะเรียนให้เหมาะสมกับกิจกรรม (สราวุธ ชัยยอง, 2565) สร้างบรรยากาศของห้องเรียนสำหรับทุกคน (Inclusive Classroom) คือ การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย (Differentiated instruction) สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนทุกคน โดยตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในชั้นเรียน โดยผู้เรียนทุกคนรู้หน้าที่ของตนเองในชั้นเรียน การจัดการเรียนการสอน ครูผู้สอนต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ทั้งในแง่ของผลลัพธ์ทางการเรียน (ด้านวิชาการ) และ ผลลัพธ์ที่มีเป้าหมายให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์และเรียนรู้จากผู้อื่น การเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการความขัดแย้ง การพัฒนาทักษะและความรู้ต่าง ๆ การเรียนรู้วิธีการทำงาน การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ประการสำคัญ คือการเรียนรู้เรื่องบุคลิกภาพเฉพาะบุคคล หรือความแตกต่างเฉพาะบุคคล  (Celik, 2019)

4.   สร้างทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้เรียน โดยพิจารณาจากทักษะ และความสามารถของผู้เรียนแต่ละบุคคลเป็นหลัก ซึ่งครูผู้สอนสามารถสังเกตผู้เรียนในช่วงเวลาต่าง ๆ (สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ, 2564) โดยคำนึงว่า  ไม่มีวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่สามารถตอบสนองต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคน (One size fits all) เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมี ความพร้อม ความสนใจ และคุณลักษณะเฉพาะ เช่น สไตล์การเรียนรู้ ภูมิหลังครอบครัว ที่แตกต่างกัน ดังนั้นครูผู้สอนควรมีสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความแตกต่างดังกล่าว (ธิดา ทับพันธุ์, 2563) หรือ อาจปรับหลักสูตรกับการพัฒนาทักษะและความสามารถของผู้เรียน เช่น ปรับโครงสร้างของเวลาเรียนโดยไม่จำเป็นต้องยึดเวลาเรียนตามตาราง ปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน ปรับกระบวนการวัดและประเมินผล เป็นต้น (สราวุธ ชัยยอง, 2565)

5.   การสร้างความสัมพันธ์อันดี โดยเฉพาะความสัมพันธ์ด้านอารมณ์ ความคงที่ของอารมณ์ ระหว่างครูกับนักเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่มีปัจจัยมาจากครอบครัวและชุมชน ครูทุกคนควรมีทัศนคติที่ดีต่อความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน ทุกความคิด ทุกการกระทำของผู้เรียนควรได้รับการยอมรับและให้คุณค่า เด็กทุกคนควรมีความรู้ว่าถูกชื่นชมและรู้สึกปลอดภัย มากกว่ามองว่าเขามีความแตกต่าง ดังนั้นทุกหลักสูตรและการวัดประเมินควรออกแบบเพื่อตอบสนองความแตกต่างหลากหลาย (Celik, 2019)

           สำหรับวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล ควรเน้นการจัดรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยคำนึงถึงองค์ประกอบ 3 องค์ประกอบ ที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งครูต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการและระดับความสามารถของผู้เรียน คือ

1.   เนื้อหา (Content) จะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์หลักของการเรียนและสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ โดยครูอาจสังเกตผู้เรียนว่ามีความชอบ ความถนัด หรือกำลังสนใจในเรื่องอะไร จากนั้นจึงกำหนดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดของผู้เรียน เพื่อให้ตอบสนองวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ทั้งนี้การสำรวจสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ ความชอบ ความถนัดจะสร้างแรงจูงใจในการเรียนหรือการพัฒนาทักษะที่ครูต้องการ ครูจะได้รูปแบบการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายมากขึ้น (สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ, 2564) นอกจากนี้ครูผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนเนื้อให้สอดคล้องกับความถนัดหรือรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน ด้วยการเริ่มต้นจากการทบทวนจุดประสงค์การเรียนรู้ ว่าต้องการให้ผู้เรียนรู้เรื่องอะไรและพยายามตัดเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป จากนั้นครูอาจจะต้องวิเคราะห์ผู้เรียน และปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับความแตกต่างของผู้เรีย เช่น การเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ที่ผู้เรียนบางคนอาจเรียนช้า เพราะอ่านหนังสือไม่คล่อง ครูสามารถช่วยเหลือผู้เรียน โดยการปรับคำศัพท์ที่ยากเกินไปให้เข้าใจง่ายขึ้น หรือในกรณีที่ผู้เรียนอาจมีรูปแบบการเรียนรู้ที่เรียนรู้ด้วยการมองเห็น (Visual learner) ซึ่งจะจดจำได้ดีกว่าเมื่อเห็นเป็นภาพ ครูสามารถใช้ Graphic organizer, Mind map, Timeline, Venn diagram มาช่วยในการจัดลำดับความคิด ลำดับช่วงเวลา ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยจัดระเบียบความคิดของผู้เรียน (ธิดา ทับพันธุ์, 2563) นอกจากนี้อาจมีการปรับภาษาให้เหมาะสม เน้นการสอนจากส่วนรวมไปส่วนย่อยหรืออาจจะเน้นจากส่วนใหญ่ไปส่วนร่วม ใช้สื่อ เทคโนโลยีที่หลากหลาย ให้ความสำคัญกับหลักการและแนวคิดสำคัญมากกว่ารายละเอียด ให้งานตามระดับศักยภาพของผู้เรียน (Celik, 2019)

2.   กระบวนการ (Process) คือวิธีการที่จะสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในห้องเรียน เช่น รูปแบบการถ่ายทอดเนื้อหา การจัดกิจกรรม หรือการจัดกลุ่มผู้เรียน ซึ่งสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียนและคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการเรียน เช่น ในกรณีที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการจัดการ การวางแผน และฝึกความสามัคคี อาจเลือกใช้กิจกรรม เกม หรือการจำลองสถานการณ์ ที่สร้างพื้นที่ของความสามารถที่หลากหลาย การทำงานร่วมกัน และการสื่อสารซึ่งกันและกัน เป็นต้น (สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ, 2564) นอกจากนี้ครูผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการสอน เช่น ประวัติศาสตร์ อาจให้ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมติ (Role play) หรือใช้ภาพยนตร์ วิดีโอ มาเป็นสื่อการสอนแทนการบรรยายเพียงอย่างเดียว วิชาภาษาอังกฤษสำหรับผู้เรียนที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก อาจลองใช้เทคนิคเชื่อมโยงตัวอักษรเข้ากับเสียงและท่าทาง เช่น A- Alligator B-Bear C-Cat หากผู้เรียนติดขัดตรงตัวอักษรครูสามารถช่วยไกด์ ผู้เรียนจะจดจำเสียงและท่าทางที่เชื่อมโยงกับตัวอักษรเหล่านั้นได้ (ธิดา ทับพันธุ์, 2563) สำหรับข้อคำนึงถึงความแตกต่างของระดับสติปัญญา ความสนใจ อาจแบ่งกิจกรรมเป็นร่วมมือทำงานทั้งชั้นเรียนช่วยกัน เป็นกลุ่มเล็ก หรือ เป็นรายบุคคล สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ ด้วยการค้นหาความสนใจของผู้เรียน จัดกิจกรรมที่หลากหลาย มีระดับของการวัดประเมินผล หรือ วัดประเมินผลตามระดับความสามารถ (Celik, 2019)

3.   ผลลัพธ์ (Product) คือสิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถวัดได้จากหลักฐานการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น ชิ้นงานที่จับต้องได้ การสรุปความรู้ที่ได้จากการเรียน การแสดงความคิดเห็นในระหว่างเรียน หรือการสะท้อนคิดหลังจากเสร็จกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ครูสามารถนำไปต่อยอดในการออกแบบการเรียนรู้ครั้งต่อไป เพื่อให้ตอบโจทย์กับความแตกต่างของผู้เรียนมากขึ้น (สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ, 2564) นอกจากนี้อาจให้ผู้เรียนแสดงให้ดู หรือให้เลือกนำเสนอด้วยรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การนำเสนอปากเปล่า การสัมภาษณ์ การสาธิต หรือ การทดสอบ เน้นการประเมินผลตามระดับความสามารถของผู้เรียน และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงตัวตนของตนเอง อาจด้วยการ เขียนเรื่องราว การวาดภาพ การเล่าประสบการณ์ในชีวิต (Celik, 2019) หรือครูสามารถออกแบบวิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือนำเสนอผลงานที่สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์การเรียนรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลายและตอบสนองความแตกต่างของผู้เรียน เช่น ในกรณีที่ครูต้องการให้ผู้เรียนนำเสนอความรู้หน้าชั้นเรียน อาจะมีทางเลือกให้ผู้เรียนอัดวิดีโอตัวเอง หรือในกรณีที่ครูต้องการให้ผู้เรียนเขียนบรรยายเพื่อแสดงความรู้ อาจให้ผู้เรียน แต่งเพลง แต่งกลอน เพื่อแสดงความรู้ ความเข้าใจในบทเรียนนั้น ๆ ดังนั้นโดยสรุป ผลลัพธ์ที่ดีเกิดจากกระบวนการการเรียนรู้ที่สนับสนุนและผลักดันผู้เรียน ได้ใช้ความเป็นธรรมชาติ ความชอบ ความถนัดของตนเองในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์การเรียนรู้ (ธิดา ทับพันธุ์, 2563) 

               นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศในการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับผู้เรียนที่มีความหลากหลาย เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นอีกประการหนึ่งนอกเหนือจาก องค์ประกอบ ทั้ง 3 ประการข้างต้น เช่น ผู้เรียนที่มีสมาธิสั้น ไม่ควรนั่งในพื้นที่ที่ดึงความสนใจของผู้เรียน เช่น ประตูหรือหน้า อนุญาตให้ผู้เรียนปรับเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อลดความตื่นเต้นหรือลดความเบื่อหน่าย ปรับรูปแบบการจัดโต๊ะเพื่อให้ให้ครูเข้าถึงผู้เรียนทุกคน อาจเอาโต๊ะออก หรือจัดโต๊ะเป็นกลุ่ม 4 คน ที่สามารถปรับเป็นฐานกิจกรรม หรืออาจเพิ่มมุมสงบเล็ก ๆ ในห้องเรียนเพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้เรียน (ธิดา ทับพันธุ์, 2563) หรือการให้ผู้เรียนเลือกที่นั่งหรือสถานที่ทำงานที่ทำให้เด็กรู้สึกว่ารู้สบายใจที่สุด การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ทำเน้นการพัฒนาทักษะการพูดเรื่องที่เสี่ยง การคิดอย่างอิสระ หรือทักษะการทำงานร่วมกัน เป็นต้น (Celik, 2019) เป็นต้น

               จะเห็นได้ว่าแนวคิดการจัดการชั้นเรียนสำหรับผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายมีประโยชน์กับผู้เรียนทุกกลุ่ม หากครูผู้สอนมีทัศนคติในการปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอน โดยคำนึงถึง 3 องค์ประกอบและใช้แนวทางในการจัดการชั้นเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย เชื่อว่าผู้เรียนทุกคนจะสามารถพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพ และความต้องการเฉพาะบุคคล เพราะผู้เรียนทุกคนสิทธิ ควรได้รับโอกาสในการแสดงความสามารถ หรือค้นหาจุดแข็งภายในตนในฐานะของการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง

 

 

บรรณานุกรม

 

Celik, S. (2019). Can Differentiated Instruction Create an Inclusive Classroom with Diverse Learners in an Elementary School Setting? Journal of Education and Practice, 10(6), 31-40.

Goh, D. S. (2004). Assessment Accommodations for Diversity Learners. New York Pearson Education

ธิดา ทับพันธุ์. (2563). เพราะไม่มีเด็กคนไหนที่เหมือนกัน 4 วิธีที่ครูทำได้ ปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับความแตกต่างหลากหลาย (Differentiated Instruction). Retrieved from https://www.educathai.com/knowledge/articles/305

สราวุธ ชัยยอง. (2565). “ห้องเรียนเสมอภาค” แนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่ไม่ทิ้งใครไว้หลังห้อง “Equitable Classroom” The concept of learning Management that Leaves No On Behind the Classroom ศึกษาศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 6(3), 14-28.

สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ. (2564). การเรียนรู้ที่อยู่ร่วมกับความแตกต่าง. Retrieved from https://www.educathai.com/knowledge/articles/399