การกำกับอารมณ์กับความพึงพอใจในชีวิต Emotion Regulation with Life Satisfaction

บทนำ
         อารมณ์ (Emotion) เป็นสภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคล เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งอารมณ์ที่เกิดขึ้นต่อสถานการณ์นั้นอาจเป็นไปได้ทั้งอารมณ์ทางบวกและอารมณ์ทางลบ โดยอารมณ์ที่เกิดขึ้นล้วนส่งผลต่อการเกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมตามมาเช่นกัน ดังนั้นหากบุคคลสามารถกำกับอารมณ์ (Emotion Regulation) ที่เกิดขึ้นกับตนเองเพื่อให้เกิดอารมณ์ และพฤติกรรมที่เหมาะสม ก็อาจส่งผลให้เกิดความพึงพอใช้ในชีวิต (Life Satisfaction) ได้
 
ความหมายของการกำกับอารมณ์
การกำกับอารณ์ เป็นตัวแปรทางจิตวิทยาทางบวก ซึ่งในปัจจุบันมีนักจิตวิทยาและนักวิจัยที่ให้ความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับการกำกับอารมณ์อย่างแพร่หลาย จึงมีผู้ที่ให้ความหมายของการกำกับอารมณ์ไว้ในมุมมองที่แตกต่างกันดังนี้ โดย Gamefski , Kraaij และ Spinhoven (2001) กล่าวว่า การกำกับอารมณ์เป็นการเลือกใช้รูปแบบความคิดที่แตกต่างกันในการจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดความตึงเครียดทางอารมณ์ ซึ่งมีลักษณะของรูปแบบความคิดที่เป็นไปในทางที่ส่งผลให้เกิดประโยชน์และเกิดประโยชน์ 9 ลักษณะ ได้แก่ การปรับมุมมองความคิดทางบวก (Positive Reappraisal) การมุ่งสนใจประเด็นทางบวก (Positive refocusing) การปรับเปลี่ยนความสนใจไปยังสถานการณ์อื่น (Refocus on planning) การยอมรับ (Acceptance) การทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (Putting into perspective) การหมกมุ่นกับประเด็นปัญหา (Focus on thought/ rumination) การตำหนิตนเอง (Self-blame) การตำหนิผู้อื่น (Other-blame) และการคิดขยายถึงผลลัพธ์ในเชิงลบ (Catastrophizing) และ Gross (2007) ได้กล่าวถึงความหมาย การกำกับอารมณ์ว่าเป็นกระบวนการที่แต่ละบุคคลตระหนักรู้ในอารมณ์ และสามารถจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมตามโอกาสและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่แต่ละบุคคลได้เผชิญอยู่ให้เกิดเสถียรภาพทางอารมณ์ โดยมุ่งเน้นให้เกิดอารมณ์เชิงบวกต่อสถานการณ์นั้น ๆ นอกจากนี้ Birgins และ Birgins (2012) ได้ให้ความหมายของการกำกับอารมณ์ว่าเป็นความสามารถในการควบคุมความรุนแรงของอารมณ์และระยะเวลาที่เกิดอารมณ์นั้น ซึ่งเป็นความพยายามในการเปลี่ยนความคิดหรือพฤติกรรม เพื่อจัดการกับอารมณ์ที่เข้มข้นและรุนแรงนั้นได้ และในส่วนของ Davis และ Levine (2013) ได้ให้ความหมายของการกำกับอารมณ์ว่าเป็นกระบวนการที่บุคคลใช้ในการปรับเปลี่ยนลักษณะความเข้มข้นรุนแรง ระยะเวลา และการแสดงออกทางอารมณ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
กระบวนการและความสำคัญของการกำกับอารมณ์
การกำกับอารมณ์ เป็นกระบวนการที่บุคคลสามารถตระหนักรู้ เข้าใจ ควบคุม จัดการ และแสดงอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ โดยการสามารถควบคุมความรุนแรง ความเข้มข้นของอารมณ์ และระยะเวลาที่อารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่งกระบวนการของการกำกับอารมณ์จัดเป็นกระบวนการเฉพาะบุคคลที่บุคคลใช้ในการตรวจสอบหรือประเมินประสบการณ์ทางอารมณ์ ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนปฏิกิริยาการตอบสนองทางอารมณ์และพฤติกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความต้องการของบุคคลได้ โดยให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้และเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้น (Thompson, 1994; Birgins & Birgins, 2012) ทั้งนี้กระบวนการกำกับอารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล โดย Gross (2007) ได้กล่าวถึงกระบวนการของการกำกับอารมณ์ไว้ 5 ขั้นได้แก่
            1. การเลือกสถานการณ์ (Situation Selection) คือการที่บุคคลมีประเมินสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่าเป็นสถานการณ์ที่ตนเองต้องการเผชิญ (Confrontation) หรือหลีกเลี่ยง (Avoidance) การเลือกสถานการณ์เป็นการประเมินแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยการเลือกแนวทางปฏิบัติที่อาจส่งผลต่อการเกิดอารมณ์ทางบวกหรือทางลบได้เมื่อสถานการณ์นั้นจบลง
            2. การปรับเปลี่ยนสถานการณ์ (Situation Modification) เป็นการปรับปรุงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้เป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นหรือเลือกเผชิญสถานการณ์ในส่วนที่บุคคลต้องการ
            3. การหันเหความสนใจต่อสถานการณ์ (Attentional Deployment) เป็นการปรับความสนใจต่อสถานการณ์ โดยการไม่ใส่ต่อสถานการณ์ที่อาจรบกวนต่ออารมณ์ของตนเองมากเกินไป ซึ่งการครุ่นคิดหรือมีความรู้สึกจดจ่อกับสถานการณ์ซ้ำ ๆ หรือกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป ทำให้ใช้เวลานานและเกิดความรุนแรงของอารมณ์ต่อสถานการณ์นั้นมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดอารมณ์ทางลบที่ไม่เหมาะสมได้ ทั้งนี้การเปลี่ยนความสนใจไปที่ด้านอื่นของสถานการณ์หรือการเปลี่ยนความสนใจไปจากสิ่งเร้าที่ส่งผลต่อการเกิดอารมณ์ อาจส่งผลให้บุคคลเกิดอารมณ์ทางลบลดลง
            4. การปรับเปลี่ยนความคิด (Cognitive Change) เป็นการปรับเปลี่ยนความคิดต่อสถานการณ์ที่บุคคลกำลังเผชิญอยู่ โดยการประเมินสถานการณ์และความสามารถของตนเองในการกำกับอารมณ์ของตนเองที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งการตรวจสอบหรือประเมินอารมณ์ใหม่ (Reappraisal) เป็นการพิจารณาแนวทางเพื่อความเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากอารมณ์ที่รุนแรง
            5. การตอบสนองทางอารมณ์ (Response Modulation) เป็นการตอบสนองทางอารมณ์ที่มีการแสดงออกผ่านทางร่างกายและการแสดงพฤติกรรม ซึ่งถือเป็นกระบวนการสุดท้ายกระบวนการกำกับอารมณ์ ทั้งนี้ในการตอบสนองทางอารมณ์ บุคคลอาจมีการเลือกตอบสนองโดยการจำกัดหรือป้องกันการเกิดอารมณ์ (Suppression) ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยการสะกดกลั้นอารมณ์ไว้และอาจส่งผลกระทบต่อตนเองในระยะยาวได้
            จากกระบวนการการกำกับอารมณ์ดังกล่าว เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดอารมณ์ประเภทต่าง ๆ ซึ่งบุคคลอาจมีกลยุทธ์การกำกับอารมณ์ที่ทำไปโดยรู้ตัว (Explicit Strategy) โดยต้องอาศัยการตระหนักรู้ และเข้าใจอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเอง แต่ในขณะเดียวกันบุคคลอาจมีกลยุทธ์การกำกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว (Implicit Strategy) ได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามกระบวนการกำกับอารมณ์จึงถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่มักเกิดขึ้นกับบุคคลต่าง ๆ อยู่เสมอ ดังนั้นการกำกับอารมณ์จึงมีความสำคัญและส่งผลต่อการการดำเนินชีวิตของบุคคลในหลากหลายด้าน เช่น ด้านสุขภาพจิต การกำกับอารมณ์ที่เหมาะสมจะช่วยให้บุคคลมีสุขภาพจิตที่ดี โดยบุคคลที่มีการใช้กลยุทธ์ในการตรวจสอบหรือประเมินอารมณ์ใหม่ (Reappraisal) จะส่งผลต่อการเกิดสุขภาพจิตที่ดี ในทางตรงกันข้ามบุคคลที่มีการใช้กลยุทธ์การตอบสนองทางอารมณ์แบบหลีกเลี่ยง (Suppression) จะส่งผลต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ เช่น ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล (Kraiss, & et al., 2020) ในด้านสังคมการมีมนุษยสัมพันธ์ บุคคลที่มีความสามารถในการแสดงอารมณ์ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสร้างสัมพันธภาพและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้อย่างยาวนาน (Ratnam, Alias, & Toran, 2018) และด้านพฤติกรรม บุคคลที่มีความสามารถในการกำกับอารมณ์ต่ำ จะนำไปสู่ปัญหาด้านพฤติกรรมที่ก้าวร้าว (Roberton, Bucks, & Daffern, 2012) นอกจากนี้การกำกับอารมณ์ยังมีความสัมพันธ์กับการฟื้นฟูทางใจ (Mestre, & et al. 2017) และสุขภาวะทางใจ (Katana, & et al. 2019)
 
ความสัมพันธ์ของการกำกับอารมณ์และความพึงพอใจในชีวิต
จากความสำคัญของการกำกับอารมณ์ที่กล่าวในข้างต้น แสดงให้เห็นว่า กลยุทธ์ของการกำกับอารมณ์มีความสัมพันธ์ทั้งในเชิงบวกและลบต่อตัวแปรจิตวิทยาในหลายด้าน ทั้งนี้การเกิดความสัมพันธ์ดังกล่าวหากบุคคลสามารถพัฒนาการกำกับอารมณ์ไปในทางที่เหมาะสมเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดในชีวิตก็อาจนำไปสู่ความพึงพอใจในชีวิตได้ โดยจากการศึกษางานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าการกำกับอารมณ์มีความสัมพันธ์ต่อความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งงานวิจัยของ Kornienko และ Rudnova (2023) ที่ทำการศึกษากับกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 – 73 ปี ซึ่งต้องเผชิญกับความเครียดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พบว่า กลยุทธ์การกำกับอารมณ์ที่แตกต่างกันส่งผลต่อสุขภาวะ (Well-being) ในลักษณะที่แตกต่างกัน โดยกลยุทธ์ในการตรวจสอบหรือประเมินอารมณ์ใหม่ (Reappraisal) จะในการช่วยลดอารมณ์ทางลบ แต่กลยุทธ์การตอบสนองทางอารมณ์แบบหลีกเลี่ยง (Suppression) จะส่งผลให้เกิดความพึงพอใจในชีวิตลดลงซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ Yiğit, Özpolat, และ Kandemir (2014) ที่ได้ศึกษากลยุทธ์ของการกำกับอารมณ์ที่ใช้ในการทำนายความพึงพอใจในชีวิตของนักศึกษาระดับปริญญาตรี พบว่า กลยุทธ์การกำกับอารมณ์ในลักษณะของการตรวจสอบหรือประเมินอารมณ์ใหม่ (Reappraisal) เป็นตัวทำนายความพึงพอใจในชีวิต และงานวิจัย  Esmaeilinasab, Khoshk, และ Makhmali (2016) แสดงให้เห็นว่าเพศชายและเพศหญิงที่มีการใช้กลยุทธ์การกำกับอารมณ์ที่แตกต่างกัน โดยในเพศหญิงที่มีการใช้กลยุทธ์แบบการหมกมุ่นกับประเด็นปัญหาจะเป็นตัวทำนายความพึงพอใจในชีวิตทางลบ และการใช้กลยุทธ์การปรับมุมมองความคิดทางบวกและการทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวทำนายความพึงพอใจในชีวิตทางบวก ในขณะที่เพศชายการใช้กลยุทธ์การปรับมุมมองความคิดทางบวก และการปรับเปลี่ยนความสนใจไปยังสถานการณ์อื่นจะเป็นตัวทำนายความพึงพอใจในชีวิตทางบวก จากความสัมพันธ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การกำกับอารมณ์มีความสัมพันธ์และเป็นตัวทำนายทางบวกต่อการเกิดความพึงพอใจในชีวิต โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์ที่เอื้อให้เกิดประโยชน์ ได้แก่ การปรับมุมมองความคิดทางบวก (Positive Reappraisal) การมุ่งสนใจประเด็นทางบวก (Positive refocusing) การปรับเปลี่ยนความสนใจไปยังสถานการณ์อื่น (Refocus on planning) การยอมรับ (Acceptance) และการทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (Putting into perspective)
 
บทสรุป
จากบทความข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการกำกับอารมณ์มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในชีวิตและตัวแปรจิตวิทยาทางบวกหลายด้าน โดยการส่งเสริมให้บุคคลมีการใช้กลยุทธ์การกำกับอารมณ์ในแบบของการตรวจสอบหรือประเมินอารมณ์ใหม่ (Reappraisal) และการใช้กลยุทธ์การกำกับอารมณ์ที่เอื้อให้เกิดประโยชน์ ได้แก่ การปรับมุมมองความคิดทางบวก การมุ่งสนใจประเด็นทางบวก การปรับเปลี่ยนความสนใจไปยังสถานการณ์อื่น การยอมรับ และการทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะช่วยทำให้บุคคลเกิดความพึงพอใจในชีวิตและส่งผลต่อตัวแปรจิตวิทยาทางบวกในด้านอื่น ๆ ต่อไปได้
 
รายการอ้างอิง
Birgins, C. C., & Birgins, D. A. (2012). Child and Adolescent Development in Your Classroom. USA: Wadsworth, Cengage Learning.
Davis, E. L., & Levine, L. J. (2013). Emotion Regulation Strategies that Promote Learning: Reappraisal Enhances Children’s Memory for Educational Information. Children Development, 84(1), 361-374.
Esmaeilinasab, M., Khoshk, A. A., & Makhmali, A. (2016). Emotion Regulation and Life Satisfaction in University Students: Gender Differences. 798-809.
Doi: 10.15405/epsbs.2016.11.82.
Gamefski, N., Kraaij, V., & Spinhoven, P. (2001). Negative Life Events, Cognitive Emotion Regulation and Emotional Problems. Personality and Individual Differences, 30, 1311-1327.
Gross, J. J. (Ed.). (2007). Handbook of emotion regulation. The Guilford Press.
Katana, M., Röcke, C., Spain, S. M., & Allemand, M. (2019). Emotion Regulation, Subjective Well-Being, and Perceived Stress in Daily Life of Geriatric Nurses. Frontiers in psychology, 10, 1097. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2019.01097
Kornienko, D. S., & Rudnova, N. A. (2023). Exploring the Associations between Happiness, Life-satisfaction, Anxiety, and Emotion Regulation among Adult during the Early Stage of the COCID-19 Pandemic in Russia. Psychology in Russia: state of the art, 16(1), 99–113. https://doi.org/10.11621/pir.2023.0106
Kraiss, J. T., Ten Klooster, P. M., Moskowitz, J. T., & Bohlmeijer, E. T. (2020). The relationship between emotion regulation and well-being in patients with mental disorders: A meta-analysis. Comprehensive psychiatry, 102, 152189.
https://doi.org/10.1016/j.comppsych.2020.152189
Mestre, J. M., Núñez-Lozano, J. M., Gómez-Molinero, R., Zayas, A., & Guil, R. (2017). Emotion Regulation Ability and Resilience in a Sample of Adolescents from a Suburban Area. Frontiers in psychology, 8, 1980. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2017.01980
Ratnam, K., Alias, A., Toran, H. (2018). Pengetahuan dan Amalan Aktiviti Perbualan Pagi oleh
Guru Prasekolah Pendidikan Khas Bermasalah Pembelajaran (PPKBP). Jurnal Pendidikan Malaysia SI 1(1)(2018) 59-66.
Roberton, T., Daffern, M. and Bucks, R.S. (2012) Emotion Regulation and Aggression. Aggression and Violent Behavior, 17, 72-82.
         https://doi.org/10.1016/j.avb.2011.09.006
Thompson, R. A. (1994). Emotion regulation: A theme in search of definition. Monographs of the Society for Research in Child Development, 59(2-3), 25–52, 250 283. 
https://doi.org/10.2307/1166137
Yiğit, A., Özpolat, A. R., & Kandemir, M. (2014). Emotion Regulation Strategies as a Predictor of Life Satisfaction in University Students. Psychology, 5(6), 523 – 532.