กว่าจะเป็นกราฟิกเคลื่อนไหว [สุ ธ า ทิ พ ย์ ห อ ม สุ ว ร ร ณ]

           การสร้างภาพเคลื่อนไหวเป็นศาสตร์แห่งศิลปะที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณ ดังจะเห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่มีการค้นพบภาพจิตรกรรมบนผนังถ้ำในยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นภาพการเคลื่อนไหวของสัตว์ การสร้างภาพเคลื่อนไหวมีพัฒนาการมาอย่างยาวนานทั้งเทคนิคและวิธีการสร้างสรรค์ที่หลากหลาย มีการประดิษฐ์เครื่องสร้างภาพเคลื่อนไหวที่โดดเด่น ได้แก่ เครื่องโซอีโทรป (Zoetrope) และหนังสือพลิกหรือสมุดกรีด (Flipbook) ซึ่งถือได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจให้นักออกแบบรุ่นหลังในการสร้างภาพเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมาก จุดเปลี่ยนที่สำคัญของการสร้างภาพเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเมื่อมีการคิดค้นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการสร้างผลงานภาพเคลื่อนไหวเรียกว่าซีจีไอ (CGI: Computer Generated Imagery) ช่วยให้ลดระยะเวลาและลดต้นทุนในการผลิต ทำให้การทำงานได้อย่างง่ายขึ้น 

           ในปัจจุบัน “กราฟิกเคลื่อนไหว” หรืออาจเรียกทับศัพท์ว่า “โมชั่นกราฟิก (Motion)” มีบทบาทอย่างมากต่อหลากหลายวงการ อาทิเช่น การสื่อสาร การโฆษณา การศึกษา ฯลฯ กราฟิกเคลื่อนไหวถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อการสื่อสารข้อมูล ทำให้การนำเสนอข้อมูลดูน่าสนใจและดึงดูด เนื่องจากสามารถสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ได้ดี นอกจากการสื่อสารข้อมูลแล้วยังสามารถสร้างการตระหนักรู้ได้โดยสอดแทรกความเพลิดเพลินและความบันเทิงด้วยภาพและเสียง ทำให้เนื้อหาที่ดูน่าเบื่อดูน่าสนใจขึ้น ในการออกแบบเคลื่อนไหวนั้นมีลำดับขั้นตอนในการทำงาน ตั้งแต่ขั้นการเตรียมงาน ขั้นการลงมือทำงานและขั้นตรวจสอบงานก่อนการนำเสนอ ซึ่งการออกแบบกราฟิกเคลื่อนไหวนั้นมีเทคนิคและวัตถุประสงค์ในการสร้างผลงานที่แตกต่างกัน มีขนาดความยางของเนื้อหาไม่เท่ากัน แม้ว่าผลงานจะมีความต่างกันแต่จะมีกระบวนการการทำงานเป็นลำดับแบบเดียวกันหรือคล้ายกันทั้งหมด กระบวนการดังกล่าวนี้มีขั้นตอนเป็นลำดับดังต่อไปนี้

          1. ขั้นเตรียมงานก่อนการผลิต (Pre-Production)
          2. ขั้นการผลิต (Production)
          3. ขั้นหลังการผลิต (Post-Production)

1. ขั้นเตรียมงานก่อนการผลิต (Pre-Production)

           ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นวางแผนก่อนการผลิตผลงาน รวมถึงการบริหารจัดการโครงการด้วย เนื่องจากการสร้างผลงานออกแบบกราฟิกเคลื่อนไหวนั้น ต้องอาศัยผู้คนหลายฝ่ายในการทำงานร่วมกัน การวางแผนงานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันและลดการผิดพลาดในการทำงาน ในขั้นเตรียมงานก่อนการผลิตนั้นประกอบไปด้วยขั้นตอน ดังนี้

                1.1 ขั้นการวางแผนเนื้อเรื่อง (Story Planning) เนื้อเรื่องเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะเป็นตัวกำหนดความน่าสนใจของผลงาน เนื้อเรื่องอาจมีที่มาจากวรรณกรรม หนังสือ หรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ โดยในขั้นตอนนี้มีขั้นตอนย่อยๆ ดังนี้

                    1) ขั้นการกำหนดแนวคิด (Idea) เป็นการกำหนดแนวทางเริ่มต้นว่าต้องการให้ภาพรวมของผลงานเป็นแบบไหน เช่น ตลกขบขัน ซาบซึ้งประทับใจ สื่อสารข้อมูล ซึ่งอาจกำหนดแนวคิดได้จากผลงานสื่ออื่นๆ เช่น วรรณกรรม เรื่องเล่า ตำนาน นิทาน ความเชื่อในสังคมวัฒนธรรม

                   2)ขั้นการกำหนดเรื่องย่อ (Treatment) เป็นการกำหนดการดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เป็นการกำหนดแนวทางของเรื่องโดยรวม

                   3)ขั้นการเขียนบท (Script) เป็นการกำหนดรายละเอียดทั้งหมดของเรื่อง ทั้งบทพูด บทบรรยาย รวมถึงรายละเอียดทั้งหมดของเรื่อง (วิสิฐ จันมา, 2558, น.41-42)

          เนื้อเรื่องที่ดีควรจะให้ความบันเทิง ดูแล้วสนุกและชวนให้คิด สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมทำให้ผลงานเป็นที่น่าจดจำ และเนื้อเรื่องควรเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายเหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมที่กำหนดไว้

          1.2 ขั้นการออกแบบตัวละคร (Charactor Design) เป็นขั้นตอนในการกำหนดบุคลิกลักษณะของตัวละคร โดยเริ่มจากการเขียนรายละเอียดต่างๆ ของตัวละคร ทั้งทางด้านกายภาพ (Demographic) อันได้แก่ลักษณะภายนอกเช่น ชื่อ อายุ เพศ รูปร่าง สีผิว สีผม หน้าตา เป็นต้น และลักษณะทางด้านจินตภาพ (Psychographic) อันได้แก่ ความชอบ ความเชื่อง ลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ ส่วนเด่นส่วนด้อย เอกลักษณ์เฉพาะของตัวละครนั้นๆ ขั้นต่อมาคือการวาดภาพตัวละครเพื่อถ่ายทอดลักษณะที่กำหนดขึ้นมาเป็นรูปธรรมขึ้น การออกแบบตัวละครที่ดีนั้นจะช่วยให้ภาพเคลื่อนไหวเกิดความดึงดูดน่าสนใจขึ้น 

           1.3 ขั้นการออกแบบบทภาพ (Storyboard Design) บทภาพถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากเรียกว่าเป็นแผนผังทั้งหมดในการทำงาน บทภาพคือการปรับเปลี่ยนจากบทที่เป็นตัวอักษรมาเป็นภาพที่มีรายละเอียดของมุมภาพต่างๆ บ่งบอกถึงการดำเนินเรื่อง การแสดงของตัวละคร เสียง และรายละเอียดอื่นๆ  (วิสิฐ จันมา, 2558, น.43) บทภาพจะเป็นตัวกำหนดให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ตรงกัน ยิ่งมีความละเอียดและชัดเจนก็จะทำให้ง่ายต่อการผลิต บทภาพที่ดีนั้นควรบอกได้ชัดเจนว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร กับใคร รวมถึงอารมณ์ที่บอกผ่ามุมกล้องต่างๆ มุมกล้องที่แตกต่างกันจะให้ความรู้สึกและอารมณ์ที่ต่างกัน เป็นเรื่องที่สำคัญที่บทภาพจะแสดงให้เห็นทิศทาง การเคลื่อนที่ของมุมกล้อง รายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในฉากนั้นๆ

           1.4 ขั้นการบันทึกเสียง (Voice Recording) เป็นขั้นตอนการบันทึกเสียงทุกอย่างที่ปรากฏในผลงาน ได้แก่ เสียงพูด เสียงบรรยาย เสียงประกอบต่างๆ จากนั้นอาจทำการตกแต่งหรือตัดต่อเสียงด้วยโปรแกรมตกแต่งไฟล์เสียง เช่น การปรับแต่งเสียงให้คมชัด ปรับแต่งโทนเสียงให้เหมาะสมกับตัวละคร เสียงทั้งหมดจะถูกกำหนดไว้อย่างสมบูรณ์ก่อนการทำงานภาพ (ธรรมปพน   ลีอำนวยโชค, 2550, น.36) สิ่งที่จำเป็นในการบันทึกเสียงคือการกำหนดลักษณะ บุคลิกภาพของตัวละคร และการบันทึกเสียงจะเป็นตัวกำหนดระยะเวลาและจำนวนเฟรมในการทำงาน 

           1.5 ขั้นการทดสอบเสียงและบทภาพ (Story Reel) ขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นสุดท้ายของการเตรียมงานก่อนการผลิต จะเป็นการนำเอาภาพจากบทภาพมาตัดต่อกับเสียงพูด เสียงประกอบ เสียงดนตรีบรรเลงในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อดูความเหมาะสมของของเวลา การเล่าเรื่อง มุมภาพ เพื่อเป็นต้นแบบให้นักออกแบบภาพเคลื่อนไหวนำไปผลิตผลงานต่อไป

2. ขั้นการผลิต (Production)

           หลังการเตรียมทุกอย่างในขั้นเตรียมงานก่อนการผลิต (Pre-Production) ครบถ้วนแล้วขั้นต่อมาคือขั้นตอนการผลิตผลงานออกแบบกราฟิกเคลื่อนไหว การกำหนดเวลาในแต่ละฉากและช่วงเวลาในเรื่อง การจัดองค์ประกอบ การกำหนดมุมมองของภาพและฉากทั้งหมดในเรื่อง นำมาสร้างการเคลื่อนไหวตามบทภาพ หลังจากนั้นจะเป็นการเก็บรายละเอียดต่างๆ เช่น การปรับแต่งเวลาให้เหมาะสม การแสดงอารมณ์หรือการขยับปากของตัวละคร หรืออาจการปรับแต่งแสงเงาให้ดูมีบรรยากาศและมีมิติมากขึ้น 

           ในขั้นนี้เมื่อทำกราฟิกเคลื่อนไหวเสร็จสมบูรณ์แล้วจะมาถึงขั้นตอนในการบันทึกไฟล์เพื่อนำเสนอ (Rendering) ซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะทำการคำนวณและแสดงผลออกมาเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวตามการตั้งค่าต่างๆ โดยในการเรนเดอร์ (Render) ควรคำนึงถึงปัจจัยดังที่ ธรรมปพน ลีอำนวยโชค (2550, น. 44-45) กล่าวไว้ สรุปได้ดังนี้

                 1) คุณภาพของภาพ (Quality) คือการตั้งค่าความคมชัด (Anti-Alias) หรือความเบลอของวัตถุเมื่อเคลื่อนที่ (Motion Blur)
                 2) การบีบอัดไฟล์ (Optimization) คือการกำหนดขนาดของไฟล์ให้เหมาะสมตามวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่นการบีบอัดไฟล์ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อเหมาะสมกับงานที่ในเสนอในเว็บไซต์
                 3) ความละเอียดของภาพ (Resolution) คือการกำหนดความละเอียดของภาพและวิดีโอ โดยกำหนดความกว้างและความยาวที่แสดงผลบนหน้าจอ โดยมีหน่วยเป็น .ppi (Pixel per Inch) หรือ .ppc (Pixel per Centimater)
                 4) สกุลของไฟล์ (Image Format) คือการกำหนดสกุลของไฟล์ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การนำไปใช้งาน ซึ่งชนิดของไฟล์จะแสดงโดยสกุลของไฟล์ โดยทั่วไปมีดังนี้

                 – ชนิดของไฟล์รูป ได้แก่ ไฟล์สกุล GIF (Graphic Interchange Formula) นิยมใช้งานในเว็บไซต์ เนื่องจากมีขนาดเล็ก ทำให้ใช้เวลาในการดาวน์โหลดน้อย แต่คุณภาพของภาพจะไม่ละเอียดนัก ไฟล์สกุล JPEG (Joint Photographic Expert Group) เป็นไฟล์ที่มีขนาดเล็กแต่ยังมีความละเอียดของภาพที่สูง และไฟล์สกุล TIFF (Tagged Image File Format) เป็นไฟล์ที่มีคุณภาพของภาพมีความละเอียดสูง แต่ไฟล์ก็มีขนาดที่ใหญ่ตามไปด้วย

                 – ชนิดของไฟล์ภาพยนตร์ ได้แก่ ไฟล์สกุล MOV เป็นไฟล์ภาพยนตร์ของ Quick Time Player ไฟล์สกุล AVI เป็นไฟล์ที่ใช้ในโปรแกรม Window Media Player และไฟล์สกุล MPEG (Moving Picture Expert Group) เป็นไฟล์ภาพยนตร์ที่มีความละเอียดพอใช้ และมีขนาดไฟล์ที่เล็ก เหมาะกับการใช้งานในสื่อออนไลน์

3. ขั้นหลังการผลิต (Post Production)

            ขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการหลังการผลิต เป็นการเก็บรายละเอียดของผลงานให้สมบูรณ์ เช่น 

                 1)การปรับแต่งบรรยากาศในภาพ (Envelopmental Animation) เช่นการใส่หมอกควัฯ ฝุ่น ฝน การปรับแต่งค่าแสงเงาและสี เป็นต้น

                 2)การใส่เทคนิคพิเศษ (Visual Effect Animation) เช่นการใส่ประกายไฟ แสงพิเศษ ตัวอักษร

                 3)การรวมภาพทั้งหมด (Composite) การตัดต่อและการนำภาพต่างๆ ที่ผ่านการสร้างการเคลื่อนไหว การใส่บรรยากาศ การใส่เทคนิคพิเศษอื่นๆ แล้วมาประกอบเป็นผลงานที่สมบูรณ์ในขั้นสุดท้าย แล้วใส่ตัวอักษรชื่อเรื่อง ไตเติล และเครดิตตอนท้ายเรื่อง

                 4) นำเสนอผลงาน (Presentation) คือการทำประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผลงานกราฟิกเคลื่อนไหวที่เสร็จสมบูรณ์แล้วเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ

             การสร้างกราฟิกเคลื่อนไหวนั้นไม่ได้ถูกสร้างเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว ในปัจจุบันกราฟิกเคลื่อนไหวมีบทบาทอย่างมากต่องานสื่อหลากหลายด้าน เนื่องจากสามารถส่ือเรื่องราวต่างๆ และทําให้เน้ือหาน้ันมีความเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น กระบวนการในการออกแบบกราฟิกเคลื่อนไหวของแต่ละองค์กรหรือสตูดิโอนั้นมีกระบวนการหลักๆ ไม่แตกต่างกันนัก อาจมีการยืดหยุ่นสลับขั้นตอนในบางขั้นตอน เนื่องจากในปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีความก้าวหน้าอย่างมาก เทคโนโลยีและอุปกรณ์บางตัวช่วยอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนบางขั้นในการออกแบบ แต่หัวใจสำคัญของงานออกแบบกราฟิกเคลื่อนไหวคือความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และทักษะทางด้านศิลปะ รวมไปถึงศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องที่สะท้อนความคิดอารมณ์ และสื่อสารข้อมูลที่มีคุณค่าไปสู่ผู้รับชม

 

เอกสารอ้างอิง

หนังสือและบทความในหนังสือ

ธรรมปพน ลีอำนวยโชค. (2550). Intro to animation. กรุงเทพฯ: ฐานบุ๊ค.

วิสิฐ จันมา. (2558). ประวัติศาสตร์และพื้นฐานการออกแบบภาพเคลื่อนไหว. กรุงเทพฯ: วี.พริ้นท์.

Reference

Other document(s)

Chan, C. (n.d.). Text Animation. Retrieved Fabuary 19, 2021, from https://www.pinterest.com/pin/511440101439157127/

Dadds, K. (2013). It’s Monster Spice: Geri Halliwell signs up to voice new Disney character for cartoon show Henry Hugglemonster. Retrieved Fabuary 19, 2021, from http://www.dailymail.co.uk/tvshowbiz/article-2266018/Geri-Halliwell-signs-voice-new-Disney-character-cartoon-Henry-Hugglemonster.html

Rainboopz. (n.d.). Sohrab’s REbirth. Retrieved Fabuary 19, 2021, from https://rainboopz.wixsite.com/arts/character-design

Skylar Kyu. (2019). The Balance: With Animator & Graphic Artist Bec White. Retrieved February 6, 2017, from http://cultureeater.com.au/balance-bec-white/