Teh Tarik หรือชาชัก เครื่องดื่มประจำชาติของมาเลเซีย

“Teh Tarik” หรือ “เตห์ ตาเระ” เป็นสำเนียงเสียงถิ่นมลายู เกิดขึ้นจากคำ 2 คำ ในสองภาษา คือ คำว่า teh ออกเสียงว่า “เต๊ะ” ซึ่งแปลว่า “ชา” มาจากคำภาษาฮกเกี้ยน 茶; tê และ Tarik ออกเสียงว่า “ตาเระ หรือตาริก” แปลว่า “ดึง หรือชัก” มาจากภาษามลายู ซึ่งในภาษาไทย Teh Tarik ก็คือ “ชาชัก” ที่เรารู้จักกัน ส่วนในภาษาอังกฤษ เรียกว่า “pulled tea”

“Teh Tarik” หรือชาชัก เป็นเครื่องดื่มชานมร้อนที่เป็นที่นิยมและพบเห็นได้โดยทั่วไปในร้านอาหาร แผงลอยกลางแจ้ง สถานที่ขายอาหารในร่มและเปิดโล่ง หรือ Mamaks และร้านกาแฟ หรือ Kopitiams ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ทำจากชาดำเข้มข้นผสมกับนมข้นจืด (นมระเหย) จัดเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของมาเลเซีย นิยมรับประทานคู่กับโรตีกรอบ โดยชื่อ “ชาชัก” นี้ ได้มาจากกระบวนการชงที่มีขั้นตอนการเทชาจากภาชนะหนึ่งไปยังอีกภาชนะหนึ่งกลับไปกลับมาจนเกิดฟอง (หรือ “ดึง”) โดยกางแขนออกในระหว่างการชง ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้ชาเย็นลงเพื่อให้ได้อุณหภูมิที่เหมาะสมในการดื่มและทำให้ชาดำเข้มข้นผสมกับนมข้นอย่างทั่วถึง กระบวนการชงชาวิธีนี้ได้กลายเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของชาวมาเลเซียที่ต้องอาศัยความชำนาญของผู้ปรุง

ต้นกำเนิดของ Teh Tarik

ต้นกำเนิดของ Teh Tarik คาดว่าเกิดจากชายในหมู่ผู้อพยพชาวมุสลิมที่มีเชื้อสายสายอินเดียในคาบสมุทรมลายู ที่ตั้งแผงขายเครื่องดื่มที่ทางเข้าสวนยางหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้บริการคนงานที่นั่น ชายผู้นี้มีการใส่ลีลาลงไปในการขาย โดยชักชาขึ้นลงในแก้วชาจนกลายเป็นที่โด่งดัง ซึ่งนี่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย และชาชักก็ได้ขึ้นเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของมาเลเซียในที่สุด แต่หลักฐานไม่ปรากฏ แน่ชัดว่าประเทศใดเป็นต้นฉบับและเรื่องราวก่อนหน้าได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ในปัจจุบันพบว่ามีร้านชาชักตั้งอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และแพร่กระจายเข้ามายังภาคใต้ของประเทศไทย โดย Teh Tarik มักจะเสิร์ฟพร้อมกับ Roti Canai ซึ่งเป็นชุดอาหารเช้ายอดนิยมในหมู่ชาวมาเลเซีย และเสิร์ฟคู่กับ Roti Prata ในหมู่ชาวสิงคโปร์

เอกลักษณ์ของการชง Teh Tarik

ความโดดเด่นของ Teh Tarik อยู่ที่รสชาติที่กลมกล่อม หอมหวาน และเนื้อสัมผัสที่เข้มข้น ซึ่งเกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างชาดำกับนมข้นและนมสดหรือนมแพะ ชงกับน้ำร้อน ประกอบกับลีลาท่าทางการชงชาอันแปลกตาและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยวิธีการชงชาชัก อาศัยอุปกรณ์เพียงกระบอกชงชา 2 กระบอก และสองแขนที่แข็งขัน สลับรับ-ส่งส่วนผสมในกระบอกชงให้ตรงจังหวะตามแรงโน้มถ่วงของพื้น โลกด้วยท่วงท่าที่ชวนมอง เพื่อทำให้ชาเกิดฟองและมีความยืดเหนียวเป็นสายยาวเสมือนเป็นการเติมอากาศ ทำให้ส่วนผสมเข้ากันดี มีความละมุนของฟองนมและมีสีสันสวยงาม ซึ่งความสามารถในการลากน้ำชาเป็นสายยาวเหนือศีรษะโดยไม่หกรดตัว ถือเป็นการแสดงสดที่สร้างความสนใจให้กับคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวเป็น อย่างมาก ดังนั้น โอกาสที่ผู้ชงชาชักจะมารวมตัวกันเพื่อแข่งขันและทำการแสดงเพื่อแสดงทักษะของพวกเขาจึงพบเห็นได้บ่อย ๆ ในประเทศมาเลเซีย ปัจจุบัน Teh tarik ได้รับการยอมรับพร้อมกับนาซีเลอมัก (Nasi Lemak) ในฐานะส่วนหนึ่งของมรดกอาหารและเครื่องดื่มของประเทศมาเลเซียโดยรัฐบาลมาเลเซีย

รูปแบบต่าง ๆ ของ Teh tarik

1. Teh ais คือ ชาชักใส่นมข้นหวานที่เสิร์ฟในแก้วที่ใส่น้ำแข็ง อาจจะเรียกว่า Tarik ping หรือ Teh Tarik ais กับ Tarik treatment
2. Teh tarik madu คือ ชาชักผสมกับน้ำผึ้ง ซึ่งมักจะเสิร์ฟแบบเย็น
3. Teh halia คือ ชาชักที่มีการปรุงรสด้วยขิง
4. Teh madras เป็นรูปแบบชาที่ได้รับความนิยมในเกาะลาบวน รัฐซาบา ประเทศมาเลเซีย ทำจากชาที่มีฟองนมวางด้านบนและเติมนมร้อน
5. Teh-C คือ ชาชักที่ชงกับนมข้นจืดหรือนมระเหย ซึ่งแตกต่างจากชาชักแบบดั้งเดิมที่ใส่นมข้นหวาน อย่างไรก็ตาม ผู้ขายจะเติมน้ำตาลลงใน Teh-C เว้นแต่จะมีการร้องขอเป็นการเฉพาะ คำภาษามลายูสำหรับบอกว่า “ไม่เติมน้ำตาล” คือ kosong ใช้เพื่อระบุว่าผู้ดื่มไม่ต้องการให้เครื่องดื่มของพวกเขามีรสหวาน ‘C’ ย่อมาจาก “Carnation” นมข้นหวานยี่ห้อยอดนิยม ชาสามชั้น ที่เรียกว่า Teh-C Peng Special มีจำหน่ายโดยทั่วไปและจำหน่ายในโกปี่เตี่ยมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยชาดำ นม และน้ำเชื่อมน้ำตาลโตนดจากชั้นบนลงล่างตามลำดับ Teh-C ais เป็นเวอร์ชั่นของชาชนิดนี้แบบเย็นที่มีการเติมน้ำแข็งเป็นก้อน
6. Teh-O คือ ชาดำที่ไม่มีการเติมผลิตภัณฑ์นมหรือครีมเทียมใด ๆ เลย ดังนั้น ‘O’ จึงหมายถึง “ดั้งเดิม” เช่นเดียวกับ Teh-C น้ำตาลมักจะถูกเติม ยกเว้นเมื่อมีการระบุ Teh-O kosong ซึ่งจะละเว้นน้ำตาลอีกครั้ง
7. Teh O ais คือ ชาดำที่มีการเติมน้ำแข็งเป็นก้อน
8. Kopi tarik เป็นกาแฟท้องถิ่นคั่วเข้มกับมาการีนและน้ำตาล ซึ่งหวานด้วยนมข้นและชักให้เกิดฟอง หรือ ทำจากไมโลและเนสกาแฟ อาจเสิร์ฟพร้อม Tarik treatment

เอกสารอ้างอิง

  1. อดิศา เบญจรัตนานนท์. (2553). ชาชัก: หนึ่งเอกลักษณ์แห่งปัตตานี. วารสารรูสมิแล. 31(3) (ก.ย.-ธ.ค.), 73-75. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์2565, จาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/article/view/63198.
  2. Bonny Tan. (2013). Teh tarik. Singapore: National Library Board. Retrieved 19 February 2023, from https://eresources.nlb.gov.sg/infopedia/articles/SIP_2013-07-19_103055.html
  3. Matt Stirn. (2022). Teh tarik: Malaysia’s frothy ‘national drink’. Retrieved 19 February 2023, from https://www.bbc.com/travel/article/20220104-teh-tarik-malaysias-frothy-national-drink.
  4. Wikipedia. (2023). Teh tarik. Retrieved 19 February 2023, from https://en.wikipedia.org/wiki/Teh_tarik.