แนวทางการปรับตัวสู่โลกธุรกิจยุค New Normal ของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อมุ่งสร้างธุรกิจใหม่

บทคัดย่อ

            บทความวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงแนวทางการปรับตัวสู่โลกธุรกิจยุค New Normal ของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อมุ่งสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 1) การเป็นผู้ประกอบการแบบ Modern Entrepreneur 2) การเป็นผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำด้านการสร้างนวัตกรรม 3) การเป็นผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำด้านวิสัยทัศน์ขององค์กร และ 4) การเป็นผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำด้านการสนับสนุนและส่งเสริมทักษะความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับบุคลากรขององค์การ เพื่อสามารถนำประโยชน์จากการศึกษาครั้งนี้ เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับภาคธุรกิจที่จะสามารถนำแนวทางปฏิบัติหรือการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การปรับตัวเพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันทางธุรกิจ และตระหนักถึงความอยู่รอดขององค์กรต่อไปในอนาคต

 

คำสำคัญ: ธุรกิจ , ผู้ประกอบการ , ยุค New Normal

 

Abstract

            This study aims to study the ways of Guidelines for Adapting to the Business World in the New Normal Era of Entrepreneurship to focus on creating new business. This consists of 1) Modern Entrepreneur 2) Entrepreneurship who is the leader to be create the innovation 3) Entrepreneurship who is the visionary leader of the organization and 4) Entrepreneurship who is the leader in supporting and promoting innovation skills for the organization’s personnel. To be able to benefit from this study It is the basis for the business sector to be able to apply the guidelines or prepare them to adapt to create a competitive advantage and realize the survival of the organization in the future.

 

Keywords: business , entrepreneur , New Normal

 

บทนำ

            ปัจจุบันแนวโน้มด้านธุรกิจเกิดการชะลอตัวเมื่อต้องประสบกับสภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยรูปแบบการใช้ชีวิตเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า “ความปกติใหม่” หรือ “New Normal” ซึ่งการใช้ชีวิตแบบ “New Normal” นั้นคือ ทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน รวมทั้งการติดต่อในสถานที่ต่าง ๆ ต้องมีการคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าและคอยทำความสะอาดฆ่าเชื้อตลอดเวลา รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าว (กรมสุขภาพจิต, 2563) 

            คำว่า ผู้ประกอบการ นั้น หมายถึง ผู้ที่คิดริเริ่มดำเนินธุรกิจขึ้นมาเป็นของตนเอง ซึ่งมีการวางแผนการดำเนินงาน และพร้อมที่จะยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพื่อมุ่งหวังผลกำไรที่เกิดจากผลการดำเนินงานของธุรกิจตนเอง (ศรากุล สุโคตรพรหมมี, 2559) อีกทั้งผู้ประกอบการจะต้องมุ่งหาความต้องการของตลาดเพื่อสนองความต้องการในเชิงเศรษฐศาสตร์ คือ ผู้รวบรวมปัจจัยการผลิต ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน และทุน มาผลิตเป็นสินค้าและบริการ รวมทั้งการบริหารจัดการในการกระบวนการผลิต ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ ก็คือ กำไรหรือขาดทุนนั่นเอง (กัลยารัตน์ ธีระธนชัยกุล, 2562)

            ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องเกิดการปรับตัวและเรียนรู้การนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งนวัตกรรมนี้จะช่วยให้ธุรกิจเกิดความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน (Competitive Advantage) ที่เหนือกว่าคู่แข่งอื่นทางธุรกิจประเภทเดียวกัน (Smith, 2006) จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้นนี้ จึงเป็นที่มาของการศึกษาข้อมูล เพื่อศึกษาถึงแนวทางการปรับตัวสู่โลกธุรกิจยุค New Normal ของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อมุ่งสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งสามารถนำประโยชน์จากการศึกษาครั้งนี้ เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับภาคธุรกิจที่จะสามารถนำแนวทางปฏิบัติหรือการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การปรับตัวเพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันทางธุรกิจ และตระหนักถึงความอยู่รอดขององค์กรต่อไปในอนาคต

 

วิธีการศึกษา

            การศึกษาในครั้งนี้ ใช้วิธีการทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) และนำเสนอในรูปแบบของการพรรณนาเชิงวิเคราะห์ ซึ่งใช้แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ โดยการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ อาทิ งานวิจัย การสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลออนไลน์ เป็นต้น

 

ผลการศึกษา

            การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาจากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถสรุปถึงแนวทางการปรับตัวสู่โลกธุรกิจยุค New Normal ของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อมุ่งสร้างธุรกิจใหม่ โดยผลจากการศึกษา มีดังนี้

            ความหมายของโอกาสทางธุรกิจนั้น หมายถึง แนวคิดใหม่ที่เอื้อให้เกิดสถานการณ์ที่บุคคลสามารถนำแนวคิดนั้นมาประกอบธุรกิจ ซึ่งก่อให้เกิดผลกำไรและสามารถทำให้เกิดผลประโยชน์ได้หลายทาง เช่น การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ การเปิดตลาดใหม่ การพัฒนารูแบบการจัดการองค์กรใหม่ หรือกระบวนการผลิตใหม่ เป็นต้น (สุดารัตน์ พิมลรัตนกานต์, 2560) โดยแหล่งที่มาของโอกาสเพื่อการประกอบการนั้น ประกอบด้วย แหล่งแรก เกิดจากคนเป็นผู้ให้ข้อมูล หรือแนวทางที่เป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ได้ เช่น บุคคลที่รู้จักแนะนำให้เปิดธุรกิจร้านค้าใกล้แหล่งชุมชนที่เพิ่งเปิดใหม่ได้ไม่นาน เป็นต้น และแหล่งที่สอง เป็นโอกาสที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่ก่อให้เกิดโอกาสที่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การพลิกวิกฤตเป็นโอกาส การเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากแนวโน้มที่เกิดขึ้นในสังคมยุคใหม่ เป็นต้น (กัลยารัตน์ ธีระธนชัยกุล, 2562)

            ทั้งนี้ เป้าหมายหลักที่ผู้ประกอบการมุ่งเน้นให้เกิดความสำเร็จทางธุรกิจนั้น คือ การเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบและทิศทางที่จะเป็นไปได้ ซึ่งผู้ประกอบการเองจะต้องมองหาโอกาสทางธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ เช่น โอกาสทางการขยายธุรกิจ การปรับปรุงองค์กร การนำเอานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาปรับใช้แทนรูปแบบเดิม การบริหารความเสี่ยงต่างๆ เป็นต้น ซึ่งแนวทางของการพัฒนาธุรกิจนั้น หมายถึง กระบวนการปรับปรุงองค์กรให้กลับสู่สภาวะใหม่ที่เหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม โดยสามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลง หรือมุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์ที่จะสามารถนำไปพัฒนาองค์กรสู่จุดที่ดีกว่าเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (วรรณนิภา ด่านตระกูล, 2556) รวมทั้ง การวางแผนที่เกิดขึ้นจากการมุ่งเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรขององค์กร และปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (Lee C. Jarvis, 2017)

            นอกจากนี้ ด้านนวัตกรรมกับบทบาทของผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันนั้น จัดว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งผู้ประกอบการไม่เพียงแต่จะเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ผู้ประกอบการนั้น จะต้องมุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเข้าสู่นวัตกรรมใหม่ ซึ่งนวัตกรรมนี้จะช่วยให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  และสนับสนุนให้เกิดการสร้างธุรกิจที่ดี ทั้งนี้ กัลยารัตน์ ธีระธนชัยกุล (2562) ได้เสนอแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการยุคใหม่ โดยจะต้องเกิดการเรียนรู้และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันได้อย่างสุดความสามารถ ซึ่งจะต้องปรับตนเองให้กลายเป็น Modern Entrepreneur ดังนี้

            1) Modern Entrepreneur หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถและมีบุคลิกของศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์ และนักวิทยาศาสตร์ที่มีความคิดอย่างมีหลักการและเหตุผลในตนเองในเวลาเดียวกัน

            2) Part Artist หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์เรื่องราวของธุรกิจ และสามารถถ่ายทอดแนวคิดนั้นให้ออกมาปฏิบัติจริงได้ และมีความชำนาญ

            3) Part Scientist หมายถึง บุคคลที่สามารถวางแผนและวัดผลการดำเนินงานของธุรกิจได้อย่างมีระบบและเป็นรูปธรรม เพื่อให้การบริหารองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

            สำหรับบทบาทของผู้ประกอบการในยุค New Normal นั้น ซึ่งนวัตกรรมจัดเป็นเครื่องมือทางการแข่งขันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความสำเร็จ (อาคีรา ราชเวียง, 2560) โดยการสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันด้านความสามารถเชิงนวัตกรรม จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ของปัญหาที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ที่บ่งบอกถึงความสามารถของผู้ประกอบการที่จะเป็นผู้มีซึ่งความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สามารถคิดค้นสร้างสรรค์รูปแบบของนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมกระบวนการ และนวัตกรรมการตลาด เพื่อให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายทางธุรกิจที่กำหนดไว้ได้อย่างสำเร็จ (ยุทธชัย ฮารีบิน และคณะ, 2559)

            Tidd, Bessant and Pavitt (2001) ได้กล่าวถึง แนวทางการสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการ ด้วยองค์ประกอบของการสร้างองค์การแห่งนวัตกรรม ไว้ดังนี้

            1) การมีวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการที่มุ่งไปสู่นวัตกรรม เมื่อองค์กรมีการกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ ผู้นำจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมขององค์กร

            2) โครงสร้างองค์กรที่เหมาะสม จะสนับสนุนให้เป็นองค์กรประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม ซึ่งองค์กรต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก จึงจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

            3) บุคลากรในองค์กร ถือเป็นส่วนสำคัญในการทำงานที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมที่แปลกใหม่ เนื่องจากบุคลากรเหล่านี้จะต้องมีประสิทธิภาพ และได้รับการฝึกอบรมพัฒนาความรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านนวัตกรรมอย่างสม่ำเสมอ

            4) บรรยากาศที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ จะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรมีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กรมากขึ้น ซึ่งบรรยากาศภายในองค์กรที่ดีจะเป็นตัวกระตุ้นพฤติกรรมความคิดสร้างสรรค์ให้กับบุคลากรนั่นเอง

 

สรุปผล

            สำหรับแนวทางการปรับตัวสู่โลกธุรกิจยุค New Normal ของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อมุ่งสร้างธุรกิจใหม่ นั้น ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ประกอบการยุคใหม่เกิดการปรับตัวและเรียนรู้การนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยนวัตกรรมนี้จะช่วยให้ธุรกิจเกิดความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน (Competitive Advantage) ที่เหนือกว่าคู่แข่งอื่นทางธุรกิจประเภทเดียวกัน โดยสามารถสรุปเป็นแนวทางได้ดังนี้

            1. การเป็นผู้ประกอบการแบบ Modern Entrepreneur หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และมีความคิดอย่างมีหลักการและเหตุผล

            2. การเป็นผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำด้านการสร้างนวัตกรรม โดยสามารถคิดค้นสร้างสรรค์รูปแบบของนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมกระบวนการ และนวัตกรรมการตลาด เพื่อพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายทางธุรกิจได้อย่างสำเร็จ

            3. การเป็นผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำด้านวิสัยทัศน์ขององค์กร โดยผู้ประกอบการนั้นจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดีและมองการณ์ไกล รวมไปถึงการปรับตัวให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการหมั่นเรียนรู้และให้ความสำคัญกับนวัตกรรมอย่างสม่ำเสมอ

            4. การเป็นผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำด้านการสนับสนุนและส่งเสริมทักษะความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับบุคลากรขององค์การ และการส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งองค์กรธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

 

เอกสารอ้างอิง                                                                                      

 

กรมสุขภาพจิต. (2563). New Normal ชีวิตวิถีใหม่.สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2564, จาก https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=2288

กัลยารัตน์ ธีระธนชัยกุล. (2562). การเป็นผู้ประกอบการและการสร้างธุรกิจใหม่. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น, บมจ.

วรรณนิภา ด่านตระกูล. (2556). ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของบุคลากรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

ศรากุล สุโคตรพรหมมี. (2559). กลยุทธ์ธุรกิจระหว่างประเทศ. กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น จำกัด.

สุดารัตน์ พิมลรัตนกานต์. (2560). การเป็นผู้ประกอบการ. กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น จำกัด.

ยุทธชัย ฮารีบิน และคณะ. (2559). ความสามารถด้านเครือข่ายและความสามารถเชิงนวัตกรรมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. วาสารนักบริหาร. 36(2), น. 79-87.

อาคีรา ราชเวียง. (2560). อนาคตผู้ประกอบการในยุค 4.0. วารสารวิจัยและพัฒนา วไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์. 12(2),           น. 79-88.

Lee C. Jarvis. (2017). Feigned versus felt: Feigning behaviors and the dynamics of institutional Logics. Q Academy of Management Review 2017. Vol.42 No.2. pp.306-333.

Smith, D. (2006). Exploring innovation. Maidenhead, Berkshire: McGraw-Hill.

Tidd, J., Bessant, J., & Pavitt, K. (2001). Managing Innovation Integrating Technological Market and Organization Change. Chicester: John Wiley & Sons.

http://management.bsru.ac.th/%e0%b9%81%e0%b8%99%e0%b8%a7%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%95%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b8%aa%e0%b8%b9%e0%b9%88%e0%b9%82%e0%b8%a5%e0%b8%81/