หลักการและกระบวนการบริหารจัดการสถานศึกษาปฐมวัย

1.หลักการบริหารจัดการสถานศึกษาปฐมวัย

          การบริหารจัดการสถานศึกษาปฐมวัยนับเป็นภารกิจที่สำคัญที่ผู้บริหารจำเป็นต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เช่นด้านบุคลากร ทรัพยากร งบประมาณ  อาคารสถานที่ การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เป็นต้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นระบบและบรรลุเป้าหมายของสถานศึกษา ดังนั้นผู้บริหารจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักการและแนวทางในการบริหาร จากการศึกษาหลักการบริหารสถานศึกษาปฐมวัย สรุปหลักการที่สำคัญได้ ดังนี้

1.1 หลักการบริหารจัดการสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน

  ความหมายของการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-Based Management) เป็นการกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาจากส่วนกลางมาให้โรงเรียน ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการโรงเรียน โดยเริ่มจากประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1980 และแพร่หลายไปหลายประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเริ่มจากการปฏิรูปการศึกษาตามประราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ตามมาตรา 39 มาตรา 40 กระทรวงศึกษาธิการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไปไปยังคณะกรรมการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาโดยตรง ทำให้สถานศึกษามีความคล่องตัว มีอิสระในการบริหารจัดการภายใต้กฎหมายว่าด้วยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ

วัฒนา มัคคสมัน และอมรชัย ตันติเมธ (2555 : (1-30)) การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน หมายถึงการจัดการโดยสถานศึกษาเป็นองค์การหลักตามแนวทางการกระจายอำนาจของส่วนกลางให้มีอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ มีอิสระความคล่องตัวในการบริหารภายใต้คณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปแบบมีส่วนร่วมและคุณภาพของผู้เรียนตรงตามความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครองและชุมชนมากที่สุด การบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เป็นรูปแบบการกระจายอำนาจการตัดสินใจรูปแบบหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและนำมาใช้ในการบริหารจัดการสถานศึกษา เป็นกลยุทธ์ในการปรับปรุงการศึกษาโดยเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจจากส่วนกลางไปยังแต่ละโรงเรียน โดยให้คณะกรรมการโรงเรียนซึ่งประกอบด้วยผู้ปกครอง ครู สมาชิกในชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ศิษย์เก่า และผู้บริหารโรงเรียนมีอำนาจในการจัดการศึกษาในโรงเรียน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ บุคลากร และวิชาการโดยให้เป็นไปตามความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน

สุทธิวรรณ ตันติรจนาวงศ์ (2555 : 10-72)การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน หมายถึงการกระจายอำนาจจากส่วนกลางให้โรงเรียนที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติมีอำนาจหน้าที่ ความรับผิชอบในการตัดสินใจบริหารและการจัดการทางด้านวิชาการ งบประมาณ บริหารบุคคล และบริหารทั่วไปได้อย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษา ครูและบุคลากร ผู้เรียน ผู้ปกครอง ชุมชนร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น

วัฒนา มัคคสมัน และอมรชัย ตันติเมธ (2555: (10-30)-(10-34)) และสุทธิวรรณ ตันติรจนาวงศ์(2555: (10-72)) ได้อธิบายหลักการบริหารจัดการสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานโดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้

1.หลักการกระจายอำนาจ (decentralization)  เป็นการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาจากกกระทรวงหรือส่วนกลางไปยังสถานศึกษาให้มากที่สุด โดยมีความเชื่อว่าโรงเรียนเป็นหน่วยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาการศึกษา เป็นรูปแบบของการมอบอำนาจหรือกระจายอำนาจ การตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารและการจัดการศึกษาไปให้สถานศึกษาซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติ

2. หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม(participation or collaboration or involvement)เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการบริหาร การกำหนดนโยบาย ตัดสินใจ ร่วมคิดร่วมทำ และร่วมจัดการศึกษา

3. หลักการคืนอำนาจจัดการศึกษาให้ดับประชาชน (return power to people)ในอดีตการจัดการศึกษาจะมีการจัดในรูปแบบที่หลากหลายทั้งวัด และองค์กรในท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ต่อมามีการรวบรวมการจัดการศึกษาไปให้กระทรวงศึกษาเพื่อให้เกิดเอกภาพและมาตรฐานการศึกษา จึงเริ่มทำให้การจัดการศึกษาส่วนกลางเริ่มมีข้อจำกัด เกิดความล่าช้า ไม่สนองความต้องการของผู้เรียนและชุมชนอย่างแท้จริง จึงมีการคืนอำนาจให้ท้องถิ่นและประชาชนได้จัดการศึกษาเองอีกครั้ง

4. หลักการบริหารตนเอง (self-management) ในระบบการศึกษาทั่วไปมักจะกำหนดให้สถานศึกษาเป็นหน่วยปฏิบัติตามนโยบายของส่วนกลาง โรงเรียนไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง แต่การบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานมีความเชื่อว่าการทำงานให้บรรลุเป้าหมายมีหลายวิธี โดยให้โรงเรียนมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินงาน จะทำให้โรงเรียนมีความเป็นอิสระคล่องตัว มีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้นภายใต้การบริหารในรูปแบบคณะกรรมการสถานศึกษา

5.หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) ส่วนกลางมีหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมมาตรฐานมีองค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นไปตามกำหนดของชาติ

รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน

อุทัย บุญประเสริฐ (2542 : 3 ; อ้างถึงใน สุทธิวรรณ ตันติรจนาวงศ์, 2555: (10-77)) พบว่า

รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานมีอยู่อย่างน้อย 4 รูปแบบ คือ

                    1.รูปแบบที่มีผู้บริหารโรงเรียนเป็นหลักคณะกรรมการโรงเรียนที่ตั้งขึ้นมีบทบาทสำคัญในการเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาของผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนเป็นประธานคณะกรรมการโดยตำแหน่ง คณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทนครู ตัวแทนผู้ปกครอง ตัวแทนชุมชน ตัวแทนนักเรียน คณะกรรมการมีบทบาทในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการบริหารแต่อำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังอยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียน

                    2.รูปแบบที่มีครูเป็นหลักรูปแบบนี้เกิดจากความเชื่อว่าครูเป็นผู้ใกล้ชิดผู้เรียนมากที่สุด และเป็นผู้ปฏิบัติการสอนย่อมจะรับรู้ปัญหาต่างๆ ได้ดีกว่า ตัวแทนคณะครูจะมีสัดส่วนมากที่สุดในคณะกรรมการ

3.รูปแบบที่ชุมชนมีบทบาทเป็นหลักจุดประสงค์ของรูปแบบการบริหารที่ควบคุมโดย

ชุมชน คือการเพิ่มความรับผิดชอบในการจัดการศึกษาให้แก่ชุมชนและผู้ปกครองเพื่อให้ผู้รับบริการการศึกษามีความพึงพอใจมากที่สุด คณะกรรมการโรงเรียนจึงมีสัดส่วนจำนวนตัวแทนผู้ปกครองและชุมชนมากที่สุด

4.รูปแบบที่ครูและชุมชนมีบทบาทเป็นหลัก รูปแบบนี้มีแนวคิดว่าทั้งครูและผู้ปกครอง

ต่างมีความสำคัญในการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก สัดส่วนของผู้แทนครู และผู้แทนผู้ปกครองจะมีเท่าๆ กัน

1.2 หลักการบริหารจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม (สุทธิวรรณ ตันติรจนาวงศ์, 2555 : (10-6)–(10-19))  การมีส่วนร่วมมีหลายรูปแบบทั้งการมีส่วนร่วมโดยตรงและการมีส่วนร่มทางอ้อมหรือการมีส่วนร่วมผ่นกลุ่มขึ้นอยู่กับลักษณะการมีส่วนร่วม โดยคีท (Keith, 1991 : 163 ; อ้างถึงใน สุทธิวรรณ        ตันติรจนาวงศ์ : 2555 , (10-12)) ได้อธิบายถึงการบริหารแบบมีส่วนร่วม 6 แบบ ดังนี้

1. การบริหารแบบปรึกษาหารือ (consultative management)

2. การบริหารแบบประชาธิปไตย (democracy management)

3. การบริหารแบบคณะกรรมการ (work committees)

4. การบริหารแบบเสนอแนะ (suggestion programs)

5. การบริหารแบบคณะกรรมการบริหารระดับกลาง (middle management

committees)

6.การบริหารแบบมีผู้แทนปฏิบัติงานเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหาร

(codetermination)

          การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมในองค์การทางการศึกษา เป็นความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กรในการเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อมุ่งพัฒนาสถานศึกษาและคนไทยให้พัฒนาอย่างสมบูรณ์และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมในสถานศึกษาปฐมวัยควรดำเนินการดังนี้

                    1.การสร้างการมีส่วนร่วมในการรับรู้ ร่วมตัดสินใจในการจัดการศึกษาขององค์การทางการศึกษา ซึ่งผู้บริหารต้องสร้างความพร้อมในการสร้างการมีส่วนร่วมในการรับรู้ การตัดสินใจ การให้ข้อเสนอแนะและความเห็น การติดตามและประเมินผล

2.การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและรับผิดชอบในการจัดการศึกษาให้มากขึ้นของ

ครอบครัวและชุมชน โดยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานศึกษา บทบาทหน้าที่ของคระกรรมการและบุคลากรในองค์การทางการศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ปกครอง ชุมชน

3.การประชาสัมพันธ์องค์การทางการศึกษา โดยการแจ้งข่าวการดำเนินงานขององค์กร

ในทุกๆ ด้านให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับรู้การดำเนินงาน

4.การสร้างแรงจูงใจ องค์การทางการศึกษามุ่งเน้นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างแรงจูงใจ

ทั้งภายในและภายนอกองค์การทางการศึกษาเพื่อให้เกิดพลังในการดำเนินงานร่วมมือทางการศึกษาจากทุกภาคส่วน

5.การพัฒนาระบบสารสนเทศขององค์การทางการศึกษา โดยการกระจายข้อมูลข่าวสาร

จากผู้บริหารไปสู่ครู ผู้ปกครอง ชุมชน นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา ข่าวสารสนเทศจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สร้างความร่วมมือในการตัดสินใจขององค์การ

6.การพัฒนาความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานของบุคลากรในองค์การทางการศึกษา

โดยการพัฒนาความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับผู้แก่ผู้ปกครองและชุมชน

7. การพัฒนาเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดการศึกษาขององค์การทาง

การศึกษาเครือข่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี ได้แก่สมาคมศิษย์เก่า สมาคมผู้ปกครองครู องค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นต้น ที่จะช่วยในการพัฒนาจัดการศึกษา

8.การจัดสภาพแวดล้อมที่ดีและบรรยากาศการทำงานวัฒนธรรมทำงานที่เหมาะสมของ

องค์การทางการศึกษา ผู้บริหารจำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อมที่ดี สถานที่ปฏิบัติงานเอื้อต่อการทำงาน บรรยากาศมีความเป็นมิตร มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การกระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

   สรุปได้ว่า การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมมี 2 แบบคือ 1.แบบการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงที่

เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติเข้าร่วมโดยตรงผ่านกลุ่มคณะทำงาน และ 2.แบบการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมที่ผู้ปฏิบัติงานหรือบุคลากรไม่สนใจในการมีส่วนร่วมแต่ผู้บริหารใช้อำนาจและบทบาทในการควบคุมให้เข้ามามีส่วนร่วมซึ่งจะบรรลุผลได้น้อยกว่าผู้บริหารสถานศึกษาบริหารงานแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้องค์การเกิดการพัฒนาร่วมกันจากความร่วมมือทุกฝ่ายทั้งครู ผู้ปกครอง ผู้เรียน ชุมชน  คระกรรมการสถานศึกษา องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภายนอกอื่นๆ ให้เข้ามามีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษาในการรับรู้ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ มีส่วนร่วมในข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ การติดตามตรวจสอบ และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือให้เกิดความเข้มแข็ง พัฒนาสถานศึกษาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

1.3.หลักการบริหารสถานศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้(Learning

Organization)  เป็นองค์กรที่ทำงานผลิตผลงานไปพร้อมๆ กันกับเกิดการเรียนรู้ สั่งสมความรู้ และสร้างความรู้จากประสบการณ์ในการทำงาน พัฒนาวิธีการทำงานและระบบงานขององค์กรไปพร้อมๆกัน ผลลัพธ์ขององค์กรแห่งการเรียนรู้คือผลงานตามภารกิจที่กำหนด การสร้างศาสตร์หรือสร้างความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติภารกิจขององค์กรนั้น เป็นการเรียนรู้แบบูรณาการโดยอาศัยการทำงานเป็นฐาน องค์กรแห่งการเรียนรู้จะมีลักษณะเป็นพลวัตมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของพัฒนาการด้านต่างๆ คล้ายมีชีวิต มีผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และการสร้างนวัตกรรม รวมทั้งมีบุคลิกขององค์กรในลักษณะที่เรียกว่า วัฒนธรรมองค์กรที่ผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์รู้สึกได้

2.กระบวนการบริหารจัดการสถานศึกษาปฐมวัย

       ในการบริหารจัดการสถานศึกษาปฐมวัย มีการนำเสนอแนวคิดในการบริหารจัดการไว้อย่าง

หลากหลาย ซึ่งกระบวนการที่ได้รับการยอมรับ ดังนี้

1.1  กระบวนการบริหารจัดการของฟาโยลต้นศตวรรษที่ 20 ฟาโยลนักอุตสาหกรรมชาวฝรั่งเศส

เป็นคนแรกที่เสนอความคิดเกี่ยวกับหน้าที่หรือกระบวนการบริหารจัดการไว้ 5 ประการดังนี้ (วัฒนา มัคคสมันและอมรชัย ตันติเมธ, 2555 : (1-47))

1)     การวางแผน (Planning) หมายถึงการวิเคราะห์อนาคต การกำหนดเป้าหมาย การ

กำหนดและวางแนวทางในการปฏิบัติงานไว้ล่วงหน้า

2)     การจัดองค์กร(Organizing)หมายถึงการเสริมสร้างอค์กรด้านคน และวัสดุสิ่งของเพื่อ

การปฏิบัติตามแผน

3)     การสั่งการหรือการบัญชาการ (Commanding)หมายถึงการควบคุมบังคับบัญชาให้

พนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

4)     การประสานงาน(Coordination)หมายถึงการประสานกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานให้

ดำเนินไปตามเป้าหมาย

5)     การควบคุม (Controlling)หมายถึงการควบคุมดูแลให้การปฏิบัติงานเป็นไปตาม

ระเบียบข้อบังคับและกฎเกณฑ์

1.2  กระบวนการบริหารจัดการของกูลิค และเออร์วิค ได้นำแนวคิดของฟาโยลมาเพิ่มเติมทำให้มี

กระบวนการบริหาร 7 ขั้นตอน ที่เรียกว่า POSDCoRB ดังนี้ (วัฒนา มัคคสมันและอมรชัย ตันติเมธ, 2555 : (1-47) , รัศมี ตันเจริญ, 2542 : 33)

1)     การวางแผน (Planning : P)หมายถึงการจัดวางโครงการแผนการปฏิบัติงาน พร้อมด้วย

วิธีปฏิบัติ วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติงาน เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

2)     การจัดหน่วยงาน (Organizing : O)หมายถึงการจัดรูปโครงสร้างของหน่วยงาน การ

แบ่งส่วนงาน การจัดสรรงานตำแหน่งต่าง ๆ โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานย่อยหรือของตำแหน่งต่างๆ ให้ชัดเจน

3)     การจัดตัวบุคคล (Staffing : S)หมายถึง การบริหารเกี่ยวกับตัวบุคคล ได้แก่การจัด

อัตรากำลัง การสรรหา การเลื่อนขั้น การพัฒนาบุคลากร การเลื่อนตำแหน่ง การส่งเสริมขวัญกำลังใจ สวัสดิการ การเสริมสร้างบรรยากาศในการทำงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน เป็นต้น

4)     การอำนวยการ (Directing : D)หมายถึงการวินิจฉัย สั่งการ ควบคุม บังคับบัญชา และ

ควบคุมการปฏิบัติงานนั้นๆ ในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน

5)     การประสานงาน (Coordination : Co)หมายถึงการประสานงานหรือสื่อสัมพันธ์ภายใน

องค์กร เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีและมีเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน

6)     การรายงาน (Reporting : R)หมายถึงการเสนอรายงานไปยังผู้บังคับบัญชา หรือ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้บริหารและสมาชิกขององค์กรได้ทราบความเคลื่อนไหวและความคืบหน้าของภารกิจอย่างสม่ำเสมอ

7)     การงบประมาณ (Budgeting : B)หมายถึงการจัดทำงบประมาณ การจัดทำบัญชี และ

การควบคุมดูแลใช้จ่ายเงินหรือตรวจสอบบัญชีให้โปร่งใส รัดกุม

1.3  กระบวนการบริหารจัดการที่เหมาะกับสถานศึกษาปฐมวัย

วัฒนา มัคคสมันและอมรชัย ตันติเมธ, 2555 : (1-53) ได้นำเสนอแนวทางโดยใช้การ

วิเคราะห์ขอบข่ายงานและภารกิจของสถานศึกษาปฐมวัยเพื่อหากระบวนการบริหารจัดการที่เหมาะกับสถานศึกษาแต่ละแห่ง โดยมี 4 ขั้นตอน ดังนี้

1.   การวิเคราะห์ภารกิจ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน, 2546 : 3-8 ; อ้างถึงใน วัฒนา มัคคสมันและ

อมรชัย ตันติเมธ, 2555 : (1-54)) กล่าวถึงภารกิจของการบริหารจัดการหลักสูตรในสถานศึกษาปฐมวัย 7 ภารกิจ ที่สำคัญคือ

                    ภารกิจที่ 1 การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษา

                    ภารกิจที่ 2 การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา

                    ภารกิจที่ 3 การวางแผนการดำเนินการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

                    ภารกิจที่ 4 การนำหลักสูตรสถานศึกษาสู่การปฏิบัติ

                    ภารกิจที่ 5 การนิเทศ กำกับ ติดตามและประเมินผล

                    ภารกิจที่ 6 การสรุปผลการดำเนินงานของสถานศึกษา

                    ภารกิจที่ 7 การปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา

2.   เรียงลำดับภารกิจการบริหารหลักสูตรและการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย โดยมีกระบวนการต่อเนื่องวนเป็นวงจร ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมความพร้อม

ขั้นตอนที่ 2 การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา

ขั้นตอนที่ 3 การวางแผนดำเนินการใช้หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย

ขั้นตอนที่ 4 การนำหลักสูตรสถานศึกาปฐมวัยสู่การปฏิบัติ

ขั้นตอนที่ 5 การนิเทศ กำกับ ติดตามและประเมินผล

ขั้นตอนที่ 6 การสรุปผลการดำเนินการ

ขั้นตอนที่ 7 การปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา

3.   พิจารณารายละเอียดของขั้นตอนในการปฏิบัติงานตามภารกิจมีลักษณะสำคัญคือ

เป็นกระบวนการที่เป็นระบบต่อเนื่องกันไป และมีลักษณะของขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นวงจรย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น

4.   พิจารณารายละเอียดของกระบวนการบริหารจัดการทุกกระบวนการในขั้นตอนที่ 3

ว่าในกระบวนการบริหารจัดการใดที่มีขั้นตอนสอดคล้องกับขั้นตอนในการปฏิบัติงานตามภารกิจมากที่สุด แล้วเลือกกระบวนการบริหารจัดการที่เหมาะสมที่สุดมาใช้ในการปฏิบัติงาน

                    สรุปได้ว่า หลักการบริหารจัดการ เป็นกระบวนการดำเนินงานที่ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำงานกับคน ทรัพยากร และระบบภายในองค์กรเพื่อที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององ๕กรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการบริหารนั้นมีหลักการที่หลากหลายขึ้นกับสถานศึกษาแต่ละแห่งที่จะนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานศึกษาของตน เช่นหลักการบริหารจัดการสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน หลักการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม หลักการบริหารสถานศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นต้น นอกจากต้องมีหลักการในการบริหารจัดการแล้ว สถานศึกษายังต้องนำกระบวนการบริหารมาใช้ควบคุ่กับการบริหารงานด้วย โดยกระบวนการบริหารจัดการนั้นมีการนำเสนอแนวคิดของนักบริหารที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับ เช่นกระบวนการบริหารจัดการ 5 ประการของฟาโยล  กระบวนการบริหารจัดการ  7 ขั้นตอน ในชื่อ POSDCoRB ของกูลิค และเออร์วิค

 

เอกสารอ้างอิง

 

วัฒนา มัคคสมัน และอมรชัย ตันติเมธ (2555).การบริหารจัดการสถานศึกษาปฐมวัยหน่วยที่ 1-5.

          พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช

สุทธิวรรณ ตันติรจนาวงศ์(2555). การบริหารจัดการสถานศึกษาปฐมวัยหน่วยที่ 1-5.พิมพ์ครั้งที่ 1.

          กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช

จันทรานี สงวนนาม. (2551). ทฤษฎีและแนวปฏิบัติในการบริหารสถานศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ :

          บริษัท บุ๊ค พอยต์ จำกัด