ศิลปะตะวันตก : เพอร์ฟอร์มานซ์อาร์ต (Performance Art)

ศิลปะตะวันตก : เพอร์ฟอร์มานซ์อาร์ต (Performance Art)

โดย ผศ.ชัยณรงศ์ วิรุฬพัฒน์

สาขาวิชาครีเอทีพกราฟิก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ BSRU

 

          เพอร์ฟอร์มานซ์อาร์ต (Performance Art) หรือ ศิลปะแสดงสด หรือ ศิลปะแสดง หรือ ศิลปะสื่อแสดง เกิดขึ้นจากการที่ศิลปินต้องการสื่อสารกับคนดูโดยตรง มากกว่าที่จิตรกรรมและประติมากรรมสามารถทำได้ เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปินในสายทัศนศิลป์หลายคน ตั้งแต่จอห์น เคจ ผู้ทำให้ความคิดแบบ    นิวเรียลลิสม์ได้เผยแพร่ที่นิวยอร์คในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และ พ็อลล็อคที่ทำจิตรกรรมแบบแอ็คชันเพนติ้ง สำหรับการถ่ายภาพยนตร์ในปี 1950

          กระบวนแบบเพอร์ฟอร์มานซ์อาร์ต  ในระยะแรกเริ่มเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษ    1960 เพอร์ฟอร์มานซ์ มักจะเป็นกิจกรรมในแนวคิดของกลุ่มคอนเซ็ปชวล (Conceptual) ไม่มีลักษณะที่เป็นละครเวทีหรือนาฏศิลป์ ศิลปินมักจะทำเพอร์ฟอร์มานซ์ในแกลเลอรีและพื้นที่สาธารณะ ความยาวของการแสดงมีตั้งแต่ ไม่กี่นาทีไปจนถึงยาวนานเป็นวัน ๆ และมักจะทำเพียงครั้งเดียวไม่ค่อยทำซ้ำอีก

          ผลงานศิลปินคนสำคัญ เช่น กิลเบิร์ตและจอร์จ (Gilbert and George) ในปี 1969 ศิลปินคู่นี้ได้ใช้ร่างกายของตัวเองในผลงานศิลปะ โดยกลายสถานะตัวเองให้เป็น “ประติมากรรมที่มีชีวิต” (ลิฟวิ่ง สคัลป์เจอร์, living sculpture) เป็นดั่งศิลปะวัตถุที่มีลักษณะแบบหุ่นยนต์ในนิทรรศการของพวกเขาหรือบางทีก็ออกไปแสดงตามท้องถนนในกรุงลอนดอน

          ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 ศิลปินเพอร์ฟอร์มานซ์ ปฏิเสธความเคร่งครัดของศิลปะแนว คอนเซ็ปชวล ทำให้งานเพอร์ฟอร์มานซ์เริ่มไปปรากฏให้เห็นในโรงละครและไนท์คลับ ในรูปของดนตรีหรือตลกเดี่ยว หรือบางทีก็อยู่ในรูปของวิดีโอหรือภาพยนตร์ ในหลายกรณีที่เพอร์ฟอร์มานซ์จะถูกเทียบเคียงหรือได้กลายเป็นนาฏลีลา ละคร หรือดนตรีแบบหัวก้าวหน้า (avant-garde, อาวองท์-การ์ด)

          ในคริสต์ทศวรรษ 1980 ได้เกิดศิลปินที่มีความสามารถอย่างยอดเยี่ยมหลายคนที่ทำเพอร์ฟอร์มานซ์ ในลักษณะ “ผสมและข้ามสาขา (ทางศิลปะ)” คือเก่งทั้งในสาขาการแสดงแบบศิลปะการแสดง (performing art เช่น ดนตรี นาฏลีลา และละครเวที) และสาขาทัศนศิลป์ (ทางด้านจิตรกรรมและประติมากรรม) ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีอย่าง ลอว์รีย์ แอนเดอร์สัน และ เดวิด เบิร์น (David Byrne) สาขานักแสดงอย่าง แอน แมคนูสัน (Ann Magnuson) ดาวตลกอย่าง วูปี้ โกลด์เบิร์ก (Whoopi Goldberg) และนักออกแบบศิลป์ให้อุปรากรฝรั่งอย่าง โรเบิร์ต วิลสัน (Robert Wilson) ศิลปินหลายคน ทำงานทั้งแบบเพอร์ฟอร์มานซ์ และก็สร้างงานในสื่ออื่นด้วยไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมหรือประติมากรรม เช่นเดียวกับศิลปินที่ทำงานจิตรกรรมและประติมากรรมเป็นหลัก ก็อาจจะทำงาน เพอร์ฟอร์มานซ์ ได้ด้วยเหมือนกัน งานเพอร์ฟอร์มานซ์ จึงเป็นเหมือนเครื่องมือหรือสื่ออีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการแสดงออก

 

ภาพที่ The Singing Sculpture (1969) by Gilbert & George

ที่มา: Graham-Dixon (2008, p. 579)

 

เอกสารอ้างอิง

 

ภาษาไทย

กำจร สุนพงษ์ศรี. (2554). ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง. (2548). ประวัติศาสตร์ศิลป์ตะวันตก. กรุงเทพฯ: คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

จิระพัฒน์  พิตรปรีชา. (2552). โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

ไลลัค, มิชาเอล. (2552). แลนด์อาร์ต. กรุงเทพฯ: บริษัท เดอะเกรทไฟน์อาร์ท จำกัด.

พรสนอง วงศ์สิงทอง. (2547). ประวัติศาสตร์นฤมิตศิลป์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

ภาษาต่างประเทศ

Graham-Dixon, A. (2008).  Art: The Definitive Visual Guide. (pp.197-327). London: Dorling Kindersley.