ศิลปะตะวันตก : กลุ่มฟลัคซุส (Fluxus)

ศิลปะตะวันตก : กลุ่มฟลัคซุส (Fluxus)

โดย ผศ.ชัยณรงศ์ วิรุฬพัฒน์

สาขาวิชาครีเอทีพกราฟิก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ BSRU

 

        กลุ่มฟลัคซุส (Fluxus) ปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 จนถึงต้น 1960 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีศิลปินที่ไม่เห็นด้วยกับกระแสนิยมในงานแบบแอ็บสแตร็ค เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ ถูกมองว่าไม่สนใจสังคมและการเมือง ดังนั้นคนหนุ่มสาวที่ตื่นตัวทางการเมืองและสังคมในยุคนั้นได้ช่วยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมแนวลัทธิดาดาในวงการศิลปะเป็นความเคลื่อนไหวในแนวโจมตี ท้าทายจารีตและค่านิยมในวงการศิลปะที่เติบโต   อย่างมั่นคงจนกลายเป็นสถาบันที่ทรงอำนาจ

        กระบวนแบบศิลปะฟลัคซุส  ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 ศิลปินกลุ่มหนึ่งในยุโรปเริ่มเคลื่อนไหว โดยเริ่มจากเยอรมนี ทำการแสดงตามท้องถนนในเมืองอัมสเตอร์ดัม โคโลจน์ และแพร่ไปสู่นิวยอร์ค ส่งต่อไปยัง เมืองหลวงของยุโรปตอนเหนือ กลับมาที่แคลิฟอร์เนียแล้วผ่านไปยังญี่ปุ่น ในแบบที่ค่อนข้างจะก้าวร้าวรุนแรง สมาชิกประกอบด้วยนักเต้น ศิลปินทัศนศิลป์ คนทำหนังและกวี ต่อมารู้จักในนามว่า ฟลัคซุส (Fluxus) ผู้ที่ใช้คำว่า ฟลัคซุส คนแรกคือศิลปิน จอร์จ แมคิวแนส (George Maciunas) ที่ได้ระบุไว้ในบัตรเชิญเข้าฟังการบรรยายที่ แกลเลอรี เอ/จี (Gallery A/G) ในนิวยอร์คเมื่อปี 1961 โดยชื่อนี้มีนัยยะที่โยงไปถึงคำว่า “ไหล” (flow) หรือ “เปลี่ยนแปลง” (change) สะท้อนลักษณะสำคัญของกิจกรรมโดยศิลปินกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะพวกเขามีทัศนคติที่เปิดรับความบังเอิญ ความเปลี่ยนแปลง ความไร้เหตุผล การปฏิเสธการควบคุมอย่างมีเหตุและผลจนเกินไป ชื่อ ฟลัคซุส นี้เป็นการบ่งบอกถึง “ความคิดและทัศนคติ” มากกว่าเป็นการระบุถึง “รูปแบบ” เป็นแนวศิลปะที่ต่อต้านศิลปะ

        ศิลปินที่จุดประกายให้เกิดศิลปะในแนวนี้ช่วงแรกเริ่ม เช่น อีฟ แคลง และ ปีเอโร แมนโซนี ที่ทำงานแนวแอ็คชันและแฮพเพ็นนิง ส่วนฟลัคซุส คือความเคลื่อนไหวในวงการทัศนศิลป์ในแบบ “แสดง” และ “กระบวนการ” ในงานทัศนศิลป์ ฟลัคซุส คือการก่อกวนกิจกรรมซ้ำซากของศิลปะและชีวิตทั่ว ๆ ไปของชนชั้นกลาง ฟลัคซุส เกิดขึ้นเคียงคู่ไปกับ แฮพเพ็นนิง ในนิวยอร์ค มีความต่างกันตรงที่ฟลัคซุสจะมีการวางแผนและวุ่นวายน้อยกว่าแฮพเพ็นนิง ส่วนกลุ่มฟลัคซุสมักจะแสดงโดยไม่ต้องสร้างฉาก ไม่ต้องคิดและตัดเครื่องแต่งกายอะไรเป็นพิเศษสำหรับการแสดง แต่ที่คล้ายกันคือคนดูกับศิลปินได้กลายเป็นหนึ่งเดียวหรือคนดูได้มีส่วนร่วมกับการแสดง

        กิจกรรมของฟลัคซุส มีตั้งแต่การทำ เมล์ อาร์ต (mail art) เป็นศิลปะที่เปิดให้มีส่วนร่วมโดยมีการจัดส่งกันทางไปรษณีย์ มีกิจกรรมการอ่านกวียาว ๆ แบบไฮกุ (Haiku) ที่มีคำแนะนำให้คนไปทำกิจกรรมง่าย ๆ อย่างเช่น ไปเดินเล่นหรือไม่ก็เผาต้นคริสต์มาส หรือผลงานของนัม จุง ไพค์ (Nam June Paik : ชาวเกาหลีในฐานะศิลปินคนแรกของโลกที่ทำงาน วิดีโอ อาร์ต) ร่วมกับชาร์ล็อท มัวร์แมน (Charlotte Moorman) โดยนัม จุง ไพค์ ติดตั้ง “ยกทรงโทรทัศน์” ขนาดเล็กปิดหน้าอกของมัวร์แมน และศิลปินหญิงคนนี้ก็ทำการเล่นเชลโลไปพร้อม ๆ กับที่ “ยกทรงโทรทัศน์” กำลังแพร่ภาพ เป็นต้น

        สมาชิกศิลปินสำคัญอีกคนคือ โจเซ็พ บอยส์ (Joseph Beuys) ชาวเยอรมันที่ได้นำทัศนคติแบบ ฟลัคซุส ไปใช้ในวิธีการสอนศิลปะในฐานะอาจารย์ประติมากรรมที่ดุสเซลดอร์ฟ อะคาเดมี (ตั้งแต่ ปี 1961) เขาสนับสนุนให้นักเรียนศิลปะของเขาใช้วัสดุอะไรก็ได้ในการทำงานศิลปะและให้ความสนใจในความเป็นมนุษย์มากกว่าการประสบความสำเร็จในวงการศิลปะ บอยส์ จัดการการสอนของเขาในรูปของการสัมมนาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และใน ปี 1963 เขาจัดเทศกาลฟลัคซุส ขึ้นที่อะเคเดมี โดยมีศิลปินฟลัคซุส จากอเมริกามาร่วมด้วยหลายคน

        ศิลปินคนสำคัญ เช่น โจเซ็พ บอยส์ (Joseph Beuys, 1921-1986), ดิค ฮิกกินส์ (Dick Higgins), เรย์ จอห์นสัน (Ray Johnson), อลิสัน โนว์เลส (Alison Knowless), ชาร์ล็อท มัวร์แมน (Charlotte Moorman), โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono), นัม จุง ไพค์ (Nam June Paik, 1932-) เป็นต้น

 

เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย

กำจร สุนพงษ์ศรี. (2554). ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง. (2548). ประวัติศาสตร์ศิลป์ตะวันตก. กรุงเทพฯ: คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

จิระพัฒน์  พิตรปรีชา. (2552). โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

ไลลัค, มิชาเอล. (2552). แลนด์อาร์ต. กรุงเทพฯ: บริษัท เดอะเกรทไฟน์อาร์ท จำกัด.

พรสนอง วงศ์สิงทอง. (2547). ประวัติศาสตร์นฤมิตศิลป์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภาษาต่างประเทศ

Fluxus. (n.d.). Retrieved May 23, 2015, from http://www.kunstzolder.be/en/ movement/fluxus.