วิธีการทำลูกประคบสมุนไพร

การลดระดับอาการปวดกล้ามเนื้อมีด้วยกันหลายวิธี ดังต่อไปนี้คือ การใช้ยาลดปวด การนวด การใช้ความร้อน และการใช้ลูกประคบสมุนไพร โดยพบว่าการใช้ความร้อนส่งผลทำให้เพิ่มอุณหภูมิบริเวณผิว เพิ่มการคลายตัวของกล้ามเนื้อ ลดระดับความปวด จากรายงานการวิจัยพบว่า การประคบลูกประคบสมุนไพร ส่งผลทำให้เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตบริเวณผิวหนัง ลดการหลั่งของสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ และเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อโดยการประคบด้วยลูกประคบสมุนไพรส่งผลทำให้ลดอาการปวดของกล้ามเนื้อที่ สัมพันธ์กับการเพิ่มความยืดหยุ่น ช่วงการเคลื่อนไหว และเพิ่มการไหลเวียนโลหิต นอกจากนี้การใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเข้ามามีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพนั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า ราคาประหยัด และสามารถทำได้เอง

การประคบสมุนไพรซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการดูแลสุขภาพทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพตามแนวทางของศาสตร์ทางการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในการแพทย์ทางเลือก และเป็นภูมิปัญญาไทยที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ในการใช้เพื่อช่วยลดอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก ลดอาการบวมอักเสบ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้เนื้อเยื่อพังพืดยืดตัว ลดการติดขัดของข้อ และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดลมเดินสะดวก นอกจากนี้กลิ่นของสมุนไพรในลูกประคบช่วยทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียดได้ และเป็นหนึ่งในรูปแบบการให้บริการการแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันมีการฟื้นฟูการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอยางกว้างขวาง อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเลิศในผลิตภัณฑ์และการ บริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชีย จึงได้มีการส่งเสริมการใช้แพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกในระบบบริการสาธารณสุขทุกระดับ ซึ่งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดในการมุ่งเน้นการจัดบริการแพทย์แผนไทย ทั้งการบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมถึงการบริการเชิงรุกในชุมชน

การประคบความร้อนด้วยสมุนไพร จัดเป็นการประคบความร้อนด้วยความร้อนตื้นแบบความร้อนชื้น ซึ่งโดยปกติแล้วการประคบด้วยความร้อนตื้นมี 2 แบบ คือ 1) การประคบด้วยความร้อนตื้นแบบความร้อนชื้น เช่น การประคบร้อนด้วยลูกประคบสมุนไพร การประคบร้อนด้วยน้ำอุ่น เป็นต้น 2) การประคบด้วยความร้อนตื้นแบบความร้อนแห้ง เช่น แผ่นประคบร้อน กระเป๋าน้ำร้อน เป็นต้น สำหรับการประคบความร้อนชื้นด้วยสมุนไพรหรือการใช้ลูกประคบสมุนไพร อาศัยหลักการถ่ายเทความร้อนโดยวิธีการนำความร้อน มีผลทำให้อุณหภูมิบริเวณที่ได้รับการประคบนั้นเพิ่มขึ้น และยังมีผลให้ความร้อนต่อโครงสร้างในระดับลึกลงไปโดยผ่านกลไกของ ปฏิกิริยาสะท้อน โดยให้ความร้อนสูงสุดอยูที่บริเวณผิวหนัง และสามารถทำให้โครงสร้าง ที่ระดับลึกประมาณ 1-2 เซนติเมตรจากผิวหนังมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นได้ เมื่อมีระยะเวลาการสัมผัสความร้อนนานประมาณ 15-30 นาที การประคบร้อนสามารถประคบในบริเวณที่ต้องการได้

การประคบความร้อนด้วยสมุนไพรหรือการใช้ลูกประคบสมุนไพรนั้น เป็นการนำสมุนไพรสดลูกประคบสมุนไพรโดยทั่วไปประกอบด้วย ไพล ขมิ้นชัน ผิวมะกรูด ตะไคร้บ้าน ใบมะขาม ใบส้มป่อย เกลือ และการบูร ตำพอแหลกแล้วนำมาผสมกัน วางลงบนผ้าดิบขนาด 50×50 เซนติเมตร หลังจากนั้นนำไปอังไอน้ำร้อน หรือวางในหม้อนึ่ง แล้วนำมาประคบบริเวณที่ต้องการ จึงเรียกลักษณะนี้ว่าการประคบแบบใช้ความร้อนชื้นด้วยสมุนไพร การประคบดังกล่าวสามารถบรรเทาอาการบวมอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยให้เนื้อเยื่อพังพืดยืดตัว และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตได้ เช่นเดียวกับการแช่น้ำอุ่น หรือการอบซาวน่า แต่มีข้อแตกต่างกันที่การประคบแบบความร้อนชื้นด้วยสมุนไพรหรือลูกประคบสมุนไพรนั้น จะมีส่วนประกอบของตัวยาที่มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวดและอาการอักเสบ อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยที่มีอยูในสมุนไพร ซึ่งจะช่วยบำบัดความเครียด ความวิตกกังวล ช่วยให้เกิดความผ่อนคลายทั้งทางร่างกายและจิตใจ

การประคบสมุนไพรด้วยลูกประคบ จะมีตัวยาและน้ำมันหอมระเหย สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ โดยเฉพาะเมื่อมีระยะการสัมผัสประมาณ 20-60 นาที เนื่องจากผิวหนังของบุคคลมีชั้นของไขมัน น้ำมันหอมระเหยจะซึมผ่านผิวหนังและเข้าสู่ระบบการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลือง ต่อมเหงื่อ เนื้อเยื่อคอลลาเจน และเกิดการหมุนเวียนทั่วร่างกาย ดังนั้น บริเวณที่ได้รับการคลึงด้วยลูกประคบสมุนไพร จะได้รับผลของตัวยาสมุนไพรและน้ำมันหอมระเหยที่มีคุณสมบัติในการลดอาการปวด และการอักเสบได้ นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยยังสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสูดดม เมื่อมีการสูดดมกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยจะเข้าไปอยู่ภายในโพรงจมูก เซลล์บุผิวที่บางของโพรงจมูกทำให้น้ำมันหอมระเหยซึมผ่านเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตได้ง่ายและรวดเร็ว อีกทั้งยังพบว่ามีโมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยลงไปตามทางเดินของปอดอีกด้วย เมื่อมีการแลกเปลี่ยนก๊าซที่ถุงลมปอด โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยจะซึมผ่านถุงลมปอดเข้าสู่กระแสเลือด และไหลเวียนไปทั่วร่างกายไปสู่บริเวณที่มีการปวดและการอักเสบ

มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมฯ โรงเรียนอายุรเวท (2548) ได้กล่าวถึง สมุนไพรที่นิยมนำมาทำเป็นลูกประคบ อุปกรณ์การทำลูกประคบสมุนไพร และวิธีการทำลูกประคบสมุนไพร ไว้ดังนี้

1. สมุนไพรที่นิยมนำมาทำลูกประคบ มักเป็นกลุ่มสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย ได้แก่

1) เหง้าไพล สรรพคุณ แก้ปวดเมื่อย ลดอาการอักเสบ ลดบวม

2) ผิวมะกรูด สรรพคุณ แก้ลมวิงเวียน

3) ตะไคร้บ้าน สรรพคุณ แก้ลมวิงเวียน ช่วยแต่งกลิ่น

4) ใบมะขาม สรรพคุณ แก้อาการคันตามผิวกาย ฟอกโลหิต

5) ขมิ้นอ้อย สรรพคุณ ลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง

6) ใบส้มป่อย สรรพคุณ บำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง

7) เกลือแกง สรรพคุณ ช่วยดูดความร้อน และช่วยพาตัวยาซึมผ่านผิวหนัง

8) การบูร สรรพคุณ แก้ลมวิงเวียน ช่วยแต่งกลิ่น

 

2. อุปกรณ์การทำลูกประคบสมุนไพร

1) ผ้าดิบสีขาวสำหรับห่อลูกประคบ 50×50 เซนติเมตร

2) เชือก

3) ตัวยาสมุนไพรที่ใช้ทำลูกประคบ

4) เตา

5) หม้อสำหรับนึ่งลูกประคบ

6) จานหรือถาดขนาดเล็กสำหรับรองลูกประคบ

 

 

 

 

3. วิธีการทำลูกประคบสมุนไพร

1) หั่นหัวไพล, ขมิ้นอ้อย, ต้นตะไคร้, ผิวมะกรูด จากนั้นนำมาตำพอแหลก หรือทำการบดหยาบ

2) นำใบมะขาม, ใบส้มป่อย ตำผสมพอแหลกหรือบดผสมพอหยาบกับข้อ 1 เสร็จแล้วใส่เกลือ, การบูร คลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

3) แบ่งสัดส่วนสมุนไพรที่ผสมเรียบร้อยแล้วให้เท่าๆ กัน จากนั้นนำมาวางบนผ้าดิบสีขาวแล้วทำการห่อเป็นลูกประคบ รัดด้วยเชือกให้แน่น

หากใช้สมุนไพรสดในการทำจะเรียกว่า “ลูกประคบสด” แต่หากใช้สมุนไพรแห้งจะเรียนว่า “ลูกประคบแห้ง”

 

4. วิธีการใช้ลูกประคบ

1) ลูกประคบแห้ง เมื่อนำมาใช้จะต้องแช่น้ำประมาณ 5-10 นาทีหรือพรมด้วยน้ำเพื่อให้ลูกประคบเกิดความชื้นและดูดซับน้ำก่อนนำไปนึ่ง

 2) ลูกประคบจะถูกนึ่งเป็นเวลาประมาณ 15-20 นาที โดยอุณหภูมิของลูกประคบที่ใช้ เฉลี่ยประมาณ 60-70 องศาเซลเซียส

 3) นำไปประคบตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ต้องการ

 4) ในการประคบด้วยลูกประคบช่วงแรก จะต้องทำด้วยความเร็วและไม่วางแช่นานๆ เพราะอาจเกิดอาการพองที่ผิวหนังจากความร้อนที่สูงเกินไปของลูกประคบ

 

5. ขั้นตอนในการประคบสมุนไพรด้วยตนเอง

1) อย่ในท่าที่สบาย อาจนั่งหรือยืนหรือนอนก็ได้

2) ทดสอบความร้อนของลูกประคบก่อนทำการประคบสมุนไพร โดยการนำลูกประคบแตะที่ท้องแขนหรือฝ่ามือตนเอง

 3) ในช่วงแรกนั้น ลูกประคบจะมีระดับความร้อนที่มาก ดังนั้น ช่วงระหวางที่ทำการประคบให้แตะและยกลูกประคบบนบริเวณที่ต้องการประคบโดยเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดแผลจากความร้อน (Burn) ทำเช่นนี้จนกว่าลูกประคบจะคลายความร้อนลง

 4) เมื่อลูกประคบมีระดับความร้อนที่น้อยลง ให้วางลูกประคบบนบริเวณที่ต้องการประคบให้นานขึ้น พร้อมทั้งกดและคลึงบริเวณนั้นร่วมด้วย

 5) เปลี่ยนลูกประคบเมื่อลูกประคบเย็นลง แล้วทำซ้ำในขั้นตอนที่ 2-4

 6) ให้ทำการประคบเป็นเวลา 15-30 นาที/ครั้ง

 

 

ข้อห้ามในการประคบสมุนไพร

1. ห้ามใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะกับผิวหนังที่บอบบางหรือบริเวณที่มีบาดแผล

2. ควรใช้ผ้าขนหนูรองที่บริเวณผิวหนังก่อนที่จะทำการประคบสมุนไพร

3. หากผู้ป่วยเป็นเบาหวาน อัมพาต หรือสูญเสียการรับความรู้สึก ควรทดสอบสอบความร้อนสม่ำเสมอ ระวังอย่าให้ลูกประคบร้อนมากจนเกินไปอาจทำให้ผิวของผู้ป่วยพุพองได้

 

การเก็บรักษาลูกประคบสมุนไพร

1. ลูกประคบสมุนไพรที่ใช้แล้ว หากใช้ทุกวันสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 1 อาทิตย์ หากไม่ได้ใช้บ่อยสามารถพิจารณาได้จากกลิ่นของสมุนไพรที่เปลี่ยนไปได้

2. ควรเก็บลูกประคบสมุนไพรไว้ในตู้เย็น หรือช่องแช่แข็ง ควรบรรจุใส่กล่องเพื่อเก็บกลิ่นสมุนไพร

3. ลูกประคบสมุนไพรที่ใช้ควรมีสีของสมุนไพรสีเหลือง ถ้าเกิดสีของสมุนไพร ที่ใช้มีสีเหลืองซีดหรือไม่มีสีควรจะเปลี่ยนลูกประคบใหม่

 4. ลูกประคบสมุนไพรที่ใช้ไม่ควรมีเชื้อราขึ้น ถ้ามีเชื้อราควรทิ้งทันที

 

เอกสารอ้างอิง

1. Yap Eng-Ching. Myofascial Pain – An Overview. Ann Acad Med Singapore. 2007;36:43-8.

2. Buttagat V., Narktro T., Onsrira K., Pobsamai C. Short – term effects of traditional Thai massage on electromyogram, muscle tension and pain among patients with upper back pain associated with myofascial trigger points. Complement Ther Med. 2016; 28: 8-12.

3. Fahami F., Behmanesh F., Valiani M., Ashouri E. Effect of heat therapy on pain severity in primigravida women. Iran J Nurs Midwifery Res. 2011;16:113-6.

4. อรวรรณ คล้ายสังข์ และคณะ. ผลการเปรียบเทียบการประคบด้วยลูกประคบสมุนไพรสูตรปกติและลูกประคบสมุนไพรสูตรผสมข้าวไรซ์เบอรี่ต่อระดับความเจ็บปวดของคอและช่วงการเคลื่อนไหวของคอ. วารสารหมอยาไทยวิจัย. 2563;6:55-72

5. พยอม สุวรรณ. ผลของการประคบร้อนด้วยสมุนไพรต่ออาการปวดข้อ ข้อฝืด และความลำบากในการทำกิจกรรมในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม. วิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2543