คอมบูชา (Kombucha); ชาหมักเพื่อสุขภาพ

คอมบูชา (Kombucha) หรือชาหมัก
เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีความหวานและความเปรี้ยว ดื่มแล้วให้ความสดชื่นแก่ร่างกาย โดยนำเอาใบชาดำ ชาเขียว หรือใบชาอื่น ๆ เช่น ชาอู่หลง มาหมักรวมกับน้ำตาล ซึ่งกระบวนการหมักจะเกิดขึ้นในสภาวะที่มีการใช้ออกซิเจน โดยอาศัยเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำงานร่วมกันสองชนิด ประกอบด้วยเชื้อแบคทีเรียและยีสต์ หรือเรียกว่า Symbiotic Culture of Bacteria and Yeast เรียกย่อ ๆ ว่า “SCOBY” อุณหภูมิที่เหมาะสมในกระบวนการหมัก อยู่ในช่วง 18-30 องศาเซลเซียส ใช้เวลาหมักชาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการหมักจะได้ผลิตภัณฑ์ 2 ส่วน ประกอบด้วย แผ่นวุ้นหรือเซลลูโลส (cellulosic pellicle layer) ลอยอยู่ด้านบน ในส่วนนี้ไม่นิยมบริโภค เพราะมีความเปรี้ยวและความเหนียวแข็งของแผ่นวุ้น ในส่วนที่สองคือ น้ำชาหมัก (fermented tea broth) สามารถนำไปดื่มได้ โดยจะมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นแอลกอฮอล์เล็กน้อย เนื่องจากส่วนผสมหลักเป็นกรดน้ำส้ม (acetic acid) ในน้ำชาหมัก พบว่ามีสารประกอบต่าง ๆ หลากหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ acetic acid, glucuronic acid, gluconic acid, succinic acid, citric acid, amino acid, vitamin C, B1, B12, glucose และ D-saccharic acid-1,4-lactone นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์จากกระบวนการเมตาบอลิซึม บางชนิดของเชื้อ SCOBY เช่น กรดอะซิติกและกรดอินทรีย์อื่น ๆ มีฤทธิ์ต้านในการต้านเชื้อแบคทีเรียและป้องกันการปนเปื้อนของเครื่องดื่มชาหมักจากแบคทีเรียก่อโรคอีกด้วย (Watawana et al., 2015)

คอมบูชาจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิประเทศ เช่น ประเทศไต้หวัน เรียก Haipo หรือ Tea Fungus ประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า Kocha Kinoko ประเทศรัสเซีย เรียกว่า Mo-Gu ประเทศในแถบยุโรป เรียกว่า Heldenpilz หรือ Kombuchaschwamm นอกจากนี้ในบางประเทศรู้จักกันในชื่อของ Kombucha Kargaksok Tea และ Manchurin Mushroom เป็นต้น การบริโภคเครื่องดื่มชาหมัก พบว่าเริ่มมีการบริโภคตั้งแต่ปี ค.ศ.220 ในสมัยราชวงศ์ฉิน ของประเทศจีน ใช้ในการบริโภคเป็นเครื่องดื่มชูกำลังให้แก่กองทัพทหารและล้างสารพิษ ในปี ค.ศ.414 แพทย์ชาวเกาหลี มีชื่อว่า “คอมบู” ได้น้ำชาหมักจากประเทศจีนไปยังประเทศบ้านเกิดของเขา และถวายการรักษาโรคกระเพาะอาหารให้แก่จักรพรรดิด้วยคอมบูชา ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดี ดังนั้นชาหมักจึงถูกรู้จักในนาม “คอมบูชา” ตามชื่อของแพทย์ชาวเกาหลี จากนั้นการดื่มชาหมักคอมบูชาจึงได้แพร่หลายขยายเข้าไปในเกือบทุกทวีปของโลก ทั้งยุโรป รัสเซียและสหรัฐอเมริกา โดยผู้บริโภคที่ต่างให้การยอมรับว่า คอมบูชามีรสชาติหวาน มีความเปรี้ยวและมีความซ่า คล้ายคลึงกับแอปเปิ้ลไซเดอร์ จัดเป็นเครื่องดื่มที่สามารถหมักและดื่มบริโภคขึ้นได้ภายในครัวเรือน โดยผู้บริโภคคอมบูชามีความเชื่อว่าการดื่มชาหมักชนิดนี้จะมีผลดีต่อสุขภาพและช่วยรักษาโรคต่าง ๆ ได้ เช่น มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูง เพิ่มภูมิต้านทานและป้องกันโรค ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทางานได้ดีขึ้น ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็ง ป้องกันการเกิดโรคไข-ข้ออักเสบ ช่วยในการล้างสารพิษในเลือดและระบบย่อยอาหาร ส่งเสริมการทำงานของตับ รวมทั้งช่วยลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดได้อีกด้วย (Martínez Leal et al., 2018)

การเตรียมคอมบูชา

เครื่องดื่มคอมบูชา เตรียมโดยการหมักชาใส่น้ำตาลกับเชื้อ SCOBY  (Jayabalan, Malbaša, Lončar, Vitas, & Sathishkumar, 2014) ทำให้มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อยและอาจมีความซ่าที่เกิดขึ้นจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Nummer, 2013) โดยคอมบูชาจะมีสี กลิ่นรส ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของชาและส่วนผสมอื่น ๆ ที่เติมลงไป เช่น ชนิดของน้ำตาล น้ำผึ้ง ผลไม้ ดอกไม้ หรือแม้แต่สมุนไพรต่าง ๆ

การผลิตเครื่องดื่มคอมบูชาโดยทั่วไปมีพื้นฐานมาจากการผลิตชาดำ ชาเขียว หรือชาอู่หลง สำหรับการผลิต อาจใช้ใบชา 5 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร จากนั้นเติมน้ำตาล ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นสำหรับแบคทีเรียและยีสต์ในการหมักชา ในทำนองเดียวกัน การควบคุมระดับ pH ในระหว่างการหมักคอมบูชาเป็นสิ่งสำคัญ และควรหยุดกระบวนการนี้เมื่อถึงระดับ pH 4.2 เนื่องจากการผลิตกรดอะซิติกมากเกินไปอาจทำให้เกิดการต่อต้าน (Kovacevic et al., 2014) ซึ่งขั้นตอนสำคัญของการผลิตชาหมัก คือ การควบคุมกิจกรรมการหมัก ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ได้แก่ ชนิดและปริมาณ รวมทั้งสัดส่วนของกล้าเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมัก คุณภาพของใบชาที่นำมาเป็นวัตถุดิบ วิธีการอื่น ๆ ด้านความปลอดภัยของอาหาร ได้แก่ การพาสเจอร์ไรส์ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายเพื่อป้องกันการผลิตแอลกอฮอล์และคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป รวมถึงการเติมโซเดียมเบนโซเอต 0.1% และโพแทสเซียมซอร์เบต 0.1% เป็นสารกันบูดในอาหารและสุดท้ายเก็บไว้ในตู้เย็น (Watawana et al., 2015)

การหมักคอมบูชา

โดยทั่วไปแล้วระยะเวลาการหมักคอมบูชาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน ถึงสูงสุด 60 วัน ขึ้นอยู่กับกระบวนการหมักของเชื้อจุลินทรีย์ (Watawana et al., 2015) การหมักคอมบูชาจะดำเนินการที่อุณหภูมิห้อง เนื่องจากทำให้เวลาในการหมักเหมาะสมที่สุด ซูโครสถูกใช้เป็นแหล่งคาร์บอนหลักในระดับความเข้มข้น 5–20% โดยเป็นสารตัวกลางและเป็นแหล่งสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ SCOBY หรือของเหลวที่เกิดขึ้นที่ความเข้มข้น 10% จากการหมักครั้งก่อนอาจใช้เป็นหัวเชื้อเริ่มต้นสำหรับการหมักคอมบูชา (Vīna, Semjonovs, Linde, & Patetko, 2013) จากงานวิจัยของ Vīna et al. (2013) รายงาน ตัวแปรของกระบวนการหมัก เช่น เวลา อุณหภูมิ และความเข้มข้นของซูโครส จะเป็นตัวกำหนดความเข้มข้นสุดท้ายของสารอินทรีย์ เช่น กรดและค่า pH กรดอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นในระหว่างกระบวนการหมักนี้ทำให้ค่า pH ของชาลดลง ซึ่งนำไปสู่การขาดออกซิเจนที่เกิดจากความเป็นกรด ด้วยเหตุนี้จำนวนเซลล์จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค (ถ้ามี) จะลดลง ส่งผลให้คอมบูชาเป็นเครื่องดื่มที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค แม้ว่าจะมีแหล่งกำเนิดมาจากจุลินทรีย์ (Watawana et al., 2015)

คอมบุชามีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร

ประโยชน์ประการแรกคือ กระตุ้นการสร้างพลังงาน สร้างภูมิคุ้มกัน ประการที่สอง มีจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ มีส่วนช่วยรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยรักษาลำไส้และช่วยให้ย่อยอาหารง่ายขึ้น ประการที่สาม หากใช้ชาเขียวในการหมักจะได้รับประโยชน์จากสารสำคัญในชาเขียวอย่างสารพอลีฟีนอลซึ่งเป็นสารแอนติออกซิแดนซ์ที่ดีต่อร่างกาย มีประโยชน์ต่อน้ำหนักเนื่องจากช่วยยับยั้งไขมันและมีบทบาทช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล น้ำตาลในเลือด และไขมันสะสมบริเวณหน้าท้อง และกำจัดสารพิษหรือของเสียตกค้างในร่างกาย ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น แก้โรคหอบหืด โรคผิวหนังอักเสบและโรคปวดข้อ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาหมักคอมบูชาจะเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แต่ก็ควรดื่มให้ถูกวิธี โดยเริ่มต้นจากความหวานในชาหมัก ควรหลีกเลี่ยงการใส่น้ำตาลเกินความจำเป็น หรือถ้าอยากให้หวานก็อาจใช้สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทน เช่น หญ้าหวาน หรือหล่อฮั่งก้วย ก็จะช่วยให้ชาหวานขึ้นได้ และถ้าหากจะดื่ม ควรดื่มตอนท้องว่าง หรือก่อนมื้ออาหาร ทางที่ดีที่สุดคือควรดื่มตอนเช้าหลังตื่นนอน เนื่องจากในชาหมักคอมบูชาจะมีสารคาเฟอีนจากชาดำ หรือชาเขียว อีกทั้งการดื่มก่อนมื้ออาหารยังช่วยป้องกันไม่ให้น้ำย่อยหรือกรดต่าง ๆ ในกระเพาะอาหารทำลายจุลินทรีย์ชนิดที่ดีในชาหมัก ทำให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเปี่ยม

ทั้งนี้หากเป็นคนร่างกายไวต่อคาเฟอีน หรือร่างกายกำจัดคาเฟอีนออกได้ช้าควรหลีกเลี่ยงการดื่มชาหมักคอมบูชาในช่วงบ่าย เพราะจะทำให้นอนไม่หลับ หรือเกิดอาการใจสั่น ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้นการดื่มชาหมักคอมบูชานั้น นอกเหนือจากการระมัดระวังในเรื่องการดื่มแล้ว ก็ควรเลือกดื่มชาหมักที่สะอาด ปลอดภัย หรือถ้าหากหมักเองก็ไม่ควรหมักนานเกินไป เพราะอาจทำให้ชาหมักมีรสชาติเปรี้ยวจนไม่เหมาะต่อการดื่มเพื่อสุขภาพ และควรรับประทานอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ควบคู่ไปด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Jayabalan, R., Malbaša, R. V., Lončar, E. S., Vitas, J. S., & Sathishkumar, M. (2014). A review on kombucha tea—Microbiology, composition, fermentation, beneficial effects, toxicity, and tea fungus. ComprehensiveReviews in Food Science and Food Safety, 1, 538–550.
  2. Jayabalan, R., Malini, K., Sathishkumar, M., Swaminathan, K., & Yun, S. E. (2010). Biochemical characteristics of tea fungus produced during Kombucha fermentation. Food Science and Biotechnology, 19, 843–847.
  3. Martínez Leal, J., Valenzuela, S.J., Jayabalan, R. Joselina, Oros, H. & Escalante-Aburto, A. (2018). A review on health benefits of kombucha nutritional compounds and metabolites. CyTA – Journal of Food, 16(1), 390-399.
  4. Nummer, B. A. (2013). Kombucha brewing under the food and drug administration model
    Food Code: Risk analysis and processing guidance. Journal of Environmental Health, 76, 8–11.
  5. Teyssier, C., & Hamdouche, Y. (2016). Acetic acid bacteria: Prospective applications in food biotechnology. Northwestern, FL: CRC Press.
  6. Vīna, I., Linde, R., Patetko, A., & Semjonovs, P. (2013). Glucuronic acid from fermented beverages: Biochemical functions in humans and its role in health protection. International Journal of Recent Research and Applied Studies, 14, 17–25.
  7. Vīna, I., Semjonovs, P., Linde, R., & Patetko, A. (2013). Glucuronic acid containing fermented functional beverages produced by natural yeasts and bacteria associations. International Journal of Recent Research and Applied Studies, 14, 17–25.
  8. Watawana, M. I., Jayawardena, N., Gunawardhana, C. B., & Waisundara, V.Y. (2015). Health, wellness, and safety aspects of the consumption of kombucha. Journal Chem-NY, 1, 1–11.