การฝังตัวอย่างปลาในพลาสติกใส

การฝังตัวอย่างปลาในพลาสติกใส

สาธิต โกวิทวที

สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

          การนำตัวอย่างปลาใส่ลงไปในพลาสติกใส หรือที่รู้จักกันว่า เรซิ่นใส จัดเป็นการเก็บรักษาตัวอย่างสัตว์อีกวิธีหนึ่งที่มีการทำกันอย่างแพร่หลาย ด้วยตัวอย่างที่ถูกนำฝังลงในพลาสติกใสจะมีอายุการเก็บรักษาได้นานไม่น้อยกว่า 10 ปี และการนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนก็นับว่ามีความปลอดภัยต่อนักเรียนเป็นอย่างดีที่ไม่ต้องสัมผัสกับตัวอย่างเหล่านั้น รวมไปถึงกลิ่น หรือสารเคมีที่ใช้ในการเก็บรักษาตัวอย่าง เช่น แอลกอฮอล์ หรือฟอร์มาลีน ได้เป็นอย่างดี สารเคมีที่จำเป็นในการฝังตัวอย่างปลาลงในพลาสติกใส มีดังนี้

1. พลาสติกใส
4. Absolute ethyl alcohol
2. สารที่ทำให้พลาสติกใสแข็งตัว (resin hardener)
5. Monostyrene
3. 95% Ethyl alcohol
6. Formalin
การฝังตัวอย่างปลาลงในพลาสติกใสมีขั้นตอนต่าง ๆ 5 ขั้นตอน ดังนี้

          1. การเก็บรักษาตัวอย่างปลา เป็นการนำตัวอย่างปลาเก็บรักษาในสารเคมี เพื่อเตรียมตัวอย่างมีขั้นตอนดังนี้

                    1.1 นำตัวอย่างปลาที่มีชีวิตมาทำการสลบในน้ำเย็น แช่นานจนตัวอย่างปลาไม่เคลื่อนไหวเมื่อสัมผัสกับตัวอย่างปลา

                    1.2 การให้ตัวอย่างปลาให้คงสภาพ ด้วยการแช่ในฟอร์มาลีนที่มีความเข้มข้นร้อยละ 10 นานอย่างน้อย 24 – 48 ชั่วโมง

                    1.3 ทำการเก็บรักษาตัวอย่างปลา ด้วยการนำมาแช่ในฟอร์มาลีนที่มีความเข้มข้นร้อยละ 5 นานจนกว่าจะนำตัวอย่างปลาไปใช้งาน

          2. การนำน้ำออกจากตัวอย่างปลา เป็นการดึงน้ำที่อยู่ในตัวอย่างปลาออกด้วยการใช้แอลกอฮอล์ มีขั้นตอนดังนี้

                    2.1 นำตัวอย่างปลาจากข้อ 1.3 มาล้างด้วยน้ำประปานานจนกลิ่นของฟอร์มาลีนหมดไป

                    2.2 แช่ตัวอย่างปลาลงในเอทิลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นร้อยละ 30, 50, 70 และ 95 ตามลำดับ โดยในแต่ละระดับความเข้มข้นแช่นาน 20 – 30 นาที

                    2.3 แช่ตัวอย่างปลาลงในแอบโซลูดเอทิลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นร้อยละ 99.5 แล้วนำตัวอย่างปลาไปดูดเอาอากาศออกในโถดูดอากาศ นาน 20 – 30 นาที เป็นการนำอากาศที่อยู่ภายในตัวอย่างปลาออกให้หมด

          3. การนำพลาสติกเข้าไปอยู่ในตัวอย่างปลา เป็นการนำพลาสติกใสซึมเข้าไปอยู่ในตัวอย่างปลา มีขั้นตอนดังนี้

                    3.1 นำตัวอย่างปลาจากข้อ 2.3 มาแช่ในสารละลายระหว่างแอบโซลูดเอทิลแอลกอฮอล์ กับ โมโนสไตลีน ในอัตราส่วน 3 : 1, 1 : 1, 1 : 3 และ โมโนสไตลีน ตามลำดับ โดยแช่นานในอัตราส่วนต่าง ๆ นานอัตราส่วนละ 20 – 30 นาที

                    3.2 นำตัวอย่างในข้อ 3.1 มาแช่ในสารละลายระหว่างโมโนสไตลีน กับ พลาสติกใส ในอัตราส่วน 3 : 1, 1 : 1, 1 : 3 และ พลาสติกใส ตามลำดับ โดยแช่นานในอัตราส่วนต่าง ๆ นานอัตราส่วนละ 20 – 30 นาที เมื่อถึงขั้นตอนนี้แล้วพลาสติกใสจะเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อของตัวอย่างปลาแล้ว

          4. การฝังตัวอย่างปลาลงในพลาสติกใส เป็นนำตัวอย่างปลาที่อยู่ในพลาสติกใสแล้วมาฝังลงในพลาสติกใส พร้อมทำให้พลาสติกใสแข็งตัว มีขั้นตอนดังนี้

                    4.1 นำแม่พิมพ์ที่จะเทพลาสติกใสลงไป มาทาแว๊กกันติดบาง ๆ ให้ทั่ว เพื่อป้องกันไม่ให้พลาสติกใสที่แข็งตัวแล้วติดกับแม่แบบ

4.2 นำพลาสติกใสเทใส่ในถ้วยผสม แล้วจึงใส่สารละลายที่ทำให้พลาสติกใสแข็งตัว (resin hardener) ในปริมาณร้อยละ 1 ของน้ำหนักพลาสติกใส แล้วคนให้เข้ากันช้า ๆ เพื่อป้องกันการเกิดฟองอากาศในเนื้อพลาสติกใส ถ้าพบว่ามีฟองอากาศให้ค่อย ๆ เขี่ยออกให้หมด

4.3 เมื่อพลาสติกใสผสมกับสารละลายที่ทำให้พลาสติกใสแข็งตัวดีแล้ว จึงในไปเทใส่แม่พิมพ์ (จากข้อ 4.1) ในประมาณ 9 – 10 กรัม แล้วตั้งทิ้งไว้ให้พลาสติกใสเริ่มแข็งตัว เป็นการเทพลาสติกใสชั้นที่ 1

4.4 เมื่อพลาสติกใสที่เทชั้นแรกเริ่มแข็งตัวแล้ว ให้นำตัวอย่างปลาที่แช่อยู่ในพลาสติกใสแล้ว (จากข้อ 3.2) วางลงไปช้า ๆ ระวังอย่าให้เกิดฟองอากาศ พร้อมจัดท่าทางตัวอย่างปลาให้สวยงาม

4.5 นำพลาสติกใสเทใส่ในถ้วยผสม แล้วจึงใส่สารละลายที่ทำให้พลาสติกใสแข็งตัว (resin hardener) ในปริมาณร้อยละ 1 ของน้ำหนักพลาสติกใส แล้วคนให้เข้ากันช้า ๆ เพื่อป้องกันการเกิดฟองอากาศในเนื้อพลาสติกใส ถ้าพบว่ามีฟองอากาศให้ค่อย ๆ เขี่ยออกให้หมด อีกครั้งเพื่อนำไปใช้เททับตัวอย่างปลา เป็นการเทพลาสติดใสชั้นที่ 2

4.6 เมื่อพลาสติกใสผสมกับสารละลายที่ทำให้พลาสติกใสแข็งตัวดีแล้ว จากข้อ 4.5 เททับตัวอย่างปลาให้มิด (ใช้พลาสติกใสที่ผสมสารละลายที่ทำให้พลาสติกใสแข็งตัวดีแล้ว) จำนวน 25 กรัม แล้วตั้งทิ้งไว้ให้พลาสติกใสเริ่มแข็งตัว ถ้าพบว่ามีฟองอากาศให้ทำการเขี่ยออกด้วยเข็มหมุด ตั้งแม่แบบที่ฝังตัวอย่างพลาสติกลงไปเรียบร้อยแล้วให้อยู่ในแนวระดับ และอย่าให้เกิดการเคลื่อนไหว รอจนพลาสติกใสแข็งตัวเรียบร้อยแล้ว เป็นอันว่าการเทพลาสติกใสฝังลงบนตัวอย่างปลาเสร็จสิ้นแล้ว

4.7 เมื่อพลาสติกใสแข็งตัวดีแล้ว ให้ทำการคว่ำแม่แบบเคาะลงกับโต๊ะ จนพลาสติกใสที่แข็งตัวแล้วหลุดออกมาจากแม่แบบ

          5. การขัดพลาสติกใสที่ฝังตัวอย่างปลาแล้ว เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการฝังตัวอย่างปลาลงในพลาสติกใส ให้ทำการขัดผิวพลาสติกใสที่ไม่เรียบให้เรียบด้วยกระดาษทรายน้ำ เบอร์ 240, 500 และ 800 ขัดเรียงตามลำดับ จนผิวพลาสติกใสเรียบ นำไปล้างน้ำให้สะอาด ทำให้แห้ง แล้วนำไปพ่นด้วยแลคเกอร์จะทำให้ผิวที่ขัดใส หรือนำไปขัดด้วยเครื่องขัดพลาสติกก็ได้

 

เอกสารอ่านประกอบ

Kurth, T., Weiche, S., Vorkel, D., Kretschmar, S. and Menge, A. (2011) Histology of plastic embedded amphibian embryos and larvae. Genesis 50 (3): 235-250.

Luo, T., Deng, L., Li, A., Zhon, C., Shao, S., Sun, Q., Gong, H., Yang, X. and Li, X. (2020). Scalable Resin Embedding Method for Large-Volume Brain Tissues with High Fluorescence Preservation Capacity. iScience 23, 101717.

Sullivan-Brown, J., Bisher, M. E. and Durdine, R. D. (2011). Embedding serial sectioning and staining of Zebrafish embryos using JB-4 Resin. National Library of Medicine 6(1): 46-55.