การปรึกษาครอบครัว ” Family counselling”

การปรึกษาครอบครัว

Family counselling.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา สุทธิเนียม

อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาชีพครู ประธานสาขาจิตวิทยาการปรึกษา หลักสูตร วทม. คณะครุศาสตร์ มบส.

……………………………………………………………

 

ครอบครัวเป็นสถาบันสำคัญในการเสริมสร้างคนให้มีความสมบูรณ์ ทั้งทางด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และด้านสติปัญญา จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน ทำให้ค่านิยมของคนส่วนใหญ่มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการด้วยวัตถุนิยม  หลายคนจึงมุ่งทำงาน หาเงิน ส่งผลให้มีเวลาให้กับครอบครัวน้อยลง ทำให้ครอบครัวจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาและปัญหาเหล่านั้นมักจะถูกมองข้าม  และปัญหาจะได้รับความช่วยเหลือก็ต่อเมื่อมีความรุนแรงหรือขยายวงกว้างไปกระทบกับบุคคลอื่น ๆ ในสังคม  การปรึกษาครอบครัวจึงเป็นกระบวนหนึ่งจะช่วยเหลือเยียวยาบุคคลในครอบครัวที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง

การปรึกษาครอบครัวเป็นกระบวนการให้ความช่วยเหลือครอบครัวทั้งครอบครัวไม่เฉพาะสมาชิกคนใดคนหนึ่งที่ถูกกล่าวว่า มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ทั้งนี้เพราะถือว่าครอบครัวเป็นระบบ ๆ  หนึ่งสมาชิกทุกคนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน  เพราะเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในครอบครัว  ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัญหาส่วนรวม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวทุกคน และถือว่าเป็นความรับผิดชอบของสมาชิกทุกคนในครอบครัวที่จะต้องร่วมมือกันหาทางแก้ไขหรือวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปัญหานั้นๆ เป้าหมายของการปรึกษาครอบครัวนั้น ผู้ให้การปรึกษาไม่ได้มุ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเฉพาะผู้ที่ถูกระบุว่ามีปัญหา  แต่จะช่วยให้ทั้งสมาชิกทุกคนในครอบครัวทำหน้าที่อย่างเหมาะสมในฐานะสมาชิกในครอบครัว  และยังช่วยในการพัฒนาสมาชิกในครอบครัวให้มีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถสร้างสัมพันธภาพและปรับตัวได้ดีทั้งในครอบครัวและสังคม   อีกทั้งยังเป็นการสร้างบริบทแห่งครอบครัวขึ้นใหม่ให้มีกฎ มีกติกา โครงสร้าง และระบบความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกว่าเดิม จะช่วยให้ทั้งครอบครัวเปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น ด้านการสื่อสาร การแก้ไขความขัดแย้ง การแก้ไขการปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวเองและกับระบบภายนอก เช่น เครือญาติ เพื่อนฝูงและที่ทำงาน เป็นต้น ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  การปรึกษาครอบครัวจึงเป็นการสร้างเสริมความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัว การพัฒนาความตระหนักในบทบาท หน้าที่ของสมาชิกทุกคนในครอบครัว   โดยการปรึกษาครอบครัวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้เนื่องจากการปรึกษาครอบครัวเป็นการช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ภายในครอบครัวตนเอง โดยผู้ให้การปรึกษาจะใช้เทคนิค หลักการแนวคิดทฤษฎีต่างๆตลอดจนการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นมิตรที่ก่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้รับการปรึกษา และ ผู้ให้การปรึกษา เพื่อสนับสนุนให้กําลังใจ เอื้ออํานวยให้ผู้รับการปรึกษา แก้ปัญหา สร้างทางเลือกในการตัดสินใจด้วยตนเอง ตลอดจนสามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง ตลอดจนสร้างเสริมให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว

 

 

เป้าหมายของการปรึกษาครอบครัว

เป้าหมายของการปรึกษาครอบครัว ผู้ให้การปรึกษามุ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมาชิกทุกคนในครอบครัว ช่วยให้ทั้งครอบครัวทำหน้าที่ได้ดีกว่าเดิม เป้าหมายเหล่านี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อมี การช่วยเหลือให้ครอบครัวเปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัติที่เหมาะสมในด้านต่าง ๆ เช่น การยอมรับความแตกต่าง การสื่อสาร การเข้าอกเข้าใจ การแก้ไขความขัดแย้ง การแก้ไขการมีปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว เป็นต้น  การช่วยให้ครอบครัวปรับตัวกับปัญหา และแก้ไขปัญข้อขัดแย้ง หรือลดความเครียดได้   โดยการช่วยให้ปรับมุมมองต่อปัญหาใหม่ (Reframe) มองให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวปฏิบัติหน้าที่อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น มีกฎ มีโครงสร้างและระบบความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกว่าเดิม

 

บทบาทของผู้ให้การปรึกษาครอบครัว

ในกระบวนการปรึกษานั้นบทบาทของผู้ให้การปรึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือครอบครัวที่มีประสิทธิภาพมี 3 บทบาทหลัก ดังนี้

1. คุณเอื้อ (Facilitator) เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน  สนับสนุนให้เกิดความตระหนักในตนเอง เข้าใจตนเองและสมาชิกในครอบครัว เปดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้มีการสำรวจตนเองทั้งด้านบวกและด้านลบ อะไรที่เป็นสาเหตุของพฤติกรรมต่าง ๆ และอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ค่านิยมความคาดหวังทั้งต่อตนเองและสมาชิกในครอบครัวเป็นอย่างไร อะไรที่ทำให้ตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวผิดหวังซึ่งเชื่อมโยงกับความวิตกกังวล  ความเครียด การไม่ยอมรับในพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ท่ามกลางสัมพันธภาพที่อบอุ่น ยอมรับ พร้อมที่จะให้การช่วยเหลืออย่างไม่มีเงื่อนไข จะช่วยให้สมาชิกในครอบครัวได้เปิดเผยความรู้สึกหรือความปรารถนาในจิตใจ  เอื้อให้สมาชิกในครอบครัวได้มีการสื่อสารกันด้วยความเข้าใจ เปิดใจต่อกัน โดยผู้ให้การปรึกษาจะเป็นผู้ฟังที่ดี คอยเอื้ออำนวยความสะดวกให้ มีการใช้คำถามกระตุ้นให้สมาชิกครอบครัวได้คิดและทบทวนตลอดจนแลกเปลี่ยนมุมมอง   จนสมาชิกครอบครัวร็สึกปลอดภัยในการเปิดเผยความรู้สึกต่อกันและสื่อสารกันด้วยความเข้าใจ เกิดการยอมรับกันมากขึ้น ปรับความเข้าใจกัน จนสามารถสัมผัสพลังชีวิตของครอบครัวร่วมกัน เกิดความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มั่นคง และรับรู้ว่าตนเองมีคุณค่า และเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

2. ผู้สร้างแรงบันดาลใจ (Life – coach) ผู้ให้การปรึกษาครอบครัวจะเป็นผู้ใช้คำถามกระตุ้นให้สมาชิกครอบครัว เกิดความรู้สึกอยากแก้ไขตัวเองและครอบครัวอย่างมีสติ แบบแผน เดินไปในทางที่ถูกต้อง โดยผู้ให้การปรึกษาคอยกำลังใจ เป็นที่ปรึกษา และสร้างแรงจูงใจในการไปสู่เป้าหมายที่ครอบครัวตั้งไว้ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของสมาชิกในครอบครัวในทิศทางที่ดีขึ้น

3. ผู้สร้างสรรค์ (Creditor Role) ผู้ให้การปรึกษาครอบครัวจะต้องสร้างสรรค์เทคนิค วิธีการ และการสื่อสาร เพื่อตอบโจทย์ของครอบครัวในการตอบสนองความต้องการและความแตกต่างระหว่างบุคคล ช่วยให้สมาชิกครอบครัววางแผนได้และบรรลุประโยชน์สูงสุดจากประสบการณ์ใหม่ๆ ช่วยให้สมาชิกครอบครัวสามารถค้นพบมุมมองใหม่ที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์และสามารถพัฒนาศักยภาพของครอบครัวได้เอง และถ้าเป็นไปได้ยังเป็นป้องกันปัญหาหรือความยากลําบากที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ลักษณะสําคัญของการป้องกัน คือ การช่วยให้ผู้รับการปรึกษามีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมส่วนตัวและสิ่งแวดล้อมระหว่างสมาชิกในครอบครัวเพื่อลดการเกิดปัญหา

ขั้นตอนการปรึกษาครอบครัว

ขั้นตอนในการปรึกษาครอบครัวมีดังนี้

ขั้นที่ 1 เริ่มต้นการปรึกษา เริ่มจากการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ให้การปรึกษากับสมาชิกครอบครัว พร้อมทั้งชี้แจง วัตถุประสงค์ เพื่อให้สมาชิกครอบครัวเกิดความรู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง คุ้นเคย ไว้วางใจ และยอมรับผู้ให้การปรึกษา

ขั้นที่ 2 ดำเนินการปรึกษา  ผู้ให้การปรึกษาดำเนินการปรึกษาโดยใช้เทคนิคพื้นฐานในการปรึกษา ได้แก่ การฟังอย่างตั้งใจ การใช้คำถาม การสะท้อนความรู้สึก การทวนความ การเงียบ การให้กำลังใจ การตีความ และการสรุปความ และเลือกใช้เทคนิคการปรึกษาครอบครัวตามแนวคิดทฤษฎีที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของสมาชิกครอบครัว เช่น  ทฤษฎีพฤติกรรมนิยมและกลุ่มพฤติกรรมนิยมที่เน้นการรู้คิด ได้แก่ การให้การศึกษา การสอน การฝึกทักษะการแก้ปัญหา การทำสัญญาเงื่อนไข การเสริมแรงทางบวก การมอบหมายการบ้าน วันแห่งการเอื้ออาทร และการโต้แย้งกับความคิดที่ไม่มีเหตุผล เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้ สำรวจตนเอง เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจปัญหาและร่วมกันแก้ปัญหาในครอบครัว เพื่อพัฒนาคุณภาพ ครอบครัวของตนเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.1 ขั้นสำรวจความคิด อารมณ์และพฤติกรรมที่เป็นปัญหาและมีผลต่อคุณภาพชีวิตของสมาชิกทุกคนในครอบครัวโดยผู้ให้การปรึกษากระตุ้นให้สมาชิกครอบครัวได้สำรวจตนเองและรับรู้ถึงสิ่งที่ต้องการให้เกิดการปรับเปลี่ยนหรือการเปลี่ยนแปลง

2.2 ขั้นประเมินความคิด อารมณ์และพฤติกรรม ที่เป็นปัญหาและมีผลต่อคุณภาพครอบครัว โดยให้สมาชิกแต่ละคนพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในครอบครัวอย่างไร เพื่อให้แต่ละคนได้ มองเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงหรือการปรับเปลี่ยนที่กำลังจะเกิดขึ้น

2.3 ขั้นวางแผนปฏิบัติ โดยผู้ให้การปรึกษากระตุ้นให้สมาชิกในครอบครัวเห็นว่าความคิดที่เบี่ยงเบนไปจากความจริงหรือการมองในมุมที่แตกต่างกันมันส่งผลให้เกิดปัญหาในครอบครัวนั้น เป็นความคิดที่ไม่มีประโยชน์หรือไม่มีเหตุผลและเกิดขึ้นได้อย่างไร ให้สมาชิกครอบครัวแต่ละคนได้พิจารณาด้วยเหตุผล โดยให้สังเกตและบันทึกพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน รวมถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่เหมาะสม ด้วยการกำหนดแผนและวิธีปฏิบัติให้ชัดเจนร่วมกัน

2.4 ขั้นปฏิบัติตามแผน โดยผู้ให้การปรึกษามอบหมายให้สมาชิกครอบครัวนำแผนไปปฏิบัติโดยอาจจะมีการทดลองฝึกให้ผู้ให้การปรึกษาได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมก่อนนำไปใช้และเพื่อให้สมาชิกครอบครัวเกิดความมั่นใจในการนำไปใช้  

ขั้นที่ 3 ยุติการให้การปรึกษาผู้ให้การปรึกษาให้สมาชิกครอบครัวร่วมกันอภิปรายและแสดงความรู้สึก เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัว ตลอดทั้งแนวทางในการป้องกันปัญหาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวของตนและผู้ให้การปรึกษาสรุปเพิ่มเติม จากนั้นนัดหมาย วัน เวลาและสถานที่ ในการปรึกษาครอบครัวครั้งต่อไป

 

บทสรุป

การปรึกษาครอบครัวเป็นกระบวนการให้ความช่วยเหลือครอบครัวทั้งครอบครัว โดยปฏิบัติต่อครอบครัวในฐานะระบบๆ หนึ่ง เพื่อให้ครอบครัวทำหน้าที่อย่างเหมาะสม ในการพัฒนาสมาชิกในครอบครัวให้มีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถสร้าง สัมพันธภาพและปรับตัวได้ดีทั้งในครอบครัวและสังคม โดยทั่วไปปัญหาของแต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกัน ผู้ให้การปรึกษาครอบครัวต้องเลือกเทคนิค วิธีการให้เหมาะกับปัญหา และลักษณะเฉพาะของครอบครัว ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวปัจจุบันนี้ มีความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น ผู้ให้การปรึกษาจะต้องวิเคราะห์ให้ละเอียด ว่าควรใช้วิธีการปรึกษาอย่างไร เลือกใช้ทฤษฎี แนวคิดหรือเทคนิคใดบ้าง บางครอบครัวอาจต้องใช้การผสมผสานแนวคิดทฤษฎี และเทคนิคแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงระยะเวลา ที่ใช้ในการปรึกษา ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวในยุคปัจจุบันด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้รับการปรึกษาสามารถแก้ไขปัญหา และเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทิศทางที่พึงประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดกับครอบครัว

 

เอกสารอ้างอิง

กาญจนา สุทธิเนียม. (2564). เอกสารคำสอนวิชาทฤษฎีและกระบวนการให้การปรึกษา. คณะครุศาสตร์

 มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.อัดสำเนา.

ลัดดาวรรณ ณ ระนอง. (2560). การให้การปรึกษาครอบครัวสำหรับครูที่ปรึกษา. Veridian E-

         Journal, Silpakorn University ฉบับภาษาไทย, 10(2) :830-843.

สถาบันกัลยาณราชนครินทร กรมสุขภาพจิต. (2563). หลักสูตรการให้คําปรึกษาครอบครัวสำหรับผู้

ให้คำปรึกษา คลินิกจิตสังคมในระบบศาล.บริษัท ดูโอ โปรดักชั่น จำกัด.

Goldenberg.I, Stanton.M, Goldenberg.H., (2017). Family Therapy: An Overview. 9th. Nelson

          Education, Ltd.