การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์เพื่อส่งเสริม ทักษะการท างานกลุ่ม รายวิชาวิทยาการจัดการเรียนรู้

การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์เพื่อส่งเสริม

ทักษะการทำงานกลุ่ม รายวิชาวิทยาการจัดการเรียนรู้

 

                                                     รองศาสตราจารย์ ดร.อารีวรรณ เอี่ยมสะอาด

                 กลุ่มวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

…………………………………………………………………………………………………………………………………………       

               ผู้เขียนได้จัดการเรียนการสอนรายวิชาวิทยาการจัดการเรียนรู้ วิชาหนึ่งในกลุ่มวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ให้กับนักศึกษาชั้นนปีที่ 3  สาขาสังคมศึกษา โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมทักษะการทำงานกลุ่ม เรื่องเทคนิคการสอน  เนื่องจากเห็นว่าการเรียนรายวิชานี้ เน้นการอภิปราย การนำเสนอ และการค้นคว้างานมานำเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มอื่น ๆ ที่ได้รับมอบไป  และต้องการส่งเสริมทักษะงานกลุ่ม นับว่าเป็นการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่รูปแบบหนึ่ง  อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน ผู้สอนรายวิชานี้และผู้สนใจ

 

ความเป็นมาและความสำคัญ

             คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)  มีแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 จัดทำขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 11 โดยยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาอุดมศึกษามี 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1  บัณฑิตและกำลังคน ยุทธศาสตร์ที่ 2   ระบบนิเวศวิจัย และยุทธศาสตร์ที่ 3  อุดมศึกษาใหม่ ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ 1  บัณฑิตและกำลังคน มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้และทักษะพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต (Transversal Skills) พร้อมยกระดับคุณภาพการศึกษาและสมรรถนะของกำลังคนให้ตอบสนองทิศทางการพัฒนาประเทศตาม BCG Model (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม, 2565) ดังนั้น การส่งเสริมทักษะการทำงานกลุ่ม เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้แบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ที่จะพัฒนาผู้เรียนในการทำงานร่วมกันกับคนอื่น มีแนวปฏิบัติที่ลดความขัดแย้ง เป็นได้ทั้งผู้นำผู้ตามและผู้ตาม กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ เป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ในการกระทำกิจกรรมหนึ่งๆ ร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการทำงานอย่างเป็นระบบ มีบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนในการทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อให้งานดำเนินได้อย่างราบรื่น ประสบความสำเร็จในเป้าหมายเดียวกัน
(Cartwright & Alvin,1968; ทิศนา แขมมณี ,2552; ใจทิพย์ เย็นสุข ,2562)

 

ประโยชน์ของการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์

             การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์มีประโยชน์ต่อผู้สอนและผู้เรียน ดังนี้                           

             1. ประโยชน์ต่ผู้สอนและผู้เรียน

                 1.1. ผู้สอนมีเวลามากขึ้นในการให้ความช่วยเหลือผู้เรียน อธิบายปัญหาที่ผู้เรียนแต่ละคน และแต่ละกลุ่มสงสัย และแก้ปัญหาไม่ได้

                1.2. ผู้สอนทำงานคล่องตัวมากขึ้น เพราะเมื่อแบ่งกลุ่มผู้เรียนแล้วแทนที่ผู้สอน จะต้องตอบปัญหาผู้เรียน 25-40 คน ทั้งชั้น ก็จะกลายเป็นว่าผู้สอนตอบปัญหาของกลุ่มเพียง 4-5 กลุ่มเท่านั้น

                1.3. ผู้สอนสร้างบรรยากาศในการเรียนที่มีความเป็นกันเองมากขึ้น ผู้เรียนจะรู้สึกสบายใจและไม่เคร่งเครียดเมื่อทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม

                 1.4. ผู้สอนช่วยแก้นิสัยที่ไม่กล้าแสดงออกของผู้เรียนบางคน

             2. ประโยชน์ต่อผู้เรียน

                 2.1  ช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับระเบียบวินัยของผู้เรียน

                 2.2  เสริมสร้างความสามัคคี การรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ของตนต่อกลุ่ม

                 2.3  ฝึกให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่กว้างขวางในการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่างๆ

                 2.4  ฝึกให้ผู้เรียนรู้จักการเสนอแนะการซักถาม ตลอดจนส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ให้แก่ผู้เรียนด้วย

                 2.5  รู้จักการปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้ เพื่อเกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน

                 2.6  เกิดความภูมิใจในตนเอง ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญต่อกลุ่ม

                 2.7  สร้างค่านิยมในเรื่องของความสามัคคี การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น (Young, 1972; Duane, 1973)

ทฤษฎีเกี่ยวกับกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์

               นักวิชาการหลายท่านเสนอแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นสำคัญ มีรายละเอียดดังนี้

             1. ทฤษฎีปฏิสัมพันธ์ (Interaction Theory) ของ เบลล์ โฮมาน และไวท์ (Bales, Homans and Whyte) มีแนวคิดดังนี้

                1.1 กลุ่มต้องมีปฏิสัมพันธ์กันโดยการทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง (Activity)

                1.2 กลุ่มต้องมีปฏิสัมพันธ์ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ

                1.3 กิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึก

             2. ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) มีแนวคิดคือ

                 2.1 กระบวนการทางแรงจูงใจ (Motivation Process) ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานร่วมกันจะเป็นกระบวนการสร้างแรงจูงใจที่ดี

                2.2 การรวมกลุ่ม (Cohesive) ทุกคนในกลุ่มมีโอกาสในการแสดงความคิด ความสามารถอย่างเปิดเผย แต่ละบุคคลจะแสดงออกตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นการวิเคราะห์กลุ่มร่วมกัน ช่วยให้บุคคลอื่นที่อยู่ในกลุ่มเกิดความเข้าใจตนเองและผู้อื่นดีขึ้น

             3. ทฤษฎีพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Fundamental Interpersonal Relations Orientations) ซุทซ์ (Schutz) ได้อธิบายไว้ว่า แต่ละคนจะมีรูปแบบวิธีการที่จะเชื่อมโยงตนเองเข้ากับกลุ่มด้วยรูปแบบแตกต่างกัน ซึ่งอาจเข้ากันได้หรือไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของสมาชิกภายในกลุ่มด้วย

             4. ทฤษฎีบุคลิกภาพของกลุ่ม (Group Syntality Theory) ของ แคทแทล (Cattel) มีแนวคิดดังนี้

                4.1 ลักษณะของกลุ่มโดยทั่วไป มี 3 แบบ คือ 1) กลุ่มแต่ละกลุ่มมีสมาชิกซึ่งมีบุคลิกภาพเฉพาะตัว (Population Traits) 2) กลุ่มแต่ละกลุ่มมีบุคลิกเฉพาะกลุ่ม (Syntality Traits หรือ Personality Traits) ซึ่งเป็นผลจากสมาชิกกลุ่มที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป และ 3) กลุ่มแต่ละกลุ่มมีโครงสร้างภายในเฉพาะตน (Characteristic of Internal Structure) เป็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างสมาชิกภายในกลุ่ม เป็นแบบแผนในการรวมกลุ่ม

                4.2 พลังอันเกิดจากบุคลิกภาพของกลุ่ม (Dynamics of Syntality) หมายถึง การแสดงออกของบุคคลในกลุ่มเพื่อความสำเร็จของกิจกรรม แสดงถึงความร่วมมือที่มีเป้าหมายเดียวกัน การกระทำของสมาชิกมีลักษณะ 2 ประการ คือ 1) ลักษณะที่ทำให้กลุ่มรวมกันได้ (Maintenance Synergy)  และ 2) ลักษณะที่ทำให้กลุ่มประสบผลสำเร็จ (Effective Synergy) หมายถึง กิจกรรมที่สมาชิกกระทำเพื่อให้กลุ่มบรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้

             5. ทฤษฎีสัมฤทธิ์ผลของกลุ่ม (A Theory of Group Achievement) สต็อกดิลล์ (Stogdill) ได้อธิบายทฤษฎีนี้ไว้ว่า สัมฤทธิ์ผลโดยทั่วไปของกลุ่มมี 3 ด้าน คือ 1) การลงทุนของสมาชิก (Member Inputs) 2) โครงสร้างและผลสัมฤทธิ์ของกลุ่ม และ 3) ผลงานของกลุ่ม (Group Outputs) หรือสัมฤทธิ์ผลของกลุ่ม (Group Achievement)

             อาจกล่าวได้ว่า ทฤษฎีดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับทฤษฎีทางด้านจิตวิทยา เนื่องจากการเรียนรู้ร่วมกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป จะเกิดปฏิสัมพันธ์ต่อกันไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการพูดคุย สนทนา ท่าทาง การเขียน ที่สามารถส่งผลต่อความรู้สึกของอีกฝ่าย ผู้สอนจึงมีหน้าที่ในการสร้างความชัดเจนให้กับผู้เรียนแต่ละคน ในการปฏิบัติงานกลุ่ม ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดปฏิสัมพันธ์ต่อกันให้มากที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงออก แสดงความคิดเห็นของตน ได้รับความรู้สึก และวิเคราะห์ความรู้สึกของตนเองเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข (ใจทิพย์ เย็นสุข,2562; Schmuck, 2001; Runkel, & Richard,1992)

 

ขั้นตอนในการจัดการเรียนการสอนแบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์

             การจัดการเรียนการสอนแบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ มีขั้นตอนการสอน ดังนี้

             ขั้นนำ เป็นการทบทวนเนื้อหาเดิมที่เคยเรียนมาเพื่อเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่เป็นการเตรียมความพร้อมในการเรียนให้แก่ผู้เรียน

             ขั้นกิจกรรม เป็นการให้ผู้เรียนลงมือทำกิจกรรมที่เตรียมไว้เป็นกลุ่ม กลุ่มละเท่ากัน ตามอิสระเพื่อให้ผู้เรียนรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของตน มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การแก้ปัญหา และรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นร่วมกัน เช่น ให้แต่ละกลุ่มสืบค้นข้อมูลเทคนิคการสอนที่เหมาะสมกับสาขาที่เรียน สาขาละ 5 ประภท

             ขั้นอภิปราย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความรู้สึก ความคิดเห็นหลังจากที่ได้นำกิจกรรมเสร็จสิ้นไปแล้ว และมีการประเมินการนำเสนอ พร้อมถาม ตอบ เกี่ยวกับเรื่องภิปราย

             ขั้นสรุปและการนำไปใช้ เป็นขั้นของการรวบรวมความคิดเห็น และข้อมูลต่างๆ จากขั้นกิจกรรมและอภิปรายมาประสานกัน จนได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

………………………………………………………………………………….

เอกสารอ้างอิง

ใจทิพย์ เย็นสุข. (2562). การพัฒนาความสามารถการอ่านจับใจความภาษาอังกฤษโดยการสอนแบบ

          กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนคาเบรียลอุปถัมภ์. 

          วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.

ทิศนา แขมมณี.  (2552). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.

           (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Cartwright, D. & Alvin, Z. (1968). Group dynamics: research and theory.  New York : Harper,

           & Row.

Duane, J. E. (1973).Individualized Instructional Programs and Materials. Englewood Cliffs,

           New Jersey : Educational. Technology

 

Runkel, P. J. & Richard, S. (1992). Group Process. In Encyclopedia of  Education of  Research.

           (5 th ed). New York : McGraw- Hill.

Schmuck, R .A. (2001). Group process in the classroom. New York :  Me Graw-Hill.

Young, C. (1972, December). Item Leaming. The Arithmetic Teacher. 19 (8), 630-634.