VISUAL ELEMENT

VISUAL ELEMENT

เส้น (LINE)

     ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งบอกว่า งานทัศนศิลป์ชิ้นแรกๆ ของมนุษย์นั้นเริ่มจากเส้น ดังที่เราจะเห็นได้จากภาพเขียนตามผนังถ้ำของคนสมัยดั้งเดิม (Primitive)  การเริ่มต้นของงานศิลปะ ในวัยเด็กก็ใช้เส้นเช่นเดียวกัน เส้นเป็นทัศนธาตุเบื้องต้นที่สำคัญที่สุด เป็นแกนของทัศนศิลป์ทุกๆ แขนง (ชลูด นิ่มเสมอ, 2557, น.47)  จึงนับได้ว่า เส้นเป็นทัศนธาตุเริ่มต้นที่สำคัญ สามารถถ่ายทอด ภาพในความคิด ภาพในใจให้ออกมาเป็นรูปธรรม หรือจะใช้เส้นวาดเป็นภาพร่างต้นแบบก่อนที่จะนำไปสู่กระบวนการสร้างสรรค์ที่สมบูรณ์ต่อไป อย่างเช่น งานจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ภาพพิมพ์ งานออกแบบต่างๆ

     ความคิดหรือจินตนาการเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ แต่ในการที่จะสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาได้นั้นต้องมีทักษะทางฝีมือเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดให้เกิดเป็นรูปธรรม การวาดเส้นเป็นวิธีการหนึ่งที่เรียบง่าย และตรงใจที่สุดต่อการแสดงออกของมนุษย์ในการสื่อความหมายด้วยภาษาของภาพ

ความหมายของเส้น

     นิยามความหมายที่เกี่ยวกับเส้น มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะได้กล่าวไว้ดังนี้

     ชลูด นิ่มเสมอ (2557, น.4) ได้ให้ความหมายว่า เส้น เกิดจากจุดที่ต่อกันในทางยาว หรือเกิด จากร่องรอยของจุดที่ถูกแรงแรงหนึ่งผลักดันให้เคลื่อนที่ไป

     สุชาติ สุทธิ (2535, น.4) ได้ให้ความหมายว่า เส้น คือ รอยขีดเขียนหนัก-เบาที่สร้างให้ปรากฏ บนพื้นผิวของวัตถุ

     เลอสม สถาปิตานนท์ (2537, น.30) ได้ให้ความหมายว่า เส้น คือ เมื่อจุดเคลื่อนที่ เส้นทางที่จุดเคลื่อนไปคือเส้น ความรู้สึกนึกคิดถึงเส้นจะต้องมีความยาว แต่ไม่มีความกว้างหรือความหนามาก มี ตำแหน่งและทิศทาง พร้อมกับความเคลื่อนไหวและการเจริญเติบโต

     มาโนช กงกะนันทน์ (2559, น.36) ได้ให้ความหมายว่า เส้น คือจุดหลายจุดที่เรียงกันเป็นแถว และถ้ามีหลายแถว จะก่อให้เกิดความเคลื่อนไหว ไปมาในทิศทางต่างๆ กัน แสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้น และจุดสุดท้าย

     วิรุณ ตั้งเจริญ (2537, น.10) ได้ให้ความหมายว่า เมื่อจุดเคลื่อนที่ไป ทางผ่านของจุดคือเส้น เส้นมีความยาว และไม่มีความกว้าง เส้นมีตำแหน่งและทิศทาง เส้นก่อให้เกิดขอบเขตของระนาบ

     จากความหมายของผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะ ที่ได้อธิบายความหมายของเส้น ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า เส้น คือจุดหลายจุดที่เรียงต่อกันในทางยาว ก่อให้เกิดรอยขีดเขียนที่มีทิศทางและการเคลื่อนไหว มีความยาว ไม่มีความกว้าง มีจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุด

ประเภทของเส้น

     เส้นที่ปรากฏอยู่ในผลงานทัศนศิลป์มีลักษณะที่แตกต่างกันไป บางเส้นรับรู้ได้ทันทีจากการมองเห็น บางเส้นก็ใช้ความรู้สึกจินตนาการในการรับรู้ ซึ่งพอจะจำแนกได้ 3 ลักษณะดังนี้

    1. เส้นที่เกิดขึ้นจริง (Actual Line) คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเส้นจริงๆ มีลักษณะเป็น กายภาพที่ปรากฏจากกริยาของการกระทำ เพื่อการถ่ายทอดความรู้สึกจากประสาทสัมผัสของมือผ่าน วัสดุให้เป็นริ้วรอย ขีดเขียน ลงสู่พื้นผิวระนาบโดยตรง (สุชาติสุทธิ, 2535, น.4) ดังนั้นลักษณะของ เส้นที่เกิดขึ้นจริงจะเห็นได้เป็นที่ประจักษ์ มีทิศทางมีน้ำหนักของเส้นที่แสดงอยู่อย่างชัดเจน เช่น เห็นเป็นเส้นตรง เส้นโค้ง เส้นเป็นรูปวงกลม เป็นรูปคน รูปสิ่งของ

    2. เส้นเชิงนัย (Implied Line) เส้นเชิงนัยนั้นมิได้เกิดจากการสร้างขึ้นให้ปรากฏเป็นเส้นที่เกิดขึ้นจริงตามข้อแรก แต่เกิดจากนัยของการบ่งชี้ให้รับรู้ว่าเป็นเส้นด้วยการประเมินทางการเห็น โดยกริยาของสิ่งที่กำลังปรากฏ และเป็นตัวนำสายตาในการมอง จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน (สุชาติ สุทธิ, 2535, น.6) เช่น รูปภาพที่มีคนกำลังมองไปที่วัตถุสิ่งหนึ่ง ผู้ที่ดูภาพนั้นอยู่ก็จะรู้สึกได้ถึงทิศทางการมองของคนในภาพ ทำให้เกิดเส้นที่นำสายตาไปยังวัตถุชิ้นนั้นกลายเป็นเส้นที่นำสายตาที่ไม่ปรากฏในภาพ แต่ปรากฏในการรับรู้ทางความรู้สึกที่ตอบโต้กันอยู่ระหว่างผู้ดูกับรูปภาพนั้น

    3. เส้นที่เกิดจากขอบ (Line Formed by Edges) คือเส้นที่เกิดจากการทับซ้อนหรือชนกันของสี และรูปร่าง เช่น เส้นที่เกิดจากสีสองสีที่วางต่อกัน หรือเส้นที่เกิดจากรูปร่างสองรูปวางต่อกันเป็นต้น (ศักดิ์ชัย เกียรตินาคินทร์, 2554, น.59) ดังที่กล่าวอ้าง เส้นที่เกิดจากขอบ คือเส้นที่ปรากฏให้ เห็นจากขอบด้านนอก เช่น เส้นเกิดจากการระบายสีเป็นแผ่น หรือระบายสี 2 สี เป็นแผ่นทับซ้อนกัน ก็จะปรากฏเส้นจากการเห็นแผ่นสีวางซ้อนเหลื่อมกันอยู่

ความรู้สึกที่เกิดจากลักษณะและทิศทางของเส้น

     เส้นตรง เส้นโค้ง เส้นซิกแซก จะให้ความรู้สึกของเส้นที่ไม่เหมือนกัน การเลือกใช้เส้นให้เป็นส่วนหนึ่งของสื่อในการแสดงออก ก็มีผลต่อการรับรู้ ดังนั้นถ้าใช้เส้นให้สัมพันธ์กับความรู้สึกและเรื่องราว ก็จะทำให้ผลงานมีจุดหมายที่ชัดเจนขึ้น ลักษณะของเส้นที่แตกต่างทางความรู้สึกมีดังต่อไปนี้

     เส้นตรงตั้ง ให้ความรู้สึก แข็งแรง มั่นคง แน่นอน ขรึม สง่า

     เส้นตรงนอน ให้ความรู้สึก สงบ นิ่ง เรียบง่าย ผ่อนคลาย

     เส้นเฉียง ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหว ไม่สมบูรณ์ ไม่มั่นคง

     เส้นโค้งน้อยๆ ให้ความรู้สึกสบาย ลื่นไหล เคลื่อนไหวช้าๆ อ่อนโยน

     เส้นโค้งก้นหอย ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหว คลี่คลาย เติบโต มีพลัง

     เส้นซิกแซก ให้จังหวะกระแทก ความรุนแรง พลังไฟฟ้า ฟ้าผ่า

หน้าที่ของเส้น

     เส้นเป็นทัศนธาตุที่มีความสำคัญ เป็นส่วนประกอบหนึ่งในงานศิลปะแทบทุกชนิด บางครั้งจะมองเห็นเส้นได้ชัดเจนในผลงานศิลปะ บางครั้งเส้นก็ไม่เผยตัวตน เส้นมีหน้าที่หลายอย่าง ซึ่งพอจะจำแนกหน้าที่ของเส้นได้ 5 ประการ ดังนี้ (ชลูด นิ่มเสมอ, 2557, น.58) 

     1.เส้นแสดงรูปร่างภายนอกของวัตถุ คือ การวาดเพื่อกำหนดทิศทางของเส้นให้เป็นรูปร่างของวัตถุต่างๆ เช่น วาดลายเส้นรอบนอกเป็นรูปร่างของคน สัตว์ สิ่งของ ที่อยู่อาศัย

     2. เส้นแสดงรายละเอียดภายในของรูปทรง คือ ภาพวาดลายเส้นที่มีการเพิ่มเติม ลายเส้นลงไปเพื่อให้เห็นรายละเอียดที่มากขึ้น ที่อยู่ภายในของรูปทรง เช่น การวาดภาพ แมว สุนัข นก ที่มีการเพิ่มลายเส้นลงไปให้เห็นเป็นเส้นขน เห็นร่องรอยของผิวหนัง ใบหน้า

    3. เส้นแบ่งพื้นที่ว่างออกเป็นส่วนๆ ถ้ามีพื้นที่ว่างเปล่าของระนาบ 2 มิติ เมื่อวาดเส้น ลงไปบนแผ่นระนาบจากขอบด้านหนึ่งไปชนขอบอีกด้านหนึ่ง เส้นนั้นจะแบ่งพื้นที่ว่างออกเป็นสอง ส่วน ถ้าวาด เป็นรูปร่าง เส้นก็จะทำหน้าที่แบ่งรูปร่างออกจากพื้นที่ว่างได้เช่นเดียวกัน

    4. เส้นทำหน้าที่เป็นน้ำหนักอ่อน-แก่ของแสงและเงา เส้นสามารถแสดงความเป็นค่าน้ำหนักอ่อน-แก่ เป็นตัวแทนของแสงและเงาได้ ยกตัวอย่าง เช่น เส้นที่อยู่รวมกันอย่างหนาแน่น ใกล้ชิดกันมาก บดบังพื้นที่ว่างของกระดาษทำให้เกิดความเข้มเป็นตัวแทนของเงาได้ ส่วนบริเวณที่เส้นอยู่ห่างกันมองเห็นพื้นที่ว่างของกระดาษมากก็เป็นตัวแทนของแสง หรือในอีกลักษณะหนึ่งคือการใช้เส้นที่มีความหนาและบางไม่เท่ากัน เส้นที่มีความหนาและเรียงชิดติดกันมากก็จะให้น้ำาหนักที่เข้ม เส้นที่มีความบางและวางเรียงห่างจากกัน ก็จะเป็นค่าน้ำหนักที่อ่อน

    5. เส้นให้อารมณ์ความรู้สึกด้วยตนเอง เส้นสามารถแสดงอารมณ์ได้ด้วยการควบคุมน้ำหนักของมือให้เกิดแรงกดที่หนักเบา หรือการควบคุมการเคลื่อนไหวของมือให้เป็นไปตามอารมณ์ ความรู้สึก ยกตัวอย่างเช่น การวาดเส้นแบบกระชาก ที่มีความรุนแรง การวาดแบบนุ่มนวล ค่อยๆขีด เขียน บรรจง ประณีต ผลที่ได้ของเส้นก็จะแสดงอารมณ์ ความรู้สึกตามเจตนาของผู้สร้างสรรค์

     การใช้เส้นลักษณะต่างๆ ในงานออกแบบ การสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบ มีหลักการใช้ที่ไม่แตกต่างกับการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวิจิตรศิลป์ สิ่งที่เหมือนกันคือ เส้นจะแสดงความงามและการสื่อสารความหมายความรู้สึก ไปยังบุคคลทั่วไปที่กำลังชื่นชมผลงาน สร้างความประทับใจ ความเข้าใจและความรู้สึก การใช้เส้นจึงเป็นวิธีการหนึ่งของการถ่ายทอดได้เป็นอย่างดี

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย

ชลูด นิ่มเสมอ. (2557). องค์ประกอบของศิลปะ (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์ พับลิชชิ่ง.

มาโนช กงกะนันทน์. (2559). ศิลปะการออกแบบ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.

เลอสม สถาปิตานนท์. (2537). What is Design?. กรุงเทพฯ: 49 กราฟฟิค & พับบลิเคชั่น.

วิรุณ ตั้งเจริญ. (2537). ออกแบบ 2 มิติ. กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.

ศักดิ์ชัย เกียรตินาคินทร์. (2554). @design : หลักการออกแบบศิลปะ Principles of Design (พิมพ์ครั้งที่ 2).      กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย.

สุชาติ สุทธิ. (2535). เรียนรู้การเห็น : พื้นฐานการวิจารณ์ทัศนศิลป์. กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.