VISUAL ELEMENT (3)

สี  (COLOUR)

        การมองเห็นของมนุษย์โดยทั่วไป สีจะเป็นสิ่งที่ช่วยแยกแยะความแตกต่างของวัตถุและสิ่งของ อีกทั้งสียังมีบทบาทสำคัญที่ช่วยสื่อความหมายในเชิงจิตวิทยาการรับรู้ สื่อความหมายทางความรู้สึก และเชิงสัญลักษณ์ สีได้ถูกนำมาใช้ในการถ่ายทอดความงามทางด้านศิลปะ สืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และสียังนับได้ว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์

        สีเป็นทัศนธาตุอย่างหนึ่งที่สำคัญ เป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้งานศิลปะมีความหมาย มี ความงามมากขึ้น เพราะว่าสีได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทัศนธาตุอื่นๆ อย่างแนบเนียน เช่น สีเข้าไปมี ส่วนกับเส้นโดยการวาดเส้นให้เป็นสี สีเข้าไปมีส่วนกับรูปร่างรูปทรงโดยการระบายผนึกหลอมรวม เป็นสิ่งเดียวกัน สีกลายเป็นส่วนของที่ว่าง หรือสีจะใช้แสดงลักษณะของพื้นผิว นอกจากนี้การใช้สียัง สามารถแสดงความคิด อารมณ์ ความรู้สึกในตัวของสีเองได้

        1. ประเภทของสี  สีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ สีทำให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากมาย ลักษณะของสี สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามที่ ชลูด นิ่มเสมอ (2557, น.75) ได้อธิบายไว้ดังนี้ 

            1.1 สีที่เป็นแสง (Spectrum) ได้แก่ สีที่เกิดจากการหักเหของแสง เช่น สีของรุ้งกินน้ำ    สีของแสงอาทิตย์ยามเช้า หรือยามเย็น  สีจากหลอดไฟ

            1.2 สีที่เป็นวัตถุ (Pigment) ได้แก่ สีที่มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไป เช่น สีของพืช สีดอกไม้     สีแร่ธาตุ สีที่เป็นวัตถุ ยังหมายถึงสีที่มีขายตามท้องตลาด ที่มนุษย์คิดค้นสังเคราะห์ขึ้น เช่น สีน้ำ       สีน้ำมัน สีอะครีลิค สีโปสเตอร์

        2. การค้นพบสี  สีที่เป็นแสง (Spectrum) และสีที่เป็นวัตถุ (Pigment) มีการค้นพบและคิดค้นจากความสงสัย และความต้องการของมนุษย์ มีที่มาที่ไปพอสังเขปดังนี้ 

             2.1 การค้นพบสีที่เป็นแสง เมื่อปราศจากแสงก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นสีได้ สีต่างๆ ที่ มองเห็นได้รอบตัว เกิดจากการที่แสงผ่านมากระทบสิ่งเหล่านั้น และสมองจะแปรสารจากการมองเห็น รับรู้เป็นสีต่างๆ แม้ว่าการรับรู้เกี่ยวกับสีจะมีความสัมพันธ์ในเชิงจิตวิทยาอยู่ แต่โดยพื้นฐานแล้ว การรับรู้คือ กระบวนการทางสรีระประสาท ซึ่งหมายถึงว่าการรับรู้นั้นเกี่ยวข้องทั้งระบบประสาท และกลไกสรีระ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถเข้าใจพลังสีได้ทั้งหมด แต่ทราบว่าสีเกิดจากการที่แสงตกกระทบลงบนพลังแม่เหล็กไฟฟ้า และเพียงส่วนเล็กน้อยของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเท่านั้นที่คนเราสามารถ มองเห็นเป็นสี ความยาวของคลื่นแสง (Wavelength of Vibrations) ที่แตกต่างกัน ทำให้มองเห็นเป็นสีต่างๆ  คลื่นแสงที่ยาวที่สุด เราจะรับรู้เป็นสีแดง และคลื่นแสงที่สั้นที่สุด คือ สีม่วง 

            ในราวปี พ.ศ. 2209 (ค.ศ.1666) นิวตัน (Sir Isaac Newton) ได้สาธิตให้เห็นว่า สีคือส่วนหนึ่งในธรรมชาติของแสงอาทิตย์ โดยปล่อยให้ลำแสงส่องผ่านแท่งแก้วปริซึม แสงจะหักเห เพราะแก้วปริซึมมีความหนาแน่น (Density) มากกว่าอากาศ และเมื่อลำแสงหักเหผ่านปริซึม ก็จะปรากฏเป็นสีสเปคตรัม หรือสีรุ้ง (Spectrum or Rainbow) คือ สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดง และเมื่อนิวตันนำแท่งแก้วปริซึมอีกอันหนึ่งมารับแสงสเปคตรัม สีทั้งหมดก็รวมกันเป็นสีขาว 

            เมื่อแสงตกกระทบโมเลกุลของสสาร พลังงาน (Energy) บางส่วนจะดูดกลืนสีจากแสงบางสีไว้ และสะท้อนสีบางสีให้ปรากฏเห็นได้ พื้นผิววัตถุที่เรามองเห็นเป็นสีแดง เพราะโมเลกุลของวัตถุกลืนสีจากแสงหรือรังสีทั้งหมดไว้ เราก็จะเห็นเป็นสีดำ ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ดูดกลืนสีใดเลย เราก็จะมองเห็นเป็นสีขาว ปัจจัยหลายปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการดูดกลืนสี ไม่ว่าจะเป็นลักษณะผิวหรือทิศทางของแสง เช่นต้นไม้กลางแสงอาทิตย์จะมีสีแตกต่างไปจากที่อยู่ในร่ม ใบไม้ที่โดนแสงจะมีสีที่สวยงามหลากหลาย

             ธรรมชาติก่อกำเนิดสีสันอันงดงาม ไม่ว่าจะเป็นสีของท้องฟ้า ดอกไม้ แมลง อัญมณี หรือ แม้แต่สีสันจากภูเขาไฟระเบิด มนุษย์เองก็รู้จักสร้างสรรค์สีอย่างสวยงาม ไม่ว่าจะเป็น แสงสีในงานศิลปะ งานโฆษณา สื่อโทรทัศน์ นอกจากเราจะพบสีที่สัมพันธ์กับแสงต่างๆ แล้ว เรายังอาจจะพบสีจากปรากฏการณ์ต่างๆ ที่อธิบายได้ไม่ชัดเจนอีกด้วย เช่น การที่เราเห็นสี จากการกดนิ้วลงบนเปลือกตา การเห็นสีจากการที่ศีรษะกระทบกระเทือนทันทีทันใด การเห็นสีหลังจากการเสพยาเสพติด การเห็นสีในความฝัน หรือการเห็นภาพภายหลัง (After-image) ตัวอย่างเช่น หลังจากการเพ่งมองไปที่สีแดงสักครู่ แล้วเลื่อนสายตาไปยังกระดาษขาวก็จะปรากฏภาพ ในภายหลังเป็นสีตรงข้าม คือ สีเขียว (สีเขียวอ่อน) ขึ้น เป็นต้น แม้ปรากฏการณ์เหล่านี้จะอธิบายได้ยาก แต่ก็พอจะกล่าวสรุปได้กว้างๆ ว่า ปรากฏการณ์ของสีจะเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของบริเวณรับภาพ หรือเรตินา (Retina) ในตาของเรา รวมทั้งปฏิกิริยาพื้นผิวของวัตถุซึ่งสัมพันธ์กับแสง (วิรุณ ตั้งเจริญ, 2535, น.13-14)

            2.2 การค้นพบสีที่เป็นวัตถุ  นักธรณีวิทยากล่าวว่า ธรรมชาติใช้เวลาประมาณ 250,000,000 ปีในการผสมและบดส่วนประกอบของสีจากหินเปลือกโลกชั้นล่าง เนื่องจากชั้นหิน เปลือกโลกมีการเคลื่อนที่ภายใต้ความร้อนและความกดดันสูง เมื่อมีภูเขาไฟระเบิดหรือ เกิดแผ่นดินไหว ทำให้เกิดการยกตัวของเปลือกโลกชั้นล่างขึ้นมาปรากฏบนผิวโลก พร้อมทั้งดินผงสี และหินสีต่างๆ จากการสำรวจของนักโบราณคดี และนักวิทยาศาสตร์ ค้นพบว่ามนุษย์ในยุคอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดคือยุคพาเลโอไลทิค (Palaeolithic) ประมาณ 350,000 ปี ก่อนคริสตกาล ได้ใช้ดินที่มีสีเป็นผงเล็กมากๆ ซึ่งเรียกว่า ผงสี (Pigments) ในยุคเริ่มต้นใช้ผงสีจากดินแดง (Red earths) ที่ได้มาจากหินสีของภูเขาที่อยู่ในแถบนั้นๆ เช่น ภูเขาใกล้อัพต์ในฝรั่งเศส วาดระบายสี ตกแต่งตามร่างกาย รวมทั้งทำรอยสักบนผิวหนัง และทาสีบนกระดูกของคนที่ตายแล้วด้วยสีแดง (ศักดา ศิริพันธ์, 2559, น.13-14)

                สิ่งนี้คือ จุดเริ่มต้นของมนุษย์ในการค้นพบสี และนำสีมาใช้ ซึ่งวิวัฒนาการก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จากหลักฐานที่นักโบราณคดีค้นพบที่ถ้ำอัลตามิรา (Altamira) มีภาพวาดที่ใช้สีที่ได้มาจากแร่ธาตุผสมกับกาวธรรมชาติ เช่น ไขมันสัตว์ น้ำมันจากพืช หรือน้ำมันแร่ ทำให้ภาพวาด ยังคงทนอยู่ได้หลายศตวรรษ

                ในช่วงคริสต์วรรษที่ 17-18 เป็นยุคการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ เป็นยุคเริ่มต้นของการวิจัย ทางด้านเคมี และเทคโนโลยีทางด้านการผลิตสีย้อมและผงสี ยุคนี้มีการสำรวจทางเรือเพื่อหาวัตถุดิบ ชนิดต่างๆ เพื่อนำมาผลิตสี ได้แก่ สีแดงโคชินีล (Cochineal Red) นั้นสกัดมาจากเปลือกหรือกระดอง ห่อหุ้ม (Shell) แมลงโคชินีล ที่พบได้บนต้นไม้บางชนิดในอินเดีย  อเมริกาค้นพบคลอไรด์ของ ทองและดีบุก (Gold and Tin Chloride) จะให้สีชมพูที่เรียกว่า เพอร์เพิลของแคสเซียส (Purple of Cassius) และค้นพบสีน้ำเงินเข้ม (Dark Blue) จากเกลือไซยาไนต์ ของโพแทสเซียม และเหล็ก ซึ่งเรียกชื่อเป็นทางการว่า สีน้ำเงินปรัสเซียน (Prussian Blue) หลังจากนั้นอีกไม่นานก็ค้นพบและผลิตผงสีต่างๆ อีกมากมาย และเป็นการพัฒนาสีในแบบสังเคราะห์ทางเคมี มาจนถึงปัจจุบัน

          3. จิตวิทยาของสี  นักจิตวิทยารู้ดีว่าสีต่างๆ แต่ละสีมีพลังปลุกเร้าการตอบสนองของอารมณ์ (Emotional Responses) นอกจากคุณภาพด้านอื่นๆ แล้วสียังมีอุณหภูมิเชิงจิตวิทยา (Psychological Temperature) อยู่ในตัวของมัน เช่น สีแดง สีส้ม สีเหลือง ให้ความรู้สึกอุ่น และสัมพันธ์กับแสงอาทิตย์หรือไฟ สีน้ำเงินหรือสีเขียวสัมพันธ์กับป่า น้ำ ท้องฟ้า ให้ความรู้สึกเย็น เป็นต้น ศิลปิน นักออกแบบ และนักสร้างสรรค์กระบวนแบบ (Stylist) เรียนรู้และเข้าใจในเรื่องจิตวิทยาเกี่ยวกับสี ความสัมพันธ์ระหว่างสีกับปฏิกิริยาตอบสนองของมนุษย์ และนำประโยชน์จากการเรียนรู้และประสบการณ์ไปสร้างสรรค์งานศิลปะ หรืองานออกแบบของเขา (วิรุณ ตั้งเจริญ, 2535, น.22)

                สีอาจทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกได้เกือบทุกรูปแบบ สีสามารถทำให้เกิดความรู้สึกร่าเริง  ทำให้ใจห่อเหี่ยว ตื่นเต้น คลายอารมณ์ หรือทำให้เกิดความรู้สึกอุ่น เย็น หนักหรือเบา เล็กหรือใหญ่ ใกล้หรือไกล ผลทางจิตวิทยาเกี่ยวกับสีไม่อาจนำมาใช้ได้กับชนทุกชาติเพราะเกี่ยวกับวัฒนธรรม ดินฟ้า อากาศ ความเป็นอยู่เฉพาะตัว และสมัยนิยม วัฒนธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดรสนิยม  เรื่องสี เช่นชาวจีนชอบสีแดงกันมากเพราะสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความมีพลานุภาพอันรุ่งโรจน์ ผู้ชายชาวตะวันตกชอบสีแดงเลือดนกซึ่งหมายถึงความเป็นผู้ดีหรือความเป็นเจ้า ทั้งนี้เพราะเมื่อหลายพันปีมาแล้วชาวฟินีเชียนซึ่งเป็นชาวทะเล ดำเนินชีวิตอยู่ตามฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ใช้สีแดงที่ได้จากปลาทะเลชนิดหนึ่งเอามาย้อมเครื่องนุ่งห่มที่สวยงาม แต่โดยที่ปลาทะเลชนิดนั้นเป็นสัตว์หายาก จึงใช้กันแต่เพียงเป็นสีราชูปโภค โดยวิธีนี้จึงก่อให้เกิดนิสัยมีรสนิยม และความหมายเกี่ยวกับสีแดงเลือดนกขึ้น ในประเทศไทยถือกันว่า สีของเจ้าคือสีเหลือง ที่จริงสีเหลืองแก่ หมายถึงความเป็นผู้ดี และความมั่งคั่ง ทั้งสีเหลืองและสีแดงเลือดนกดูเหมือนจะเป็นสีของพรสวรรค์ที่ดวงอาทิตย์ประทานลงมา ให้พื้นพิภพของเรา ดินฟ้าอากาศที่เป็นปัจจัยสำคัญเกี่ยวกับความชอบสี เช่น ชาวแอฟริกันถือว่าสีเหลืองหม่น เป็นเครื่องหมายของสีของน้ำ เพราะในแม่น้ำลำธารของชาวแอฟริกันเป็นน้ำปนโคลน ฉะนั้นหัวใจของ ชาวพื้นเมืองในทวีปแอฟริกาจึงมีความคิดเกิดขึ้นว่า พระแม่เจ้าแห่งน้ำย่อมจะมีสีโดยเฉพาะเป็นเช่นนี้ (ศักดา ศิริพันธุ์, 2559, น.92)

                สีกับจิตวิทยาในการรับรู้ สีมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของมนุษย์ ทำให้รู้สึก ร่าเริง สดชื่น มีความสุข หรือจะท้อแท้ หดหู่ ศิลปินนักออกแบบ จะเรียนรู้จิตวิทยาที่เกี่ยวกับสี และนำผลจากสิ่งนี้ไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้เป็นอย่างดี จิตวิทยาของสีแต่ละสีที่มีผลต่อความรู้สึก มีดังต่อไปนี้       

        สีเหลือง เป็นสีที่ให้ความรู้สึก สดชื่น สดใส เบิกบาน อบอุ่น รุ่งเรือง ความสมบูรณ์

        สีน้ำเงิน เป็นสีที่ให้ความรู้สึก สงบเงียบ เยือกเย็น สุขุม หนักแน่น เวิ้งว้าง โดดเดี่ยว

        สีแดง เป็นสีที่ให้ความรู้สึก มีพลัง ร้อนแรง ตื่นเต้น อันตราย มีอำนาจ มีพลัง

        สีเขียว เป็นสีที่ให้ความรู้สึก ร่มเย็น การเริ่มต้นชีวิตใหม่ ความอุดมสมบูรณ์

       สีส้ม เป็นสีที่ให้ความรู้สึก มีพลัง ร่าเริง อบอุ่น สนุกสนาน

       สีม่วง เป็นสีที่ให้ความรู้สึก มีเสน่ห์ เร้นลับ ความภาคภูมิ มีอำนาจ

       สีฟ้า เป็นสีที่ให้ความรู้สึก สะอาด เบิกบาน ปลอดโปร่ง อิสระ เสรี กว้างไกล

       สีขาว เป็นสีที่ให้ความรู้สึก บริสุทธิ์ สะอาด สดใส ความดีงาม

       สีเทา เป็นสีที่ให้ความรู้สึก สงบ เงียบขรึม เศร้า หม่นหมอง

       สีดำ เป็นสีที่ให้ความรู้สึก อ้างว้าง ว่างเปล่า หนักแน่น ลึกลับ อันตราย ความตาย

       สีน้ำตาล เป็นสีที่ให้ความรู้สึก อบอุ่น ถ้าใช้มากจะดูแล้วแห้งแล้ง

       สีชมพู เป็นสีที่ให้ความรู้สึก ความหวัง ร่าเริง อ่อนโยน อ่อนหวาน ความเป็นมิตร

สรุป

              ประเภทของสี แบ่งออกเป็น 2 ชนิด สีที่เป็นแสง (Spectrum) คือสีที่เกิดจากแสง เกิดจาก การหักเหของแสง เช่น สีของแสงดวงอาทิตย์ สีจากหลอดไฟ  สีที่เป็นวัตถุ (Pigment) คือสีที่มีอยู่ในตัววัตถุ เช่น สีของพืช แร่ธาตุต่างๆ การค้นพบสี นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าสีที่เป็นแสง เกิดจากแสงที่ตกกระทบลงบนพลังแม่เหล็กไฟฟ้า และมีพลังบางส่วนของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นเป็นสีที่แตกต่างกัน ตามความยาวของคลื่นแสง การค้นพบสีที่เป็นวัตถุ เกิดจากนักธรณีวิทยา สันนิษฐานว่า ชั้นดินหินของเปลือกโลกเกิดความร้อน เมื่อมีภูเขาไฟระเบิด ทำให้ชั้นดินหินข้างล่างดัน ขึ้นมาอยู่ข้างบน ทำให้เกิดชั้นหินแร่ธาตุที่มีสี มนุษย์ในยุคโบราณได้นำดินหินแร่ธาตุเหล่านี้มาบดเป็น ผงสี ผสมกับกาวธรรมชาติ นำมาวาดระบายตามร่างกาย ผนังถ้ำ จิตวิทยาของสี สีต่างๆ มีอิทธิพลต่อ ความรู้สึกของมนุษย์ ทำให้สีสามารถแสดงความรู้สึกที่แตกต่างกันได้ และได้นำผลนี้ไปสู่การใช้ในการ สื่อสาร และแสดงออกทางความรู้สึก

 

 

                                                                                          เอกสารอ้างอิง

           ชลูด นิ่มเสมอ. (2557). องค์ประกอบของศิลปะ (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง

           ทวีเดช จิ๋วบาง. (2547). เรียนรู้ทฤษฏีสี (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

          พาศนา ตัณฑลักษณ์. (2526). หลักการออกแบบ. กรุงเทพฯ: พิทักษ์อักษร.

           วิรุณ ตั้งเจริญ. (2535). ทฤษฎีเพื่อการสร้างสรรค์ศิลปะ. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

           ศักดา ศิริพันธ์. (2559). สีในศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

           สุชาติ สุทธิ. (2535). เรียนรู้การเห็น : พื้นฐานการวิจารณ์ทัศนศิลป์. กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.